การประเคนของถวายพระ


เอกสารประกอบการอบรมนักศึกษาผู้ทำหน้าที่พิธีกรทางศาสนา เรื่อง มารยาทชาวพุทธและศาสนพิธี รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

การประเคน  คือ การถวายสิ่งของแด่พระสงฆ์ด้วยการยกถวาย  การประเคนที่ถูกต้องจะต้องประกอบด้วยลักษณะ ๕ ประการ คือ  

 

๑) ของที่จะถวายนั้นต้องไม่หนักหรือใหญ่เกินไป คนเดียวสามารถยกได้

๒) ผู้ถวายต้องอยู่ในหัตถบาส (อยู่ในระยะวงแขน) คือ พอที่จะยกถวายได้ ไม่ใกล้หรือไกลเกินไป

๓) เวลาถวายต้องยกให้พ้นพื้น ไม่เสือกไสไปกับพื้น

๔) ต้องถวายด้วยความเคารพ มีจิตใจนอบน้อม

๕) เมื่อพระภิกษุรับแล้วจึงปล่อยมือแล้วยกมือไหว้ ๑ ครั้ง

ผู้ชายให้ถวายกับมือพระได้เลยและควรนั่งคุกเข่าให้เรียบร้อยก่อนยกของประเคน   ผู้หญิงเวลาถวายให้วางของลงบนผ้ารับประเคนของพระที่ปูรับอยู่ด้านหน้าและควรนั่งพับเพียบให้เรียบร้อย 

การแสดงความเคารพพระสงฆ์ 

          

พระสงฆ์ในฐานะสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมวินัย จึงเป็นผู้ที่ชาวพุทธต้องแสดงความเคารพ  ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างกันตามโอกาส ดังนี้ 

 

๑. การลุกขึ้นยืนรับพระสงฆ์ 

การลุกขึ้นยืนรับนั้น  ถ้านั่งเก้าอี้อยู่ หากพระสงฆ์เดินมานิยมลุกขึ้นยืนรับ เมื่อท่านเดินผ่านมาตรงหน้า นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้เมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้วจึงนั่งลงตามเดิม แต่ถ้านั่งอยู่กับพื้นแล้ว ไม่นิยมลุกขึ้นยืนรับเมื่อท่านเดินผ่านมาเฉพาะหน้านิยมยกมือไหว้หรือกราบตามความเหมาะสมแก่สถานที่นั้น

 

๒. การให้ที่นั่งแก่พระสงฆ์

          นิยมจัดอาสนะสงฆ์หรือเก้าอี้ไว้ต่างหากจากฆราวาส หรืออุบาสก-อุบาสิกา ถ้า สถานที่ชุมชนนั้นจัดให้นั่งเก้าอี้ที่ไม่ได้จัดเตรียมไว้เฉพาะพระสงฆ์ หากท่านมาต้องลุกหลีกไป ให้โอกาสแก่พระสงฆ์นั่งเก้าอี้แถวหน้า หากชายจำเป็นต้องนั่งแถวเดียวกับพระสงฆ์ นิยมนั่งด้านซ้ายของพระสงฆ์  สตรีเพศ (อุบาสิกา) ไม่นิยมนั่งแถวเดียวกันหรืออาสนะยาวเดียวกัน เว้นแต่กรณีจำเป็น ต้องมีบุรุษคั่นอยู่

           

๓.การตามส่งพระสงฆ์

          ถ้านั่งเก้าอี้ นิยมลุกขึ้นยืนส่งท่าน เมื่อท่านเดินผ่านมาถึงเฉพาะหน้า นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้    

          ถ้านั่งกับพื้น นิยมไม่ต้องยืนส่ง เมื่อท่านเดินผ่านมาถึงเฉพาะหน้านิยมกราบหรือยกมือไหว้ตามควรแก่กรณี

          เจ้าภาพหรือประธานพิธี ต้องตามไปส่งท่านจนพ้นบริเวณงานหรือจนกว่าท่านจะขึ้นรถพ้นออกไปจากบริเวณงาน แล้ว ก่อนที่ท่านจะจากไปนิยมน้อมตัวลงไหว้

           

๔.เมื่อพระสงฆ์เดินตามหลังมา

                   ๑. หลีกทางชิดข้างทางด้านซ้ายมือของพระสงฆ์

                   ๒. ยืนตรง มือทั้งสองต้องประสานกันไว้ข้างหน้า หันหน้ามามองท่าน

                   ๓. เมื่อพระสงฆ์เดินมาถึงเฉพาะหน้า นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้

                   ๔. ถ้าท่านพูดด้วยนิยมประนมมือพูดกับท่าน ถ้าไม่พูดด้วยก็อยู่ในท่าปกติ

           

๕.วิธีเดินตามหลังพระสงฆ์

                   ๑. เดินตามไปเบื้องหลัง โดยให้เยื้องไปทางซ้ายของท่านระยะห่างจากท่าน ๒-๓ ก้าว

                   ๒.กิริยาเดินตามหลัง ต้องสำรวมเรียบร้อย

                   ๓.นิยมไม่แสดงความเคารพผู้อื่นขณะเดินตามหลังท่าน

                   ๔.นิยมไม่พูดคุยทักทายปราศัยกับผู้อื่น

           

ประโยชน์ของมารยาท

 

          ประโยชน์ของมารยาท มีดังนี้

๑.      ป้องกันการกระทบกระทั่งเพราะผู้มีมารยาทจะไม่สร้างความขัดเคืองใจผู้อื่น

๒.     ปิดบังความไม่งามของร่างกาย เพราะมีมารยาทดีเป็นจุดเด่น

๓.     เป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่บุคคลรอบข้าง

๔.     ฝึกการเป็นคนรู้จักประมาณและความพอดี

๕.     ฝึกการสังเกต  ทำให้เป็นคนละเอียดรอบคอบ

๖.      ฝึกให้เป็นผู้มีศิลปะและมีความประณีตในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกับผู้อื่น

๗.     ฝึกความมีน้ำใจ  รู้จักจับแง่คิดมุมมองที่ดี

๘.     ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะในอิริยาบถต่างๆ

เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆขึ้นไป  เพราะมีจิตใจที่ดีงาม

หมายเลขบันทึก: 379176เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ  กำลังค้นอยู่ทีเดียว  มาพบโดยบังเอิญ  เพราะข้อมูลที่นำลงบันทึกชาวพุทธต้องรู้ทั้งนั้น  ขอบคุณในภูมิรู้ของคุณและนำมาแบ่งปันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท