Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ท่ามกลางน้ำตานองหน้าของปวงประชาผู้ยากไร้.....ช่างน่าอายที่จะนิ่งเฉย


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เป็นบทความเพื่อบันทึกความคิดหลังจากอ่านงานเขียนจำนวนหนึ่งของภาสกร จำลอง ...สื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

หลังจากก้มหน้าก้มตาอ่านงานเขียนจำนวน ๒๐ เรื่องที่ภาสกร จำลองราช ใช้เวลาหลายปีในการบอกกล่าวความทุกข์และกำลังใจของคนรากหญ้าในประเทศไทย ผู้เขียนสังเกตเห็นเรื่องจริงหลายเรื่องซึ่งนำไปสู่ข้อคิดและข้อสรุปหลายประการ 

สามข้อสังเกตที่น่าจะกล่าวถึงก่อน

ในประการแรก ผู้เขียนสังเกตเห็นเรื่องจริงเรื่องหนึ่งจากทุกเรื่องราวที่เล่าโดยภาสกร จำลองราช กล่าวคือ ทุกข์ของชาวบ้านรากหญ้าในทุกเรื่องต่างมีที่มาจากความด้อยโอกาสประการใดประการหนึ่งของคนรากหญ้านั้นๆ ความด้อยโอกาสที่สร้างทุกข์แก่ชาวบ้านก็อาจจะเป็นความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม หรือกฎหมาย ข้อสังเกตนี้ทำให้สงสัยว่า ความเป็นคนรากหญ้ากับความเป็นคนด้อยโอกาสมีนัยยะที่ทับซ้อนกันเพราะอะไร ? เพราะเป็นคนรากหญ้า จึงด้อยโอกาส หรือว่า เพราะเป็นคนด้อยโอกาส จึงตกเป็นคนรากหญ้า

ในประการที่สอง เมื่อผู้เขียนสังเกตลึกลงไปในแต่ละปัญหาที่หยิบยกขึ้นมาผู้เขียนก็ตระหนักว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้เกินกว่าความสามารถที่ผู้ทำหน้าที่ผู้ปกครองรัฐจะแก้ไขได้ หากแต่คนกำอำนาจรัฐนั้นกลับมิได้เหลียวแลชาวบ้านผู้ยากไร้ตามสมควร  แต่ละเรื่องที่ฉายภาพโดยภาสกร เราไม่พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะปรากฏตัวเข้าแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้านโดยพลันและอย่างดี ในทางตรงข้าม หลายปัญหายังถูกทำให้เลวร้ายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง หลายเรื่องสะท้อนความไม่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหลายเรื่องสะท้อนความเห็นแก่ได้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าข้างนายทุนใหญ่เพื่อเอารัดเอาเปรียบประชาชนยากไร้ คนหลายกลุ่ม ข้อสังเกตนี้ก็สร้างความสงสัยให้ผู้เขียนอีกว่า ทำไมคนในภาครัฐจึงไม่ค่อยสนใจคนรากหญ้า ?

ในประการที่สาม  ผู้เขียนสังเกตเห็นความน่ากลัวของนายทุนทางเศรษฐกิจที่เข้ามาอยู่ในปัญหาหลายปัญหา และสาเหตุของปัญหาหลายเรื่องก็มีที่มาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น  เราเห็นภาพนี้ชัดเมื่อเราอ่านเรื่อง “เพชฌฆาตหน้าใหม่ - เรือคราดหอย" เราเห็นว่า ชุมชนแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ใน ซึ่งเป็นคนรากหญ้าที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง แต่ยังถูกรังแกโดยนายทุนรายใหญ่ ซึ่งเอาเรือคราดหอยขนาดใหญ่มากอบโกยหอยในอ่าวไทย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของทรัพยากรชายฝั่ง อันเป็นแหล่งอาหารของคนบนชุมชนชายฝั่ง

สามข้อค้นพบในทางแก้ไขปัญหาที่ต้องตอกย้ำ

ในประการแรก ผู้เขียนพบว่า เหล่าคนรากหญ้ามีกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหา  แม้ว่าผู้ใช้อำนาจปกครองรัฐไทยจะไม่แยแสกับน้ำตาที่นองหน้าปวงประชาเหล่านี้ พวกเขามิได้ยอมจำนนต่อปัญหาที่ถาโถมเพื่อจำกัดความอยู่รอดของพวกเขา สร้างความด้อยโอกาสให้แก่เขา เราเห็นพวกเขาลุกขึ้นแก้ไขปัญหาของตนเอง  การต่อสู้อาจจะเป็นแบบเอาชีวิตรอดไปวันๆ ดังเช่น “คนไร้บ้านแห่งสนามหลวง” อย่าง “ลุงยาว” หรืออาจจะเป็นการลุกขึ้นสู้อย่างเป็นกลุ่มก้อนและเป็นระบบของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตำบลแหลมผักเบี้ยในเรื่องราวของ “เพชฌฆาตหน้าใหม่-เรือคราดหอย” ข้อค้นพบนี้ชี้ให้เราตระหนักว่า แม้รัฐจะไม่เหลียวแล มนุษย์ก็ไม่สิ้นไร้ศักยภาพที่จะสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเองและชุมชนของตน เรื่องของกองทัพประชาชนนั้นมิใช่เรื่องที่จะมองข้ามได้เลย กองทัพประชาชนมิได้มีอยู่ในเรื่องของสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่านั้น แต่เราค้นพบว่า กองทัพนี้ปรากฏตัวเพื่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนทางแพ่งหรือพลเมือง ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรมอีกด้วย  กองทัพนี้อาจจะเข้มแข็งหรืออ่อนแอ แต่เรารู้แน่ว่า มนุษย์ย่อมเรียนรู้ที่จะพัฒนาจากความอ่อนแอเป็นความเข้มแข็ง และจากความเข้มแข็งในคุณภาพหนึ่งไปสู่ความเข้มแข็งในอีกคุณภาพหนึ่ง ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ช้าบ้างเร็วบ้าง สิ่งที่รัฐจะต้องระวัง ก็คือ วิวัฒนาการอาจจะเป็นเรื่องของการยอมรับอำนาจรัฐหรือปฏิเสธอำนาจรัฐก็เป็นได้

ในประการที่สอง เราค้นพบว่า ความเป็นคนรากหญ้าและความเป็นคนด้อยโอกาสมิได้ทำให้พวกเขาเหล่านี้ขาดไปซึ่ง “ปัญญา” ที่จะจัดการความอยู่รอดของตนเอง หรือสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนทางสังคมของตัวเขาและของชุมชนของพวกเขา เราค้นพบต่อไปว่า ภูมิปัญญาของเขาเป็นเรื่องที่ “กินได้” กล่าวคือ ใช้ได้จริง และเอื้อต่อการอยู่รอดของชีวิตของพวกเขา แม้จะไม่มีงานวิชาการหรืองานวิจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาปัญญาสำหรับพวกเขามากนัก เราค้นพบว่า คนรากหญ้าเหล่านี้ก็มิได้จำนนต่อความไม่รู้ การพัฒนาปัญญาชาวบ้านถูกพบเห็นอย่างไม่หยุดหย่อน ปราชญ์ชาวบ้านมีอยู่จริงในสังคมไทย พวกเขาเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้จะไม่มีตำแหน่งวิชาการมาเป็นตัวล่อเป้าแต่อย่างใด

ในประการที่สาม เราค้นพบว่า ชุมชนของคนรากหญ้ายังมีจริยธรรมอยู่เต็มเปี่ยม แต่เรากลับพบแนวคิดวัตถุนิยมในคนรุ่นใหม่ของสังคมไทย โดยเฉพาะในสังคมเมือ เราพบปัจเจกชนนิยมอย่างมากในคนที่มีโอกาสในการพัฒนาในสังคมเมือง แต่เรากลับพบมนุษยนิยมและชุมชนนิยมในคนด้อยโอกาสที่อาศัยในสังคมชนบทและด้อยพัฒนาทางวัตถุ เราค้นพบว่า การทำงานในรูป team work มักทำไม่ได้ดีในสังคมเมืองที่บูชาวัตถุนิยม แต่การทำงานของชุมชนที่ขาดไร้วัตถุสมัยใหม่กลับเป็นไปได้ แม้คนทำงานจะไม่รู้จักใช้คำเทคนิคสมัยใหม่แบบตะวันตก เราพบว่า เมื่อปัจเจกชนนิยมและวัตถุนิยมเข้าสู่ชนบท และทำให้ชนบทกลับเป็นเมือง จริยธรรมที่เปี่ยมด้วยมนุษยนิยมและชุมชนนิยมก็จะหายไป และมนุษย์ก็จะเอารัดเอาเปรียบกัน

สามข้อเสนอในการจัดการสังคมที่ไม่อยากให้มองข้าม

ในประการแรก ผู้เขียนเสนอว่า การสร้างบทเรียนของกำลังใจเพื่อสร้าง “คนและชุมชนที่เข้มแข็ง” น่าจะเป็นเรื่องที่เราทุกคนที่ไม่จำนนต่อปัจเจกชนนิยมและบ้าวัตถุนิยมน่าจะช่วยกันเก็บเกี่ยวจากเรื่องจริงที่เราพบเห็น และถ่ายทอดออกไป  ภาสกร จำลองราชอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีของนักข่าวที่ทำงานในสื่อกระแสที่เป็นธุรกิจสมัยใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่เขาก็มิได้ยอมจำนนต่อกำไรนิยมที่มุ่งเพียงขายข่าวเพื่อสร้างกระแส การยืนหยัดถ่ายทอดเรื่องราวของ “มนุษย์ธรรมดา” ในคอลัมภ์คติชนดูจะเป็น “บทเรียนแห่งความสำเร็จ (Success Story)” จนได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการในสถานะของ “สื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน” การเขียนถึงภาสกรมิใช่เพื่อยกย่องภาสเท่านั้น แต่เพื่อบอกเราทุกคนที่จะต้องเห็นความสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวของคนรากหญ้าออกไปให้กว้างขวางที่สุด สังคมไทยหรือสังคมโลกที่ตกอยู่ในวงล้อมของปัจเจกชนนิยมและวัตถุนิยมย่อมมีสภาวะที่เป็นมลภาวะต่อความอยู่รอดของมนุษย์ในทางสุขภาวะ เราเห็นการฆ่าตัวตายของคนที่ร่ำรวยทางวัตถุบ่อยขึ้น เราเห็นการกลับมาของการค้าทาส การค้ามนุษย์โดยมนุษย์กลับมาหลังจากที่รัชกาลที่ ๕ ทรงออกกฎหมายเลิกทาสใน พ.ศ.๒๔๔๘ มาสร้างบทเรียนว่าด้วยการสร้างกำลังใจที่จะอยู่รอดอย่างมีจริยธรรมกันเถอะนะ เรายังต้องการอีกหลายร้อยภาสกร กล่าวคือ เรายังต้องการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกอย่างไม่จำกัดจำนวน กระบวนการยุติธรรมตามธรรมชาติในสังคมไทยจะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเรามีสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนที่อุทิศตนเพื่อมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าพวกเขาอยู่ติดดินและยากไร้

ในประการที่สอง ผู้เขียนเสนอว่า มนุษย์ผู้รับบทบาทของผู้ปกครองรัฐควรจะรำลึกให้ได้ว่า ท่านก็ยังเป็นมนุษย์ แต่ท่านมีหน้าที่ที่จะดูมนุษย์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของท่าน การปกครองควรจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แท้จริง (True Law) กล่าวคือ กฎหมายที่มีความยุติธรรมตามธรรมชาติเป็นเป้าหมาย ในยุคนี้ ระบบกฎหมายไทยและระบบกฎหมายโลกก็มีลักษณะที่เอื้อมนุษย์นิยมและชุมชนนิยม ดังนั้น การที่จะพยายามใช้กฎหมายในลักษณะที่ทำร้ายประชาชนก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ข้อพิพาทระหว่างรัฐและประชาชนอาจต้องไปถึงศาล และในคดีความจำนวนมาก ศาลก็ไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงที่จะให้ความยุติธรรมก่ประชาชน แม้จะช้าไปบ้าง แม้คำพิพากษาบางกรณีจะไปไม่ถึงความยุติธรรม แต่ด้วยกฎหมายธรรมชาติที่มีอยู่จริง เราจะเห็นว่า คำพิพากษาที่ตกหล่นจากหลักความยุติธรรมก็จะถูกขว้างทิ้งไปในเวลาไม่ช้าไม่นาน กฎหมายที่แม้มาจากรัฐสภาแต่ไม่เอื้อต่อความยุติธรรมก็ไม่อาจถูกยอมรับในสถานะกฎหมาย เป็นเพียงสิ่งที่ถูกอ้างว่า เป็นกฎหมาย  หากภาคการเมืองและภาคราชการยังคงมัวเมาที่จะใช้กฎหมายเทียมเพื่อปกป้องนายทุนและประโยชน์นิยมแบบปัจเจก การปฏิวัติของประชาชนก็คงมาถึงสังคมไทยอย่างแน่นอน ความอยุติธรรมของผู้ใช้อำนาจรัฐก็คือหลุมฝ้งศพของบุคคลนั้นเอง เรื่องนี้เป็นจริงเสมอหากเราอ่านประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ชาติ ดังนั้น ธรรมะในการปกครองประชาชนจึงเป็นรัฐศาสตร์ที่ถูกต้องและละเมิดมิได้

ในประการที่สาม ผู้เขียนเสนอว่า ภาควิชาการในสถาบันการศึกษาในระบบควรจะอุทิศการเรียนการสอนเพื่อคนรากหญ้ามากขึ้น มาตรฐานวิชาการควรมีเป้าหมายที่ความอยู่รอดของมนุษย์และชุมชนของมนุษย์ มิใช่ความถูกต้องตามทฤษฎีที่พัฒนาในมหาวิทยาลัยโดยไม่มีเป้าหมายที่ประชาชนของแผ่นดิน มิใช่ความถูกใจของมาตรฐานนานาชาติของวารสารทางวิชาการฉบับใดฉบับหนึ่ง  ในเรื่องนี้ เราพบว่า มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยในมหาวิทยาลัยที่ไม่ใยดีกับตำแหน่งวิชาการ และอุทิศผลงานทางวิชาการเพื่อพัฒนามนุษย์และสังคม และเราก็พบว่า มีโรงเรียนเคลื่อนที่เข้าไปชุมชนห่างไกลและชนบท ที่น่าจะเป็นความปิติยินดีที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาใน พ.ศ.นี้ไม่ปฏิเสธสิทธิทางการศึกษาของมนุษย์เพราะเพียงพวกเขาไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังพบบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาคนรากหญ้าในมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรน้อยมาก โดยเฉพาะการศึกษานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่มิได้เน้นการใช้เรื่องจริงในสังคมไทยเป็นตัวเดินเรื่องของการปรับใช้องค์ความรู้ คงถึงเวลาแล้วที่จะผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้สังคมในความหมายที่แท้จริง สังคมคงไม่มีสันติสุขหากบัณฑิตซึ่งเป็นชนชั้นกลางและสูงของสังคมไม่ใยดีต่อประชาชนยากไร้ มุ่งแต่แสวงหาความร่ำรวยทางวัตถุ มีแนวคิดแบบปัจเจกนิยม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก บ้างก็เอาเปรียบประชาชนยากไร้ บ้างก็นิ่งเฉยต่อน้ำตาของคนรากหญ้าซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของแผ่นดิน

ขอจบว่า ท่ามกลางน้ำตานองหน้าของปวงประชาผู้ยากไร้.....ช่างน่าอายที่จะนิ่งเฉย

 

หมายเลขบันทึก: 385876เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่อเรื่องช่างเป็นข้อสรุปของเรื่องได้ดีมากเลยค่ะ อ่านแล้วได้แบบอย่างการเขียนเนื่อหาของเรื่องกินใจผู้สำนึกถึงชุมชนรากหญ้าเหลือเกินหากผู้นำของรัฐมองรากหญ้าอย่างท่านผู้เขียนว่ากฏหมายประชาชนคงไม่แสดงตนเองบ่อยอย่างปัจจุบันนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท