กองทุนหมู่บ้านช่องพงษ์ ศูนย์การบริหารจัดการสู่การพึ่งพาตนเองเรื่องเงินทุน


กองทุนหมู่บ้านช่องพงษ์ ศูนย์การบริหารจัดการสู่การพึ่งพาตนเองเรื่องเงินทุน

           ในปี พ.ศ.2544 รัฐบาล ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศ 3 ประการ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความยากจน การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดและการป้องกันการทุจริต หนึ่งในนโยบายดังกล่าวในการแก้ไขปัญหาความยากจน รัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเงินทุน ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยกองทุนหมู่บ้านได้รับการจัดสรร หมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท มอบอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเงินกองทุนของตนเอง เป็นการเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชน สามารถพึงตนเองได้อย่างยั่งยืน อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

          การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ออกระเบียบ ว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2544 เพื่อกำหนดโครงสร้างระบบบริหารจัดการกองทุนขอบเขต อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับชาติ จนถึงระดับหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งกำหนดแนวทางการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและควบคุมการใช้จ่ายเงิน การรายงานผลการดำเนินงาน แนวทางการตรวจสอบและกำกับดูแล ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน และสมาชิกกองทุน เพื่อให้การบริหารกองทุนมีประสิทธิภาพ มีความยุติธรรม โปร่งใส และบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายรัฐบาล

          การศึกษาการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านช่องพงษ์ หมู่ที่ 14 ตำบลครน ทีมงานของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสวี ได้ร่วมกันวิจัยภาคสนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านในด้านความเป็นมาของกองทุนหมู่บ้าน การบริหารจัดการกองทุน ขั้นตอนการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไขจนประสบผลสำเร็จ โดยวิธีการศึกษาจากเอกสาร สมุดบันทึกการประชุม ระเบียบข้อบังคับกองทุน สมุดบัญชีกองทุน ทะเบียนสมาชิกกองทุน ทะเบียนคุมเงินสัจจะออมทรัพย์ บัญชีคุมเงินฝากธนาคาร ทะเบียนคุมลูกหนี้กองทุนหมู่บ้านและงบดุลกองทุนหมู่บ้าน จากการศึกษาภาคสนาม โดยวิธีการสังเกตและสัมภาษณ์ โดยสัมภาษณ์คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ใช้แบบสัมภาษณ์ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ใช้แบบสัมภาษณื และประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ใช้แบบสัมภาษณ์ และข้อเสนอแนะแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านช่องพงษ์และกองทุนอื่น ๆ ต่อไป สรุปผลการศึกษา

           กองทุนหมู่บ้านช่องพงษ์ เกิดจากรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการจัดสรรเงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งละ 1 ล้านบาท โดยมีผู้แทนครัวเรือนจำนวน สามในสี่ของของครัวเรือนทั้งหมดในหมู่บ้านมาประชาคมเพื่อเลือกคณะกรรมการขึ้นมาบริหาร เพื่อการส่งเสริมอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายและเรียนรู้จัดการบริหารกองทุนร่วมกันของประชาชน ซึ่งได้ประชุมเลือกคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษา เพื่อบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน

          เมื่อได้คณะกรรมการและที่ปรึกษาเรียบร้อยแล้วก็ได้เปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีสมาชิกเริ่มแรก จำนวน 105 คน และมีการฝากเงินสัจจะออมทรัพย์เพื่อเป็นการเตรียมเงินทุนไว้ในกรณีเงินที่รัฐบาลจัดสรรมาไม่พอให้สมาชิกกู้ ปัจจุบันมีเงินสัจจะออมทรัพย์ จำนวน 92,283.48 บาท จากการประเมินผลการดำเนินงานการบริหารจัดการกองทุนบ้านช่องพงษ์ อยู่ในระดับ 3A จึงได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นอึก 100,000 บาท จากการศึกษาการพิจารณาเงินกู้ของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน สมาชิกมีความพึงพอใจในการจัดสรรเงินกู้ให้แก่ สมาชิกซึ่งเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรมและดูความเป็นไปได้ของโครงการ การนำเงินกู้ไปประกอบอาชีพเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และการส่งคืนเงินกู้ของสมาชิกตรงตามเวลาที่กำหนดในสัญญากู้เงินครบทุกคน เป็นการรู้ได้ว่าสมาชิกมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการของคณะกรรมการได้เป็นอย่างดี และคณะกรรมการก็มีการจัดโครงสร้างของคณะกรรมการอย่างเป็นระบบ มีคณะผู้บริหารกองทุนและคณะที่ปรึกษา คณะตรวจสอบและติดตามผลงานโครงการ ซึ่งทำให้กองทุนเกิดความเข้มแข็ง มีผู้นำที่ดี และจากการสัมภาษณ์ประชาชนในหมู่บ้านก็เห็นด้วยกับชุดบริหารงานของคณะกรรมการและเห็นด้วยกับการที่มีเงินกองทุนเข้ามาในหมู่บ้าน สามารถลดต้นทุนในการผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำให้ครอบครัวที่นำเงินไปลงทุนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 114 คน เงินกองทุน 1,225,588.22 บาท มีที่ทำการกองทุนหมู่บ้านที่ศาลาประจำหมู่บ้าน และมีกิจกรรมเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน คือ การจัดตั้งกองทุนเคมีภัณฑ์ขึ้น เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2544 เพื่อให้สมาชิกสามารถซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ทางการเกษตรในราคาถูก ปัจจุบันมีสมาชิก 80 คน มีเงินทุน 200,000 บาท

          อย่างไรก็ตามกองทุนหมู่บ้านช่องพงษ์ ก็มีปัญหาอยู่บางประการ คือ คณะกรรมการกองทุน มีเวลาว่างให้กับการบริหารกองทุนไม่เท่ากัน ปัญหาการจัดทำแผนการดำเนินงานยังไม่เป็นแบบแผนที่ชัดเจน แต่ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้เป็นปัญหาที่ใหญ่ จึงได้รับการแก้ไขไปในระยะหนึ่งแล้วสามารถดำเนินงานได้อย่างปกติและสามารถพัฒนาได้ดีขึ้นกว่าเดิมมีการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการทำประชาคม การมีส่วนร่วมในการวางแผนและพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทของกรมการพัฒนาชุมชน

          ข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์แก่กองทุนหมู่บ้าน และผู้อ่าน เพื่อก่อให้เกิดข้อคิดใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีได้ จากการศึกษา สามารถสรุปข้อเสนอแนะต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
          1. คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านทุกคนควรศึกษาข้อมูลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านในทุก ๆ ด้าน ให้รู้เท่าเทียมกัน
          2. สมาชิกกองทุน ควรกล้าแสดงความคิดเห็น หรือเสนอข้อเสนอแนะที่เห็นว่ามีประโยชน์ ในที่ประชุมให้มากขึ้น

 

แหล่งข้อมูล  :  กองทุนหมู่บ้านช่องพงษ์  หมู่ที่ 14  ตำบลครน  อำเภอสวี  จังหวัดชุมพร
                     นายสงัด  คชหาญ  ประธานกองทุน

 



 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3876เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2005 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท