การสอนงาน (Coaching)


การสอนงาน (Coaching)

 

 

 

"การสอนงาน (Coaching)"

 

                การสอนงาน  เป็นวิธีพัฒนาทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงและเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องสอนงานผู้ใต้บังคับบัญชา  โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความรู้  ทักษะและสมรรถนะที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถปลดปล่อยศักยภาพและส่งมอบผลการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของหน่วยงานได้ 

 

ความสำคัญของการสอนงาน

                ในบางครั้ง  การปฏิบัติงานเราอาจพบกับความรู้ที่มองไม่เห็น  หรือความรู้ที่แฝงอยู่ในการปฏิบัติ  (Tacit  knowledge)  ดังนั้น  กิจกรรมบางกิจกรรมต้องอาศัยมากกว่าการสอนโดยทั่วไป  เพราะการสอนเพียงทฤษฎีคงจะไม่เพียงพอ  ต้องมีการฝึกปฏิบัติและการเอาใจใส่ด้วย  ดังนั้น  การสอนงาน (Coaching)  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติงาน  โดย Thorpe and Clifford  (2003) ได้ให้คำจำกัดความของการสอนงาน (Coaching)  ไว้ว่า...

                 "กระบวนการช่วยให้คนเพิ่มพูน  หรือปรับปรุงความสามารถโดยการสะท้อนกลับว่าเขาใช้ทักษะหรือความรู้นั้น ๆ อย่างไร"

                 โดยมีเป้าหมายให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  จากไม่รู้  เป็นรู้  จากปฏิบัติไม่เป็น  เป็นปฏิบัติเป็นและจากไม่ชำนาญเป็นชำนาญ

 

ความหมายของการสอนงาน

                  การสอนงานจัดได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่ผู้บังคับบัญชาใช้เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชา  ให้มีความรู้ (Knowledge)  ทักษะ (Skills)  และคุณลักษณะเฉพาะตัว (Personal Attributes)  ในการปฏิบัติงานนั้น ๆ ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดขึ้น  ซึ่งเป็นเป้าหมายหรือผลการปฏิบัติงานที่ผู้บังคับบัญชาต้องการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของหน่วยงานหรือคาดหวังให้เกิดขึ้น (Result - Oriented)  โดยจะต้องตกลงและยอมรับร่วมกันระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา  ทั้งนี้  การสอนงานนอกจากจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาในปัจจุบันแล้ว  การสอนงานยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของผู้ใตบังคับบัญชา  เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีพัฒนาการของความรู้  ทักษะและความสามารถเฉพาะตัวและมีศักยภาพในการปฏิบัติงานที่สูงขึ้นต่อไป  เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอันนำมาซึ่งตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต...

                   นอกจากนี้  การสอนงานยังถือได้ว่าเป็นรูปแบบการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาโดยอาศัยการสื่อสารทั้งที่มีทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเรียกว่าการสื่อสารแบบสองทาง (Two - ways  Communication)  ที่ผู้บังคับบัญชาใช้ในการแจ้ง  ชี้แจง  หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา  รวมทั้งรับฟังสิ่งที่คาดหวัง  ความต้องการของผู้ใต้บังคับบัญชาและเป็นช่องทางในการสอบถามถึงสถานะปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน  รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน เพราะผู้บังคับบัญชาถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการรับรู้ถึงเป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินงานขององค์กรจากการรับนโยบายจากฝ่ายบริหารของหน่วยงาน

 

 

หมายเลขบันทึก: 378364เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2010 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท