ปัญหาของการบริหารราชการไทยและแนวทางการแก้ไข


งานด่วนมาก

ปัญหาของการบริหารราชการไทยและแนวทางการแก้ไข

 

                        การปฏิรูประบบราชการเป็นงานสำคัญของประเทศ ซึ่งรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยได้ให้ความสนใจและดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่ประเทศกำลังพัฒนาสู่ความเป็นสากล การปฏิรูประบบราชการนับเป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพื่อยกระดับขีดความสามารถและสร้างประสิทธิภาพโดยรวมของหน่วยงานราชการ  การนำบริการที่ดีมีคุณภาพมาสู่ประชาชน ปรับเปลี่ยน และรูปแบบการบริหารราชการให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของส่วนรวม และการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และในที่สุด คือ สร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและสังคมต่อระบบราชการ

          การปรับบทบาท ภารกิจและโครงสร้างส่วนราชการ เป็นกระบวนการหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการ เพื่อทบทวนและจัดภารกิจของหน่วยงานภาครัฐให้มีความเหมาะสม   ขจัดความซ้ำซ้อนและเป็นเอกภาพ  มีผู้รับผิดชอบชัดเจน สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐบาลและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การปรับบทบาท ภารกิจและโครงสร้างส่วนราชการใหม่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนของการปฏิรูประบบราชการ  ซึ่งยังมีกระบวนการและภารกิจอีกหลากหลายที่จะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้ระบบราชการสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ปัญหาของระบบราชการไทย จากการที่เป็นระบบที่มีอายุยาวนานและมีการเปลี่ยนแปลงแบบช้า ๆ ระบบราชการไทยจึงมีปัญหาที่สั่งสมไว้มาก ปัญหาที่สำคัญมีดังนี้

(1)     ปัญหาเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เป็นปัญหาหลักและเรื้อรังที่สะสมมานาน ไม่อาจแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จ ทำให้ภาพลักษณ์ของระบบราชการไทยติดอยู่กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างแยกไม่ออก การปฏิรูประบบราชการจึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยแก้ไขสภาพปัญหานี้ให้ลดน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด

(2)     ปัญหาเรื่องขนาดของระบบราชการไทย  ระบบราชการไทยมีโครงสร้างของส่วนราชการที่มีขนาดใหญ่ ซับซ้อน มีอัตรากำลังข้าราชการเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบราชการมีระบบการบริหารงานที่ไม่คล่องตัว ประสบกับปัญหาด้านค่าใช้จ่ายของบุคลากรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณอย่างไม่สิ้นสุดและมีผลกระทบต่องบประมาณในการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความจำเป็นของรัฐในการปฏิรูประบบราชการเพื่อแก้ไขปัญหานี้  จึงเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ

(3)     ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารราชการ ระบบราชการไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพการบริหารงานอยู่เสมอเมื่อเทียบกับการบริหารงานในภาคเอกชน การบริหารงานราชการที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่มีการประเมินผลการปฏิบัติงานว่างานนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใด ขาดตัวชี้วัดในการดำเนินงาน   ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ถึงความคุ้มทุนและผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานของส่วนราชการได้อย่าง   ชัดเจน แต่โดยที่ประชาชนต้องการได้รับบริการสาธารณะจากรัฐที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ รวดเร็ว ความคาดหวังของประชาชนโดยทั่วไปจึงต้องการเห็นภาพลักษณ์ใหม่ของระบบราชการไทยในแนวทางดังกล่าว จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเหตุผล  และความจำเป็นของการปฏิรูประบบราชการเพื่อแก้ปัญหาในด้าน   ประสิทธิภาพของการให้บริการประชาชน

(4)     ปัญหาการบริหารงานแบบรวมศูนย์อำนาจ กล่าวคือราชการบริหารส่วนกลาง ซึ่งได้แก่กระทรวง ทบวง กรม มีความเข้มแข็ง การบริหารงานและการตัดสินใจมีลักษณะรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด แม้ว่าจะมีการมอบอำนาจการบริหารงานให้กับราชการส่วนภูมิภาคก็ตาม แต่การบริหารงานของราชการส่วนภูมิภาคก็ยังไม่สามารถใช้อำนาจเด็ดขาดหรือมีความอิสระในการตัดสินใจได้มากนัก ยังต้องยึดนโยบายจากส่วนกลางเป็นหลัก ทรัพยากรการบริหารส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับการจัดสรรจากส่วนกลาง

(5)     ปัญหาโครงสร้างส่วนราชการที่ไม่คล่องตัว  โครงสร้างการบริหารงานภาครัฐในปัจจุบันมีลักษณะที่ไม่ยืดหยุ่น  ขาดความคล่องตัว  การบริหารยึดติดกับกรอบตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเป็นหลัก ทำให้การบริหารไม่สอดคล้องกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างทันการณ์ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรทำได้ไม่คล่องตัว และเนื่องจากโครงสร้างองค์กรมีขนาดใหญ่ ทำให้การปรับรื้อต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการดำเนินการ

(6)     ปัญหากฎ  ระเบียบ  เทคโนโลยี  และวิธีปฏิบัติงานไม่ทันสมัย การบริหารงานภาครัฐเป็นการบริหารงานโดยยึดโยงกับกฎหมายและระเบียบต่างๆ เป็นจำนวนมาก กฎระเบียบบางเรื่องเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานภาครัฐและไม่ทันสมัย นอกจากนั้นเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้ในระบบราชการยังขาดความทันสมัย เมื่อเทียบกับการดำเนินงานของภาคเอกชน ตลอดจนการบริหารงานภายใต้ระบบราชการเป็นการบริหารที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด การบริหารงานให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าเป้าหมาย ทำให้การบริหารงานขาดความคล่องตัว

(7)     ปัญหากำลังคนภาครัฐไม่มีคุณภาพ กำลังคนภาครัฐที่มีอยู่ในระบบราชการปัจจุบันส่วนใหญ่ยังขาดคุณภาพและมีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านอย่างเร่งด่วน  กำลังคน  ส่วนใหญ่ยังขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์   และยึดติดกับการทำงานแบบเดิม   ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากความมั่นคงในระบบราชการทำให้กำลังคนภาครัฐขาดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน เนื่องจากอยู่ในสถานะของตำแหน่งที่มีเสถียรภาพและมั่นคงค่อนข้างสูง

(8)     ปัญหาค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ไม่เหมาะสม   ข้าราชการเป็นกลุ่มบุคคลที่มีรายได้และค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับบุคคลกลุ่มอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในภาคต่างๆ ทั้งนี้      เนื่องจากภาคราชการเป็นองค์การขนาดใหญ่ ทำให้การปรับปรุงค่าตอบแทนและสวัสดิการทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากภาครัฐต้องใช้งบประมาณดำเนินการเป็นจำนวนมาก รวมถึงค่าตอบแทนที่ได้รับไม่สอดคล้องกับกลไกตลาด ทำให้รายได้ของข้าราชการอยู่ในระดับต่ำและไม่สัมพันธ์กับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา

(9)     ปัญหาทัศนคติและค่านิยมดั้งเดิม ระบบราชการเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับลำดับชั้นของการบังคับบัญชา ทำให้ข้าราชการไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร รวมทั้งการต้องเคารพในระบบอาวุโสของการทำงานทำให้ข้าราชการรุ่นใหม่ไม่สามารถแสดงศักยภาพในการทำงานได้อย่างเต็มที่ ทัศนคติและค่านิยมดั้งเดิมในภาคราชการดังกล่าวจึงไม่เปิดโอกาสให้มีการส่งเสริมคนเก่ง คนดี คนที่มีความรู้และความสามารถ ได้ใช้โอกาสในการแสดงศักยภาพการทำงานได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควร ตลอดจนข้าราชการมักจะเคยชินกับระบบการรับคำสั่งและนำมาปฏิบัติมากกว่าที่จะคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ รวมทั้งขาดความกล้าหาญที่จะโต้แย้งเมื่อเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องหรือการปฏิบัติงานนั้นไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติ

แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของระบบราชการ

  1. แนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องประสิทธิภาพนี้ จำเป็นต้องเริ่มจากการจัดกลุ่มภารกิจของภาครัฐใหม่ เพื่อให้ภาครัฐทำงานในเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น มีการถ่ายโอนงานที่รัฐหมดความจำเป็นที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการให้ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนการกระจายอำนาจหน้าที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้บริการประชาชนและแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถรับบริการได้อย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง การจัดกลุ่มภารกิจของกระทรวง ทบวง กรมใหม่เพื่อให้มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนไม่ทับซ้อนกัน กำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานโดยมีตัวชี้วัดผลงานที่ชัดเจน เมื่อส่วนราชการต่าง ๆ มีความชัดเจนในหน้าที่ มีเป้าหมายและดัชนีวัดผลงานไว้เช่นนี้ การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะกระทำได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
  2. ความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการได้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญมาก เพราะหลาย ๆ เรื่องที่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้วแต่หาผู้รับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กังขาและไม่เป็นที่พอใจของประชาชนอย่างมาก ปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่การจัดสรรอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบที่ไม่ชัดเจน มีคณะกรรมการมากมาย มีขั้นตอนการทำงานที่ยาก และขาดระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพทั้งภายในและภายนอกระบบราชการ ทำให้หน่วยงานราชการรายงานผลงานเฉพาะที่ประสบผลสำเร็จเท่านั้น หลีกเลี่ยงที่จะรายงานปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น และเมื่อเกิดความผิดพลาดหรือเกิดความเสียหายต่อประชาชนขึ้นมา ก็มักค้นหาผู้รับผิดชอบโดยตรงไม่พบ และทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเหมาะสม เรื่องความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการนี้สัมพันธ์กับปัญหาเรื่องประสิทธิภาพโดยที่เรื่องประสิทธิภาพจะเน้นในส่วนของระบบงานตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย การวัดผลงาน การจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  ส่วนเรื่องความรับผิดชอบจะเน้นอยู่ที่ตัวเจ้าหน้าที่ผู้บริหารงาน ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละระดับ
  3. แนวคิดในการปฏิรูประบบราชการจึงต้องทำให้เกิดความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการคือการมีเจ้าภาพที่จะแก้ไขปัญหาในกระทรวงและในจังหวัด การมีเจ้าภาพในการตัดสินใจและการมีเจ้าภาพในการคิดวิเคราะห์และทำหน้าที่ในเรื่องที่ตนรับผิดชอบอย่างจริงจังในลักษณะ “รู้จริง ทำจริง” การเปลียนและราชการครั้งนี้จะทำให้ทุกส่วนราชการมีตัวชี้วัดผลงานที่เป็นรูปธรรม  และมีการทำสัญญาข้อตกลงในการปฏิบัติงานกันเป็นลำดับชั้น จากผู้บริหารสูงสุดคือ เจ้ากระทรวง เรียงลงมาถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับล่าง วิธีนี้จะทำให้ข้าราชการทุกคนรู้เป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน และต้องรับผิดชอบต่อเป้าหมายที่ได้ทำข้อตกลงไว้ มีการประเมินผลงานอย่างเป็นระบบ และมีการให้รางวัลและลงโทษตามผลงานซึ่งได้ตกลงไว้ในสัญญาข้อตกลงด้วย ความรับผิดชอบในที่นี้  จะรวมถึงการรายงานผลงานขึ้นมาตามลำดับบังคับบัญชา  ให้ผู้บริหารประเทศ  รัฐสภา  และประชาชนได้รับทราบด้วย และกรณีที่การทำงานไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือประชาชนมีข้อสงสัยในการทำงานเรื่องใด ข้าราชการที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นมีหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าที่งานไม่บรรลุเป้าหมาย     เกิดจากสาเหตุอะไร ตอบประเด็นข้อสงสัยของประชาชนให้ชัดเจน และพร้อมที่รับการตรวจสอบได้ตลอดเวลา
  4. ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในภาคราชการปัจจุบัน คือการทุจริตประพฤติมิชอบและปัญหาอคร์รัปชันซึ่งเป็นเสมือนมะเร็งร้ายที่บ่อนทำลายสังคม เป็นปัญหาที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศสงครามไว้ ปัญหานี้เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งเกิดจากระบบและบุคคล ในส่วนของระบบเป็นเพราะราชการมีความใหญ่โต ซับซ้อน การตรวจสอบทำได้ไม่ทั่วถึง กฎระเบียบยุ่งยากและมีมากมาย และมีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจโดยปราศจากการถ่วงดุล ระบบการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ ค่าตอบแทนข้าราชการต่ำกว่าเอกชนมากในขณะที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่อยู่ในภาครัฐมีอำนาจมาก หากผู้มีอำนาจขาดคุณธรรม ใช้ระบบพวกพ้องในการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการในตำแหน่งระดับสูง และหลาย ๆ กรณีข้าราชการระดับสูงร่วมกับฝ่าการเมืองเป็นผู้ลงมือกระทำการทุจริต โดยผ่านเจ้าหน้าที่ระดับกลางและล่าง
  5. แนวทางการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหานี้คือ การผูกมัดความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจในข้อตกลงการทำงาน การสร้างกระบวนการทำงานที่ชัดเจนโปร่งใส เพื่อการตรวจสอบได้ การสร้างระบบถ่วงดุลการใช้อำนาจและดุลพินิจ การบริหารงานบุคคลในระบบเปิด  การตอบแทนผลงานโดยเทียบเคียงได้กับอัตราในตลาดแรงงาน  การสร้างกลไกการตรวจสอบ  ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ในการอนุมัติอนุญาต การจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดเผยโปร่งใส  และมีมาตรการป้องปรามที่จริงจัง  เพื่อให้มีการลงโทษผู้เกี่ยวข้องได้อย่างจริงจัง  นอกจากนี้ก็ต้องปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลให้ข้าราชการได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และมีการพัฒนาทัศนคติ ค่านิยมของข้าราชการอย่างต่อเนื่อง มีระบบการให้ข้าราชการที่ด้อยคุณภาถพออกจากราชการได้โดยไม่ถือว่าเป็นข้อบกพร่องของบุคคล เพื่อให้การเข้า-ออกจากราชการกระทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ปฏิรูปแล้วประชาชนได้อะไร
ประโยชน์จากการปฏิรูปราชการต่อประเทศชาติโดยรวม
  1. ปฏิรูปราชการที่ถูกทิศทางจะทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีศักยภาพและสมรรถนะสูงในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยโดยรวมมีความสามารถในการแข่งขัน มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะงานการทบทวนบทบาท ภารกิจในภาพรวมของทุกกระทรวงพร้อมกันในครั้งนี้ได้คำนึงถึงบทบาทของภาครัฐตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ภาครัฐทำเฉพาะเรื่องจำเป็นเท่านั้น และจะสนับสนุนให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจเสรี และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและภาคประชาชน ทำให้บทบาทหน้าที่ของภาครัฐมีความเหมาะสม สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
  2. มีระบบราชการเป็นกลไกการกำกับดูแลที่ดี ซึ่งสามารถสร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
  3. การมีระบบบริหารราชการที่ดีจะทำให้ประเทศสามารถคลี่คลายแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
  4. การปรับบทบาทภารกิจและโครงสร้างระบบราชการใหม่จะทำให้ระบบราชการมีความกระชับ ชัดเจน และเป็นเอกภาพในการบริหารงานและการให้บริการมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานราชการประหยัดงบประมาณในระยะยาวหน่วยราชการแต่ละหน่วยมีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน การจัดสรรทรัพยากร การวัดผลงาน และการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลมีความสะดวด และมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าในอดีตการปรับบทบาทของหน่วยงานราชการให้ทำบทบาทหลักและลดละเลิกภารกิจที่ไม่จำเป็น  ภารกิจที่ท้องถิ่นและภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้จะทำให้ภาคราชการส่วนกลางเน้นการทำงานด้านนโยบายอย่างจริงจัง ทำงานเชิงคุณภาพ และจะมีขนาดเล็กลงได้ในอนาคต มีหน่วยงานใหม่ ๆ มาดูแลภารกิจหลักที่สำคัญของประเทศในสังคมยุคใหม่ เช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เป็นต้น  โดยจะมีรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงดูแลรับผิดชอบงานอย่างจริงจังการปรับระบบการบริหารราชการใหม่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้าง  เพื่อที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ  มีความชัดเจนในการบริหารงาน  บทบาทหน้าที่  ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกระดับ และสร้างความมั่นใจว่ากระทรวง ทบวง กรมใหม่มีการทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก มีการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล
  5. ในอนาคตหากระบบราชการมีความสุจริตโปร่งใส ควบคู่ไปกับศักยภาพสมรรถนะสูงจะมีส่วนในการสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนทั้งภายในและนอกประเทศ ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมากขึ้นว่าเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการของภาครัฐที่ดี โปร่งใส น่าเชื่อถือ และเป็นประเทศที่มีการทุจริตน้อยเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในการลงทุน การท่องเที่ยว และการเจรจาในเวทีโลก

 

ประชาชนและภาคเอกชน

  1. การปฏิรูประบบราชการประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนจะได้รับประโยชน์ดังนี้

 ระบบราชการจะมีบทบาทที่ชัดเจนและไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางหรือเป็นเครื่องถ่วงรั้งความเจริญและการพัฒนาของประชาชนและภาคเอกชนจะได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ และรวดเร็ว อันมาจากการปรับประสิทธิภาพในการให้บริการ การลดขั้นตอนการตัดสินใจมีข้าราชการที่เป็นมืออาชีพ และลดความเป็นเจ้าขุนมูลนายประชาชนมั่นใจและเชื่อมั่นในระบบราชการว่าจะเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อมจากการที่ราชการมีความสามารถในการพัฒนาประเทศประชาชนได้รับประโยชน์จากบริหารสาธารณะต่าง ๆ คุ้มค่ากับภาษีอากรที่เสียให้รัฐ ซึ่งมาเกิดจากความสามารถในการลดความสูญเสีย ความสูญเปล่าจากความซ้ำซ้อนของงานหลังการปฏิรูป

 เมื่อระบบราชการที่โปร่งใส สุจริต ประชาชนทุกระดับทุกพื้นที่ควรได้รับบริการที่มีมาตรฐานที่เท่าเทียมกันและเป็นธรรมข้าราชการที่ให้บริการประชาชนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และผลของงานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเต็มที่และตรงตามความต้องการ

  1. ดังนั้น การปฏิรูปที่เปลี่ยนบทบาทภาครัฐจากการเป็นผู้ปฏิบัติไปเป็นผู้กำกับดูแล สนับสนุนส่งเสริม และอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและภาคประชาชน การทำให้กระทรวงมีบทบาทภารกิจที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน มีเจ้าภาพที่จะดูแลปัญหาและรับผิดชอบต่องาน และมีการบริหารโดยคำนึงถึงหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยมีรัฐสภาที่มาจากผู้แทนประชาชนและองค์กำรอิสระตามรัฐธรรมนูญตรวจสอบการทำงานอย่างใกล้ชิดจึงเป็นการสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรประชาชน และภาคประชาสังคมได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ปฏิรูปแล้วจะมีผลกระทบต่อข้าราชการอย่างไร

  1. การขยายตัวของกำลังคนในภาคราชการที่ผ่านมา เพื่อรองรับการให้บริการสังคมตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น และปัญหาที่เกี่ยวกับระบบข้าราชการ ส่งผลให้กำลังคนในระบบราชการที่เพิ่มมากขึ้น มีบุคลากรที่ไม่เหมาะสมกับงาน และมีการกระจุกตังเองของกำลังคนในบางหน่วยงานในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลนกำลังคนในอีกหลายหน่วยงาน
  2. โดยปกติของการปฏิรูปและการปรับปรุงประสิทธิภาพในหลายประเทศและหน่วยงานเอกชนที่ประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงิน และจำเป็นต้องปฏิรูปปรับเปลี่ยน มักเลือกวิธีลดขนาดกำลังคนหรือปลดคนออกเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาถึงสัดส่วนของข้าราชการต่อประชากรแล้ว จะเห็นว่ายังไม่ใคร่จะเป็นปัญหาที่รุนแรงเหมือนในบางประเทศ  ดังนั้น ประเด็นการปลดข้าราชการออกจึงไม่ใช่หลักประเด็นในการปฏิรูราชการช่วงนี้  ประเด็นสำคัญน่าจะเป็นปัญหาในการเกลี่ยอัตรากำลังให้สมดุล  อย่างไรก็ตามราชการส่วนกลางจำเป็นต้องลดขนาดและต้องปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุน การลดขนาดราชการของไทยจึงต้องเน้นการขจัดบทบาทที่ไม่จำเป็น ลดภารกิจที่ซ้ำซ้อน ถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่น และหาวิธีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและประหยัดมากขึ้น โดยการถ่ายโอนภารกิจให้ผู้ที่เหมาะสม ทั้งภาคเอกชน หรือ ภาคประชาสังคม เป็นผู้ดำเนินการแทน ภารกิจที่กฎหมายกำหนดให้เป็นภารกิจของท้องถิ่นก็ควรโอนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น สำหรับกำลังคนในส่วนเกินก็ใช้วิธีเกลี่ยอัตรากำลังจากส่วนที่หมดความจำเป็นไปทำภารกิจใหม่  โดยยังคงจำนวนอัตรากำลังไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้น วิธีนี้เป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ได้ตัดสินใจเลือกที่จะดำเนินการในระยะแรก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายพอใจ (Win-win approach) เพราะ ข้าราชการที่อยู่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์  และมีความรู้   หากปลอดออกจากราชการช่วงนี้ก็จะประสบปัญหาว่างงาน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ผู้ที่ว่างงานก็จะกลับกลายเป็นหน่วยการผลิตที่ไม่มีผลิตภาพและคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยเท่ากับอยู่ทำงานในระบบต่อไป อย่างน้อยก็ยังสามารถนำกำลังแรงงานของข้าราชการส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศ หรือหามาตรการที่จะส่งเสริมให้บุคลากรกลุ่มนี้มีโอกาสในการสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจต่อสังคมจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับข้าราชการโดยรวม ให้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน  มีความรู้สึกมั่นคง มีกำลังใจในการช่วยพัฒนาปรับปรุงระบบราชการ    และเป็นการสร้างแนวร่วมในการปฏิรูประบบราชการให้รุดหน้าต่อไป ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดกระแสความขัดแย้งและการต่อต้านจากผู้ที่อาจจะสูญเสียประโยชน์บางกลุ่ม
       สำหรับประเทศไทย   บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน  ตั้งแต่ปี  2540  เป็นบทเรียนที่เจ็บปวดและราคาแพงเพราะส่วนหนึ่งของปัญหามาจากระบบราชการที่อ่อนแอ  สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาของระบบราชการมานาน แต่ยังขาดความกล้าและ ความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนอย่างจริงจัง   หากสังคมไทยสามารถปฏิรูประบบราชการในช่วงกว่า 10 ปีมาแล้วได้ประสบความสำเร็จและมีระบบราชการที่ดีมีประสิทธิภาพ  ปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจอาจจะไม่รุนแรงเท่าในครั้งนี้ และที่สำคัญ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับผลกระทบจากปัญหาการทำงานและการครองชีพมากจนถูกกดดันให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อดิ้นรนหลุดจากวงจรอุบาทว์นี้ให้ได้ ในช่วงนี้ข้าราชการจึงมีความพร้อมที่จะร่วมมือผลักดันให้มีการปฏิรูประบบราชการ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชนต้องการเห็นระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และไม่คอร์รัปชัน จะให้การสนับสนุนรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ปฏิรูปราชการได้สำเร็จ
หมายเลขบันทึก: 387265เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บทความ น่าจะมีเอกสารอ้างอิงด้วยครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท