องค์กรชุมชนกับการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนกรณีศึกษา : บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกาและบ้านดอนคา ตำบลทอนหงส์อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช


องค์กรชุมชนกับการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ
รายงานการวิจัย
องค์กรชุมชนกับการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ 
เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนกรณีศึกษา : บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา
และบ้านดอนคา  ตำบลทอนหงส์อำเภอพรหมคีรี  จังหวัดนครศรีธรรมราช
                                                                                                                                           อุดมศักดิ์ เดโชชัย และคณะ
 
บทคัดย่อ
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของความคิดในการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนร่วมกัน การใช้รูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ พร้อมทั้งผลการดำเนินงานขององค์กรชุมชนตามรูปแบบและวิธีการดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 2  กรณีศึกษาคือ ชุมชนบ้านคีรีวง และชุมชนบ้านดอนคา
                    ผลจากกการศึกษาพบว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของความคิดในการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนร่วมกันเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ 2  ประการด้วยกันคือ (1) ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในชุมชน เช่น ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ปัญหาหนี้สิน ทรัพยากรธรรมชาติ และแกนนำชุมชน เป็นต้น (2) ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอกชุมชน เช่น รูปธรรมความสำเร็จจากชุมชนอื่น การสนับสนุนแนะนำจากหน่วยงานภายนอก เป็นต้น สำหรับการใช้รูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการนั้นพบว่า ทั้ง 2  ชุมชน ได้ยกระดับกลุ่มออมทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินของชุมชนที่คอยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับกลุ่มองค์กรชุมชนที่เกิดใหม่ ผลการดำเนินงานดังกล่าวนอกจากเชื่อมโยงให้เกิดองค์กรชุมชนที่มีลักษณะหลากหลายแล้ว ยังทำให้เกิดการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการและครบวงจร จนเกิดกลไกการดูแลกันอย่างเชื่อมโยงตามหน่วยย่อยต่าง ๆ ของสังคม
                    สรุปได้ว่า รูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการทุนของทั้ง 2 ชุมชน เป็นผลการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างบูรณาการและครบวงจร จนเป็นกลไกสำคัญในการดูแลกันอย่างเชื่อมโยงซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนได้
 
คำนำ
                        การพัฒนาประเทศของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยคาดว่าผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจนี้จะทำให้แก้ไขปัญหาความยากจนและการว่างงานได้ แต่ปรากฏว่า ผลจากการพัฒนาดังกล่าวนอกจากจะทำให้คนยากจนไม่สามารถเลี้ยงชีวิตและตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนได้แล้วยังส่งผลให้เกิดสภาพความความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นในชุมชนทั้งภาคชนบทและภาคเมืองอันเป็นบาดแผลและภาพอัปลักษณ์อีกด้านหนึ่งของสังคมที่มีทิศทางมุ่งไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรในการผลิตเพื่อส่งออกและทดแทนการนำเข้าอันเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศระยะหนึ่ง การใช้ทรัพยากรของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แม่น้ำ ป่าไม้ และแร่ธาตุอย่างไม่ระมัดระวัง มีความสัมพันธ์กับความต้องการ มูลค่าส่วนเกินของการผลิตเพื่อนำมาใช้กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (กชกร ชิณะวงศ์และเกศสุดา สิทธิสันติกุล, 2546 : 4)
                    ตามรายงานการพัฒนาประจำปีของธนาคารโลกระบุว่า หนึ่งในสามของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา 1,116 ล้านคน ยังคงยากจนในช่วงกลางทศวรรษ 1980 และวัดตามเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ 275 เหรียญสหรัฐต่อปี พบว่า ประชากรจำนวน 680 ล้าน หรือ 18% ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนายังคงอยู่ภายใต้เส้นความยากจนที่สุดนี้ (Bernstein et al.,1992. อ้างใน นันทิยา และ ณรงค์ หุตานุวัตร,2546 : 11) สำหรับประเทศไทยนั้นรัฐบาลได้มีแนวนโยบายที่จะขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไป ซึ่งหากพิจารณาจากนโยบายของรัฐตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)  ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งเพื่อสร้างศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้คนจากจนสามารถก่อร่างสร้างตัวและพึ่งตนเองได้มากขึ้นโดยการส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง  ผ่านกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดการร่วมกันคิดร่วมกันทำ  ร่วมแก้ไขปัญหาของตน  ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและเพิ่มรายได้ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างครบวงจร  สนับสนุนการรวมกลุ่มอาชีพใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น  และเทคโนโลยีที่เหมาะสม  สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเชื่อมโยงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ (กรรณิกา สุขเกษมและสุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์,2548 : 12)  อีกทั้งการจัดทำ Roadmap และแผนปฏิบัติการเพื่อต่อสู้เอาชนะความยากจนโดยศูนย์ประสานสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ภาคประชาชน (ศตจ.ปชช.)ว่า “ภายในปี 2551 คนจนและชุมชน มีพลัง ความสามารถจัดการปัญหา และพัฒนาอย่างสอดคล้องกับวิถีชุมชนท้องถิ่นตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีบทบาทสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เข้าถึงบริการของรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ประชาชนที่จดทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจนทั้งหมดได้รับการแก้ไขปัญหา คนจนได้รับการพัฒนาศักยภาพที่ดีขึ้น และคนจนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐอย่างทั่วถึง” (ศตจ.ปชช. อ้างใน http://www.vijai.org) จะมีรูปแบบและวิธีการที่ยังไม่ชัดเจนนัก แต่แนวคิดที่ว่าด้วย “องค์กรชุมชน”จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เป็นผลพวงของการพัฒนาที่ผิดพลาดนั้น  ได้ขยายออกไปในหลายกลุ่ม ทั้งหมู่ชาวบ้าน นักการศึกษา นักวิชาการรวมทั้งภาครัฐ ดังประจักษ์พยานที่ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (กาญจนา แก้วเทพ, 2540 : 13-14) ซึ่งการรวมกลุ่มของเกษตรกรหรือการรวมกลุ่มของคนจนผู้ด้อยโอกาสเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ถือเป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เกษตรกร คนยากคนจน ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ อีกทั้งยังทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อันเป็นการเพิ่มพลังทางปัญญาและรวมปัญญาในการจัดการกับปัญหาของตน และริเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมที่ยังประโยชน์ซึ่งชุมชนสามารถทำได้เช่น ปั๊มน้ำมันหมู่บ้าน สมุนไพร หัตถกรรม อุตสาหกรรมในครัวเรือนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น(ประเวศ วะสี, อ้างใน วอลเดล เบลโล และคณะ, 2543 : 365-366)  การรวมกลุ่มสามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งในระดับปฏิบัติและระดับนโยบายของประเทศ และในท้ายที่สุด การรวมกลุ่มเอื้อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนอันเป็นเป้าหมายของการพัฒนา
             จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า องค์กรชุมชนกับการบริหารจัดการทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดเปลี่ยนสำคัญในการบริหารจัดการทุน วิธีการหรือรูปแบบ ในการจัดการ “ทุน” ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ทุนในความหมายกว้างที่ครอบคลุมทุนทางธรรมชาติ คือทรัพยากรต่างๆ ทุนทางเศรษฐกิจ คือทุนที่ชุมชนสร้างขึ้น ผลิตได้ สะสมไว้ ทุนทางสังคม คือทุนที่เป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ จารีต ประเพณี ที่ร้อยรัดผู้คนให้อยู่ร่วมกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นพี่น้องกัน ทุนทางวัฒนธรรม คือความรู้ภูมิปัญญาอันมาพร้อมกับวิถีชีวิตของผู้คนและแสดงออกทางการดำเนินชีวิต การกิน การอยู่ การทำงาน การจัดการชีวิตของตนเองและชุมชน (เสรี พงศ์พิศ, 2547 : 27) และอีกทั้งยังรวมถึงสามารถจัดการ “ทุน” จากภายนอกซึ่งได้รับการสนับจากหน่วยงานรัฐหรือจากองค์กรต่างๆ อีกด้วย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และชุมชนจะต้องไม่เป็นผ่ายแบมือขอ หรือเป็นผ่ายถูกสงค์เคราะห์ตลอดไป หากแต่ชุมชนจะต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีศักยภาพในแก้ปัญหาด้วยตนเอง
                ด้วยเหตุนี้จึงเลือกองค์กรชุมชนบ้านคีรีวงและบ้านทอนหงส์ เป็นกรณีศึกษาเนื่องจากเป็นองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและมีความเข้มแข็ง อีกทั้งมีการดำเนินกิจกรรมหลากหลายต่อเนื่อง ครอบคลุมทุนด้านต่างๆ ของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในการบริหารจัดการทุน วิธีการหรือรูปแบบในการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการนั้นยังไม่ได้รับการศึกษาออกเผยแพร่ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการศึกษาองค์ความรู้ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับองค์กรชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ สืบไป
 
วิธีการดำเนินการ
                การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งจะแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ลักษณะคือ
                1.  การศึกษาจากเอกสาร (Documentary Research) โดยศึกษาจากเอกสารทางวิชาการ ผลงานวิจัย บทความ วิทยานิพนธ์ และเอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นขององค์กรชุมชนที่ได้เก็บรวบรวมไว้
                2.  การศึกษาข้อมูลภาคสนาม  (Field Research) การศึกษาองค์กรชุมชนกับการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยทำการศึกษาประวัติและกระบวนการที่สำคัญอันทำให้เกิดขบวนการกลุ่มอันเป็นจุดสำคัญซึ่งนำไปสู่การบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับกลุ่มเครือข่ายและมวลสมาชิกในชุมชน โดยการรวบรวมทัศนะของกลุ่มประชากรกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งในที่นี้ได้แก่ คณะกรรมการ มวลสมาชิกของกลุ่มองค์กร และคนในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยใช้กระบวนการในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้
                        2.1 การสัมภาษณ์ (Interview) ใช้ประชากรกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องจากบ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา และบ้านดอนคา  ตำบลทอนหงส์  อำเภอพรหมคีรี  จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 20 กลุ่มทั้งผู้ที่เป็นคณะกรรมการ และสมาชิกขององค์กร โดยใช้แนวคำถาม (Interview Guide) แบบกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (Deep Interview)  และจัดสนทนากลุ่มตัวแทนองค์กรชุมชน    (Fogus  Group)วิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูล ด้วยการจัดเวทีประชาคม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลในเชิงลึกและมีความชัดเจนตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้
                        2.2 ใช้กระบวนการสังเกตแบบมีส่วนร่วม(Participant Observation Process) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ทีมผู้ศึกษาได้ลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างของกลุ่มองค์กร เช่น การประชุมของคณะกรรมการกล่ม การประชุมสมาชิก การกู้เงิน และการฝากเงินของสมาชิก เพื่อศึกษารูปแบบ และวิธีการในการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ ของกลุ่มองค์กรชุมชนดังกล่าว
 
ผลการดำเนินงาน
                จุดเปลี่ยนสำคัญของความคิดในการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนร่วมกัน
                จากการศึกษา จุดเปลี่ยนสำคัญของความคิดในการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนร่วมกันของบ้านคีรีวงและดอนคา  พบว่า มีสภาพปัจจัยที่ลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยแยกให้เห็นแต่ละพื้นที่ดังนี้
                1.  จุดเปลี่ยนสำคัญของความคิดในการจัดตั้งกลุ่มของบ้านคีรีวงซึ่งเริ่มจากวิธีคิดเรื่องความอิสระ  จากไพร่ทาส  อันนำไปสู่มูลเหตุจงใจสำคัญของความคิดในการพึ่งพาตนเอง  ผนวกกับการประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติ  จึงทำให้ต้องมองหาทุนทางสังคมตนเองที่มีอยู่เดิมและทุนต่าง ๆ  ที่ได้รับจากหน่วยงานภายนอก  ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ตามหลักการของทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่  (structure  and  function theory)   บนพื้นฐานของหลักการที่ว่า  การอยู่ร่วมกันท่ามกลางสภาพปัญหาอุปสรรค  จำเป็นต้องฝ่ากลไกสำคัญเพื่อปรับความสมดุลให้เกิดขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข 
                2.  จุดเปลี่ยนสำคัญของความคิดในการจัดตั้งกลุ่มบ้านดอนคา  ซึ่งเกิดจากรูปธรรมความสำเร็จจากพื้นที่อื่น ๆ  จึงเกิดผู้นำธรรมชาติที่พร้อมจะนำการเปลี่ยนแปลงโดยริเริ่มมองศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชน  ซึ่งหากพิจารณาตามทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่บนพื้นฐานหลักการที่ว่าองค์ประกอบของสังคมแต่ละส่วนจะทำประโยชน์ซึ่งกันและกัน  และร่วมกันอย่างเกื้อกูล  จึงนำไปสู่แนวคิดของการใช้พลังของกลุ่มองค์กรเพื่อการสร้างจุดร่วมที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข  และให้กลไกย่อย ๆ  ของสังคมสามารถขับเคลื่อนได้ 
                        อย่างไรก็ตาม  จุดเปลี่ยนสำคัญของความคิดในการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนร่วมกันของทั้ง 2  พื้นที่ พอที่จะสรุปผลการวิจัยได้ว่า เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ 2  ประการด้วยกันคือ
        1)  ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในชุมชน เช่น ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ปัญหาหนี้สิน ทรัพยากรธรรมชาติ และแกนนำชุมชน เป็นต้น
                        2)  ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอกชุมชน เช่น รูปธรรมความสำเร็จจากชุมชนอื่น การสนับสนุนแนะนำจากหน่วยงานภายนอก เป็นต้น
 
รูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ
                การศึกษามีรูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการแบบบูรณาการ แต่ละพื้นที่จะมีรูปแบบและ วิธีการที่แตกต่างกันออกไป ตามลักษณะบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อแจงให้เห็นผลของการศึกษาดังกล่าว สามารถแยกให้เห็นสภาพของแต่ละพื้นที่ดังนี้
                1.  รูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการทุนบ้านคีรีวงจากการพิจารณาหาข้อมูลของพื้นที่ศึกษาบ้านคีรีวง  พบว่า  มีการใช้องค์กรชุมชนหรือกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง  เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนากลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ  ซึ่งเกิดขึ้นหลายรูปแบบและวิธีการ  อาทิเช่น  การประสนผู้อาวุโส  วิธีการแยกทุนภายนอกในภายนอก  การสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นทดแทน  ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวคิดและหลักการขององค์กรชุมชน  บนหลักคิดที่ว่าการใช้กลุ่มเป็นกลไก   หรือเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ  หรือครบวงจร
                อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาตามหลักการของทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่  (structure  and  function theory)   การบูรณาการหน่วยย่อยต่าง ๆ  ของสังคมเพื่อการทำงานที่เกื้อกูล  เช่น  การแยกระบบทุนภายใน  ทุนภายนอก  การใช้กลุ่มเป็นกลไกขับเคลื่อนกิจกรรมชุมชนการประสานทุกฝ่ายเพื่อการทำงานร่วมกันและการเปิดโอกาสให้กับสมาชิก  หรือคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหารจัดการกลุ่มเป็นต้น         
                2.  รูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการทุนบ้านดอนคาจากการพิจารณาข้อมูลชุมชนบ้านดอนคาพบว่าทางแกนนำเป็นผู้ริเริ่มและมีความมุ่งมั่นในการริเริ่มก่อตั้งกลุ่มและขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้กรอบเงื่อนไขของหลักคุณธรรม  จริยธรรม  โดยใช้องค์กรชุมชนหรือกลุ่มเป็นกลไกหรือเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน  ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแกนนำ  สมาชิกและเครือข่าย  จึงวิเคราะห์ได้ว่ามีความสอดคล้องกับแนวคิดหลักการของการใช้กลุ่มหรือองค์กรชุมชน  ตัวเชื่อมประสานที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ของชุมชน  และเมื่อนำมาวิเคราะห์กับทฤษฎี  โครงสร้างหน้าที่  (structure  and  function theory)  บนหลักการที่ว่า  ทุกสังคมจะมีความมั่นคงหากสมาชิกในสังคมมีความเป็นอยู่ที่สอดคล้องและเข้าใจกัน  จึงทำให้วิเคราะห์ได้ว่า  รูปแบบและวิธีการบริหารจัดการทุนของบ้านดอนคา  มีการบูรณาการเกื้อกูล  และอยู่บนกรอบของคุณธรรม  จริยธรรม กับหน่วยย่อยต่าง ๆ  ของสังคมทุกระดับ 
                        อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้รูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการนั้นกล่าวได้ว่า ทั้ง 2  ชุมชน ได้ยกระดับกลุ่มออมทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินของชุมชนที่คอยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับกลุ่มองค์กรชุมชนที่เกิดใหม่ ผลการดำเนินงานดังกล่าวนอกจากเชื่อมโยงให้เกิดองค์กรชุมชนที่มีลักษณะหลากหลายแล้ว ยังทำให้เกิดการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการและครบวงจร จนเกิดกลไกการดูแลกันอย่างเชื่อมโยงตามหน่วยย่อยต่างๆ ของสังคม จึงพอที่จะสรุปได้ว่า รูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการทุนของทั้ง 2 ชุมชน เป็นผลการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างบูรณาการและครบวงจร จนเป็นกลไกสำคัญในการดูแลกันอย่างเชื่อมโยงซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนได้
 
ข้อเสนอแนะ
                        จากการศึกษาวิจัยเรื่อง องค์กรชุมชนกับการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน กรณีศึกษาบ้านคีรีวงและบ้านดอนคา ดังกล่าวข้างต้น จึงมีข้อเสนอบางประการเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างองค์กรชุมชนเครือข่าย ที่มีการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ ครบวงจรชีวิตซึ่งจะทำให้เกิดกลไกสำคัญในการดูแลกันอย่างเชื่อมโยง พร้อมทั้งแนวทางในการศึกษาวิจัยต่อไป ดังนี้
                1.  ข้อเสนอแนะต่อภาคชุมชน
                1.1  ภาคชุมชนควรจัดรูปแบบองค์กรชุมชนที่มีกระบวนก่อเกิดมาจากสภาพความต้องการหรือสภาพปัญหาของชุมชนอันจะทำให้ผลตอบสนองได้ตรงจุด ต่อความต้องการมวลสมาชิก สร้างอัตลักษ์และจุดเด่นที่มีความอิสระ มีจุดยืนที่เป็นของภาคชุมชนอย่างชัดเจน จนสามารถสร้างกระบวนการต่อรองกับหน่วยงานภายนอกและระดับนโยบาย
                1.2  การจัดรูปแบบองค์กรชุมชนของภาคชุมชน แม้มีรูปแบบและวิธีการบริหารจัดการทุนอย่างบูรณาการครบวงจรกิจกรรม จนกล่าวได้ว่าสามารถบรรเทา หรือแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ดังนั้น ภาคชุมชนควรมีการขยายผลดังกล่าวให้มากขึ้นเพื่อครอบคลุมกับบรรดาสมาชิกทุกคนในชุมชน
                2.  ข้อเสนอแนะต่อภาคีพัฒนา
                2.1 การสนับสนุนของภาคีพัฒนา ทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีการยืดหยุ่นในแนวทางการให้การสนับสนุนงานภาคประชาชนที่ไม่ยึดเอางบประมาณเป็นตัวตั้ง แต่ควรดำเนินงานโดยยึดพื้นที่ หรือชุมชนเป็นตัวตั้ง ในการสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการสนับสนุนงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                2.2 รัฐบาลควรมีแนวนโยบายที่ชัดเจน ในการใช้องค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานโดยภาคชุมชนเพื่อให้เกิดกระบวนการดูแลกันอย่างเชื่อมโยง ในระดับหน่วยย่อยต่าง ๆ ของสังคมอันนำไปสู่การ แก้ไขปัญหาความยากจนโดยภาคประชาชน
                3.  ข้อเสนอแนะแนวทางในการวิจัย
                        3.1  บทบาทขององค์กรชุมชนในการสร้างความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมือง
                        3.2  บทบาทองค์กรชุมชนกับการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น
                        3.3  องค์กรชุมชนกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทชุมชน
 
 
บรรณานุกรม
           
กชกร  ชินะวงศ์ และเกศสุดา  สิทธิสันติกุล.   
      (2546).  กระบวนการสู่ความเป็นไท  ปลด
      พันธนาการ“หนี้สิน”  ในแบบฉบับบ้านสาม
      ขา.  กรุงเทพฯ  :  สำนักงานกองทุน
      สนับสนุนการวิจัย.
กรรณิการ์  สุขเกษม และสุชาติ  ประสิทธิ์รัฐ
       สินธุ์.  (2548).  โครงการวิจัยกระบวนการ
       เครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนในการพึ่งตนเอง. 
       กรุงเทพฯ  :  ศูนย์บริการวิชาการ  สถาบัน
       บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
กาญจนา  แก้วเทพ. (2540).  องค์กรชุมชน กลไก
       เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม.ขอนแก่น 
       : สถาบันวิจัยและพัฒนา
       มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
 นันทิยา  หุตานุวัตร  และ ณรงค์  หุตานุวัตร.
      (2546).  การพัฒนาองค์กรชุมชน.
      อุบลราชธานี  :  คณะเกษตรศาสตร์
     มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
วอลเดน, เบลโล  เชียร์, คันนิงแฮม และลี เค็ง,
      ปอห์. (2543).  แปลโดย  สุรนุช ธงศิลา. โศก
      นาฎกรรมสยาม :  การพัฒนาและการแตก
      สลายของสังคมไทยสมัยใหม่.  กรุงเทพฯ  :
      มูลนิธิโกมลคีมทอง.
เสรี  พงศ์พิศ. (2548).  การเรียนรู้สู่การทำ
      แผนงานและสร้างเครือข่ายเพื่อเสริมสร้าง
      ความเข้มแข็งให้กับชุมชน : แผนแม่บท
      ชุมชนสู่วิสาหกิจชุมชน.  กรุงเทพฯ: 
      สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และ
      เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระ
      จอมเกล้าธนบุรี.
 
หมายเลขบันทึก: 374750เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2010 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

ขอเอาความรู้อาจารย์ไปทำข้อสอบ นะครับ

               ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท