สารานุกรมวิชาชีพครู


โรงเรียนสองภาษา

ความสำคัญ

                   การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาความรู้ และทักษะได้เต็มศักยภาพเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา การจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนและสามารถสนองตอบผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม ตรงตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕  มาตรา  ๒๔ (๑)  “จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล” โดยเฉพาะผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ ดังที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕  มาตรา ๒๒ “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ”

                   ปัจจุบันความเจริญทางวิทยาการและระบบการสื่อสาร มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วความเจริญเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศจากนานาประเทศเริ่มเข้าสู่ประเทศไทย และสารสนเทศ  ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งจัดว่าเป็นภาษาสากล ระบบการศึกษาไทยจึงควรพัฒนาให้คนไทยมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ  เพื่อการสื่อสารได้เท่าเทียมกับอารยประเทศ กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษในปัจจุบัน      จึงมีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินงานโครงการโรงเรียนสองภาษา (English Program)  โดยพิจารณาให้ผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม  มีการจัดการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงนำไปสู่การแข่งขันระดับสากล ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากล จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมาก   การพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน

ความหมาย

         Bilingual  คือ ความสามารถที่จะเข้าใจภาษาได้ ๒ ภาษา นอกจากภาษาแม่ของตนเอง เช่น ไทย-จีน, ไทย-อังกฤษ, ญี่ปุ่น- อังกฤษ, ฝรั่งเศส- สเปน ในสังคมไทยจะเห็นชัดเจน คือ ภาษาไทย- จีน, ยาวี- ไทย ชาวเขาเผ่าต่างๆ- ภาษาไทย คนเชื้อสายจีน หรือชาวเขาเมื่อเข้ามาเรียนในโรงเรียนไทยก็ใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะชาวจีนในสังคมไทยใช้ภาษาไทยได้ดีมาก เด็กเหล่านี้เป็นเด็ก สองภาษา โดยธรรมชาติอยู่แล้ว

           ในด้านโรงเรียน Bilingual หมายถึงโรงเรียนที่จัดการสอนเป็นสองภาษา คือ ภาษาแม่และอีก ๑ ภาษา ซึ่งแล้วแต่ผลของระบบเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่นนั้น เช่น ในประเทศไทย ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญมากของธุรกิจของประเทศ จึงทำให้รัฐมองเห็นความจำเป็นในการให้เปิดโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านการฟังและการพูด จึงมีโรงเรียน Bilingual ระบบสองภาษา ไทย- อังกฤษขึ้นมากมาย

พื้นฐานและแนวคิด

          การเรียนภาษาทำให้สมองมีการพัฒนา

          นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า การเรียนภาษาที่สองทำให้สมองพัฒนามากขึ้น    นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอนได้ทำการศึกษาการทำงานของสมองจำนวน ๑๐๕ คน โดย ๘๐ ในกลุ่มผู้เข้ารับการทดสอบนั้นเป็นผู้ที่สามารถพูดได้สองภาษา พบว่า การเรียนภาษาอื่นสามารถพัฒนาสมองส่วนสีเทา ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้ในการประมวลผล คล้ายกับการออกกำลังกายให้กับกล้ามเนื้อ  คนที่เรียนรู้ภาษาที่สองตั้งแต่วัยเด็กนั้นมีสมองส่วนสีเทาพัฒนามากกว่าผู้ที่เริ่มเรียนเมื่อโตขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ว่าสมองสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัวมันเองเมื่อได้รับการกระตุ้น แต่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การเรียนภาษาเป็นทางหนึ่งในการพัฒนาสมองด้วย
             ทีมวิจัยได้ตรวจสอบกลุ่มตัวอย่างชาวอังกฤษจำนวน ๒๕ คนที่ไม่สามารถพูดภาษาที่สองได้ และอีก ๒๕ คนที่สามารถพูดภาษาแถบยุโรปภาษาอื่นก่อนอายุ ๕  ปี และอีก ๓๓ คนที่สามารถพูดได้สองภาษาระหว่างอายุ ๑๐-๑๕  ปี  การตรวจสอบพบว่า ในผู้ที่สามารถพูดได้สองภาษานั้น สมองส่วนสีเทาในสมองซีกซ้ายมีความหนาแน่นมากกว่าผู้ที่ไม่ได้พูดภาษาที่สอง โดยผลการตรวจสอบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature   งานวิจัยนี้ได้ทำการตรวจสอบซ้ำในการศึกษาชาวอิตาลีจำนวน ๒๒ คนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองเมื่ออายุ ๒  ปีและ ๓๔  ปี  แอนเดรีย มีเชลลิ หัวหน้าหน่วยวิจัยสถาบันทางประสาทวิทยา ที่ UCL กล่าวว่างานวิจัยนี้สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเด็กเล็ก ๆ จึงสามารถเรียนรู้ภาษาที่สองได้เร็วกว่า  งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนภาษาที่มีอายุมากนั้นไม่มีความสามารถในการเรียนเท่ากับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า แต่ คลิต ศูนย์สถาบันภาษาแห่งชาติได้ให้ข้อสงสัยเกี่ยวกับการเรียนภาษาเมื่อวัยเด็กว่า ยังขาดหลักฐานยืนบันการเปรียบเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้นของการศึกษาพื้นฐานของกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน  แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ งานวิจัยนี้ทำให้คนเริ่มเรียนภาษาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจากการสำรวจพบว่า คนทำงานในประเทศสหราชอาณาจักรเพียง ๑ ใน ๑๐ ที่สามารถพูดภาษาต่างชาติได้ แต่ในปี ๒๐๑๐ นี้โรงเรียนประถม จะมีการบังคับให้เด็กเริ่มเรียนภาษาในโรงเรียน

แนวคิดในการการสอน ๒ ภาษา และ ๓ ภาษาในประเทศไทย

            เริ่มตั้งแต่ช่วง พ.ศ. ๒๕๓๗ ก่อนการปฏิรูปการศึกษาว่า ควรให้โรงเรียนในไทยเป็นโรงเรียน ๒ ภาษา และค่อย ๆ ปรับให้เป็นโรงเรียนสองภาษาจนครบทุกแห่ง แต่เท่านั้นยังไม่พอ  เมื่อโลกเชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยีที่สะดวก รวดเร็วและต้นทุนการเชื่อมต่อกันไม่สูงนัก จำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีโรงเรียนสามภาษา เน้นภาษาหลักเพิ่มอีก ๑ ภาษาโดยเฉพาะภาษาจีน อันเป็นการเพิ่มศักยภาพความสามารถของบุคคลและการแข่งขันในระดับประเทศ

           ต่อ มาช่วงปฏิรูปการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กระทรวงศึกษาธิการเริ่มเล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งโรงเรียนสองภาษา โดยเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการเรียนหลักสูตร ๒  ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๔๔  เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ยกเว้นภาษาไทยและสังคมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย กฎหมาย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการเรียน ๒ ภาษาในประเทศไทย ยังประสบปัญหา โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนครูที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศและวิชาที่สอน อาทิ ครูต่างชาติบางคนไม่มีวุฒิทางการศึกษา หรือแม้มีวุฒิหรือความรู้วิชาการด้านที่ต้องการ แต่ไม่จบด้านการสอน ทำให้ไม่มีคุณภาพในการถ่ายทอดความรู้และทักษะในการสื่อความหมาย ครูต่างชาติจึงสอนเนื้อหาง่าย ๆ ให้เกรดเด็กในระดับดี และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ปกครอง ทั้งยังมีปัญหาการขาดความต่อเนื่องในการสอน เนื่องจากครูต่างชาติมักเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักศึกษาเพิ่งจบ ต้องการหาประสบการณ์ชีวิต นอกจากนี้ การสอน ๒ ภาษายังมีปัญหาการคัดเลือกผู้เรียน ที่ไม่คำนึงถึงพื้นฐานและความพร้อม แม้โรงเรียนสองภาษาจะกำหนดเกณฑ์การคัดเลือก แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เข้มงวดมากนัก

           ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้การพัฒนาโรงเรียน ๒ และ ๓ ภาษา ประสบความสำเร็จได้นั้น คือ ปัจจัยด้านครูที่มีคุณภาพ โดยจำเป็นต้องจัดหาครูที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ปัจจัยเตรียมความพร้อมผู้เรียน โดยมีระบบวางพื้นฐานภาษาต่างประเทศให้เด็ก เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเรียนหลักสูตร ๒ ภาษาหรือ ๓ ภาษา และปัจจัยด้านการคัดเลือกผู้เรียนที่สามารถเรียนหลักสูตร ๒  ภาษาได้จริง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาออกกลางคัน   การพัฒนาโรงเรียน ๒ และ ๓ ภาษานั้น โรงเรียนในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมีศักยภาพความพร้อมมากกว่าโรงเรียนในพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาหลักสูตร การหาครูต่างชาติที่มีคุณภาพ  การเตรียมและพัฒนาความพร้อมของผู้เรียน ฯลฯ

           หลักสูตรอิงลิชโปรแกรมเริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ โดยสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาภาคเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับโรงเรียนเอกชน ๑๐ แห่ง เป็นโรงเรียนต้นแบบในการทดลองใช้เรียนหลักสูตรนี้ ซึ่งโรงเรียนสอนหลักสูตรอิงลิชโปรแกรม หรือเรียกว่า โรงเรียนสองภาษาคือ โรงเรียนใช้หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นแกนกลาง และใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอน  พูดง่ายๆ ใช้หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ แต่สอนด้วยภาษาอังกฤษ ยกเว้นวิชาสังคมศึกษา ภาษาไทย และวิชาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม

แนวการเรียนการสอนของระบบ Bilingual

          เป็นการสอนวิชาต่างๆโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ในแต่ละวิชา ตามสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ สอนโดยครูต่างชาติ เจ้าของภาษาในภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ IT  ศิลปะ พลศึกษา ในด้านภาษาไทย สอนโดยครูไทย ในวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมไทย รักความเป็นไทย มีคุณธรรม และค่านิยมที่ดี  ครูต่างชาติที่สอน เป็นครูที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นครูเข้าทำการสอนได้ ส่วนนักเรียนในโรงเรียน Bilingual ยังคงได้เรียนภาษาไทย และสาระการเรียนรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ซึ่งเมื่อจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖  หรือ มัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้วสามารถศึกษาต่อทั้งในโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาลได้ หรือโรงเรียนในระบบนานาชาติได้


การประยุกต์ใช้

          บางคนสงสัยว่าการให้เด็กพูดสองภาษาพร้อม ๆ กัน จะทำให้เด็กสับสน แต่การวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า เด็กที่พูดได้สองภาษาตั้งแต่เล็ก ๆ นอกจากจะไม่สับสนแล้ว ยังจะเป็นคนที่เรียนรุ้อะไรได้เร็ว และมีทักษะในการแก้ปัญหาได้ดีกว่า ศ.เอลเลน ไบลี่ สต็อค ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยยอร์คจากแคนาดา ผู้ศึกษาด้านพัฒนาการทางภาษาในเด็กหลายร้อยคนกว่า ๒๐ ปี
เชื่อว่าการใช้สองภาษาควบกันจะฝึกเด็กรู้จักลำดับความสนใจ เพราะเขาจะต้องหยุดอีกภาษาหนึ่งไว้ขณะที่กำลังใช้อีกภาษาหนึ่ง ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็กสองภาษาและหนึ่งภาษาถูกขอร้องให้แก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิด จะเห็นว่าเด็กที่พูดสองภาษามีลำดับในการคิดแก้ปัญหาที่ดีกว่าและสามารถมองเห็นเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิดนั้น ความคิดของพวกเขาจะก้าวหน้ากว่าเด็กที่พูดภาษาเดียวอย่างน้อย ๑ ปี สิ่งที่ตามมาคือทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความเป็นผู้นำและเชื่อมั่นในตัวเองเมื่ออยู่ท่ามกลางเด็กคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีทักษะในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งมักจะพบว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถทำคะแนนวิชาอื่นที่โรงเรียนได้ดีอีกด้วย

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินโครงการโรงเรียนสองภาษา
. ผู้นำดำเนินการอย่างจริงจังจนเห็นผลทั้งระดับประเทศ ตลอดจนสถานศึกษาโดยกำกับดูแล ติดตาม และช่วยเอื้ออำนวยให้โครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
๒. การสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร    ที่ชัดเจน
๓. ความพร้อมของสถานศึกษาในทุกๆด้าน
๔. การประเมินผลมุ่งผลสำเร็จเป็นสำคัญและให้เป็นไปตามระบบเชิงวิจัยและพัฒนา
๕. มีองค์กรที่รับผิดชอบโครงการที่มีการดำเนินการอย่างเป็นอิสระ และโปร่งใส
๖. ทุกองค์ประกอบต้องสอดรับกันทั้งระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการ
การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ

เอกสารอ้างอิง    

พงษ์ระพี  เตชพาหพงษ์. (๒๕๕๒). เด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้. กรุงเทพ-
             มหานคร :  บริษัทมายด์คอนเน็กชันส์จำกัด.

Allen R. Bailey. (2008). Bilingual Education in the 21st Century:
              A
Global Perspective. Retrieved August 16, 2010 from
               http://www.amazon.co.uk/Bilingual-Education-21st-Century-
               Perspective

Wikipedia, (2010). Bilingual Education. Retrieved August 16, 2010 from

               http://en.wikipedia.org/wiki/Bilingual_education

หมายเลขบันทึก: 385889เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท