เลิศ
นาย บุญเลิศ เลิศ วีระพรกานต์

โครงสร้างองค์การและการประยุกต์ใช้แนวคิด ทฤษฎี


วิเคราะห์โครงสร้างองค์การและการประยุกต์ใช้แนวคิด ทฤษฎี

วิเคราะห์โครงสร้างองค์การและการประยุกต์ใช้แนวคิด ทฤษฎี

และการประเมินองค์การสถานศึกษาของราชการ

                                                                                บุญเลิศ  วีระพรกานต์

                                                                      นักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

                                                              มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

------------------------------------------------------------------

1.แนวคิด  ทฤษฎี ที่นำมาใช้

   โครงสร้างการบริหารองค์การสถานศึกษาของราชการ (โรงเรียนขนาดกลาง) ได้ใช้หลักการแนวคิด ทฤษฎี  มาเป็นตัวกำหนดโครงสร้าง ประกอบด้วย

    1.ทฤษฎีระบบราชการของ แมกซ์ เวเบอร์  ซึ่งมีลักษณะที่เข้ากับระบบราชการไทย โดยมีลักษณะตามทฤษฎี ประกอบด้วย(อัมพร  ธำรงลักษณ์ : 2551 : 45)

        1.มีการแบ่งงานกันทำตามความชำนาญเฉพาะด้าน

        2.มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละตำแหน่งเอาไว้อย่างชัดเจน

        3.มีระเบียบวิธีการคัดเลือกบุคลากรที่ยุติธรรม

        4.มีกฎ  ระเบียบ  ข้อบังคับที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน

        5.ความสัมพันธ์ของบุคคลในองค์การต้องไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง

        จากลักษณะดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนคิดว่า  ตามโครงสร้างของสถานศึกษานั้น จะต้องมีการแบ่งงาน หน้าที่กันอย่างชัดเจนและตรงกับ ความสามารถ ความถนัด ของบุคลากร และมีการกำหนดอำนาจ หน้าที่ แต่ละงานไว้อย่างชัดเจนในการปฏิบัติ จึงนำทฤษฎีระบบราชการ ของ แมกซ์ เวเบอร์มาเป็นหลักในการกำหนดโครงสร้าง

       นอกจาก ทฤษฎีระบบราชการ ของ แมกซ์ เวเบอร์  แล้วผู้เขียนยังได้นำเอา ทฤษฎีองค์การของ

วีเนอร์  มาประยุกต์ใช้ในการกำหนดโครงสร้างองค์การอีกด้วย โดยอาศัยหลักการที่ว่า องค์การเป็นระบบหนึ่งที่ประกอบด้วยปัจจัย  5  ประการ ดังนี้ (สมคิด  บางโม : 2552 : 36)

      1.ปัจจัยนำเข้า  เช่น นักเรียน  เงินทุน วัสดุ

      2.กระบวนการ เป็นกระบวนการผลิตซึ่งเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นสินค้าบริการ เช่น  กระบวนการเรียนการสอนซึ่งต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย  กิจกรรมต่างๆ

     3.ผลผลิต ได้แก่ สินค้าและบริการขององค์การ  เช่น  นักเรียนที่สำเร็จการศึกษา

      4.ข้อมูลย้อนกลับ  เช่น  ผลสะท้อนจากผู้ปกครอง   โรงเรียนที่รับช่วงในการศึกษาต่อ  ตลาดแรงงาน

      5.สิ่งแวดล้อม  เช่น สภาพสังคม ประเพณี วัฒนธรรม  การเมือง  การปกครอง  เศรษฐกิจ

      จากทฤษฎีดังกล่าวผู้เขียนคิดว่า  ปัจจัยทั้ง 5 มีส่วนในการส่งผลต่อความสำเร็จขององค์การสถานศึกษา เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปัจจัยที่เป็น กระบวนการ  ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการผลิต

       สรุป  ในการสร้างโครงสร้างองค์การสถานศึกษา ผู้เขียนได้นำเอาแนวคิด หลักการจากทฤษฎีระบบราชการของ แมกซ์ เวเบอร์ และ ทฤษฎีองค์การของวีเนอร์  มาประยุกต์ใช้เพราะว่า  องค์การสถานศึกษาราชการสดคล้องกับระบบของ แมกซ์ เวเบอร์ ในส่วนของการจำแนก อำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน และต้องอาศัย ปัจจัยทั้ง 5 ของ วีเนอร์ ซึ่งเป็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการผลิตขององค์การ  และนอกจากทฤษฎีหลักๆ ดังกล่าวแล้ว ยังคงต้องมีหลักการ แนวปฏิบัติต่างๆมาร่วมในการบริหารจัดการอีกเพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ เช่น  ภาวะผู้นำ   ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์  แรงจูงใจ เป็นต้น

2.กระบวนการกำหนดโครงสร้างองค์การ

     ตามแนวคิดของผู้เขียน  ได้กำหนดโครงสร้างองค์การ โดยการ นำเอางานเป็นหลักในการกำหนด  โดยการกำหนดเป็นกลุ่มงานต่างๆ  โดยอาศัยหลักการบริหารโรงเรียนนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ซึ่งแบ่ง งานการบริหาสถานศึกษาออกเป็น 4 งาน คือ งานบริหารวิชาการ 

งานบริหารงานบุคคล  งานบริหารงบประมาณ  และงานบริหารงานทั่วไป  ซึ่งได้ปรับกลุ่มงานต่างๆให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนในส่วนของทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ ทั้งบุคคล  งบประมาณ  วัสดุอุปกรณ์  อาคารสถานที่ เป็นต้น

      สรุป  จัดโดยการใช้งานเป็นหลัก  โดยกำหนดเป็นกลุ่มงาน และให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา

3.กระบวนการพัฒนาองค์การ

     ได้กำหนดเป็น  3  ขั้นตอนตามแนวคิดของของ ณัฏฐพันธ์  เขจรนันทน์ (2551 : 269) ซึ่งได้จำแนกเป็นขั้นตอน ดังนี้

     1.การวินิจฉัย(Diagnosis) เพื่อที่จะกำหนดวัตถุประสงค์และแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของระบบ โดยอาศัยความรู้จากการวินิจฉัยและเทคนิคการพัฒนาองค์การประกอบกัน

     2.การปฏิบัติ(Active Intervention)  เพื่อให้การพัฒนาองค์การดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยการวัดและประเมินความก้าวหน้าของแผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะปรับปรุงให้การดำเนินงานมีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

    3.การเสริมแรง (Reinforcement) เพื่อให้พฤติกรรมที่ต้องการคงอยู่อย่างต่อเนื่อง  โดยไม่ผันแปรหรือย้อนกลับสู่สภาวะเดิมเนื่องจากความเฉื่อยที่เกิดจากความเคยชินของบุคคลหรือกลุ่ม ตลอดจนติดตามผล เพื่อทำการปรับปรุงและเสริมแรงให้ระบบที่ต้องการคงอยู่อย่างต่อเนื่อง

     ระดับของการพัฒนาองค์การ

            ตามแนวคิดของ ณัฏฐพันธ์  เขจรนันทน์ (2551 : 270) แบ่งออกเป็น  3  ระดับ ดังนี้

           1.ระดับบุคคล (Individual  Level) การพัฒนาองค์การในระดับบุคคล  จะเป็นระดับย่อยที่สุดในการปฏิบัติ  ซึ่งจะดำเนินการโดยอาศัยหลักทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์

           2.ระดับกลุ่ม (Group  Level) การพัฒนาองค์การระดับกลุ่มอาศัยหลักการพื้นฐานที่ว่า การรวมกลุ่มก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งบุคคลและองค์การ เนื่องจากวิธีการพัฒนาองค์การในระดับกลุ่มจะมุ่งพัฒนากลุ่มสมาชิกให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันและระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ

          3.ระดับองค์การ(Organizational  Level) การพัฒนาองค์การระดับองค์การจะมีวัตถุประสงค์หลักที่จะมุ่งสร้างความเข้าใจแก่สมาชิกว่า  องค์การเป็นระบบที่เกิดจากการอยู่ร่วมกัน การประสานงานและช่วยเหลือซึ่งกันและกันของระบบย่อย โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับส่วนหนึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องกับส่วนอื่นภายในองค์การ  การพัฒนาองค์การจึงต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก และบรรยากาศในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งบุคคล  กลุ่ม  และองค์การโดยอาศัยเทคนิคต่างๆ โดยให้มีการพัฒนาในทิศทางที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

        สรุป กระบวนการพัฒนาองค์การ  จากการศึกษาแนวคิด หลักการ ดังกล่าวข้างต้น มีขั้นตอนการพัฒนา  3  ขั้นตอน ประกอบด้วย  การวินิจฉัย  การปฏิบัติ  และการเสริมแรง  สำหรับระดับการพัฒนาองค์การมี 3  ระดับ คือ  ระดับบุคคล   ระดับกลุ่ม และระดับองค์การ ซึ่งหากดำเนินการตามขั้นตอนและระดับการพัฒนาองค์การจะพบว่า  องค์การจะได้รับการพัฒนาไปสู่เป้าหมายและเป็นไปตามกระบวนการ ขั้นตอน

4.กระบวนการในการควบคุมและประเมิน

         การที่จะทราบว่าองค์การจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่  การควบคุมและประเมิน  เป็นกระบวนการและปัจจัยที่สำคัญ ที่สามารถบอกให้ผู้บริหาร หรือบุคคลทั่วไปทราบได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันการประเมินผลองค์การได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในองค์การภาครัฐและเอกชน

         ตามแนวคิดของ สมคิด  บางโม (2552 : 278) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการประเมินผลองค์การ ไว้ดังนี้

  1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน
  2. กำหนดตัวชี้วัดและเครื่องมือที่จะใช้วัด
  3. กำหนดเกณฑ์มาตรฐานหรือตัวเปรียบเทียบสำหรับตัวชี้วัดแต่ละตัว
  4. ดำเนินการประเมินผล
  5. วิเคราะห์เปรียบเทียบกับมาตรฐานที่ตั้ง

        กระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอนถือว่าเป็นกระบวนการมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานในระดับต่างๆ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของแต่ละองค์การ

       สรุป   กระบวนการในการควบคุมและประเมินองค์การ  เป็นกระบวนการสำคัญที่จะสะท้อนภาพความสำเร็จขององค์การ  และการดำเนินการประเมินต้องเป็นไปตามกระบวนการประเมิน โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน  กำหนดตัวชี้วัด   กำหนดเกณฑ์มาตรฐาน  ดำเนินการประเมินผล  วิเคราะห์เปรียบเทียบกับมาตรฐานที่กำหนด  และปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความเที่ยงตรงในการประเมิน ซึ่งจะส่งผลต่อผลการประเมินองค์การต่อไป

----------------------------------------------------------------

 

อ้างอิง

 

        ณัฏฐพันธ์  เขจรนันทน์ (2551). พฤติกรรมองค์การ.บริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด.กรุงเทพมหานคร

      สมคิด  บางโม (2552). องค์การและการจัดการ.บริษัทวิทยพัฒน์ จำกัด.กรุงเทพมหานคร

     อัมพร  ธำรงลักษณ์  (2551). องค์การ  ทฤษฎี  โครงสร้างและการออกแบบ. บริษัทเคล็ดลับไทย. 

                          กรุงเทพมหานคร

      

หมายเลขบันทึก: 381433เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2010 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท