สุขใจที่ได้ทำงาน


บรรยากาศในการประชุมของพวกเขานั้นเป็นการนำ KM มาใช้กลาย ๆ มีการเลือก/เสนอผู้นำในวงพูดคุย มีการเปิดโอกาสให้แต่ละคนเล่ากิจกรรมด้านการแนะแนวอาชีพของโรงเรียนตัวเองให้สมาชิกท่านอื่นได้ทราบ และมีการร่วมกันเลือกและพิจารณากิจกรรมที่น่าสนใจเสนอเป็นโครงการ สุดท้ายได้เสนอแนะให้คุณครูแนะแนวแต่ละโรงเรียนนำเสนอเรื่องเล่าในการจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพในโรงเรียนผ่านเว็บไซต์ของสพท.สพ.2 เพื่อเป็นประโยชน์แก่โรงเรียนอื่น ๆ

        ความสุขใจที่ได้ทำงานเพื่อครู  แม้จะเป็นเพียงงานอะไรเล็ก ๆ ตัวเองก็รู้สึกดี จะว่าไปงานนี้แม้ประโยชน์ผลจะเกิดกับเด็กนักเรียน แต่ในกระบวนงานแล้วเราต้องผ่านเฟืองตัวสำคัญ นั่นคือ "คุณครู" โดยเฉพาะคนที่จะมีบทบาทมากก็คือ "คุณครูแนะแนว" นั่นเอง
        
        ความสุขของตัวเองเกิดจากการที่เราได้พาครูแนะแนวรวม 15 คน เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ" ซึ่งจัดโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 ณ โรงแรมคุ้มสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี

        เมื่อตัวเองเดินทางไปถึงสถานที่จัดสัมมนา พบว่ามีครู 2 คนยังไม่ได้มารายงานตัว จึงรีบโทรศัพท์ประสานทั้ง 2 ท่าน เพราะไม่อยากให้ครูพลาดโอกาสได้ฟังวิทยากรพิเศษ คือ อ.ภาคินัย  สุนทรวิภาต นายกสมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าอาจารย์มีข่าวความเคลื่อนไหวล่าสุดในเรื่องการเสนอขอวิทยฐานะของครูแนะแนวมาฝากด้วย แต่โดยเนื้อแท้แล้วตัวเองอยากจะให้คุณครูได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการแนะแนวอาชีพในครั้งนี้เสียมากกว่า 

       คุณครูแนะแนวทั้ง 2 ท่าน ขอบอกขอบใจเรายกใหญ่ที่ประสานให้เขาได้มาร่วมงาน ทั้งที่เจ้าตัวไม่ทราบเรื่องเพราะไม่ได้รับหนังสือแจ้งทาง e-office จากเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน

        ในภาคบ่ายคุณครูที่เดินทางมาจากแต่ละเขตพื้นที่ของจังหวัดสุพรรณบุรี แบ่งกลุ่มเป็นอำเภอ ๆ รวม 10 อำเภอ  เพื่อประชุมร่วมกันกำหนดสถานศึกษาที่มีความพร้อมเป็นที่ตั้งศูนย์กลางในการปฏิบัติงานของอำเภอนั้น ๆ และร่วมกันกำหนดกิจกรรม/โครงการสำคัญที่คาดว่าจะดำเนินการหากได้รับงบประมาณสนับสนุน

        ตัวเองปลื้มใจมากที่คุณครูแนะแนวจากอำเภออู่ทอง อำเภอสองพี่น้อง และ อำเภอดอนเจดีย์ มีความกระตือรือร้น ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติกิจกรรม ที่เป็นปลื้มมาก ๆ คือ บรรยากาศในการประชุมของพวกเขานั้นเป็นการนำ KM มาใช้กลาย ๆ  มีการเลือก/เสนอผู้นำในวงพูดคุย มีการเปิดโอกาสให้แต่ละคนเล่ากิจกรรมด้านการแนะแนวอาชีพของโรงเรียนตัวเองให้สมาชิกท่านอื่นได้ทราบ และมีการร่วมกันเลือกและพิจารณากิจกรรมที่น่าสนใจเสนอเป็นโครงการ

                - อำเภออู่ทอง เสนอโรงเรียนอู่ทองเป็นศูนย์ฯ เสนอโครงการอาชีพหลากหลายหาได้ใกล้ ๆ ตัว
                - อำเภอสองพี่น้อง เสนอวิทยาลัยการอาชีพสองพี่น้องเป็นศูนย์ฯ เสนอโครงการเสริมอาชีพสู่ชุมชน
                - อำเภอดอนเจดีย์ เสนอโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 เป็นศูนย์ฯ เสนอโครงการสร้างอาชีพและพัฒนาทักษะอาชีพในสถานศึกษาและชุมชน

          ผลนี้คงเกิดจากในแต่ละอำเภอมีคุณครูแนะแนวจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมฯ นั่นคือ ร.ร.อู่ทอง-อ.อู่ทอง / ร.ร.บางลี่วิทยา-อ.สองพี่น้อง / ร.ร.บรรหารฯ 1-อ.ดอนเจดีย์ จึงทำให้เขาซึมซับกับบรรยากาศของ KM  รวมถึงโรงเรียนอื่น ๆ ก็รู้จัก KM กันแล้ว (สพท.สพ.2 ขยายผลให้กับทุก ร.ร.ในสังกัดฯ)

          และสุดท้ายตัวเองได้เสนอแนะให้คุณครูแนะแนวแต่ละโรงเรียนนำเสนอเรื่องเล่าในการจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพในโรงเรียนผ่านเว็บไซต์ของสพท.สพ.2 เพื่อเป็นประโยชน์แก่โรงเรียนอื่น ๆ รวมถึงตั้งใจว่าตัวเองจะฉวยใช้โอกาสนี้สานงานต่อ นั่นคือ เป็นตัวกลางประสานรับครูแนะแนวจากโรงเรียนอื่น ๆ เพิ่มจาก 15 โรงเรียนนี้ (คงเป็นเพราะจำกัดด้วยงบประมาณจึงจัดให้ได้เพียง 15 คน) เข้าร่วมเป็นเครือข่ายย่อยเพิ่มเติมอีก การทำงานเครือข่ายของคุณครูแนะแนวจะได้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้ในที่สุดผลประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนในที่สุด ก็ต้องขอบคุณทางสำนักงานจัดหางานสุพรรณบุรีไว้เป็นอย่างมาก ที่ได้จัดโครงการดี ๆ แบบนี้ให้กับพวกเรา

คำสำคัญ (Tags): #แนะแนวอาชีพ
หมายเลขบันทึก: 37932เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2006 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 12:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

      อ่านบันทึกนี้ทำให้คิดถึงเมืองสุพรรณบุรี ผมเคยไปดูงานที่โรงเรียนสงวนหญิง ปี 2537 ตอนนั้นเข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษาระดับสูง ที่ สพบ.(วัดไร่ขิง)

ขอเป็นแรงใจให้สานงานต่อไปครับ ครูแนะแนวเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาผู้เรียนนะครับ

           เป็นปลื้มมากค่ะ ที่ได้รับกำลังใจจากเจ้าของแพลนเน็ต "ทุนทางปัญญา" ทำให้ตัวเองได้รับ "ความสุขคูณสอง" ค่ะ ... และบอกตัวเองว่า สู้..สู้..ค่ะ ขอบคุณสำหรับแรงใจมาก ๆ ค่ะ

          เดิมเรามีกลุ่มครูที่มีความสนใจในการพัฒนางานแนะแนวร่วมกันในนามของครูผู้นำพัฒนาการจัดการเรียนรู้ (Resource and Teacher Center หรือ RTC) กิจกรรมแนะแนว โดยดิฉันเองทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสมาชิก กลุ่มของเรามีสมาชิกไม่มากค่ะ แต่ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อพัฒนาตัวเองด้านงานแนะแนว โดยเราทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพื่อนำความรู้กลับไปปฏิบัติงานในการดูแล ให้ความช่วยเหลือลูกศิษย์ของพวกเราค่ะ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท