มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ห้องเรียนเพิงไผ่


ปัญหาของพะโย เป็นเรื่องธรรมดาเพราะคนเราไม่สามารถเข้าใจได้ทุกภาษา

ห้องเรียนเพิงไผ่

 

ต้นกล้าในตะวัน

 

 ‘โง่จริง ๆ’ คือคำที่ พะโย หนุ่มน้อยผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าเขียนลงบนกระดานไวท์บอร์ด ก่อนจะถามครูซอว่าวลีนี้หมายถึงอะไรเพราะตัวเขาสามารถพูดได้แต่ภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ  พะโยจึงไม่เข้าใจเมื่อมีคนพูดกับเขาด้วยคำนี้ ครูซอนิ่งไปชั่วครู่ แล้วจึงอธิบายความหมายของวลีให้ลูกศิษย์ฟังอย่างละมุนละม่อม

“ปัญหาของพะโย เป็นเรื่องธรรมดาเพราะคนเราไม่สามารถเข้าใจได้ทุกภาษา” ซอ ครูหนุ่มปกาเกอะญอไทยบอก พลางมองไปยังลูกศิษย์ที่ทยอยเดินเข้ามายังศูนย์การเรียนรู้ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่ตั้งอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจากสงคราม (แค้มป์) แม่หละ  ถึงแม้นักเรียนที่นี่จะมีอายุตั้งแต่ 8 ขวบถึง 30 กว่า หลากศาสนาหลายเชื่อชาติ และอาจจะต้องสื่อสารกันสิบภาษาร้อยสำเนียง แต่ทุกคนต่างก็มาด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ การเรียนรู้ภาษาไทย

ศูนย์การเรียนการสอนของกศน. อย่างที่ครูซอสอนมีอยู่ 7 แห่งทั่วแคมป์แม่หละ แต่ละวันเขาต้องรับหน้าที่สอน 4 คาบเรียน เริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้า เลิกบ่าย 3 โมงเย็น สอนวิชาเดียวคือภาษาไทย แบ่งเป็นระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง โดยแบ่งระดับเนื้อหาให้เหมาะกับทักษะของผู้เรียน เช่น นักเรียนระดับพื้นฐานจะเรียนสระ-พยัญชนะ เพื่อสร้างพื้นฐานสำหรับระดับกลางที่จะเป็นการฝึกอ่าน ฝึกเขียน สร้างประโยค ก่อนจะขึ้นสู่ระดับสูงที่เป็นการสร้างประโยคยาว ๆ เขียนเรียงความ หรืออ่านเนื้อเรื่องเพื่อจับใจความ

ถึงแม้จะมีกำแพงภาษาขวางกั้นแต่ครูซอก็มี “เทคนิคพิเศษ” ในการสอนคือให้เพื่อนช่วยอธิบายให้เพื่อนฟังว่า คำภาษาไทยคำนี้แปลว่าอะไรในภาษาแม่ของแต่ละคน คาบเรียนของครูซอวันนี้ ”มังคุด” และ “แก้วมังกร”กลายมาเป็นหัวข้ออภิปรายถึงชื่อเรียกในแต่ละภาษา สำเนียงที่แตกต่างของนักเรียนแต่ละคนฟังดูคล้ายเสียงดนตรีที่ทำให้ห้องเรียนเพิงไผ่แห่งนี้ครื้นเครง

แต่ความสุขไม่ได้มาเยือนห้องเรียนเพิงไผ่ทุกวัน บ่อยครั้งที่ครูและนักเรียนต้องประสบกับการขาดแคลนหนังสือเรียน ครูซอบอกว่า “หนังสือเรียนแจกไป นักเรียนก็เอากลับบ้านแล้วทำหายบ้าง บางคนไปประเทศที่สามก็เอาติดตัวไปด้วยเพราะกลัวลืมภาษาไทย ทำให้นักเรียนที่อยู่ไม่มีหนังสือเรียนเพราะเขาแจกปีละครั้ง จึงขอร้องนักเรียนว่า คนที่เลิกเรียนแล้วให้เอาหนังสือมาคืนด้วย” ทว่าคำของครูดังไม่ทั่วถึงนัก เพราะหนังสือเรียนยังขาดแคลน ทำให้ต้องแบ่งกันอ่านหลายคนต่อหนึ่งเล่ม รอยยิ้มที่แต้มหน้าของครูอยู่เสมอเหมือนจะเลือนไป กลายเป็นรอยขมวดบนหน้าผาก แสดงถึงความกังวลในการมอบความรู้ให้ลูกศิษย์ในวันพรุ่งนี้อยู่ไม่น้อย

แต่การขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนคงไม่หนักเท่าปัญหาการขาดเรียนเพื่อไปทำงานหาเงินเลี้ยงปากท้องของนักเรียนทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ แม้ว่าผู้ลี้ภัยจะได้รับความช่วยเหลือทางด้านต่าง ๆ ตามสมควร แต่ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านั้นกลับไม่เพียงพอต่อความเป็นมนุษย์ เพราะไม่มีใครทนกินแต่ปลาร้าและถัวซีกที่ได้รับแจกไปตลอดชีวิต นักเรียนหลายคนจึงต้องขาดเรียน บางคนถึงกับเลิกเรียนกลางคันเพื่อดิ้นรนให้อยู่รอด และถึงแม้ปัญหานี้จะทำให้ครูต้องคอยลุ้นว่าทุกเช้านักเรียนจะมาครบหรือไม่ แต่ครูซอก็ยังจะยืนคอยนักเรียนของเขาต่อไปอย่างเข้าใจ “ต้องเข้าใจและทำใจ เพราะทุกคนมีความจำเป็น ค่อย ๆ สอนกันไป ไม่ตัดใจทิ้งใคร แค่เขามีเวลามาเรียนก็ดีใจแล้ว”

เวลาเคลื่อนคล้อยอย่างไม่รู้ตัว กระทั่งเข็มสั้นมาหยุดที่เลขสาม และ เข็มยาวมาหยุดที่เลขสิบสอง แดดที่ลอดช่องตอกสานย้อมห้องเรียนเพิงไผ่ให้เป็นสีส้มเข้ม คาบที่ 4 ของวันนี้เพิ่งสิ้นสุดลง ครูซอยืนนิ่งมองห้องว่างที่มีโต๊ะเก้าอี้ไม้ราวยี่สิบชุดอยู่ชั่วครู่ ก่อนลบวันที่บนไวท์บอร์ดเพื่อเขียนวันที่ของวันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 376836เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2010 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ
  • เขียนได้ดีจังค่ะ
  • เป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท