ความแตกต่างระหว่างการเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้งกับวิชาเป็นตัวตั้ง


เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.ค.53 ที่ผ่านมา มีการประชุมอาจารย์ในโครงการ ม.ชีวิต เพื่อพิจารณาเค้าโครงการเรียนรู้วิชาต่างๆ ผมได้นำเสนอความแตกต่างระหว่างการเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้งกับการเรียนโดยวิชาเป็นตัวตั้ง เพื่อให้อาจารย์ทั้งหลายใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาว่าเค้าโครงการเรียนรู้ของตนได้สะท้อนสิ่งที่เรียกกว่า การเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้งหรือไม่ อย่างไร กลับถึงบ้านแล้วผมได้นำสิ่งที่ได้นำเสนอมาเขียนเป็นตารางข้างล่าง แนวคิดหลายอย่างก็มาจาก อ.เสรี พงศ์พิศ

#
ชีวิตเป็นตัวตั้ง
วิชาเป็นตัวตั้ง
1
วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตปัจจุบันทันทีเป็นสำคัญ ความรู้และทักษะที่เกิดขึ้นหากสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้เป็นผลพลอยได้
วัตถุประสงค์เพือนำความรู้และทักษะไปเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น หรือไปทำงานในอนาคตหลังจบการศึกษา
2
การเรียนกับการพัฒนา/เปลี่ยนแปลงสู่ชีวิตที่ดีขึ้นของผู้เรียนเป็นกระบวนการเดียวกัน นั่นคือ การเรียนรู้เริ่มจากปัญหาจริง (ไม่ใช่ “แบบฝึกหัด”) ของผู้เรียนแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มเอง  การเรียนก็คือการลงมือปฏิบัติ (ไม่ใช่ฝึกปฏิบัติ) เพื่อแก้ “โจทย์” หรือปัญหานั้น (real life problem-solving) การค้นหาความรู้ที่คนอื่นค้นพบไว้แล้วจะเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา จึงเป็นศึกษาหาความรู้จากตำรา (explicit knowledge) เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของตนอย่างกระตือรือร้น
การเรียนกับการพัฒนา/เปลี่ยนแปลงสู่ชีวิตที่ดีขึ้นของผู้เรียนเป็นคนละกระบวนการกัน นั้นคือ เรียนความรู้ที่มีผู้ค้นพบไว้แล้ว (established explicit knowledge) เป็นหลัก เพื่อจดจำความรู้นั้นให้ได้ (วิชาครุศาสตร์ตามแนวนี้เลยให้ความสนใจเรื่อง จะทำอย่างไรให้ความรู้อยู่กับผู้เรียนอย่างคงทน หรือที่เรียกว่ามี retention สูง) เข้าใจ(อธิบายได้) วิเคราะห์ได้ ประยุกต์ได้ วิพากษ์ได้ และสังเคราะห์ความรู้ใหม่ๆ ได้ หรือต่อยอดได้ ส่วนการฝึกทักษะปฏิบัติก็ฝึกจาก “โจทย์” หรือ “แบบฝึกหัด” ในตำรา หรือที่ผู้สอนตั้งหรือสมมุติขึ้น
3
หลีกเลี่ยงการเรียนเรื่อง "รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” ได้ง่ายกว่า
เกือบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเรียนเรื่องที่ "รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม" ด้วย ตามที่กำหนดไว้ว่าเป็นเนื้อหาสาระของวิชา
4
เกิดการ สร้างความรู้ใหม่ ขึ้นอย่างต่อเนื่องในกระบวนการเรียนรู้ จากการทดลองปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาจริงของชีวิตตนหรือกลุ่มตนหรือชุมชน เป็นความรู้ที่ไม่ต้องตั้งใจจำก็จำได้ เพราะผู้เรียน/กลุ่มผู้เรียนค้นพบหรือสร้างขึ้นเอง (implicit & tacit knowledge) ความรู้เหล่านี้จะติดตัวไปตลอดชีวิต รวมทั้งค้นพบใหม่ สร้างใหม่ขึ้นตลอดชีวิต ตราบเท่าที่ยังปฏิบัติเรื่องนั้นอยู่
เกิดการ จดจำความรู้เก่าๆ (explicit knowledge) ขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการอ่านตำราและฟังการบรรยายของผู้สอน ซึ่งมีโอกาสที่จะลืมเลือนไปตามกาลเวลา หากมีการฝึกทักษะทางกาย (motor skill) ทักษะทางสมอง (psycho skill) หรือทักษะทางสมองที่สัมพันธ์กับกาย (psycho-motor skill) เมื่อไม่ได้ใช้ทักษะนั้นระยะเวลาหนึ่ง ทักษะนั้นก็จะค่อยๆ หายไป
5
เมื่อได้ความรู้เก่าในตำรามาก็มัก “ตั้งคำถาม” และ “ตรวจสอบ” ความรู้นั้นไปในกระบวนการทดลองปฏบัติเพื่อแก้ปัญหาที่ตนประสบอยู่ (หากทดลองแล้วพบว่าความรู้นั้นใช้ไม่ได้กับตนก็ไม่ถือว่าความรู้นั้นผิด แต่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกันก็ได้ เช่น เทคนิคการเกษตรบางอย่างที่เกิดจากการวิจัยในโลกตะวันตกอาจใช้ไม่ได้ในโลกตะวันออก)
มีแนวโน้มจะ “เชื่อ” ไว้ก่อน เพราะความรู้ที่อ่านจากตำราหรือที่อาจารย์ไปเรียนมาแล้วมาถ่ายทอดต่อเป็น “ความรู้สากล” ที่เขาเรียนกันทั้งโลก
6
การประเมินผลการเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการเรียนรู้” (การปฏิบัติ การทดลอง การวิจัย เช่น บันทึกข้อสังเกต ข้อค้นพบจากการปฏิบัติ รายงานผล) และ “ผลลัพธ์” ที่เป็นเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ มากกว่าการสอบ (โดยเฉพาะการสอบแบบปิดหนังสือ ซึ่งในชีวิตจริงมีโอกาสน้อยมากที่บุคคลจะเผชิญกับสถานการณ์เช่นนั้น) การวัดผลไม่ให้ความสำคัญมากกับตัวเลขคะแนน ผู้เรียนและผู้สอนสามารถประเมินผลโดยไม่อิงคะแนนได้ สามารถยอมรับการประเมินจากการสังเกตกระบวนการปฏิบัติ และจากผลของการปฏิบัติ
เน้นการประเมินผลจากการสอบ โดยเฉพาะ “การสอบปลายภาค” ที่เป็นอะไรที่สำคัญมาก (และ “น่ากลัว” มากสำหรับผู้เรียนบางคน สร้างความเครียดให้กับผู้เรียนจำนวนมาก) การวัดผลให้ความสำคัญมากกับการวัดผ่านตัวเลขคะแนน จนต้องอาศัยวิธีการทางสิถิติมาช่วย รวมทั้งให้ความสำคัญกับการออกข้อสอบที่มีความเที่ยงตรง “สามารถวัดได้จริง” แล้วนำคะแนนไปใช้การประเมินผล (ตัดเกรด) ว่าว่าใครดีเยี่ยม ดี ใครปานกลาง ใครอ่อน หรืออ่อนมาก อาจารย์บางคนกังวลกับการตัดเกรดที่มีผู้เรียนดีเยี่ยมมากเกินไป หรือมีผู้เรียนอ่อนมากเกินไป (เมื่อเห็นภาพระฆังคว่ำที่เบ้ไปทางใดทางหนึ่ง)
7
เน้นบทบาทของผู้สอนว่าเป็น “ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้” (learning facilitator) ทักษะสำคัญที่ผู้สอนต้องมีจึงเป็นทักษะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน ที่นำไปสู่การแก้ปัญหา การสร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาร่วมกัน
เน้นบทบาทของผู้สอนว่าเป็น “ผู้ถ่ายทอดความรู้” (transfer of knowledge) ทักษะสำคัญที่ผู้สอนต้องมีจึงเป็นทักษะการบรรยาย และทักษะการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น พาวเวอร์พ้อยท์

ขณะนี้ นึกขึ้นมาได้แค่นี้ หากนึกได้อีก หรือค้นพบเพิ่มเติมอีก (จากการปฏิบัติ) ก็จะนำมาเพิ่มเติมอีก หรือท่านอื่นอยากเพิ่มเติมอะไรก็แสดงความเห็นได้ครับ

ขอบคุณโครงการมหาวิทยาชีวิตที่ให้โอกาสผมได้เรียนรู้เรื่องนี้

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
24 กรกฏาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 378422เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2010 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนให้รู้ และนำไปปฏิบัติได้จึงจะเกิดประโยชน์ ถ้าเรียนเพื่อให้รู้อย่างเดียว เสียดายเวลาและค่าเรียน

ขอบคุณอาจารย์มากครับ ทำความใจง่ายดี

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะยิ่งอ่านยิ่งรู้ lerning by doing.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท