การผสานองค์ความรู้บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น (สมุทรสงครามตอนที่ 4 ถ่านไม้โกงกาง)


          อาชีพการเผาถ่านไม้โกงกาง เป็นอาชีพที่คนในชุมชนยี่สารทำกันมานานกว่า 80 ปี และเป็นที่เดียวที่ได้รับการอนุญาตให้ตัดป่าทำถ่านและนำออกข้างนอกได้ โดยนอกจากจะใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนแล้ว ยังทำหน้าที่สร้างป่าขึ้นด้วย เพราะทุกๆ ปีจะมีการปลูกป่าโกงกางทดแทนแปลงป่าที่ตัดไม้เอาไปเผาถ่าน เมื่อตัดแล้วต้องรีบปลูกเพื่อให้ทันต่อการทำมาหากิน ต่างคนต่างรักษาป่า ที่ใครที่คนนั้น ดูแลกันเอง มีกรรมสิทธิ์

          คุณธนู  พยนต์ยิ้ม เกษตรกรผู้มีอาชีพเผาถ่านไม้โกงกางในชุมชนยี่สาร และเป็นศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวเกษตร ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเผาถ่านไม้โกงกางว่า อายุของไม้โกงกางที่ใช้ในการเผาถ่านคือ 10-12ปี ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีการเก็บฝักโกงกางไปปลูกลงในแปลงป่าที่เตรียมไว้ เพื่อรอให้ฝักโกงกางอีก 12 ปี จึงจะตัดไม้ไปใช้งานได้ ส่วนแปลงที่มีไม้โตเต็มที่แล้วก็จะถูกตัดเป็นท่อนๆ และลำเลียงลงเรือกลับมาที่โรงเผาถ่าน ระยะเวลาของการเผาถ่านใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน ไม้โกงกางเป็นไม้ที่ดีที่สุดในกระบวนการทำถ่านไม้ เนื่องจากให้ความร้อนสูง ติดไฟนาน ไม่แตกตัว ขี้เถ้าน้อย ส่วนใหญ่นำส่งออกนอกประเทศมากกว่าใช้ในประเทศ

          ปัจจุบันคนที่ทำอาชีพเผาถ่านไม้โกงกางในชุมชนยี่สารลดจำนวนลง เนื่องจากหลายคนหันไปประกอบอาชีพการทำนากุ้ง ซึ่งทำให้สัตว์น้ำที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ลดลงจากน้ำเสีย และเมื่อไม่ประสบผลสำเร็จจากการทำนากุ้งจะกลับมาทำอาชีพเดิมก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากขายเรือไปหมดแล้ว

          อาชีพการเผาถ่านไม้โกงกางเป็นอาชีพที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่คุณธนูรักและรักษาทรัพยากรท้องถิ่นไว้ มีการใช้ความรู้ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพ คุณธนูบอกว่าทุกวันนี้ถ่านของคุณธนูมีไม่เพียงพอในการจำหน่ายให้กับลูกค้า จำเป็นต้องให้เฉพาะลูกค้าเก่าที่มีกันมานาน จะเห็นได้ว่าถ่านไม้ดำ ๆ มีคุณค่ามากกว่าที่คิด นอกจากนี้ในชุมชนยังมีการทำผ้ามัดย้อม ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด้วย

    

คำสำคัญ (Tags): #ถ่านไม้โกงกาง
หมายเลขบันทึก: 387318เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 01:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หากการใช้และการสร้าง สมดุลย์ ธรรมชาติก็ยั่งยืนครับ

มาอ่านและเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ

ขอบคุณครูหยุย ครูอ้อย และคนไทบ้านมากนะคะ เป็นกำลังใจให้คนทำงานเช่นกันค่ะ

องค์ความรู้ที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาต้องเก็บรักษาให้ชนรุ่นหลัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท