พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

บันทึกการจัดการปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายของครอบครัวป้าสันที :รวบรวมพยานหลักฐาน และขอหนังสือรับรองการเกิด


รวบรวมพยานหลักฐานยืนยันการเกิด การอาศัยอยู่ และขอหนังสือรับรองการเกิด

บันทึกการจัดการปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายของครอบครัวป้าสันที : ก้าวแรกของผู้เรียนรู้ และ ก้าวสำคัญของผู้ที่อยู่มานาน

16 สิงหาคม เวลาตอนเช้าอันสดใสของวันศุกร์ วันที่คนกลุ่มหนึ่งต่างมีจุดหมายเดียวกันที่จะเดินทางไป จ.ราชบุรี และจ.กาญจนบุรี เพื่อจัดการปัญหาเรื่องสถานะบุคคลให้กับครอบครัวคนไร้สัญชาติครอบครัวหนึ่งที่อาศัยบนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลา 40 กว่าปี

                ครอบครัวคนไร้สัญชาติที่เราได้ทำความรู้จักในครั้งนี้คือ ครอบครัวของป้าสันที หญิงวัย 65 ปีกับลูก ๆ อีก 5 คน คือ ปัจจราหรือบุญมี  อำพล อดุลย์ ชาญชัยหรือสัญชัย บุญชัย และ วิษณุ หลานชายวัย 16 ปีของป้าสันที

                ป้าสันทีเป็นคนเชื้อชาติมอญที่ เดินเท้าเข้ามาประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2505 ในขณะที่อายุประมาณ 16 ปี เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยขณะนั้นป้าสันทีไม่มีเอกสารระบุทราบตัวบุคคลใด ๆ จากประเทศพม่า เนื่องจากในช่วงเวลานั้นประเทศพม่าก็ยังไม่มีระบบการจัดการประชากรที่ชัดเจน ส่วนชายแดนของประเทศไทยเองก็ยังไม่เคร่งครัดในการตรวจคนเข้าเมืองดังเช่นปัจจุบัน  จึงไม่น่าแปลกใจหากชาวต่างชาติเช่นป้าสันทีจะเดินทางข้ามพรมแดนประเทศมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใดๆ  ป้าสันทีอยู่กินฉันสามีกับนายสอน และให้กำเนิดลูกทั้ง 5 คนที่บ้านทุ่งก้างย่าง ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี แต่ด้วยความไม่รู้เกี่ยวกับการจัดการประชากรของรัฐ ทำให้ป้าสันทีไม่ได้แจ้งการเกิดของลูก ๆ กับทาง อ.ไทรโยค ด้วยเหตุนี้รัฐไทยจึงไม่เคยทราบถึงการมีตัวตนอยู่ของครอบครัวป้าสันทีและลูก ๆ ในประเทศไทย จนกระทั่งป้าสันทีและครอบครัวได้เข้ารับการสำรวจบัตรสีชมพู (ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า)2ครั้ง โดยครั้งที่ 2 เข้ารับการสำรวจในเขต อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ปรากฎตามสำเนาทะเบียนบ้าน ท.ร.13 แต่ด้วยเหตุที่ต้องย้ายที่อยู่เพราะสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวไม่สู้ดี ทำให้ครอบครัวป้าสันทีไม่ได้รอรับบัตรจากทางอำเภอตามวันที่ถึงกำหนดรับบัตร ส่งผลให้ทางราชการไม่มั่นใจว่าป้าสันทีและลูก ๆ มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่จึงได้มีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนของป้าสันทีและลูก ๆ  เลข 13 หลักที่ถูกกำหนดให้เป็นเลขประจำตัวของป้าสันทีและลูก ๆจึงเสมือนว่าไม่ได้ส่งผลใดๆ จนกว่าป้าสันทีและลูก ๆจะพิสูจน์สถานะได้ว่าตน คือ คน ๆ เดียวกับที่มารับการสำรวจและเป็นเจ้าของเลขประจำตัว 13 หลักดังกล่าว

                ดังนั้นสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของไทยของป้าสันที ก็คือ คนต่างด้าวที่เกิดนอกประเทศไทย และตามกฎหมายคนเข้าเมืองของไทยนั้น ป้าสันทีเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                และลูก ๆ ของป้าสันทีนั้นหากเวลาและสถานที่เกิดเป็นความจริงก็จะถือว่าเป็นคนสัญชาติไทยตามหลักดินแดน ตาม ม.23 พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551

                สำหรับวิษณุ หลานชายของป้าสันที่ ซึ่งเกิดจากปัจจรา (ชื่อที่ได้รับการบันทึก) หรือบุญมี (ชื่อที่เรียกเป็นปกติ) กับเล็ก บุญชา คนเชื้อชาติมอญที่อพยพเข้ามาจากพม่า วิษณุเกิดปี พ.ศ. 2537 ที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จำได้ว่าเคยได้รับ ทร.1/1 จากทางโรงพยาบาล แต่ปัจจุบันทำหายไป และไม่เคยนำ ทร.1/1 ฉบับดังกล่าวไปแจ้งเกิดกับทางอ.บ้านโป่ง ปัจจุบัน วิษณุ มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติ ประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ ทร. 38ก อย่างไรก็ตามหากสามารถยืนยันได้ว่าเวลา และสถานที่เกิดของวิษณุเป็นความจริงและ วิษณุเกิดจากแม่ที่ถูกถอนสัญชาติไทยตาม ปว.337 จริง  วิษณุก็จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยตาม พรบ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4 )พ.ศ. 2551 ม. 23

                ทริปจัดการกับปัญหาสถานะบุคคลในครั้งนี้ มีผู้ร่วมเดินทาง ก็คือ พี่ด๋าว อ.ไหม พี่ชมพู่ พี่บรีซ ครอบครัวป้าสันที และเรา  พวกเราเริ่มต้นการเดินทางโดยมุ่งหน้าไปยัง โรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อยืนยันการเกิดในโรงพยาบาล ของด.ช.วิษณุ บุญชา และแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อยืนยันการเกิด (ทร.1/1 ตอน 1) เพื่อนำไปใช้สำหรับการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตาม ม.23 พรบ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4 )พ.ศ. 2551

            ณ โรงพยาบาลบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง  จ.ราชบุรี

                โรงพยาบาลบ้านโป่ง ให้การต้อนรับการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรของพวกเราเป็นอย่างดี นางพยาบาลซึ่งเป็นหัวหน้าห้องคลอดยืนยันกับพวกเราว่าวิษณุมาคลอดที่โรงพยาบาลบ้านโป่งจริง โดยตรวจสอบจาก “ทะเบียนคลอด” ซึ่งเป็นเอกสารของทางโรงพยาบาลที่บันทึกใส่สมุด ไว้ที่ห้องคลอด โดยจะบันทึกข้อมูลของคนที่มาทำคลอด และเด็กที่เกิดที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง  

                สำหรับโรงพยาบาลบ้านโป่ง ระบบการบันทึกข้อมูลของคนที่มาทำคลอด และเด็กที่เกิดที่โรงพยาบาลจะมีการบันทึกใน 2 แบบ คือ

                1 บันทึกในสมุดบันทึกแม่และเด็กที่มีส่วนหนังสือรับรองการเกิด หรือ ทร. 1/1 ตอน 1 ซึ่งทางโรงพยาบาลจะมอบให้กับผู้มาทำคลอดเพื่อนำไปแจ้งการเกิดของเด็ก ส่วนคั่วของสมุดก็จะเก็บไว้ในโรงพยาบาล และส่วนคั่ว (ทร. 1/1 ตอน 2)นี้จะถูกทำลายทุก 5 ปี ตามระยะเวลาการเก็บรักษาเอกสารทั่วไป เช่นเดียวกับโรงพยาบาลอื่น ซึ่ง ทร. 1/1 ตอน 2 ที่เป็นชื่อของวิษณุก็ได้ถูกทำลายไปแล้ว

                2 บันทึกใน “ทะเบียนคลอด” ซึ่งเป็นสมุดบันทึกของโรงพยาบาลที่อยู่หน้าห้องคลอด จะระบุ ชื่อผู้มาทำคลอด เด็กที่คลอด วันเวลาที่คลอด เพศของเด็ก น้ำหนัก Hospital Number(HN) และ Admission  Number(AN) ซึ่งโรงพยาบาลบ้านโป่งจะเก็บทะเบียนคลอด โดยไม่มีการทำลาย ดังเช่นโรงพยาบาลอื่นที่พวกเราเคยสอบถามมา เนื่องด้วยโรงพยาบาลบ้านโป่งมีความเห็นที่มองการณ์ไกลว่า หาก ทร.1/1 ตอน 1 ที่ทางโรงพยาบาลออกให้เกิดสูญหาย ก็ยังมีทะเบียนคลอดที่สามารถตรวจสอบยืนยันได้ว่ามีใครมาคลอดที่นี่บ้าง นับว่าเป็นวิธีการปฏิบัติที่ดีมากวิธีหนึ่งสำหรับพื้นที่ ที่ยังคงมีปัญหาในเรื่องการจดทะเบียนการเกิดของเด็ก

                อย่างไรก็ตามแม้ทางโรงพยาบาลยืนยันได้ว่าวิษณุเกิดที่โรงพยาบาลจริง แต่ทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถออก ทร. 1/1 ตอน 1 ได้เพราะเคยออกไปแล้ว แต่ทางโรงพยาบาลก็ยินดีทำหนังสือเพื่อยืนยันกับทางเทศบาลบ้านโป่งว่า วิษณุเกิดที่โรงพยาบาลจริง ทั้งนี้ข้อปฏิบัติในเรื่องการออก ทร .1/1 ตอน 1 ซ้ำอีกครั้ง หรือการออกหนังสือเพื่อยืนยันว่าบุคคลนี้มาคลอดที่โรงพยาบาลจริงอย่างที่โรงพยาบาลบ้านโป่งปฏิบัตินั้น ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้ แต่เป็นข้อปฏิบัติที่นำมาใช้กันเองเพื่อแก้ปัญหาให้กับบุคคลที่ต้องการแจ้งการเกิดที่โรงพยาบาลกับทางราชการ แต่ไม่มี ทร. 1/1 ตอน 1 มาแสดง

                 ทั้งนี้หนังสือเพื่อยืนยันการเกิดแทน ทร. .1/1  นี้ ทางโรงพยาบาลจะออกให้เมื่อมีหนังสือจากทางเทศบาล หรือที่ว่าการอำเภอส่งมาเพื่อขอให้ยืนยันการเกิดของบุคคล ด้วยเหตุนี้เอง พี่ด๋าวและอ.ไหม จึงขอปรึกษากับทางโรงพยาบาลว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะออกหนังสือยืนยันดังกล่าวให้กับประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้ถือหนังสือจากเทศบาลหรือที่ว่าการอำเภอมา เพราะหากต้องรอให้ทางเทศบาลหรืออำเภอออกหนังสือมอบให้ประชาชนเพื่อมาขอหนังสือยืนยันจากโรงพยาบาล ก็จะเป็นการเพิ่มขั้นตอนที่ยุ่งยากกับประชาชนที่ฐานะไม่สู้ดีนัก  ทางโรงพยาบาลจึงชี้แจงว่าไม่จำเป็นว่าทุกกรณีจะต้องมีหนังสือจากทางเทศบาลหรืออำเภอก่อน เพราะทางโรงพยาบาลจะพิจารณาจากเจตนาของผู้มาขอเป็นหลักว่านำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด

สำหรับหลักเกณฑ์ของโรงพยาบาลที่จะพิจารณาว่าบุคคลใดที่ถือว่ามาคลอดที่โรงพยาบาล หรือ เป็นการเกิดของเด็กที่โรงพยาบาลนั้น จะพิจารณาจากกระบวนการคลอดว่าต้องมีส่วนที่ทำให้ห้องคลอด เช่น แม้ตัดสายสะดือมาแล้ว แต่ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการคลอด มาล้างรกที่โรงพยาบาล และเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยว่าแม่ และทารก เป็นแม่ลูกกันจริง เช่นนี้ ก็ถือว่าแม่คลอดลูกที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลจะออก ทร. .1/1 ตอน 1 ให้

หลังจากพูดคุยกับทางโรงพยาบาลบ้านโป่ง และศึกษาวิธีการเก็บข้อมูลการคลอด โดยวิธีการบันทึกในทะเบียนคลอดของโรงพยาบาลแล้ว พวกเราก็รู้สึกยินดีกับวิธีการบันทึกข้อมูลคนคลอดของโรงพยาบาลบ้านโป่ง และพวกเราก็เห็นว่าเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับโรงพยาบาลอื่นที่จะนำไปปฏิบัติต่อไป 

ณ เทศบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี

พักเหนื่อยอยู่บนรถได้ประมาณ 10 นาที พวกเราก็เดินทางมาถึงเทศบาลบ้านโป่ง เพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับวิษณุตาม ม. 20/1 พรบ.การทะเบียนราณฎร 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งในคราวแรกทางเทศบาลไม่ยินยอมให้ยื่นคำร้องตาม ม. 20/1 หรือ แจ้งเกิดเกินกำหนด  โดยให้เหตุผลว่าต้องพิสูจน์สถานะทางกฎหมายของปัจจรา(หรือบุญมี)แม่ของวิษณุ ที่อ.สังขละบุรีให้ได้ความว่าเป็นเจ้าของเลขประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 จริงและเป็นคน ๆ คนเดียวกับคนที่ชื่อบุญมี รวมทั้งทางเทศบาลไม่สามารถรับคำร้องได้ด้วยเหตุผลที่ว่าแต่ละครั้งที่วิษณุและแม่มายื่นคำร้องจะแสดงเลขประจำตัว ที่แตกต่างกันจึงไม่แน่ชัดว่าถ้ารับคำร้องจะถือเอาตามเลขประจำตัวเลขใด

สุดท้ายก็สามารถทำความเข้าใจกับทางเจ้าหน้าที่ได้ โดยพยายามอ่านและขอให้ทางเจ้าหน้าที่เปิดกฎหมายและพิจารณาไปพร้อม ๆ กันว่าการขอหนังสือรับรองการเกิดตาม ม. 20/1 พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอคือเกิดในไทยแต่ไม่ได้แจ้ง  โดยยื่นคำร้องต่อที่ทำการอำเภอ หรือท้องถิ่นที่เกิด หรือที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือมีภูมิลำเนาปัจจุบัน ทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ (กรณีของวิษณุคือทะเบียนประวัติ ทร.38ก) หลักฐานที่แสดงว่าเกิดในไทย เช่น ทร.1/1 หลักฐานการศึกษา ส่วนบัตรประจำตัวของผู้แจ้ง และบิดามารดา นั้น “ถ้ามี” จึงนำมาแสดง และนายทะเบียนก็จะมีหน้าที่ตรวจสอบพยานหลักฐานและพยานบุคคลที่เกี่ยวกับเพื่อยืนยันให้ได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยจริง แล้วจึงจัดทำหนังสือรับรองการเกิด ทร.20/1 มอบแก่ผู้ร้อง หลักเกณฑ์ตามกฎหมายข้างต้นแสดงให้ทราบว่าสถานะบุคคลตามกฎหมายของปัจจราแม่ของผู้ร้อง ซึ่งถูกระงับเคลื่อนไหวทางทะเบียนอยู่นั้นไม่ได้มีผลต่อการที่วิษณุจะขอหนังสือรับรองการเกิด ทร.20/1 แต่อย่างใด ส่วนประเด็นที่ทางเทศบาลอ้างว่าเลขประจำตัวของวิษณุมีหลายเลขนั้น อ.ไหม ได้ทำความเข้าใจว่าให้ถือตามเลขที่ระบุใน ทร. 38 ก  เพราะตัวเลขก่อนหน้านี้ตั้งขึ้นเพียงเพื่อใช้สำหรับการสมัครเข้าเรียนในสถานศึกษาเท่านั้น

สำหรับประเด็นที่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า พยานที่น่าเชื่อถือที่จะยืนยันการเกิดได้นั้นต้องเป็นข้าราชการ อ.ไหมและพี่ด๋าวก็ได้ทำความเข้าใจว่า พยานที่น่าเชื่อถือไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการเสมอไป หลักคือ ต้องเป็นพยานที่เห็นการเกิดของวิษณุ ยืนยันได้ว่าวิษณุเป็นคนที่เกิดในไทยจริง เพียงแต่ว่าถ้าพยานที่ยืนยันการเกิดประกอบอาชีพรับราชการก็จะทำให้ถ้อยคำพยานมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากวิษณุอายุเกินกว่า 15 ปีแล้วจึงต้องมายื่นคำร้องด้วยตนเอง

ณ อำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี 

พวกเราเดินทางมายัง ที่ว่าการอำเภอบ้านโป่งเพื่อขอหารือการออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับวิษณุ ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดี เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนได้ทำการบ้านอ่านข้อกฎหมายมาอย่างดี จึงค่อนข้างเข้าใจตรงกันว่า หากวิษณุได้หนังสือรับรองการเกิด ทร. 20/1 เรียบร้อยแล้ว และเมื่อใดที่พิสูจน์ได้ว่านางปัจจราหรือบุญมีคือคน ๆเดียวกันที่เกิดในประเทศไทยจริง มีเลข 13 หลัก แต่ถูกระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนอยู่ หากได้รับอนุญาตให้เพิกถอนการระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนได้ และมีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าปัจจรา คือ คนสัญชาติไทยตาม ม. 23 พรบ.สัญชาติ (ฉบับ 4) 2551 จริง และวิษณุคือลูกของปัจจราจริงวิษณุก็จะได้สัญชาติไทยตามแม่ คือ ตาม ม. 23 พรบ.สัญชาติ(ฉบับ 4) 2551 อย่างไรก็ตามมีประเด็นปัญหาที่พวกเรายังต้องหาคำตอบอยู่ว่า การยื่นคำร้องของหนังสือรับรองการเกิดของวิษณุต้องยื่นที่เทศบาล หรืออำเภอ  เพราะในปีที่วิษณุเกิด ยังไม่มีการจัดตั้งเทศบาล อำนาจหน้าที่การรับแจ้งเกิดเป็นของอำเภอ

 

                การเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรกับเทศบาลบ้านโป่ง และที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง ทำให้เราเชื่อ ว่าองค์ความรู้เป็นฐานสำคัญสำหรับการจัดการปัญหา หากเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็คงจัดการปัญหาไม่ได้ และหากยังบ่ายเบี่ยงที่จะไม่รับรู้ ไม่ยอมศึกษา ไม่ยอมทำความเข้าใจ รับเอาองค์ความรู้เข้ามาก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหานั้นได้ และความทุกข์ยากที่สุดก็ตกกับคนที่เป็นเจ้าของปัญหาซึ่งก็เป็นคนไทย หรือไม่ก็คือมนุษย์ผู้ร่วมโลกของเราคนหนึ่ง

                ณ โรงพยาบาลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

                พวกเราเดินทางมาที่นี่กันด้วยเหตุผลเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานยืนยันการเกิดในโรงพยาบาล ของ นายบุญชัยที่โรงพยาบาลท่าเรือ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการขอหนังสือรับรองการเกิดของนายบุญชัย ซึ่งก็ไม่มีปัญหาเพราะเมื่อเรานำสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กของโรงพยาบาลท่าเรือที่มีชื่อของบุญชัย และป้าสันที โรงพยาบาลก็เชื่อว่าบุญชัยเกิดที่โรงพยาบาลท่าเรือจริง ทางโรงพยาบาลจึงยินดีออกหนังสือรับรองการเกิด ทร. 1/1 ตอน1 ย้อนหลังให้กับบุญชัยเพื่อนำไปแจ้งเกิด

                17 ก.ค. 2553

                วันนี้พวกเรามุ่งหน้าตรงไปที่บ้านม่องสะเทอ หรือ หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ภาระกิจของพวกเราในวันนี้คือ สืบพยานเพื่อยืนยันการอาศัยอยู่ที่ อ.สังขละบุรี ในช่วงเวลาที่มีการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติ  ของครอบครัวป้าสันที เพื่อเป็นพยานหลักฐานยืนยันว่า ป้าสันทีและลูก ๆ ทุกคนเคยอาศัยอยู่ที่ อ.สังขละบุรี และได้เข้ารับการสำรวจการจัดทำทะเบียนสำหรับชนกลุ่มน้อย (ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า) ในช่วงประมาณปี 2527-2530

                การสืบพยานบุคคลค่อนข้างเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับเรา และพี่บรีซ  แต่พี่ด๋าวและ อ.ไหม ก็ใจดี เปิดโอกาสให้เรา พี่บรีซ พี่ชมพู่ ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยให้พวกเราเป็นคนซักพยาน ในบางคำถาม จดบันทึก และช่วยกันสังเกต พิจารณาว่าสิ่งที่พยานแต่ละคนพูดตรงกันหรือไม่  ข้อมูลส่วนไหนที่คาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ทำให้เราได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ว่าลักษณะของพยานคนใด การให้ข้อมูลแบบใดที่น่าเชื่อถือ ทักษะในการจับประเด็นและความรอบคอบเป็นสาระสำคัญมากในการทำงาน

                สำหรับพยานบุคคลที่สามารถรับรองการอาศัยอยู่ของป้าสันทีและครอบครัว ในบริเวณบ้านม่องสะเทอ อ.สังขละบุรี คือ ป้าระย้า และพี่ยุวดีซึ่งเป็นลูกของป้าระย้า ทั้งสองคนจำป้าสันทีได้แม้เวลาจะผ่านไปนานมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะมือข้างขวาของป้าสันทีพิการ ทำให้ง่ายต่อการจดจำ  พี่ยุวดีจำได้ว่าป้าสันทีและครอบครัวย้ายมาอยู่บ้านม่องสะเทอหลังจากที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน อ.สังขละบุรี โดยมาปลูกบ้านหลังเล็กมากอยู่ตรงข้ามบ้านของตน และในคราวที่ทางการมาสำรวจการจัดทำทะเบียนสำหรับชนกลุ่มน้อยซึ่งครอบครัวของตนเข้ารับการสำรวจนั้น ครอบครัวของป้าสันทีก็เข้ารับการสำรวจด้วย  ป้าสันทีและครอบครัวอาศัยอยู่ที่บ้านม่องสะเทอได้ประมาณ 2 ปี หลังจากที่สามีของแกเสียชีวิต แกจึงย้ายออกจากบ้านม่องสะเทอไป

                พยานอีกคนที่ช่วยให้พวกเรามั่นใจมากขึ้นว่าป้าสันทีเคยอยู่ที่บ้านม่องสะเทอจริง ก็คือพี่วิศนี ซึ่งเป็นลูกของป้าระย้าเช่นกัน พี่วิศนีเล่าว่าเธอเคยขับรถโดยสารประจำทาง และเธอเองที่เป็นคนขับรถไปรับป้าสันทีและครอบครัวย้ายออกจากบ้านทุ่งก้างย่าง ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค และมาส่งที่บ้านม่องสะเทอ ซึ่งในคราวเดียวกันนี้มีครอบครัวของพี่วรรณาที่ย้ายออกจากทุ่งก้างย่างมาอยู่ที่บ้านม่องสะเทอในเวลาไล่เลี่ยกับครอบครัวป้าสันที

                พี่วรรณาเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับปัจจรา(หรือบุญมี) ลูกของป้าสันที พี่วรรณาจำป้าสันทีได้ดังนั้นเธอจึงเป็นพยานบุคคลอีกคนที่รับรองการอาศัยอยู่ของป้าสันทีและครอบครัวใน อ.สังขละบุรี และยังสามารถรับรองได้ว่าปัจจราหรือบุญมีคือคน ๆ เดียวกัน สามีของพี่วรรณาคือ พี่เสวกซึ่งปัจจุบันคือ ผู้นำชุมชนของบ้านม่องสะเทอ พี่เสวกเองก็ยืนยันว่าป้าสันทีและครอบครัวเคยอาศัยอยู่ที่บ้านม่องสะเทอจริง

                นอกจากนี้ยังมีครูอรุณที่เคยเป็นครูของโรงเรียนที่ปัจจรา และอำพลศึกษาอยู่ที่รับรองการอาศัยอยู่ของบุคคลทั้งสอง  และนับว่าเป็นโชคดีของครอบครัวป้าสันทีที่พยานบุคคล 2 คนที่รับรองการอาศัยอยู่ของครอบครัวป้าสันทีเป็นคนที่มีอาชีพมั่นคง และเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เป็นผลดีในลักษณะที่เป็นพยานที่ส่งเสริมความน่าเชื่อถือสำหรับส่วนราชการ

                ขณะที่สอบปากคำพยานที่บ้านม่องสะเทอ เราก็ได้ทำแผนที่ระบุตำแหน่งบ้านของพยานบุคคล และบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านป้าสันทีเพื่อไว้ประกอบแบบบันทึกคำพยานในคราวที่จะยื่นให้แก่อำเภอสังขละบุรี เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือว่า พยานเหล่านี้มีตัวตนอยู่จริงและได้อาศัยอยู่จริง และพวกเราได้มาสืบพยานในพื้นที่นี้จริง ประกอบกับเพื่อความสะดวกของอำเภอสังขละบุรี หากจะเรียกพยานบุคคลเหล่านี้ไปสอบปากคำที่อำเภอ

                18 ก.ค.2553

                วันนี้พวกเราตัดสินใจเดินทางไปหาพยานบุคคลเพิ่มเติมเพื่อรับรองการเกิดของลูก ๆ ของป้าสันทีว่าเกิดในประเทศไทย ณ ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จริง

                พุดาหรือลุงศักดา บุคคลซึ่งป้าสันทีอ้างขึ้นเป็นพยาน เนื่องจากครอบครัวของตนและลุงศักดาเคยอาศัยอยู่บ้านทุ่งก้างย่าง ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยลุงศักดาเล่าว่าตนเองและภรรยา คืออป้าบุญมี และไพโรจน์ ลูกชาย เคยอาศัยอยู่ที่ทุ่งก้างย่าง โดยขณะที่อาศัยอยู่ก็เห็นว่าป้าสันทีและลูก ๆ อยู่ที่นั่น แม้ว่าลุงศักดาจะไม่ได้อยู่ด้วยเวลาที่ป้าสันทีคลอดลูก และไม่ได้เห็นเวลาที่คลอดลูก แต่ก็เห็นว่าป้าสันทีมีลูกเล็ก ๆ หลายคน และเชื่อว่าลูก ๆ ของป้าสันทีเกิดที่ทุ่งก้างย่างทุกคน ประกอบกับลูกชายของตน เกิดในปีเดียวกับลูกป้าสันทีนั่นก็คือ อำพล แม้จะเกิดคนละวันแต่ป้าบุญมีก็ยืนยันว่าห่างกันประมาณ 4-5 วันเท่านั้น ดังนั้นป้าบุญมีจึงเป็นพยานคนสำคัญที่ยืนยันได้ว่าอำพลเกิดในประเทศไทยจริง

                พวกเราต่างเชื่อว่าลุงศักดาเคยอยู่ที่บ้านทุ่งก้างย่างจริง เพราะลุงศักดาได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทางราชการในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีนโยบายขับไล่คนมอญออกจากพื้นที่บ้านทุ่งก้างย่าง ซึ่งเป็นการให้ปากคำที่ตรงกับที่ป้าสันทีและครูอรุณเล่าให้พวกเราฟัง

นอกจากนี้ยังมีลุงวันชัย ญาติของลุงศักดาที่เคยอาศัยอยู่บ้านทุ่งก้างย่าง และรู้จักป้าสันทีช่วยยืนยันว่าป้าสันทีและครอบครัวเคยอยู่ที่ทุ่งก้างย่าง และลูก ๆ ของป้าสันที่เกิดที่ทุ่งก้างย่าง

19 ก.ค. 2553

วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันสำหรับครอบครัวป้าสันที เพราะพวกเราจะพาลูก ๆ ป้าสันที คือ ปัจจรา(หรือบุญมี) อำพล อดุลย์ และชาญชัย หรือสัญชัย ไปขอหนังสือรับรองการเกิด ณ ที่ว่าการอำเภอไทรโยค

ครอบครัวของป้าสันทีโชคดีมากเพราะปลัดอำเภอไทรโยคได้เตรียมข้อมูล และศึกษาเรื่องราวของครอบครัวป้าสันที รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว ทางปลัดอำเภอจึงยินดีให้ลูก ๆ ป้าสันทียื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิด โดยปลัดอธิบายว่าทางอำเภอจะต้องสืบพยานบุคคลผู้รู้เห็นการเกิดอย่างน้อย 3 คน ทั้งนี้ป้าสันทีผู้เป็นแม่ก็ถือว่าเป็นพยานคนหนึ่ง แล้วลูกของป้าสันทีที่เป็นพี่ ก็สามารถเป็นพยานให้กับน้อง ๆ ได้ ส่วนพยานบุคคลอื่นนั้นปลัดฯ อาจจะเรียกมาสอบพยานเพิ่มเติมหรืออาจพิจาณาจากบันทึกคำพยานที่พวกเราไปสืบพยานกันมา ก็อาจจะเพียงพอ

ลูก ๆ ของป้าสันทีได้ยื่นคำร้องโดยบันทึกลงใน ปค. 14 และอย่างที่พอเข้าใจได้ว่างานทุกงานต้องมีอุปสรรค และอุปสรรคอย่างหนึ่งที่เราเห็นในวันนี้ก็คือ เวลาที่เจ้าหน้าที่ของอำเภอบันทึกการให้ปากคำของผู้ร้องนั้น บ้างก็บันทึกเกิน บ้างก็บันทึกขาดจากที่ผู้ร้องให้การ และที่สำคัญบางคำถามที่เจ้าหน้าที่ถามนั้นเป็นคำถามนำ ไม่ใช่การซักถาม ดังนั้นเวลาที่ผู้ร้อง ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่ไร้สัญชาติและแถบจะไม่เคยติดต่อกับข้าราชการมาก่อน  ก็อาจจะฟังไม่ถนัด ไม่เข้าใจคำถาม อาจจะผิดหลงตอบผิดจากข้อเท็จจริงของตนได้ง่าย ดังนั้นพวกเราจึงต้องช่วยกันอ่านข้อความใน ปค. 14ทบทวนว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นไปตามเจตนาที่ผู้ร้องต้องการสื่อออกไป ก่อนที่ผู้ร้องจะลงลายมือชื่อในแบบบันทึก ปค.14 นอกจากนี้ทางอำเภอก็ได้ถ่ายรูปครอบครัวของป้าสันทีไว้เป็นหลักฐาน

ปลัดฯ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมกับครอบครัวป้าสันทีว่าเนื่องจากครอบครัวป้าสันทีออกจากพื้นที่ควบคุมคือ อ.สังขละบุรี ไปอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ โดยไม่ได้ขออนุญาต จึงเป็นความผิดมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นป้าสันทีและครอบครัวจึงควรเร่งไปทำเรื่องขออนุญาตออกจากพื้นที่ควบคุมตามกฎหมาย ด้วยเหตุว่าในวันข้างหน้าที่มีคำสั่งให้เพิกถอนการระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนของครอบครัวป้าสันที และลูก ๆ ได้รับหนังสือรับรองการเกิดแล้ว จะได้ยื่นคำร้องลงรายการสัญชาติไทยทันทีโดยไม่มีข้อกังขาจากทางราชการถึงการออกจากพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต

แหล่งข้อมูล : รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

                  : อาจารย์ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง

หมายเลขบันทึก: 381305เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2010 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก

ขอเป็นกำลังใจและเอาใจช่วยให้ดำเนินการประสบความสำเร็จค่ะ

รี่ลองดู พ.ร.บ.สัญชาติหน่อยนะ

มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

มาตรานี้มีมาในพ.ร.บ.ฉบับที่ 4 ไม่ได้ไปแก้ไข หรือเพิ่มเติม พ.ร.บ. ปี 2508 นะครับ

ลองดู comment อ.แหวว ใต้บันทึกนี้นะครับ http://learners.in.th/blog/privateinternationallaw2551/178978

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท