บทความภาวะผู้นำ


สรุปบทความภาวะผู้นำ

โดย  นายธีรนนท์   หนูเขียว

ศษ.ม. บริหารการศึกษา

มหาวิทยากรุงเทพธนบุรี  ศูนย์หาดใหญ่

 

ภาวะผู้นำทางการศึกษาในสังคมโลกาภิวัตน์

ผู้บริหารในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องใช้ภาวะผู้นำให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับทุกสภาพการณ์ได้ และใช้ความรู้ความสามารถของตนให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิผล

คุณลักษณะผู้บริหารในยุคโลกาภิวัตน์

คุณลักษณะที่สำคัญ 5 ประการต่อการนำไปสู่การเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในยุคโลกาภิวัตน์              ซึ่งประกอบด้วย

  1. การคิดแบบโลกาภิวัตน์ (Thinking Globally)
  2. เล็งเห็นเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Appreciating Cultural Diversity)
  3. พัฒนาความชำนาญทางด้านเทคโนโลยี (Developing Technology Savvy)
  4. การสร้างคู่ค้าธุรกิจและพันธมิตร (Building Partnerships and Alliances)
  5. สร้างการมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำ (Sharing Leadership)

คุณสมบัติที่พึงประสงค์ของผู้บริหารในยุคโลกาภิวัตน์

สมชาย เทพแสง (2543 : 16-17 อ้างถึงใน ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร, 2549) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้บริหารมืออาชีพควรมีลักษณะ 20P ดังนี้

  1. Psychology ผู้บริหารต้องมีจิตวิทยาในการบริหารคน
  2. Personality ผู้บริหารต้องมีบุคลิกดี
  3. Pioneer ผู้บริหารต้องเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิก กล้าได้กล้าเสีย
  4. Poster ผู้บริหารต้องมีการประชาสัมพันธ์
  5. Parent ผู้บริหารต้องเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง มีพรหมวิหาร 4
  6. Punctual ผู้บริหารต้องเป็นคนตรงเวลา
  7. Pacific ผู้บริหารต้องมีความสุขุมรอบคอบ
  8. Pleasure ผู้บริหารต้องมีอารมณ์ขัน
  9. Prudent ผู้บริหารต้องมองการณ์ไกล
  10. Principle ผู้บริหารต้องยึดหลักการเป็นหลัก
  11. Perfect งานที่เกิดขึ้นตองสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้
  12. Point งานที่ทำต้องมีวัตถุประสงค์แน่นอน ชัดเจน
  13. Plan ผู้บริหารต้องวางแผนอย่างรอบคอบ
  14. Pay ต้องมีการกระจายงานอย่างทั่วถึง
  15. Participation ทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารงาน
  16. Pundit ต้องมีความรู้เรื่องที่ทำอย่างชัดเจน
  17. Politic มีความรู้ความเข้าใจด้านการเมือง การปกครอง
  18. Poet ต้องมีความสามารถด้านสำนวนโวหาร
  19. Perception ต้องมีความสามารถในการหยั่งรู้ คาดการณ์
  20. Psycho ต้องมีจิตวิญญาณของนักบริหาร มีอุดมการณ์และปณิธาน

สุรศักดิ์ ปาแฮ (2543 : 27-31 อ้างถึงใน ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร, 2549 : 11) ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ ดังนี้

  1. มองกว้างไกลอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ (vision) สามารถที่จะกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ
  2. สามารถที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ (analyze situations) เพื่อกำหนดแผลกลยุทธ์และแผนปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายและนโยบายได้อย่างเหมาะสม
  3. ไวต่อการรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
  4. ความสามารถในการจัดระบบสื่อสารให้ได้ผล
  5. ความสามารถในการบริหารทรัพยากรบุคคล
  6. คุณธรรมและจริยธรรมในการบริหาร

จากผลการวิจัย   สามารถสรุปและจำแนกถึงคุณลักษณะของผู้บริหารที่จะส่งผลต่อการบริหาร      จัดการศึกษาอย่างมืออาชีพ สามารถจำแนกได้เป็น 10 ประการ คือ

  1. มีความพร้อมทางด้านข้อมูลสารสนเทศ (Command of Basic Facts)
  2. มีความรู้ทางวิชาชีพ (Relevant Professional Knowledge)
  3. มีความรู้เท่าทันในสถานการณ์ (Continuing Sensitivity of Events)
  4. มีทักษะในการเข้าสังคม (Social skill and Abilities)
  5. มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหาและตัดสินใจ (Analytical Problem Solving Decision Making Skill)
  6. การควบคุมอารมณ์ (Emotional Resilience)
  7. มีพฤติกรรมกล้าเสี่ยง (Proactivity – inclination to Respond Purpose Fully to Events)
  8. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity)
  9. มีความรู้สึกไวต่อบุคคลอื่น (Mental Agility)
  10. มีความใฝ่รู้และฝึกฝนการเรียนรู้ (Balanced Learning Habits and Skill)

จากบทความของ  วุทธิศักดิ์ โภชนุกูล
ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เอกสารอ้างอิง

  • ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี. ภาวะผู้นำองค์กรยุคใหม่. กรุงเทพฯ : เอ็กซเปอร์เน็ท, 2549.
  • ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร. การแสวงหาและแนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำของผู้บริหารมืออาชีพ : กรณีผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา. กรุงเทพมหานคร : สุวีริยาสาส์น, 2549

 

หมายเลขบันทึก: 376466เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2010 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการความรู้ของบุคลากรทางการศึกษา

วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

ผู้วิจัย : นางสาวรุจิรา แกล้วทะนงค์

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพัฒนาโดยใช้รูปแบบของการวิจัยเชิงคุณภาพและปริมาณ มีวัตถุประสงค์การวิจัย 4 ประการคือ

1) เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของสถานศึกษาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมบุคลากรทางการศึกษาในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้

3) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันเกี่ยวกับการนำการจัดการความรู้ไปใช้พัฒนาสถานศึกษาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

4) เพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษามาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสถานศึกษาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

กลุ่มประชากรในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา คือ ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ จำนวน 5 คน ครูผู้สอน จำนวน 119 คน และบุคลากรฝ่ายสนับสนุน จำนวน 52 คน รวมกลุ่มประชากรทั้งหมด จำนวน 176 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และใช้สถิติทดสอบสมมติฐาน คือ ค่า t-test และ F-test (One way ANOVA) โดยจำแนกการวิเคราะห์ข้อมูลออกเป็น 4 ขั้นตอนคือ

1) วิเคราะห์ศักยภาพและหา SWOT ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ด้วยการวิเคราะห์เอกสารและรวบรวมหลักการ แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้และองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ที่สถานศึกษานำไปปฏิบัติ

2) เปรียบเทียบความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ จำนวน 5 ด้าน บรรยากาศด้านองค์กร จำนวน 3 ด้าน และคุณลักษณะของครู จำนวน 2 ด้าน

3) ศึกษาสภาพปัจจุบันเกี่ยวกับการนำการจัดการความรู้ไปใช้พัฒนาสถานศึกษาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

4) นำผลการศึกษาใน 2 ขั้นตอนแรกมาสังเคราะห์เพื่อการพัฒนาการจัดการความรู้ไปสู่การกำหนดกลยุทธ์และการกำหนดแผนงาน/โครงการ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรได้รับรู้และมีส่วนร่วมในกลไกการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

ผลการวิจัยพบว่า

1. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการความรู้สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก

2. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการความรู้สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านบรรยากาศสัมฤทธิผลมีความคิดเห็นในระดับมากที่สุด

3. บุคลากรทางการศึกษาที่มีตำแหน่งในการปฏิบัติงานต่างกัน ซึ่งเป็นผู้บริหารกับครูผู้สอน และ ครูผู้สอนกับบุคลากรฝ่ายสนับสนุน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในด้านการสร้างและสานวิสัยทัศน์แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

4. บุคลากรทางการศึกษาที่มีตำแหน่งในการปฏิบัติงานต่างกัน ซึ่งเป็นครูผู้สอนกับบุคลากรฝ่ายสนับสนุน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในด้านความคิดและความเข้าใจเชิงระบบแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

5. บุคลากรทางการศึกษาที่มีตำแหน่งในการปฏิบัติงานต่างกัน ซึ่งเป็นครูผู้สอนกับบุคลากรฝ่ายสนับสนุน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในด้านคุณลักษณะส่วนตัวครูแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

6. บุคลากรทางการศึกษาที่มีตำแหน่งในการปฏิบัติงานต่างกัน ซึ่งเป็นครูผู้สอนกับบุคลากรฝ่ายสนับสนุน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในด้านคุณลักษณะวิชาชีพครูแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

7. การนำการจัดการความรู้ไปใช้พัฒนาสถานศึกษาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ในสภาพปัจจุบัน โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บุคลากรทางการศึกษามีความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำการจัดการความรู้สู่การปฏิบัติงานในสภาพปัจจุบันมากที่สุด

ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย

1. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในด้านความคิดและความเข้าใจเชิงระบบ ครูผู้สอนและบุคลากรฝ่ายสนับสนุนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แสดงว่า สถานศึกษาควรพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวม โดยพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในด้านความคิดความเข้าใจเชิงระบบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

2. บุคลากรทางการศึกษามีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาทุกด้านอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะด้านบรรยากาศขององค์กรด้านสัมฤทธิผล เป็นด้านที่บุคลากรทางการศึกษามีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยทั้งหมด ที่ส่งผลต่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ก่อให้เกิดการพัฒนาและบริหารการจัดการในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในสถานศึกษา ควรมีความรู้ความเข้าในในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์และตามแนวปฏิบัติของ Senge 5 ด้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้สถานศึกษามีบรรยากาศก้าวไปข้างหน้า และ จูงใจให้เกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

3. สถานศึกษาและระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าของระบบอื่นๆ ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง สังคม ระบบการศึกษาจึงต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบันและอนาคต องค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสถานศึกษาที่ใช้ในการปรับตัว สร้างความร่วมมือและการอยู่ร่วมกันได้ดี คือ การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา

การวิเคราะห์รูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำ

ของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

โดย ปรเมษฐ์ โมลี

การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่ดีขึ้นทุกด้าน ให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่เก่ง ดี และมีความสุข มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 แต่ผลของการดำเนินการที่ผ่านมา มีผลการวิจัยเชิงประจักษ์และเสียงวิพากษ์จากสังคมทั่วไปว่ายังไม่สามารถ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตามความคาดหวัง โดยเฉพาะด้านคุณภาพของผู้เรียน แต่อย่างไรก็ดีการปฏิรูปการศึกษามีผลทำให้การบริหารโรงเรียนเปลี่ยนรูปแบบ ไปเป็นการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management) ซึ่งการบริหารในลักษณะนี้ มีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ หลักการกระจายอำนาจ หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม หลักการบริหารตนเอง และหลักการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและชุมชน

ผู้บริหารโรงเรียนนับเป็นกลไกสำคัญและมีอิทธิพลสูงต่อคุณภาพของผลลัพธ์ที่ได้จากระบบการศึกษาและนับว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญ คุณภาพและประสิทธิภาพทางการศึกษา มักแปรปรวนไปตามผู้นำเสมอ (รุ่ง แก้วแดง, 2546) หน้าที่ของผู้นำต้องจัดการภายในองค์การอำนวยการให้ทรัพยากรที่เป็นตัวคนและวัตถุประสานเข้าด้วยกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำองค์การให้ดำเนินไปได้ การศึกษาเกี่ยวกับภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้วิจัยในฐานะนักวิชาการด้านการบริหารการศึกษาสนใจศึกษาวิเคราะห์รูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อทราบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร และเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนในประเทศไทยต่อไป

วิธีดำเนินการวิจัย

1. ศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 2 แหล่ง คือ

1.1 จากตำรา เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำมาพัฒนาเป็นโมเดลความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

1.2จากการสอบถามผู้บริหารโรงเรียน รองผู้บริหารโรงเรียน ผู้อำนวยเขตพื้นที่การศึกษาที่มีโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จตั้งอยู่ และประธานคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จำนวน 4 คน ใช้แบบสอบถามสำรวจข้อมูลเบื้องต้น จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ข้อคำถามประกอบด้วยข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามและความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

2. สร้างรูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย ตัวแปรทั้งหมดรวม 24 ตัว เป็นตัวแปรแฝงภายนอก จำนวน 2 ตัว ตัวแปรแฝงภายใน จำนวน 3 ตัว และตัวแปรสังเกตได้ จำนวน 19 ตัว

3. สัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์รูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ที่ได้จากการพิจารณาการวิเคราะห์ตรวจสอบรูปแบบเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญ ควบคู่กับผลสรุปของการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลแก้ไขแบบสอบถามตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ

4. ร่างแบบสอบถามให้ครอบคลุมตัวแปรจากการวิเคราะห์รูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้าง เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จทุกตัวแปร ร่างข้อคำถามแต่ละตัวแปรจากนิยามศัพท์ที่ได้จากการวิเคราะห์เอกสาร

5. นำแบบสอบถามที่ร่างขึ้นให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาและหาค่า IOC

6. นำแบบสอบถามไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน และนำมาวิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่าความเที่ยงของแบบสอบถาม โดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค แล้วนำผลการวิเคราะห์มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เพื่อจัดทำเป็นแบบสอบถามฉบับที่พร้อมจะนำไปใช้จริง

7. วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบที่พัฒนาขึ้นตามสมมติฐานกับข้อมูลเชิงประจักษ์

ผลการวิจัย

จากการศึกษาข้อมูลของประชากรซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียนที่ได้รับรางวัลพระราชทานในปี พ.ศ.2550 และปี พ.ศ. 2551 จำนวน 74 โรงเรียน รวม 413 คน ผลการวิจัยมีดังนี้

1. ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

มีปัจจัยที่สำคัญ คือ คุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียน องค์ประกอบด้านสถานการณ์ พฤติกรรมความเป็นผู้นำและบทบาทผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน

2. ผลการพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จากการวิเคราะห์อิทธิพลเชิงสาเหตุของรูปแบบภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเพื่อทำการตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากประชากรโดยใช้โปรแกรมลิสเรลเวอร์ชัน 8.72

2.1 ผลการตรวจสอบความตรงของรูปแบบความสัมพันธ์สมมติฐานกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากประชากร

2.1.1 ผลการวิเคราะห์ค่าสถิติของรูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

2.1.1.1 ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จที่พัฒนาขึ้นมา มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีการพิจารณาค่าดัชนีวัดความสอดคล้องของรูปแบบกับข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ค่าไค-สแควร์ (X2) มีค่าเท่ากับ 124.90 ที่องศาอิสระ 64 ค่าไค-สแควร์ที่หารด้วย องศาอิสระ (X2/df) มีค่าเท่ากับ 1.95 ซึ่งมีค่าต่ำกว่า 2.00 ค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (GFI) มีค่าเท่ากับ 0.97 ค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) มีค่าเท่ากับ 0.91 ซึ่งมีค่า เข้าใกล้ 1 ส่วนค่าดัชนีรากของค่าเฉลี่ยกำลังสองของเศษ (RMR) มีค่าเท่ากับ 0.60 ซึ่งมีค่าต่ำเข้าใกล้ 0 จากผลของค่าดัชนีวัดความสอดคล้องของรูปแบบกับข้อมูลเชิงประจักษ์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า รูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จระหว่างรูปแบบเชิงสมมติฐานกับข้อมูลเชิงประจักษ์มีความสอดคล้องกัน

2.1.1.2 ผลการวิเคราะห์ค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรแฝง พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบด้านสถานการณ์ คุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียน องค์ประกอบด้านสถานการณ์ พฤติกรรมความเป็นผู้นำ บทบาทผู้นำ และภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอยู่ในช่วง -0.31 ถึง 0.89 ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียนกับองค์ประกอบด้านสถานการณ์ของผู้บริหารโรงเรียน มีค่าสูงสุด r = 0.8 ส่วนค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียนกับพฤติกรรมความเป็นผู้นำ มีค่าต่ำสุด r = 0.03

สรุปได้ว่าผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ มีคุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียนสัมพันธ์กับองค์ประกอบด้านสถานการณ์ สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานเป็นอย่างดี จะสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

2.2 ผลการวิเคราะห์อิทธิพลเชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรแฝง จากผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้

2.2.1 ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรงต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ คุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียน องค์ประกอบด้านสถานการณ์ บทบาทผู้นำ และ พฤติกรรมความเป็นผู้นำ ขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.72, -0.47, 0.43, และ -0.39 ตามลำดับ

2.2.2 ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรงต่อบทบาทผู้นำ ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ องค์ประกอบด้านสถานการณ์ คุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียนและพฤติกรรมความเป็นผู้นำ (ขนาดอิทธิพล เท่ากับ 0.44, 0.25, และ 0.08 ตามลำดับ

2.2.3 ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมของผู้บริหารโรงเรียนมี 2 ปัจจัย คือองค์ประกอบด้านสถานการณ์ของผู้บริหารโรงเรียนและคุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียน(ขนาดอิทธิพลเท่ากับ -0.40 และ 0.39 ตามลำดับ)

2.2.4 ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ มี 3 ปัจจัย คือ คุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียน องค์ประกอบด้านสถานการณ์ พฤติกรรมความเป็นผู้นำ (ขนาดอิทธิพล เท่ากับ -0.03, 0.34, และ 0.03 ตามลำดับ)

3. สรุปผลการวิเคราะห์และเปรียบเทียบเส้นทางอิทธิพลทางตรงและทางอ้อม ระหว่างตัวแปรแฝงในรูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

3.1 คุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียน มีอิทธิพลทางตรงในทิศทางบวกต่อพฤติกรรมความเป็นผู้นำและภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลทางอ้อมในทิศทางลบต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

3.2 องค์ประกอบด้านสถานการณ์ มีอิทธิพลทางตรงในทิศทางลบต่อพฤติกรรมความเป็นผู้นำและภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลทางตรงในทิศทางบวกต่อบทบาทผู้นำในขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลทางอ้อมในทิศทางบวกต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

3.3 พฤติกรรมความเป็นผู้นำ มีอิทธิพลทางตรงในทิศทางลบต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ และมีอิทธิพลทางตรงในทิศทางบวกต่อบทบาทผู้นำ ในขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลทางอ้อมในทิศทางบวกต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

3.4 บทบาทผู้นำ มีอิทธิพลทางตรงในทิศทางบวกต่อภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท