ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

มุมมองต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข


กฎหมายเพื่อแพทย์และผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

มองมุมบวกและมีเมตตา ทางออกของปัญหา  

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง
คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
ระดับจังหวัด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
E-mail : [email protected]
----------------------------

        เป็นเรื่องที่กำลังมีข้อกังวลใจ และความไม่เข้าใจกันอยู่บ้างในบางประเด็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ฝ่ายของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการรับบริการสาธารณสุข รวมทั้งองค์กรภาคเอกชน กำลังแสดงความคิดเห็นในประเด็นหรือเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างอ้างถึงข้อดีและข้อจำกัดของ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข  ซึ่งทางฝ่ายแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีการแสดงออกอย่างชัดเจนในการแสดงความเห็นของเรื่องนี้ โดยการเดินประท้วงและยื่นหนังสือผ่านผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลและรัฐสภา  ก็ถือเป็นการแสดงออกโดยเปิดเผยและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่สามารถแสดงออกได้กับเรื่องกฎหมายหรือเรื่อง  อื่น ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อตนเองครับ

        แต่ประเด็นตาม ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการ   สาธารณสุข ที่ทางฝ่ายแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการรับบริการสาธารณสุข  มองต่างกันอยู่ที่ประเด็นไหนกันแน่  ประเด็นแรก หากดูตามวัตถุประสงค์ ของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... จะพบว่า เจตนารมณ์ของกฎหมาย ทำเพื่อผู้ป่วย  และบุคลากรทางการแพทย์   อย่างชัดเจน เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อเยียวยาความเสียหายโดยไม่ต้องฟ้องร้องในชั้นศาล เช่น ในมาตรา 5 ที่แม้จะระบุว่าไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด และมาตรา 6 กล่าวถึง เหตุการณ์แบบใดบ้างที่จะร้องขอการเยียวยาไม่ได้ โดยระบุว่า 1) เกิดความเสียหายจากความปกติธรรมดาของโรค กล่าวง่าย ๆ ก็คือ โรคหรืออาการที่เกิดกับผู้ป่วยดังกล่าวไม่มีทางรักษาให้หายได้แล้ว การถึงแก่กรรมก็เป็นความปกติธรรมดาของการเกิดและเป็นโรคนั้นอยู่แล้ว เช่น มะเร็งขั้นสุดท้าย และโรคเอดส์  เป็นต้น 2) แพทย์ทำตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว  กล่าวคือ เมื่อแพทย์ได้ทำการรักษาตามขั้นตอนตามมาตรฐานวิชาชีพและตามขั้นตอนของการรักษาโรคนั้น ๆ แล้ว ก็ไม่สามารถร้องขอการเยียวยาได้   ประเด็นที่สอง  ประเด็นสัดส่วนคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนวิชาชีพ  ที่ถูกคัดค้าน เมื่อพิจารณาจะพบว่า  ก็มีทั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตัวแทนจากสถานพยาบาล   รวมแล้วมีแพทย์ประมาณ 5 คน ในคณะกรรมการชุดนี้  ทั้งนี้ การมีผู้เชี่ยวชาญ  อยู่ในคณะกรรมการก็ไม่มีความจำเป็นเพราะ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว  ไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด แต่หากจะมีการเพิ่มเติมตัวแทนจากสภาวิชาชีพในสาขาอื่น ๆ หรือหน่วยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นเรื่องที่น่าจะตกลงกันได้  ประเด็นที่สาม  ปัญหาเรื่องการฟ้องร้องต่อศาลภายหลังจากมีการจ่ายค่าชดเชยช่วยเหลือแล้ว โดยเฉพาะ การฟ้องคดีอาญา ผมว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทางฝ่ายแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์น่าจะเป็นประเด็นที่กังวลมากที่สุด การยกประเด็นเรื่องที่มาของเงินที่จะนำมาชดเชยให้กับผู้เสียหายผมคิดว่าเป็นประเด็นรอง คิดอย่างธรรมดา ความคิดเห็นแบบกลาง ๆ ผมคิดว่าคงไม่มีใครอยากนำเรื่องนี้มาหาประโยชน์จากเงินชดเชยหรอกครับ  และยิ่งเป็นชาวบ้านเรื่องโรงเรื่องศาลถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา ไม่มีใครอยากขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นแน่ และประเด็นเงินชดเชย ตามร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ระบุว่าหากมีการรับเงินช่วยเหลือแล้ว และมีการพิพากษาให้มีการจ่ายเงินอีก ก็ให้หักเงินที่มีการช่วยเหลือไปก่อนหน้านั้นแล้วออกไป

          สำหรับ  การฟ้องคดีอาญาก็เป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไป ในมาตรา 45 ได้ระบุว่า ถ้าผู้เสียหายทำสัญญาประนีประนอมแล้ว แพทย์สามารถนำสัญญาดังกล่าว ยื่นต่อศาลเพื่อให้ศาลลดหย่อนโทษได้ ซึ่งหมายถึงศาลจะสั่ง  ลงโทษน้อยกว่าหรือไม่ลงโทษก็ได้ ซึ่งไม่มีกฎหมายวิชาชีพฉบับใดบัญญัติเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพเท่ากฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่ต้องมีการรับผิดแต่อย่างใด  กฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ตามมาตรา 5 ระบุชัดเจนว่า กรณีเกิดความเสียหายให้ฟ้องหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งหมายถึงกระทรวงสาธารณสุข แต่จะฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลไม่ได้ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีกรณีการฟ้องร้องจริง  ก็จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ไม่สามารถใช้กฎหมายเพียงฉบับหนึ่งฉบับใดได้ 

          หากพิจารณาด้วยการมองมุมบวกและมีเมตตาแล้ว  ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข  แล้วเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะเป็นการคุ้มครองประชาชนจาก การรับบริการสาธารณสุข และคุ้มครองแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในประเด็นของการจ่ายค่าชดเชยและการฟ้องร้องคดีอาญาครับ  กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด พอเป็นตัวอย่างเรื่องการรับบริการสาธารณสุข คือ การผ่าตัดต้อกระจกผู้ป่วย ของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น  จำนวน 25 ราย และเกิดการติดเชื้อจนทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นจำนวนถึง  10 - 11 ราย  แต่ทำไมข่าวที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นข่าวยืดเยื้อต่อเนื่องในสื่อต่าง ๆ  เหมือนกรณีอื่น ๆ  เพราะว่า โรงพยาบาลดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งและเจรจาไกล่เกลี่ยที่ไม่ใช่การต่อรอง และไม่ใช่การเกลี้ยกล่อม โดยเฉพาะรู้จัก “การฟังอย่างตั้งใจ” และ “การขอโทษอย่างแท้จริงและจริงใจ” กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยทั้งสิบเอ็ดรายและในที่สุดจากการเยียวยาทางจิตใจ และการจ่ายค่าชดเชยตามสมควร   แก่กรณี โดยโรงพยาบาลยินดีที่จะดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างดีที่สุดต่อไป  ทำให้บรรเทาความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจจนผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตาให้อภัยและกลับมาบอกหมอผู้ผ่าตัดให้กำลังใจด้วยความเข้าใจว่า  “หมออย่าเพิ่งท้อนะ”

          จะเห็นได้ว่า ทั้งฝ่ายของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการรับบริการสาธารณสุข ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดกรณีความเสียหายขึ้นหรอกครับ โดยเฉพาะกรณีความสูญเสียชีวิต แต่เมื่อมีกรณีเกิดขึ้นแล้วการมองมุมบวกและมีเมตตา รวมทั้ง “การฟังอย่างตั้งใจ” และ “การขอโทษอย่างแท้จริงและจริงใจ ต่างหากครับที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนมีความรักและศรัทธาต่อกันเหมือนที่ผ่านมาครับ.

 

หมายเลขบันทึก: 382551เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2010 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

เรื่องนี้กำลังมาแรง ต้องใช้เหตุผล ข้อมูล คุณธรรม จริยธรรม การปฎิบัติ วิชาชีพ เปิดใจ ทำใจ รับฟัง คิดถึงใจเขา ใจเรา ฯลฯ ร่วมมือกันต่อไป ครับ

ผมเห็นด้วยกับท่าน รศ.เพชรากร หาญพานิชย์ เลยครับว่าทุกฝ่ายต้องเปิดใจกว้างรับฟังซึ่งกันและกัน และมองหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท