ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

การจัดทำแผนชุมชน 2


แผนชุมชน แผนแก้ปัญหาชุมชนที่แท้จริง
เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน (2)
ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง
ผู้อำนวยการสถานศึกษา (เชี่ยวชาญ) กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์
E-mail : [email protected]
*******************
ยุทธศาสตร์การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน      
การเรียนรู้แผนชุมชน  เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนในชุมชนได้มีความรู้  เกิดแนวคิด  และเกิดความภาคภูมิใจกับกิจกรรมที่ได้ร่วมกันคิด  ร่วมตัดสินใจ  ร่วมทำ  ร่วมรับประโยชน์  และร่วมตรวจสอบประเมินผล  ตามกระบวนการจัดทำแผนชุมชนนั้น  มียุทธศาสตร์ในการดำเนินการ 
1.  การเตรียมความเข้าใจต่อเป้าหมาย ของกระบวนการจัดทำแผนชุมชน
เป้าหมายในที่นี้  คือ  การทำให้ข้อมูลที่เก็บจากชุมชนมีความหมายถึงการจะทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาการได้เรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างรัฐ และชุมชน ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน  เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวทาง  ของการพัฒนาที่เริ่มจากฐานรากอย่างแท้จริง  ข้อมูลจริง  และกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงด้วย         วิธีการเตรียมความพร้อม  จะต้องใช้การประชุมสมาชิกทุกครัวเรือนในหมู่บ้านโดยมีผู้อำนวยความสะดวก  หรือผู้จัดการเวที  ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานราชการ  องค์กรเอกชน  ร่วมกับแกนนำในหมู่บ้าน  การจัดการประชุมไม่ใช่จัดประชุมให้ชาวบ้านมารับฟังข้อมูลแล้วก็แยกย้ายกันไปเท่านั้น  แต่ต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ     และเต็มที่  และมีส่วนร่วมในการที่จะตัดสินใจในฐานะสมาชิกของชุมชน  ในการจัดทำแผนชุมชน  เพื่อการพัฒนาชุมชนและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
2.  การเตรียมความพร้อมด้านการจัดการ  หรือเรียกว่า  การเตรียมความสามารถในการจัดการ  ซึ่งในการจัดการระดับชุมชน  จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย  3  ประการ  ดังนี้
       2.1  มีแกนนำชุมชนที่เข้มแข็ง  เพราะในแต่ละชุมชน/หมู่บ้าน  จะมีความแตกต่างกัน  การมีแกนนำที่อาจจะเป็นคณะกรรมการชุมชน/หมู่บ้านที่มีอยู่แล้ว  หรือรวมตัวกันขึ้นมาใหม่ที่ดี  จะช่วยสร้างศรัทธาและการร่วมแรงร่วมใจกันภายในชุมชน  สามารถจัดการและ แก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันได้  ตลอดจน  เป็นฐานในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอื่น ๆ  ของชุมชนได้ในอนาคต
       2.2  มีการรวมกลุ่มต่าง  ๆ ที่อยู่ภายในชุมชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเภทใด  ซึ่งจะสามารถทำให้เรามองเห็นศักยภาพของกลุ่มต่าง ๆ ที่เคยบริหารจัดการกลุ่มของตนเองมาแล้ว   เช่น  กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มแปรรูปผลผลิต  กลุ่มฌาปนกิจศพ  และกลุ่มสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ  เป็นต้น
        2.3  มีการกำหนดอนาคตของตนเองว่า  สมควรจะมีทิศทางไปทางไหน ชุมชนมีจุดเด่นหรือเป็นอยู่อย่างไร  ซึ่งหากชุมชนยังไม่รู้  ก็อาจเริ่มต้นจากการวิเคราะห์โอกาสกับอุปสรรคจากภายนอกชุมชน  และ  หาจุดแข็ง  จุดอ่อน  ของชุมชนก่อน  แล้วค่อยกำหนดอนาคตของชุมชน 
3.  การปรับแนวคิด  และกลไกของราชการให้เอื้อต่อชุมชน  กลไกราชการจะต้องขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางต่อการพัฒนาชุมชน  คือ  วิธีคิด  กฎหมาย  และกลไกให้เปลี่ยนจากการควบคุมมาเป็นการเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ชุมชนการดำเนินการกิจกรรมใด ๆ ในชุมชนไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะองค์กรแบบทางการ หรือองค์กรท้องถิ่นเท่านั้น  เพราะในความเป็นจริงชุมชนมีแกนนำกลุ่มต่าง ๆ อยู่มากมาย
                                ตัวอย่าง  ของการปรับแนวคิด และกลไกของราชการให้เอื้อต่อชุมชน  เช่น การจัดตั้งกลุ่มกิจกรรมทางสังคม  และกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่องค์กรทางการ  เช่น  กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์  กลุ่มนวดสมุนไพร  และอีกหลายกลุ่ม  ที่กลุ่มเหล่านี้ได้มีความสำเร็จด้านการบริหารจัดการ  และประสบการณ์มาในระดับหนึ่งแล้ว  ก็ถูกทางราชการมองว่าเป็นองค์กรเถื่อน  อีกกรณีหนึ่ง  เรื่องการแปรรูปอาหารโดยองค์กรชุมชน  ถูกมองว่าไม่ได้มาตรฐาน  อ.ย. ไม่รับรอง  ซึ่งทางราชการอาจต้องปรับเงื่อนไขลงมาสู่ระดับที่เป็นไปได้  และชุมชนสามารถดำเนินการได้  เช่น  อาจต้องมี  อ.ย. ชุมชน  (อ.ย.ช.)  เป็นมาตรฐานตามภูมิปัญญาชาวบ้าน  ในระดับที่ปลอดภัยต่อการใช้ และบริโภคได้  เป็นต้น
                                ที่สำคัญที่สุด  คือ  วิธีคิด  และกลไกราชการ  ต้องมีบทบาทเป็น  ผู้อำนวยความสะดวก  ผู้ให้ความช่วยเหลือ  ส่งเสริม  และสนับสนุน  แทนการสั่งการให้ชุมชนทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ราชการต้องการให้เป็น  ตลอดจน  ต้องให้ชุมชนได้มีอิสระในการคิด  มีส่วนร่วม  ตั้งแต่ต้น  และการตัดสินใจทุกกิจกรรมในฐานะสมาชิกของชุมชน
เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน
                เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน  โดยปกติจะใช้กิจกรรมกลุ่มเป็นการระดมความคิด  และมักใช้เทคนิคสำคัญ  คือ  การจัดเวทีชาวบ้าน  กล่าวคือ  ตามปกติวิถีชีวิตของคนในชุมชนจะมีการรวมกลุ่มพูดคุยกัน  หรือการรวมกลุ่มกัน เพื่อจัดทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว  เช่น  การทำงานอาชีพที่เหมือนกัน  การจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์  การประชุมเพื่อปรึกษาหารือ  การแจ้งข้อมูลข่าวสารทางราชการและข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ  ของผู้นำชุมชนอยู่แล้ว  เวทีชาวบ้านจึงเป็นการเสริมประเด็นการพูดคุยให้มีความชัดเจน  ลึกซึ้งมากกว่าการประชุม  หรือการพูดคุยโดยปกติทั่วไป  ไม่จำเป็นที่  ครู  /  วิทยากร  ต้องระดมคนมารวมกันเพื่อพูดคุยกันในแต่ละครั้ง  แต่พยายามใช้โอกาสที่ประชาชนรวมตัวกัน    
อยู่แล้วเป็นหลัก  เช่น  วันประชุมหมู่บ้านที่ผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งข้อมูลข่าวสารทางราชการแก่ชาวบ้าน  การประชุมจัดงานวัด  และการประชุมสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งการจัดเวทีชาวบ้าน 
มีวัตถุประสงค์  และขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม  ดังนี้
                 ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม 
                  ขั้นตอนที่  1  ขั้นการเตรียมการ   ครู  /  วิทยากร  เตรียมประเด็นการจัดเวทีให้ชัดเจน  รวมถึง  การตั้งคำถามเพื่อให้ได้ข้อมูลจากชาวบ้านให้ได้มากที่สุด  บางครั้งที่มีการจัดเวทีการพูดคุยซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง  ๆ   ครู  /  วิทยากร  ต้องเชิญผู้เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมด้วย  นอกจากนั้น  ในการทำประเด็นที่นำมาพูดคุยกับชาวบ้าน  ครู  /  วิทยากร  จำเป็นต้องพูดคุยกับ  ผู้ช่วยสนทนาบางคน โดยเฉพาะผู้นำกลุ่มก่อน  ทั้งในหัวข้อเรื่อง  วัตถุประสงค์ของการพูดคุย     เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อน  และอาจจะเป็นผู้ทำการสนทนาด้วยก็ได้
                ขั้นตอนที่  2  ขั้นการจัดเวทีชาวบ้าน  ในแต่ละครั้งควรมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งละ  10  คนขึ้นไป  โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นผู้สนใจ  หรือเกี่ยวข้องในเรื่องนั้น  ๆ  โดย  ครู  / วิทยากร  อาจจะเป็นผู้นำการเสวนา  หรือผู้นำกลุ่มเป็นผู้ดำเนินการก็ได้  ผู้นำการเสวนาต้องบอกวัตถุประสงค์ของการพูดคุยให้ผู้ร่วมเสวนารู้ก่อน  และเริ่มป้อนประเด็นการพูดคุยที่เตรียมไว้  และโยนประเด็นให้ผู้เกี่ยวข้อง  ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย  ครู  / วิทยากร  ต้องบันทึกข้อสรุป
จากการจัดเวทีของแต่ละครั้งไว้  การจัดเวทีชาวบ้านแต่ละครั้งไม่ควรเกิน  2  ชั่วโมง  เพราะจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้า  หรือหากระหว่างการทำเวทีชาวบ้านเกิดความขัดแย้ง  ผู้ดำเนินการควรหาวิธี    ที่เป็นทางออกในความคิดที่ขัดแย้งกันนั้นด้วยการให้เหตุผล  หรือสร้างบรรยากาศให้คลี่คลายลงก่อนจบการสนทนา  ซึ่งในแต่ละเรื่องที่จัดอาจทำเวทีชาวบ้านได้มากกว่า  1  ครั้งก็ได้ 
                ขั้นตอนที่  3 การวิเคราะห์ปัญหา และการกำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหา เมื่อประเด็นชัดเจนแล้วว่าปัญหาเกิดจากอะไร  และมีทางเลือกกี่ทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหา  ผู้ดำเนินการต้องกระตุ้นให้ผู้ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นในการวิเคราะห์ข้อดี  ข้อเสียแก่ทางเลือก  ก่อนการตัดสินใจ  โดยเฉพาะการเลือกทางเลือกความเป็นไปได้ที่ชุมชนสามารถจัดการได้เองหรืออาจใช้หลาย  ๆ  ทางเลือกประกอบกันก็ได้
                ขั้นตอนที่  4 ขั้นการวางแผนการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องที่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติต่อเนื่องจากข้อสรุปจากการจัดเวทีชาวบ้าน  ที่มีการได้ตัดสินเลือกทางเลือกต่าง  ๆ  แล้วและนำทางเลือกนั้นมากำหนดแผนการทำงาน  และการมอบหมายงานให้สมาชิกลงมือปฏิบัติจริง หากเป็นไปได้อาจจะมีการกำหนด วิธีการ  ระยะเวลาของการติดตาม  และรายงานความก้าวหน้าของการทำงานด้วย  สำหรับ  ครู / วิทยากร  ก็สามารถนำข้อสรุปจากเวทีชาวบ้านนำมาจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง  ๆ  ของชุมชนได้
                สำหรับ  เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน  อาจต้องใช้รูปแบบของการจัดเวทีที่ต้องใช้กระบวนการเรียนรู้แบบการมีส่วนร่วม  กระบวนการกลุ่ม  อาจต้องใช้การจัดเวทีชาวบ้านและการสัมภาษณ์รายครัวเรือนเสริม  เพื่อความครบถ้วนของข้อมูล  และความไม่เป็นทางการ     มากนัก  สำหรับการค้นหาข้อมูลที่ต้องใช้ความไว้วางใจ  เช่น  ข้อมูลเรื่องรายได้  ข้อมูลเรื่องรายจ่าย  และข้อมูลเรื่องหนี้สิน  เป็นต้น  
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชน  เป็นกิจกรรมที่การสร้างความรู้จากประสบการณ์เดิม ของสมาชิกชุมชนที่เข้ากระบวนการกลุ่ม  โดยใช้กระบวนการกลุ่ม  (Group  process) มากกกว่าการถ่ายทอดความรู้โดยการบรรยาย  ซึ่งกระบวนการกลุ่มนี้  เรียกว่า  “ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ”  โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  นอกจากนั้น  ในขณะจัดกระบวนการกลุ่มสมาชิกในกลุ่ม  ในชุมชนก็จะได้เรียนรู้ถึงการทำงานเป็นทีม  บทบาทของผู้นำ  และผู้ตาม  การเป็นสมาชิกที่ดี  การทำงานโดยมีเป้าหมาย  การควบคุมตนเอง  และการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น  เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนชุมชนในที่นี้   ได้สรุปตามกระบวนการเรียนรู้แผนชุมชน  ของสำนักงานกองทุนเพื่อสังคม (Social  Investment  Fund  :  SIF)  และกระบวนการเรียนรู้แผนชุมชนบ้านหนองกลางดง  หมู่ที่  7  ตำบลศิลาลอย  กิ่งอำเภอสามร้อยยอด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  จากประสบการณ์จริงที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ร่วมปฏิบัติงานกับชาวบ้าน  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 – 2546  ในฐานะคณะกรรมการระดับภาค  ของสำนักงานกองทุนเพื่อสังคมภาคตะวันตก  และระหว่างปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมาได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของผู้ประสานงานประชารัฐจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  วิทยากรกระบวนการระดับจังหวัด  และผู้บริหารสถานศึกษา 
 
หมายเลขบันทึก: 375710เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท