จิตติ์ ดวงบุปผาวงค์
พระครูปลัด จิตติชัย จิตติชโย มาตย์วงค์

พระพุทธศาสนา


ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา

ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

รวบรวมโดย พระครูปลัด จิตติชัย จิตฺติชโย

 

ความหมายของคำว่าพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาคืออะไร

ปัญหานี้มีถามกันอยู่ทั่วไป มีคำตอบที่เราคาดได้เลยโดยไม่ต้องรอฟังเขาพูดออกมาว่าพระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า คำตอบนี้เป็นจริงเพียงบางส่วนความจริงความหมายที่สมบูรณ์นั้นไม่ได้หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ หมายถึง หลักความจริง ทั้งที่เป็นอริยสัจจะและสมมติสัจจะ  ทั้งสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ และมิได้ทรงสอนไว้ด้วย

ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักตัดสินพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า “สิ่งใดที่ไม่ได้สอนไว้ หากเป็นไปเพื่อความมักน้อย เป็นไปเพื่อสละกิเลส เป็นไปเพื่อความไม่ยึดถือมั่น สิ่งนั้น ให้ถือว่าเป็นธรรมเป็นวินัย” ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงมีความหมายกว้างมากมายถึงสิ่งที่เป็นธรรมทั้งปวง หมายถึง สิ่งที่เป็นความจริงทั้งปวง ทั้งที่ได้ทรงสอนไว้

องค์ประกอบของลัทธิคำสอนที่ถือว่าเป็นศาสนา

คำสอนที่ถือว่าเป็นศาสนานั้นมีความเห็นแตกต่างกันหลายประการ แต่สรุปแล้วมีดังต่อไปนี้

1. มีผู้ก่อตั้งหรือมีพระศาสดา ผู้ก่อตั้งศาสนา ผู้เป็นคนริเริ่มในการนำคำสอนไปเผยแพร่ เช่นพระพุทธศาสนามีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นต้น

2. มีหลักคำสอน เป็นหลักคำสอนที่มีเหตุผลพอสมควรสอนในเรืองคุณธรรม เช่น ในพระพุทธศาสนามีธรรมะและวินัยเป็นหลักคำสอน

3. มีสาวก คือ ผู้ปฏิบัติตามคำสอน เป็นผู้เชื่อฟัง เลื่อมใสในคำสอนและยึดถือปฏิบัติ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนา

4. มีพิธีกรรม ในแต่ละศาสนาต้องมีพิธีกรรมของตนเอง เช่น พิธีบวช พิธีรับกฐินในพระพุทธศาสนา

5. มีศาสนสถาน คือ วัดหรือโบสถ์ วิหารเป็นต้นถ้าลัทธิคำสอนใดมีองค์ประกอบครบห้าประการนี้  ถือว่าเป็นศาสนาสมบูรณ์ได้

 

ความเบื้องต้นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าคืออะไร

ปัญหานี้มีคำตอบมากมาย ในที่นี้จะกล่าวเพียง 2 ความหมาย คือ

  1. พระพุทธเจ้าในฐานะเป็นบุคคล หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา    ผู้เป็นพระศาสดาของพระพุทธศาสนา ผู้มีพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ ผู้เสียสละเพื่อชาวโลก ผู้มีความบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ เป็นต้น
  2. พระพุทธเจ้าในฐานะเป็นความรู้ หรือ ดวงปัญญา เป็นความจริงเช่นผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเชื่อว่าเห็นเรา คาว่า “เรา” ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นธรรมะเป็นดวง ปัญญานั่นเอง

พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่

ปัญหานี้มีผู้สงสัยกันมาก โดยเฉพาะในกลุ่มหนึ่งสาวปัจจุบันคำตอบปัญญานี้ต่อเนื่องกับปัญหาที่แล้ว คือปัญหาที่ว่า พระพุทธเจ้าคืออะไร ในปัญหานั้นเราได้ทราบว่าพระพุทธเจ้ามี 2 ฐานะ คือ ฐานะที่เป็นบุคคล และฐานะที่เป็นตัวธรรมะ

พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นธรรมะนั้นไม่ต้องสงสัยมีอยู่แน่นอน คือตัวปัญญาความรู้แจ่มแจ้ง  มีอยู่เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นจะรูได้

พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นบุคคลเป็นพระศาสดานั้นเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาหลักฐาน ที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลมีจริงนั้น น่าจะมีดังต่อไปนี้

1.หลักฐานทางประวัติศาสตร์

พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่ามีมหาบุรุษผู้มีพระนามเช่นนี้และได้ปฏิบัติภารกิจเชนนั้นแก่ชาวโลกจริง เช่นเดียวกับมหาบุรุษทั้งหลายในรุ่นหลังต่อมา เช่น   ซีซ่าร์แห่งโรมัน หรือโสเครตีส อโศกมหาราชแห่งอินเดีย พระเยซูคริสต์ พระมุหมัดแห่งศาสนาอิสลาม, ยอร์ช วอชิงตัน แห่งอเมริกา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งประเทศไทย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ชาวโลกทั่วไปยอมรับว่ามีจริง ข้อนี้จึงไม่น่าสงสัย

2.หลักฐานทางโบราณถานวัตถุ

หลักฐานเหล่านี้มีอยู่มากมายในอินเดีย ตั้งแต่สถนที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จปรินิพพาน รวมทั้งวัดวาอาราม ถ้ำต่างๆ เจดีย์ สถูปมากมาย ซึ่งแสดงเป็นอนุสรณ์สถานสร้างเป็นที่ระลึกแก่พระพุทธองค์หรือสาวกสำคัญๆ ทั้งนั้น หลักฐานเหล่านี้มีมาถึงปัจจุบัน

ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชนับว่าเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งซึ่งแสดงความมีอยู่ของพระพุทธศาสนา ความรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนานั้นก็หมายถึงความมีอยู่ของพระพุทธเจ้าด้วย

3.หลักฐานที่เป็นคำสอน อันได้แก่พระธรรมวินัยที่ทรงสอนไว้

สิ่งที่เราเห็นอยู่มากมาย ปัจจุบันประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างมีตำราของตนอาจเหมือนกันหรือแตกต่างกันบ้างตามลัทธินิกายที่นับถือ แต่แท้ที่จริงแล้วก็รับมาจากต้นเค้าอันเดียวกัน คือ หลักคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้านั้นเอง แต่นำมาตีความหมายต่างกัน

ตำราที่บันทึกคำสอนนี้เรียกกันทั่วไปว่าพระไตรปิฏก หรือคัมภีร์พระไตรปิฏกแปลเป็น ภาษาต่างๆ กว่า 50 ภาษา ในประเทศไทยมีทั้งฉบับภาษาบาลี ภาษาไทย และภาษาอื่นๆ ที่ ประเทศผู้นับถือพระพุทธศาสนาส่งมาเพื่อแลกเปลี่ยนศึกษาค้นคว้า

หลักฐานทั้ง 3 ประการนี้น่าจะพอแสดงให้เห็นได้ว่าพระพุทธเจ้านั้นมีจริง โดยเฉพาะหลักฐานทางคำสอนนั้น  ถ้าใครศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังจะมองเห็นความละเอียดลึกซึ้ง ของคำสอน ยากที่คนธรรมดาสามัญจะมีความคิดความเข้าใจได้ถึงขนาดนั้นได้ จึงต้องเป็นคนมีปัญญาฉลาดอย่างยิ่งกว่าคนธรรมดาในสมัยเดียวกัน

มูลเหตุให้เกิดพระพุทธศาสนา

มูลเหตุให้เกิดศาสนานั้นมีหลายอย่างต่างกันตามแต่จะเป็นศาสนาฝ่ายใด กล่าวคือ ถ้าเป็นศาสนาฝ่ายเทวนิยม มักจะมีมูลเหตุมาจากความเชื่อในพระเป็นเจ้า ความเชื่อเรื่องการบันดาลต่างๆ ถ้าเป็นศาสนาฝ่ายอเทวนิยม มักมีมูลเหตุมาจากความเชื่อในเรื่องการกระทำของมนุษย์

สำหรับมูลเหตุให้เกิดพระพุทธศาสนาสรุปแล้ว น่าจีดังนี้

1.  เกิดจากความกลัว คือ พระพุทธเจ้าตอนที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั้นทรงทรงกลัวทุกข์เกลียดทุกข์มากจึงเสด็จหนีออกบวชโดยสละทรัพย์สมบัติอันน่ายินดีนั้นไป

2.  เกิดจากความคิดคำนึง เมื่อทรงออกบวชแล้วก็ได้ทรงศึกษาหาความรู้มากมายจากอาจารย์ที่มีชื่อเสียง แล้วทรงนำมาพิจารณาไตร่ตรอง จนเกิดดวงปัญญาใหม่ขึ้น และในที่สุดก็ได้ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

3.  เกิดจากพระมหากรุณาของพระศาสดา เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธแล้วก็ได้ทรงคำนึงถึงบุคคลทั่วไปในโลกที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากจำนวนมากมาย โดยเขาเหล่านั้นไม่รู่ว่าจะหาทางออกได้อย่างไร ก็ทรงสงสารจึงตักสินพระทัยแสดงธรรม จนมีผู้เห็นด้วยมากมายกลายเป็นศาสนา มาถึงปัจจุบัน

องค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา

องค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนานั้น มี 3 ประการ คือ

1. พระศาสดา หรือ พระพุทธเจ้า

นับเป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับแรก ถ้าไม่มีพระศาสดาก็ย่อมไม่มีพระพุทธศาสนาแน่นอนพระพุทธเจ้าในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นบุคคลดังเราท่านทั้งหลายนี้แหละ แต่ทรงเป็นคนพิเศษกว่าเราคือ

  1. เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าคนธรรมดามากนัก ปัญญาของพระองค์ไม่มีขอบเขต เขตจำกัด ทรงคิดได้ไกลก้าง ลึกซึ้ง ละเอียดยิ่งข้อนี้เราเรียกว่า พระปัญญาคุณ
  2. ทรงมีความบริสุทธิ์ยิ่ง คือ ไม่ติดข้องอยู่ในความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งเหล่านี้ไม่มีในพระทัยอีก ทรงเป็นผู้เสียสละเพื่อชาวโลก โดยไม่หวังผลตอบแทนสละทรัพย์สมบัติ สละข้าทาสบริวาร พระมเหสี พระโอรสที่รักยิ่ง ต่อมาทรงละความอาฆาตพยาบาทสละลาภยศที่มี ผู้นำมาถวาย ไม่ทำร้ายใคร ข้อนี้เรียก บริสุทธิคุณ
  3. ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งมวลที่เรียกว่า พระมหากรุณาคุณ

คำว่าสัตว์โลกในที่นี้ หมายถึง สัตว์ทั้งหมดในโลกจริงๆ สัตว์ที่มีชีวิตทุกชนิดทุกประเภทในโลก จะได้รับพระมหากรุณาเท่าเทียมกันหมด ดังจะเห็นได้จากการทรงบัญญัติศีลข้อ 1 คือ การห้ามฆ่าสัตว์ ทรงห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นหรือมองเห็น เช่น มด ยุง  จนถึงสัตว์ตัวใหญ่ เช่น ช้าง ม้า รวมทั้งคนด้วยทรงห้ามหมด

ด้วยพระมหากรุณานี้ได้ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ที่จะพึงมีพึงได้ออกเที่ยวสั่งสอน สัตว์ทั่วไป ทรงเหนื่อยยากพระวรกายอยู่กว่า 45 ปี จนทำให้คำสอนแพร่หลายและเหลือมาให้เรา ได้ศึกษาปฏิบัติอยู่เช่นปัจจุบัน

2.พระธรรม

พระธรรมนับว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่ง เป็นแก่นของศาสนาเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปศึกษาและปฏิบัติ เป็นต้อนของศาสนาแทนพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว

คำว่า  ธรรม  แบ่งกันศึกษาได้หลายรูปแบบ เช่น

1.  แบ่งเป็น  สภาวธรรม คือ สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่โดยธรรมชาติของมันเอง กับ คุณธรรม คือ ข้อปฏิบัติที่คนปฏิบัติตามแล้วเกิดความเจริญรุ่งเรือง

2.  แบ่งเป็น  รูปธรรม  คือ สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาททั้งห้า กับ นามธรรม คือ ธรรมะฝ่ายที่ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยประสาททั้งห้า

3.  แบ่งเป็น โลกียธรรม  คือ ธรรมสำหรับคนสามัญทั่วไปปฏิบัติ กับ โลกุตรธรรม  คือ ธรรมที่ผู้บรรลุความเป็นพระอริยะปฏิบัติ

  1. แบ่งเป็น กุศลธรรม คือ ธรรมฝ่ายที่เป็นความดี, อกุศลธรรม คือ ธรรมฝ่ายที่ไม่ดี และ อัพยากตธรรม คือ ธรรมกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว
  2. แบ่งเป็นสังขตธรรม  คือ ธรรมฝ่ายที่มีการปรุงแต่ง หรือผสมกันขึ้นกับ อสังขตธรรม  คือ ธรรมฝ่ายที่ไม่มีการปรุงแต่ง
  3. แบ่งเป็น ความจริงสมมุติ (สมมุติสัจจะ) คือ ความจริงที่เราสมมุติเอากับความแท้จริง  (อริยสัจจะ) คือความจริงแท้ในตัวเอง เป็นต้น การแบ่งเหล่านี้แบ่งเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาทำให้มองเห็นได้ง่าย

ธรรมนี้ในปัจจุบันได้จัดรวยรวมเป็นหมวดหมู่ เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่าพระไตรปิฎก แบ่งเป็น 3 ปิฎก ใหญ่ คือ

  1. พระสุตตันตปิฎก รวบรวมเรื่องคำสอนที่มีเรื่องประกอบ (นิทาน)
  2. พระวินัยปิฎก รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
  3. พระอภิธรรมปิฎก รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมอันเป็นธรรมะล้วนๆ ไม่มีเรื่องประกอบ

ทั้ง 3 ปิฎกนี้ยังแบ่งแยกออกไปอีกมากมาย พระธรรมคำสอนมีลักษณะที่สำคัญ คือ

  1. อกาลิโก ไม่มีกาละในเรื่องการปฏิบัติธรรม ใครทำเมื่อไรก็ได้รับผลเมื่อนั้น
  2. เอหิปัสสิโก พิสูจน์ได้ คำสอนในพระพุทธศาสนาสามารถพิสูจน์ความจริงตามหลักเหตุผลได้
  3. ผู้ประพฤติปฏิบัติจะเหตุความจริงเอง ได้รับผลเอง เป็นต้น ในหัวข้อเรื่องธรรมนี้เราจะได้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป

3.พระสงฆ์

     องค์ประกอบสำคัญอย่างที่สามคือ พระสงฆ์ พระสงฆ์นั้นแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ

1.สมมุติสงฆ์ หมายถึง ผู้ที่ออกบวช ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่ยังไม่ได้บรรลุถึงขั้นเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่ง คือ

ก.  พระโสดาบัน ละสังโยชน์ได้ 3 ข้อแรก

ข. พระสกทาคามี  ละสังโยชน์ได้ 3 ข้อ เช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่ขั้นนี้ยังทำราคะโทสะ โมหะ เบาบางลงมาก

ค. พระอนาคามี  ละสังโยชน์ได้ 5 อย่าง

ง. พระอรหันต์  ละสังโยชน์ได้ทั้ง 10 อย่าง

สังโยชน์ 10 มี สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส  กามราคะ  ปฏิฆะ  รูปราคะ  อรูปราคะ  มานะ  อุทธัจจะ  และ อวิชชา

2.อริยสงฆ์ หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนได้บรรลุเป็นพระอริยะบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งดังกล่าวมา

หน้าที่สำคัญของพระสงฆ์ มีมากมายอาจพอสรุปได้ดังนี้

1) ปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด

2) รักษาพระศาสนาให้ดำรงอยู่ตลอดไป

3) นำคำสอนมาเผยแพร่ สั่งสอนอบรมประชาชน

ด้วยหน้าที่เหล่านี้ทำให้คำสอนของศาสนาคงเหลือยั่งยืนมาถึงเรา  ปัจจุบันคุณของพระสงฆ์มีมากมาย ให้ดูตามบทสวดมนต์ไหว้พระบทสุปฏิปันโนรวมแล้วมี 9 ข้อ และคุณของพระธรรมมี 6 ข้อ ตามลำดับก็ได้มาจากบทสวดมนต์ทำวัตรไหว้พระนั้นเอง

พระพุทธเจ้า  พระธรรม  และพระสงฆ์ ทั้งสามประการนี้เมื่อว่าโดยปรมัตถสัจจะแล้วย่อมเป็นอันเดียวกัน  พระพุทธองค์เคยตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา แสดงว่าตัวเรากับธรรมะ นั้นเป็นอันเดียวกัน

 

หมายเลขบันทึก: 377028เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2010 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท