ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

การจัดทำแผนชุมชน 3


แผนชุมชน แผนแก้ปัญหาชุมชนที่แท้จริง
เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน  (3)
ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง
ผู้อำนวยการสถานศึกษา (เชี่ยวชาญ) กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์
E-mail : [email protected]
*******************
แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน  สรุปแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
แผนชุมชนมี 5 ขั้นตอน  ดังต่อไปนี้   
ขั้นตอนที่ 1  การกำหนดเป้าหมายของชุมชน  กระบวนการเรียนรู้ในการกำหนดเป้าหมายของชุมชนขั้นตอนนี้  ประกอบด้วย 3  กิจกรรม  ได้แก่
                กิจกรรมที่ 1  การค้นหาองค์ประกอบของชุมชน
                วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้  เพื่อวิเคราะห์ประสบการณ์เดิม  และสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบของชุมชนของแกนนำชุมชน โดยใช้เทคนิคบัตรคำ  (Meta Plan)
                วิธีการ
                1. ให้ผู้เข้าร่วมประชุม เขียนองค์ประกอบชุมชนที่น่าอยู่   ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้างจากความคิดเห็นของตนเองลงในบัตรคำ  โดยใช้เวลาในกิจกรรมนี้ 5 - 8  นาที
                2.  เมื่อผู้เข้าร่วมประชุม  เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ให้นำไปติดในบอร์ดที่เตรียมไว้
                3.  ครู / วิทยากร  รวบรวมเป็นหมวดหมู่  ใน  3  องค์ประกอบ  เช่น  ด้านเศรษฐกิจชุมชน  ด้านการบริหารจัดการชุมชน  และด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน
                4.  วิทยากรสรุปข้อมูลที่ได้  และเสนอข้อมูลเพิ่มเติม  ในส่วนที่ยังไม่ครอบคลุม  กิจกรรมนี้  จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน ได้นำเอาประสบการณ์ของตนเองออกมานำเสนอร่วมกัน  จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนรู้สึกว่าตนเองได้มีส่วนร่วม  มีความสำคัญในฐานะสมาชิกคนหนึ่งและได้รับรู้ข้อมูลจากบุคคลอื่นซึ่งจะทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น  และเกิดสัมพันธภาพที่ดีภายในกลุ่มสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม
กิจกรรมที่ 2  การสำรวจสภาพ  และบริบทของชุมชน
                วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้  เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้วิเคราะห์สภาพ
ของชุมชนที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน  โดยแบ่งออกเป็น  2 ช่วง คือ ปี พ.ศ. 2525 ถึง 2539 
และ ปี พ.ศ. 2540  ถึงปัจจุบัน  โดยใช้เทคนิคบัตรคำ (Meta Plan) และนำเสนอสภาพด้วยการเขียน
เป็นแผนที่ความคิด (Mind Mapping) 
                วิธีการ
                1. ให้ผู้เข้าประชุมทบทวนข้อมูลประสบการณ์และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในระยะเวลา  2  ช่วงที่กำหนด  ด้วยคำถามว่า  “ช่วงเวลา  ปี  พ.ศ. 2525 - 2539  และ ปี พ.ศ. 2540  ถึงปัจจุบัน  ชุมชนของท่านมีสภาพเป็นอย่างไร  มีสิ่งใดบ้างที่รู้สึกภาคภูมิใจ  และมีสิ่งใดบ้างที่ทำให้รู้สึกเสียใจ ”  ใช้เวลา  5  นาที  โดยให้ผู้เข้าประชุมเขียนตามความคิดเห็นของตนเองลงในบัตรคำ
                2. แบ่งผู้เข้าประชุมออกเป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม  สมาชิกแต่ละคนนำบัตรคำของตนเองเข้ากลุ่มย่อย  นำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่ม  แล้วนำบัตรคำไปติดบอร์ดที่จัดไว้       โดยประธานกลุ่มทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล  เลขากลุ่มทำหน้าที่จัดหมวดหมู่ของบัตรคำโดยข้อความเดียวกัน  หรือใกล้เคียงกันให้จัดรวมไว้ด้วยกัน  ใช้เวลา 10 นาที
                3. โฆษกกลุ่มย่อยทั้ง 3 กลุ่ม  นำเสนอข้อสรุปจากกลุ่มย่อย นำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ที่เกี่ยวกับสภาพหรือบริบท   ในช่วงเวลา  ปี  พ.ศ. 2525 - 2539  และ ปี พ.ศ. 2540  ถึงปัจจุบัน  โดยใช้เวลากลุ่มละ  5  นาที
                4. เลขากลุ่ม  แต่ละกลุ่มย่อยรวบรวมข้อมูลของกลุ่มตนเอง  โดยนำเสนอเป็นแผนที่ความคิด ( Mind Mapping )  ให้เป็นภาพของชุมชน ในช่วงเวลา  ปี  พ.ศ. 2525 - 2539  และ ปี
พ.ศ. 2540  ถึงปัจจุบัน 
                วิธีการนี้  เปิดโอกาสให้สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน  มีโอกาสได้แสดงออกใน
ความคิดเห็น  และความรู้สึกของตนเอง  เกี่ยวกับสภาพ หรือบริบทที่เป็นจริงของชุมชนร่วมกัน   
ด้วยการทำงานเป็นทีม  ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  การให้เกียรติ  และความเคารพซึ่งกันและกัน 
ทำให้ได้ข้อสรุปที่หลากหลาย  เพื่อเป็นการเตรียมไปสู่กิจกรรมการกำหนดเป้าหมายในอนาคตของชุมชนร่วมกัน
กิจกรรมที่ 3  การกำหนดเป้าหมายในอนาคต
                วัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน  ร่วมกันกำหนดเป้าหมายหรือสิ่งที่มุ่งหวังในอนาคตของชุมชนร่วมกัน  โดยการนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้จากอดีต จนถึงปัจจุบันมาจินตนาการสร้างภาพอนาคตของชุมชน  โดยใช้เทคนิคศิลปะการสร้างภาพ  และแผนที่ความคิด
                วิธีการ
                1. ครู / วิทยากร  แจกกระดาษ  A4 ให้สมาชิกผู้เข้าประชุมคนละ 1   แผ่น  ให้สมาชิกผู้เข้าประชุม  ฉีกกระดาษสีต่าง ๆ  แล้วนำไปแปะลงในกระดาษ A4  ให้เป็นเป็นภาพของชุมชนที่ตนเองอยากเห็น  อยากเป็น  หรืออยากได้ในอนาคต 5  ปีข้างหน้า  (ห้ามเขียนข้อความ  หรือรูปภาพ)  ใช้เวลา  5  นาที
                2. แยกสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็นกลุ่มย่อย  (กลุ่มเดิมจากกิจกรรมที่ 2)  แล้วให้สมาชิกผู้เข้าประชุมแต่ละคนแสดงภาพ  และบรรยายภาพที่คาดหวังในอนาคตของตนเอง
ให้สมาชิกกลุ่มของตนเองได้ทราบ  เมื่ออธิบายเสร็จเรียบร้อยให้นำภาพไปติดที่บอร์ด  ระหว่าง
สมาชิกนำเสนอครู / วิทยากร  และเลขากลุ่มช่วยกันบันทึกข้อมูลในแผนที่ความคิด  เมื่อสมาชิก
ทุกคนในกลุ่มย่อยได้บรรยายครบแล้ว  ให้ประธานกลุ่มรวมภาพของทุกคนให้เป็นภาพของกลุ่ม  เลขากลุ่มสรุปประเด็นเป็นภาพความมุ่งหวังในอนาคตของกลุ่ม  โฆษกกลุ่มนำเสนอผลงาน โดยใช้เวลา  10   นาที
                3. การนำเสนอผลงานกลุ่มย่อย  ต่อที่ประชุมกลุ่มใหญ่  โดยโฆษกกลุ่มย่อยเสนอผลงานกลุ่มด้วยแผนที่ความคิด และภาพของกลุ่มจนครบทุกกลุ่ม  โดยให้สมาชิกคนอื่น ๆ ได้ร่วมพิจารณา  เสนอความคิดเห็น  และสอบถามเพิ่มเติม  ใช้เวลา 10  นาที 
                4. ผู้แทนกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่ม  รวมภาพ / ประเด็นความมุ่งหวังในอนาคตของกลุ่ม
ให้เป็นภาพรวมของชุมชน
                5. ขอเชิญอาสาสมัคร  หรือผู้แทนสมาชิก  ที่มีความสามารถเขียนคำกลอน  คำคม
ที่สามารถสะท้อนภาพของชุมชน  โดยรวมเอาองค์ประกอบหลัก ๆ ของภาพชุมชนที่พึงปรารถนาออกมา  โดยอาจเขียนเป็นคำคล้องจอง  ให้มีความสละสลวย  จดจำได้ง่าย  เป็นการยกร่างวิสัยทัศน์เบื้องต้นของชุมชน  หลังจากนั้นให้ผู้แทนสมาชิกอธิบายภาพรวมในอนาคตของชุมชน  รวมทั้งอธิบาย วิสัยทัศน์ของชุมชน
                6. ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนร่วมกันตรวจสอบว่า  ภาพรวมที่เป็นความมุ่งหวังในอนาคต  รวมทั้งวิสัยทัศน์ของชุมชน  มีความเหมาะสมเพียงใด  ต้องการเพิ่มเติมอะไรอีกบ้าง  เพื่อให้ได้ภาพรวมที่สมบูรณ์ที่สุด  และเป็นเป้าหมายที่ทุกคนต้องการร่วมกัน
                วิธีการนี้   เป็นการกระตุ้นให้สมาชิกผู้เข้าประชุม  มองภาพการพัฒนาในแนวทางที่สร้างสรรค์  เป็นการฝึกเทคนิคการกำหนดขอบเขตความคิดของตนเองในเรื่องต่าง ๆ  การอธิบายความหมาย  รวมทั้ง  มองเห็นความสำคัญของการสร้างสรรค์ชุมชนในภาพรวม  และการมีส่วนร่วมในชุมชน
ขั้นตอนที่  2  การประเมินสภาพชุมชน  และการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน    
กระบวนการเรียนรู้ในการประเมินสภาพชุมชน  และการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน  ประกอบด้วย  4  กิจกรรม  ดังนี้
                กิจกรรมที่ 1  การออกแบบสำรวจข้อมูล 
                วัตถุประสงค์เพื่อให้แกนนำชุมชน  ที่เข้าร่วมประชุมมีส่วนร่วมในการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของชุมชน  โดยการออกแบบสอบถามข้อมูลสำหรับชุมชนของตน  พร้อมทั้งได้สำรวจสภาพที่แท้จริงของชุมชนว่าเป็นอย่างไร  และเป็นการฝึกกระบวนการเรียนรู้  ให้แกนนำชุมชนเกิดทักษะ  และสั่งสมประสบการณ์ในกาทำงาน  เรื่องการสำรวจและรวบรวมข้อมูลชุมชน  เนื่องจาก  ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจ เพื่อการพัฒนาชุมชน/หมู่บ้าน และสิ่งที่จะทำให้ได้ข้อมูล  และสามารถนำข้อมูลมาตรวจสอบซ้ำได้อีกครั้ง ก็คือ  แบบสอบถาม ซึ่งในการดำเนินการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเองนั้น แบบสอบถามที่ดีที่สุดสำหรับชุมชน/หมู่บ้าน  คือ  แบบสอบถามที่คนในชุมชน/หมู่บ้าน ช่วยกันสร้างขึ้นมา  เพราะเป็นแบบสอบถามที่คนในชุมชน/หมู่บ้าน สร้างขึ้นมาจากความอยากรู้ มีความสนใจ และต้องการข้อมูลในชุมชน/หมู่บ้าน ของตนเอง เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาไปในแนวทางใด ซึ่งข้อมูลจะช่วยให้ผู้นำชุมชน / หมู่บ้าน  และชาวบ้านสามารถตัดสินใจเองได้
                วิธีการ
                1.  ครู / วิทยากรชี้แจง  ทำความเข้าใจกับแกนนำชุมชนถึงความสำคัญและประโยชน์ของข้อมูลที่ได้จากการสำรวจโดยคนในชุมชน  รวมทั้ง  การมีส่วนร่วมกันออกแบบสำรวจข้อมูล  และสร้างความเข้าใจในแบบสำรวจข้อมูลร่วมกัน 
                2.  แกนนำชุมชนร่วมกันคิด  และออกแบบสำรวจข้อมูล  โดยคิดว่าจะมีข้อมูลที่ต้องการสำรวจด้านใดบ้างที่ชุมชนต้องการทราบ  และเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการจัดทำแผนชุมชน  ซึ่งอาจประกอบไปด้วยข้อมูลด้านจ่าง ๆ  เช่น  ด้านรายรับของชุมชน  ด้านรายจ่ายของชุมชน  และหนี้สินของชุมชน  เป็นหลัก  และข้อมูลระดับรองลงไป  เช่น  ด้านสิ่งแวดล้อม  ด้านการมีส่วนร่วมการพัฒนาชุมชน  และข้อมูลทุนทางสังคมต่าง ๆ ในชุมชน  โดยให้กลุ่มแกนนำชุมชนร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมของแบบสำรวจข้อมูลร่วมกัน และแก้ไขตามความคิดเห็นของกลุ่ม
                3. แกนนำชุมชน  ร่วมกันฝึกทักษะสอบถาม  และการกรอกข้อมูลในแบบสำรวจข้อมูล  และการวิเคราะห์ข้อมูล  โดยมอบหมายงานให้แกนนำชุมชนทุกคน  ทดลองฝึกทักษะการสอบถาม  การกรอกแบบสอบถาม  โดยอาจใช้ข้อมูลครัวเรือนของตนเองเป็นตัวอย่างในการกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนทุกข้อตามแบบสอบถามข้อมูล  และให้ซักถามเรื่อง  หรือหัวข้อที่ไม่เข้าใจในแบบสำรวจ
กิจกรรมที่ 2   การเก็บรวบรวมข้อมูล
                วัตถุประสงค์  เพื่อให้แกนนำชุมชน  ได้มีการฝึกปฏิบัติจริงในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพราะข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชุมชน / หมู่บ้าน เพราะจะทำให้มองเห็นภาพรวมของชุมชน / หมู่บ้าน ทั้งหมดและการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล  จะทำให้เกิดกระบวนการทำงานเป็นทีม ตลอดจน  แบ่งงานกันทำตามความสามารถ  และความถนัดของแต่ละบุคคล  และจะทำให้ได้ข้อมูลตามที่คนในชุมชน / หมู่บ้านต้องการทราบ  และมีความสนใจ อีกทั้ง  จะเห็นแนวโน้มของข้อมูลที่จะสามารถบอกทิศทางของการพัฒนาชุมชนของตนเองได้ ร่วมกันแก้ไขปัญหา  และพัฒนาชุมชนในที่สุด  ที่สำคัญของกระบวนการนี้การเก็บรวบรวมข้อมูล  การสอบถามข้อมูล สมควรเป็นบุคคลในชุมชนและครู /  วิทยากร  เป็นผู้ช่วยจดบันทึกข้อมูล   ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลตรงตามวัตถุประสงค์ ของการเก็บข้อมูลในแบบสอบถามมากกว่าบุคคลที่อยู่ภายนอกชุมชน / หมู่บ้าน เก็บรวบรวมข้อมูล และสอบถามข้อมูล  เพราะเป็นคนที่คนในชุมชนไม่คุ้นเคย
                วิธีการ
                1.  ครู / วิทยากร นำแบบสอบถามที่ชุมชน  ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาทบทวนและชี้แจงในรายละเอียดของข้อคำถาม  ความหมายของข้อมูล  การตีความข้อมูลและการบันทึกข้อมูล
                2.  แบ่งกลุ่มผู้นำชุมชน  ออกเป็นกลุ่ม ๆ  กลุ่มละ   4 - 5 คน  ต่อคุ้ม  โดยมีมีครู / วิทยากร เป็นพี่เลี้ยงในการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล
                3.  แกนนำชุมชน  ดำเนินการชี้แจงแบบสำรวจข้อมูลของทุกครัวเรือนที่ตนเองรับผิดชอบ  โดยชี้แจงให้แต่ละครัวเรือนทราบถึงความสำคัญ  และประโยชน์ของข้อมูลชุมชนให้แต่ละครัวเรือนลงข้อมูลให้ครบถ้วนตามความเป็นจริง  แล้วนัดวันที่จะมารับข้อมูล  ในกรณีที่ครัวเรือนนั้นสามารถให้ข้อมูลได้  หรือแกนนำชุมชนสอบถามบุคคลในครัวเรือน  แล้วเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามก็ได้  อาจใช้พี่เลี้ยงร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วย  เช่น ครูการศึกษานอกโรงเรียน  เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน  และอาสาสมัครสาธารณสุข  เป็นต้น 
                4.  แกนนำชุมชนแต่ละกลุ่มนำเสนอ  ข้อขัดข้อง ปัญหาและอุปสรรคจากการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล ตามคุ้มต่าง ๆ  และช่วยสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้  ร่วมทั้งร่วมกันหาแนวทางการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปปรับใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในโอกาสต่อไป
                5.  แกนนำชุมชนรวบรวมข้อมูลชุมชน โดยอาจแบ่งข้อมูลออกเป็นแต่ละคุ้มหรือหย่อมบ้าน  หรือตามที่แกนนำชุมชนได้เก็บรวบรวมมา แล้วลงข้อมูลในตารางข้อมูลที่เตรียมไว้เป็นภาพรวมของชุมชน  และช่วยกันพิจารณาข้อมูลที่รวบรวมได้และเพิ่มเติมข้อมูลส่วนที่ไม่สมบูรณ์
เพื่อนำเสนอในเวทีต่อไป
กิจกรรมที่ 3  การสังเคราะห์ข้อมูล
                วัตถุประสงค์เพื่อให้แกนนำชุมชนมีความรู้  ทักษะ  และประสบการณ์ในการสังเคราะห์ข้อมูลของชุมชน  และได้เรียนรู้สภาพปัญหาที่แท้จริงของชุมชนด้วยตนเองจากผลการรวบรวมข้อมูลในระดับพื้นที่
                วิธีการ
1.  การวิเคราะห์ข้อมูลของชุมชน
                1.1  ครู / วิทยากรชี้แจงให้แกนนำชุมชน  และผู้ประสานงานในพื้น  นำข้อมูลที่ได้รวบรวมมาวิเคราะห์ร่วมกัน  โดยมองในภาพรวมว่า  “ ปัจจุบันชุมชนมีสภาพเป็นอย่างไร” และในอนาคต  “ถ้าชุมชนมีสภาพคงอยู่อย่างนี้  ชุมชนจะเป็นอย่างไร”  สรุปประเด็นด้วยข้อเขียนลงในแบบฟอร์มที่ครู / วิทยากร  และแกนนำชุมชนเตรียมไว้
                1.2  แกนนำชุมชน  และตัวแทนครัวเรือนทุกครัวเรือนร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน  รวมทั้งสรุปประเด็นการวิเคราะห์ปัญหาในแบบฟอร์มที่เตรียมไว้ โดยอาจสรุปตามแนวทางข้อคำถาม  ดังนี้
                       1.2.1  ปัญหาของชุมชน คืออะไรบ้าง
                       1.2.2  สาเหตุของปัญหาเกิดจากอไร
                       1.2.3  ชุมชนจะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร
2.  เมื่อชุมชนได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ข้อมูล  และปัญหาของชุมชน  แล้วให้แกนนำชุมชนจัดเวทีชาวบ้าน  เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อสรุปของข้อมูล  และปัญหาที่แท้จริงในชุมชน  โดยมีตัวแทนแต่ละครัวเรือนร่วมในเวทีด้วย  โดยให้ผู้ร่วมเวทีวิเคราะห์ความสัมพันธ์สาเหตุของปัญหา  และนำเสนอข้อสรุปด้วยเทคนิคแผนที่ทางความคิด  (Mind  Mapping)
                            สำหรับ  กิจกรรมที่ 2  การเก็บรวบรวมข้อมูลและกิจกรรมที่  3  การสังเคราะห์ข้อมูลนี้ ครู / วิทยากรและแกนนำชุมชน  อาจใช้วิธีการสัมภาษณ์  และเทคนิควิธีการอื่น ๆ  ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้ 
                            1.  ทีมปฏิบัติการรวบรวม และสังเคราะห์ข้อมูลแบ่งกลุ่มสมาชิก กลุ่มละ 4 - 5 คน และก่อนการสำรวจข้อมูลโดยการสัมภาษณ์  ควรศึกษาแบบเก็บรวบรวมข้อมูลให้เข้าใจซึ่งแบบเก็บข้อมูล  โดยการสัมภาษณ์ควรเป็นลักษณะแบบกึ่งมีโครงสร้าง
                            2.  ทีมปฏิบัติการรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูล ร่วมกันกำหนดกรอบการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลตามหัวข้อที่กำหนด  อย่างไรก็ตาม  คำถามของการสัมภาษณ์  เป็นเพียงแนวทาง / ตัวเชื่อม  เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการ  เป็นการช่วยให้ผู้สัมภาษณ์สร้างระบบในการพูดคุยในการสัมภาษณ์นั้นควรขึ้นต้นด้วยการพูดคุยถึงสภาพความเป็นอยู่  แล้วจึงนำเข้าสู่เรื่องที่ต้องการ ตามหัวข้อที่กำหนด  ด้วยบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นสำคัญ  ซึ่งจะทำให้การสัมภาษณ์เป็นไปตามธรรมชาติ  ปราศจากการรบกวน  และการสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ให้สัมภาษณ์
                                3.  เมื่อได้แนวคำถามเรียบร้อยแล้ว ให้ทีมปฏิบัติการรวบรวม และสังเคราะห์ข้อมูลเลือกคนใดคนหนึ่งเป็นผู้สัมภาษณ์  (ควรเป็นคนในชุมชน  /  หมู่บ้านนั้น)  ส่วนคนอื่นให้ทำหน้าที่จดบันทึกข้อมูลจากการสัมภาษณ์  ยกเว้นกรณี  ที่สัมภาษณ์แล้วได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนตามที่ตนเองรับผิดชอบให้คนในทีมถามเพิ่มเติมได้  แต่ต้องให้คนหนึ่งพูดคุยเสร็จสิ้นประเด็นนั้น  ๆ  ก่อนอย่าสอดแทรกถามขึ้นขณะที่ตัวแทนกลุ่มกำลังพูดคุยอยู่
 
หมายเลขบันทึก: 375718เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท