ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

การจัดทำแผนชุมชน 4


แผนชุมชน แผนแก้ปัญหาชุมชนที่แท้จริง
เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน (4)
ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง
ผู้อำนวยการสถานศึกษา (เชี่ยวชาญ) กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์
E-mail : [email protected]
*******************
แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน  (ต่อ)
นอกจากนั้น  การรวบรวม  และการสังเคราะห์ข้อมูลนี้  ครู  /  วิทยากรและแกนนำชุมชนอาจใช้วิธีการจัดเวทีชาวบ้าน ซึ่งมีขั้นตอนสำคัญ ๆ ดังนี้
                                1.  ทีมปฏิบัติการรวบรวม  และสังเคราะห์ข้อมูลร่วมกับแกนนำชุมชนศึกษาข้อมูลของครัวเรือนไปพร้อม  ๆ  กันโดยแบ่งว่าในชุมชน  จะมีกี่กลุ่มอาจแบ่งตามอาชีพหรือกลุ่มกิจกรรมก็ได้
                                2.  เชิญตัวแทนครัวเรือนในแต่ละกลุ่มดังกล่าวมาพูดคุยกัน
                                3.  ทีมปฏิบัติการรวบรวม และสังเคราะห์ข้อมูล  นำกรอบประเด็นที่ต้องการได้ข้อมูลมาพูดคุย  และกระตุ้นให้ผู้ร่วมเวทีได้เล่าถึงข้อมูล 
                                4.  ทีมปฏิบัติการรวบรวม และสังเคราะห์ข้อมูล  คอยจดบันทึกข้อมูลจากการพูดคุยในเวทีไว้
                                วิธีการนี้  ถือเป็นการได้ข้อมูลอีกวิธีหนึ่งที่มีความรวดเร็ว  และเป็นข้อมูลที่เป็นจริงมากเพราะพูดคุยพร้อม  ๆ  กันหลายครัวเรือน  เป็นการช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลด้วยและกระบวนการพูดคุยในเวที จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (แต่เหมาะสำหรับข้อมูลในภาพรวมของชุมชน  /  หมู่บ้านเท่านั้น  ไม่สามารถให้รายละเอียดระดับครัวเรือนในเวทีได้) 
                                กิจกรรมที่ 4  การวิเคราะห์ข้อมูล  และรับรู้ข้อมูลร่วมกันวัตถุประสงค์เพื่อให้แกนนำชุมชน  และตัวแทนครัวเรือน  ได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล  และรับรู้ข้อมูลของชุมชนร่วมกัน  และได้เรียนรู้สภาพปัญหาที่แท้จริงของชุมชนด้วยตนเอง  จากผลสังเคราะห์ข้อมูล  และการวิเคราะห์ข้อมูล
                                วิธีการขั้นตอนนี้ จะเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดกว่าทุกขั้นตอนที่กล่าวมา  จะเป็นการรับรู้ข้อมูลที่ได้จากการลงเก็บรวบรวมในพื้นที่มาแล้ว  การรวบรวม  และการสังเคราะห์ของแกนนำชุมชนและพี่เลี้ยง  มีวิธีการดังนี้
1.  แจ้งให้ตัวแทนครัวเรือนละ  1  คน  เข้าร่วมประชุมเพื่อมาพิจารณาข้อมูลที่ได้จากการรวบรวม  และการวิเคราะห์ร่วมกัน  เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์  หาจุดอ่อน  จุดแข็งและแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชน  เพื่อนำไปสู่การกำหนดอนาคตของชุมชนร่วมกัน 
2.  ผู้เข้าร่วมประชุมได้มองเห็นชุมชนในมิติต่าง ๆ  เช่น  ตัวเลขหนี้สิน  รายได้ รายจ่าย  พื้นที่ทำการเกษตร  และปัญหาทุกอย่างที่จะแสดงออกมาจากข้อมูล  
3.  สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมวิพากษ์วิจารณ์  หาจุดอ่อน  จุดแข็งและแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชน  และบันทึกแนวทางการแก้ไขนั้นเป็นร่างแผนของชุมชนที่เน้นการพึ่งพาตนเองมากที่สุด  ในร่างแผนอาจเป็นแผนที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เอง  แผนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกับชุมชนดำเนินการ  และแผนที่ต้องขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายนอก
ขั้นตอนที่ 3  การกำหนดวิสัยทัศน์ของชุมชน  และการยกร่างแผนชุมชน
                วัตถุประสงค์เพื่อให้แกนนำชุมชน  ได้มีส่วนร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาชุมชนโดยใช้ แผนชุมชนเป็นเครื่องมือ  และการผลักดันให้การจัดทำแผนชุมชนบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป็นกระบวนการต่อเนื่องในชุมชน  จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบ  ซึ่งคนไม่ใช่คนใดคนหนึ่งในชุมชน  หรือเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน  คณะกรรมการหมู่บ้าน  หรือสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเท่านั้น  ในการที่จะผลักดันแผนชุมชน จะบรรลุเป้าหมายได้  ต้องมีองค์กรรองรับโดยการก่อตั้ง “สภาผู้นำชุมชน”  ขึ้นมา  โดยประกอบไปด้วยตัวแทนของกลุ่มคนต่าง ๆ  ในชุมชน  เช่น  ตัวแทนกลุ่มอาชีพ  ตัวแทนกลุ่มกิจกรรม  ตัวแทนกลุ่มผู้สูงอายุ  และตัวแทนกลุ่มเยาวชน  เป็นต้น  เพื่อทำหน้าที่ผลักดันให้แผนชุมชนเป็นแผนที่มีชีวิตชีวา และเป็นกระบวนการต่อเนื่องอยู่ในชุมชน  ขั้นตอนนี้ประกอบด้วย  2  กิจกรรม  ดังนี้
                                กิจกรรมที่ 1  การกำหนดวิสัยทัศน์และการยกร่างแผนชุมชน มีวิธีการ ดังนี้  
                                1.  ครู / วิทยากรทบทวน   “ร่าง”  วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน  ตามองค์ประกอบที่ร่วมกันคิดในเวทีการเรียนรู้ที่ผ่านมา  แบ่งกลุ่มสมาชิกออกเป็น  5 - 7  กลุ่ม  (พิจารณาตามจำนวนสมาชิกผู้ร่วมเวที)  ให้สมาชิกกลุ่มย่อย  ระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างแผนชุมชน  โดยใช้เทคนิคการตั้งคำถามว่า        “เราจะมีวิธีการสำคัญ ๆ  หรือแนวทางหลักอะไรบ้าง  ในการจะไปให้ถึงเป้าหมายที่ชุมชนต้องการและที่ตั้งไว้”   แล้วให้สมาชิกในกลุ่มย่อยเขียนวิธีการสำคัญ ๆ  หรือแนวทางหลักลงบนในกระดาษปรู๊ฟที่จัดไว้ให้    ใช้เวลา  10  นาที 
                                2.  หมดเวลาให้สมาชิกกลุ่มแต่ละกลุ่มเดินชม  วิธีการสำคัญ ๆ  หรือแนวทางหลักของกลุ่มอื่น ๆ ทุกกลุ่ม  โดยในแต่ละกลุ่มย่อยจัดให้มีผู้นำเสนอให้สมาชิกกลุ่มอื่นได้รับทราบใช้เวลาเวียนดูทุกกลุ่มรวม  15 – 20  นาที  เพื่อนำแนวความคิดดี ๆ  มาปรับวิธีการสำคัญ ๆ หรือแนวทางหลักของกลุ่มตนเองให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  เทคนิคนี้เรียกว่า  Shopping  Idea  ในช่วงนี้  ครู / วิทยากร / ผู้อำนวยการความสะดวก  ประจำฐานกิจกรรมสามารถให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการได้  แต่ห้ามชี้นำ  หรือสั่งการ 
                                3.  ให้เวลาในการปรับปรุงสรุปแนวความคิดของแต่ละกลุ่ม  อีก  5  นาที  แล้วให้       ตัวแทนกลุ่มย่อยทุกกลุ่ม  นำเสนอวิธีการสำคัญ ๆ  หรือแนวทางหลัก  สมาชิกภายในกลุ่มอาจเสริม  หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้เมื่อตัวแทนกลุ่มนำเสนอจบแล้ว
                                4.  ให้สมาชิกเข้ากลุ่มย่อย  (กลุ่มเดิม)  5 – 7  กลุ่ม  และให้เขียนวิสัยทัศน์ของชุมชน  พร้อมนำเสนอด้วยหัวข้อ  “วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน  .... (ชื่อหมู่บ้าน) ....”
                                5.  ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มย่อย  กลุ่มละ 1  คน  ช่วยกันหลอมรวมวิสัยทัศน์ของแต่ละกลุ่มย่อยให้เป็นภาพวิสัยทัศน์รวมของชุมชน  .....  (ชื่อหมู่บ้าน) .....  
                                6.  ให้กลุ่มย่อย (กลุ่มเดิม)  5 – 7  กลุ่ม  พิจารณาวิสัยทัศน์  และ “ร่าง”  แผนชุมชน   รวมทั้ง  ร่วมกันการพิจารณาถึงความเป็นไปได้  ในส่วนที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เอง  มาจัดทำเป็นโครงการแบบง่าย  ๆ  เพื่อนำผลที่ได้มาพิจารณากำหนดวิธีการดำเนินงาน  และสถานที่ศึกษาดูงานต่อไป
กิจกรรมที่ 2 การก่อตั้งสภาผู้นำชุมชนและกำหนดบทบาทหน้าที่  มีวิธีการ ดังนี้
                                1.  ครู  / วิทยากรอธิบายถึงความสำคัญ  และประโยชน์ของการมีสภาผู้นำชุมชน
                                2. ให้แกนนำชุมชน  และผู้ร่วมประชุมเสนอความคิด  และร่วมกันกำหนดคุณสมบัติ  และบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสภาผู้นำชุมชน  ได้แก่ ประธาน รองประธาน  เลขานุการ  เหรัญญิก  และฝ่ายอื่น ๆ  ตามความจำเป็น  ส่วนจำนวนของสมาชิกสภาผู้นำชุมชน  ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของที่ประชุม  รวมทั้ง  จำนวนตัวแทนของแต่ละ
                                3.  ให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกตัวแทน  เช่น  ตัวแทนกลุ่มอาชีพ  ตัวแทนกลุ่มกิจกรรม      ตัวแทนกลุ่มผู้สูงอายุ  และตัวแทนกลุ่มเยาวชน  เป็นต้น  เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้นำชุมชน โดยสมาชิกในแต่ละกลุ่มในชุมชนร่วมกันเสนอชื่อ  แล้วอภิปรายส่งเสริม  และสนับสนุนด้วยเหตุผล  หรืออาจใช้วิธีการลงมติด้วยใช้วิธีการยกมือ
                                4.  เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้นำชุมชนครบตามจำนวนที่ต้องการแล้วให้ดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร  โดยในที่ประชุมเสนอชื่อ  ประธาน  รองประธาน  เลขานุการ  เหรัญญิก  และกรรมการฝ่ายอื่น ๆ  ตามที่ประชุมเห็นสมควร  และตามความเหมาะสมในแต่ละชุมชน  แล้วพิจารณาดำเนินการคัดเลือก
                                5.  กำหนดบทบาทของสมาชิกสภาผู้นำชุมชน  และมอบหมายภารกิจให้แก่คณะกรรมการบริหาร  ได้แก่  ประธาน  รองประธาน  เลขานุการ  เหรัญญิก  และฝ่ายต่าง ๆ
                ขั้นตอนที่ 4  การศึกษาดูงานนอกสถานที่  วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้  และเสริมสร้างประสบการณ์ ในการจัดทำแผนชุมชน  และแผนปฏิบัติการของชุมชนที่เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก      มีวิธีการ ดังนี้
                1.  ครู / วิทยากรให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ในการศึกษาดูงาน
                2.  ให้คณะกรรมการบริหารสภาผู้นำชุมชน  เสนอความต้องการในกิจกรรม  และสถานที่ในการศึกษาดูงาน 
                3.   ครู / วิทยากร  ลงสำรวจ  และประสานงานสถานที่ที่จะไปศึกษาดูงาน  ตามกิจกรรม  และสถานที่ที่ตกลงกันในที่ประชุม 
                4.  ครู / วิทยากร  นำคณะสมาชิกสภาผู้นำชุมชน ไปศึกษาดูงานตามกิจกรรม  และสถานที่ศึกษาดูงาน  เพื่อให้ได้ศึกษาเรียนรู้รูปแบบการดำเนินงาน  และนำมาปรับใช้กับชุมชนตนเองตามความเหมาะสม
                5.  สมาชิกสภาผู้นำชุมชน  และคณะที่ไปศึกษาดูงาน  สรุปผลการศึกษาดูงานตามกลุ่มกิจกรรมที่ได้ไปศึกษาดูงาน  ว่าได้รับความรู้อะไรบ้างจากการศึกษาดูงาน  และมีกิจกรรมอะไรบ้างที่สามารถนำมาปรับใช้กับชุมชนได้
                ขั้นตอนที่ 5  การกำหนดแผนชุมชนและการจัดทำแผนปฏิบัติการ  วัตถุประสงค์เพื่อทบทวนกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านมา  และนำมากำหนดเป็นแผนชุมชนให้ชัดเจน  โดยเลือกโครงการที่จะดำเนินการ  รวมทั้งกิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติ  เพื่อนำไปวางแผนปฏิบัติการ
                กิจกรรมที่ 1  การกำหนดแผนชุมชน  มีวิธีการ ดังนี้
                                1. ครู / วิทยากร  นำสรุป “ร่างแผนชุมชน”   ที่ได้จากการวิเคราะห์  และสังเคราะห์ แล้วและนำมาพิจาณาประเด็นและทบทวนสรุป “ร่างแผนชุมชน”   อีกครั้ง  โดยการระดมความคิดของสมาชิกสภาผู้นำชุมชน  และผู้เกี่ยวข้องในชุมชน  เพื่อพิจารณาถึงผู้รับผิดชอบในแผนชุมชนซึ่งมีอยู่  3  ประเภท  คือ  แผนที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เอง   แผนที่ชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และแผนที่ชุมชนต้องขอรับการสนับสนุนจากภายนอก  โดยแบ่งเป็น  7  ฐานกิจกรรม
                                2.  แบ่งกลุ่มสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุม  ออกเป็น 4 -5  กลุ่ม  ตามจำนวนสมาชิก (แต่ละกลุ่มไม่ควรน้อยกว่า  7  คน)  จากนั้นครู / วิทยากร  ให้สมาชิกกลุ่มได้ระดมความคิดเห็นว่าใน  “ร่างแผนชุมชน”  ดังกล่าวชุมชนของเรา  “จะทำอะไร”   (ชื่อโครงการ)   ส่วนรายละเอียดกิจกรรมในโครงการ  ก็ตั้งคำถามว่า  “จะทำอย่างไร”  (วิธีดำเนินการ)  “ใครจะทำ”  (ผู้รับผิดชอบ)   “ทำเมื่อไร”  (ระยะเวลาการดำเนินการ)  “ใช้งบประมาณเท่าไร”  และ  “ได้มาจากไหน”  (งบประมาณ) 
                                3.  ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มย่อยได้นำเสนอรายละเอียดดังกล่าวในที่ประชุมใหญ่ให้พิจารณาร่วมกันว่า  จะมีโครงการอะไรบ้าง  รวมทั้ง  เสนอผู้รับผิดชอบในแต่ละโครงการ โดยระบุชื่อบุคคลหรือหน่วยงานที่ต้องดำเนินการ  หรือมีส่วนร่วมไว้อย่างชัดเจน  เพื่อประโยชน์  ในการดำเนินการในขั้นต่อไป  โดยมีข้อสรุปในเวทีร่วมกันเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบ  ที่ต้องสามารถดำเนินการได้อย่างแท้จริง
                                4.  ครู / วิทยากร  รวบรวมโครงการตามกลุ่มกลุ่มย่อยต่าง ๆ  ในลักษณะของแผนชุมชน 3  ประเภท  คือ  แผนที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เอง  แผนที่ชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และแผนที่ชุมชนต้องขอรับการสนับสนุนจากภายนอก  โดยให้กลุ่มย่อยช่วยกันระดมความคิดเห็น  และร่วมกันการเขียนแผนปฏิบัติการ  2  ประเภทก่อน  ได้แก่  แผนที่ชุมชนดำเนินการได้เอง  และแผนที่ชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพราะเป็นแผนที่ใกล้ตัวและเขียนได้ง่าย ส่วนแผนที่ต้องขอรับการสนับสนุนจากภายนอก  ให้ดำเนินการในระยะต่อไป 
กิจกรรมที่ 2  การจัดทำแผนปฏิบัติการ  มีวิธีการ ดังนี้
                   1.  แบ่งสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมออกเป็นกลุ่มย่อย 2  กลุ่ม  คือ  กลุ่มที่ระดมความคิดเห็นและเขียนแผนที่ชุมชนดำเนินการได้เองและแผนที่ชุมชนดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาเขียนก่อน
                   2.  ให้ที่ประชุมใหญ่จัดลำดับความสำคัญ  โดยให้พิจารณาความเป็นไปได้ของแผนปฏิบัติ  และโครงการนั้น ๆ   
                    3.  ครู / วิทยากร  มอบหมายภารกิจให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุม  ร่วมกันระดมความคิดแล้วเขียนแผนปฏิบัติการ โดยสมาชิกเลือกโครงการ / กิจกรรม  ที่ตนเองมีความสนใจเพื่อจัดทำ แผนปฏิบัติการ / โครงการ  โดยให้เขียนอธิบาย ตามหัวข้อโดยสังเขป  ดังนี้ 
                 3.1  ชื่อโครงการ  (จะทำอะไร )
                 3.2  หลักการและเหตุผล  (ทำไมต้องทำ)
                 3.3  เป้าหมายที่คาดหวัง  (ทำแล้วได้ผลอะไร )
                 3.4  วิธีดำเนินการ  (ทำอย่างไร )
                 3.5  ระยะเวลา   (ทำเมื่อไร  และสิ้นสุดเมื่อไร)
                 3.6  งบประมาณ  (มีค่าใช้จ่ายเท่าไร  และเอาเงินมาจากไหน)
                 3.7  ผู้รับผิดชอบ (ใครผู้ที่ดูแลเรื่องนี้)
                 3.8  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  (หน่วยงานใดบ้างที่จะช่วยเหลือได้)
                 3.9  การติดตามผล  และประเมินผล  (มีวิธีตรวจสอบอย่างไรและวัดความสำเร็จจากอไรบ้าง)   
          4.  ให้ตัวแทนของสภาผู้นำชุมชน  รวบรวมแผนปฏิบัติการ และโครงการ ที่เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ทั้ง  3  ประเภท  คือ  แผนที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เอง   แผนที่ชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   และแผนที่ชุมชนต้องขอรับการสนับสนุนจากภายนอก  จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการของชุมชนและนำเสนอ  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป
          โดยสรุป  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน  เป็นกระบวนการจัดกิจกรรมให้แก่ประชาชนในชุมชนได้มีความรู้  เกิดแนวคิด  เกิดความภาคภูมิใจกับกิจกรรมที่ตนเองได้มีส่วนร่วมคิด  ร่วมตัดสินใจ    ร่วมทำ  ร่วมรับประโยชน์  และร่วมตรวจสอบประเมินผล  ซึ่งเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน     ที่นำเสนอนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ครู / วิทยากร  สามารถนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ  ในชุมชน เช่น  กลุ่มผู้นำชุมชน  (กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  และคณะกรรมการหมู่บ้าน)  กลุ่มสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มนักศึกษา  การศึกษานอกโรงเรียน  และกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ  ตามความเหมาะสมได้เป็นอย่างดี.   

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 375765เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีครับ....................

โค้งคำนับนั่งอ่านช่วยสานฝัน

สาระดีมีจุดเด่นเป็นสำคัญ

ชอบสร้างสรรค์เสพหาวิชาการ

ขยันเขียนเวียนหามาไม่ถ้วน

ไว้ประมวลขัดเกลาเหลาแก่นสาร

เกิดความคิดติดปัญญาพาเชี่ยวชาญ

ประสบการณ์พบเห็นเป็นบทเรียน

ธนา นนทพุทธ

จักสานอักษร

ขอบคุณครับคุณธนา... ที่แวะมาเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท