ทำไงดี หากมีอาการแทรกซ้อนระหว่างฉายแสงที่ศีรษะและคอ ?


          เมื่อวาน (12 ก.ค. 53) หนึ่ง น้องป๋อง และหมอตุ้ม (ทันตแพทย์) ทำ group counselling ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอค่ะ วันนี้คิวน้องป๋องเป็น leader หนึ่งเป็น co-leader และหมอตุ้ม มาร่วมแจมด้วย เป็น observer ค่ะ รวบรวมผู้ป่วยที่พอจะมาเข้ากลุ่มไหวได้ 10 ราย และญาติผู้ป่วยขอเข้าร่วมด้วยอีกหลายรายค่ะ สถานที่ครั้งนี้หนึ่งไม่ได้ใช้ห้องให้คำปรึกษาที่แผนกแล้วค่ะ เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ ห้องเราเล็กไปหน่อย เลยออกมาทำกลุ่มกันที่ลานหน้าตึกสามัญชาย
การทำกลุ่มครั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมกลุ่มมีทั้งหญิงและชาย เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างฉายรังสีทั้งหมดค่ะ
ได้อะไรจากการทำกลุ่มครั้งนี้
1.ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการความกลัว วิตกกังวล และอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างฉายรังสี ดังนี้
ความกลัวและกังวล
         ผู้ป่วยรายนึงบอกว่ารู้สึกกลัวเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็ง และทั้งกลัวทั้งกังวลเมื่อทราบว่าต้องมาฉายแสง
         แต่ผู้ป่วยลดความกลัวและกังวลได้โดย
         "วันที่มาหาหมอ ก็สอบถามจากคุณหมอ คุณหมอเล่าให้ฟัง เลยรู้ว่าการฉายแสงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด" ผู้ป่วยรายนึงบอกเพื่อนๆในกลุ่ม
(อธิบายรายละเอียดนิดนึงค่ะ โรคมะเร็งเป็นโรคที่รุนแรงในความรู้สึกของทุกคน ทำให้เมื่อผลการตรวจออกมาว่าเป็นมะเร็ง ย่อมเกิดความรู้สึกกลัวกับผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่ การรักษาด้วยการฉายแสง เป็นวิธีการรักษาที่ผู้ป่วยและญาติอาจไม่คุ้นเคย อะไรที่ไม่รู้จักไม่คุ้นเคย ก็จะก่อให้เกิดความกังวล อาจนึกไปไกล ล่วงหน้าได้ค่ะ การขจัดความกลัวและความกังวล สามารถทำได้หลายวิธี วิธีนึงที่ง่ายและแก้ไขได้ตรงสาเหตุที่สุด คือการหาข้อมูลสิ่งที่เราไม่รู้ เช่นการสอบถามจากผู้รู้ ผู้เคยมีประสบการณ์มาก่อน(กรณีนี้ต้องระวัง สำหรับผู้มีประสบการณ์มาก่อน เพราะหากได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี อาจทำให้ผู้ป่วยยิ่งกลัวได้) การหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ เป็นต้น)
อาการแทรกซ้อนที่เกิดกับผู้ป่วย จากการทำกลุ่มพอสรุปได้ดังนี้ค่ะ
อาการเจ็บปากเจ็บคอ มีแผลในปาก ลิ้น (เยื่อบุช่องปากอักเสบ หรือ oral mucositis)
          ผู้ป่วยรายนึงรีบบอกว่าเจ็บปากเจ็บคอจนแทบกินน้ำไม่ได้ อาการนี้ผู้ป่วยยกมือสนับสนุนทุกรายเลยค่ะ แสดงว่าเกิดขึ้นกับทุกคนที่ฉายรังสีบริเวณศีรษะและคอ คราวนี้ลองมาฟังวิธีการจัดการอาการเจ็บปากเจ็บคอของผู้ป่วยกันดูนะคะ
          "อมน้ำยาบ้วนปาก บ้วนปาก"
          "ดื่มน้ำ จิบน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะตอนกินข้าว"
         "กินอาหารอ่อน,เหลว งดอาหารรสจัด งดอาหารร้อนจัด" (ข้อนี้ผู้ป่วยบอกว่า กินไม่ได้เลย)
  

 

อาหารร้อนจัด รสจัด ควรงด
         "เปลี่ยนแปรงสีฟัน ใช้แปรงสีฟันของเด็ก ขนแปรงจะนุ่มกว่า ยาสีฟันใช้ของเด็ก รสผลไม้ ไม่เย็นซ่า"
          "บอกพยาบาล,หมอ"
อาการปากแห้ง (xerostomia)
          "จิบน้ำบ่อยๆ"
          "กินไอติม"
(ได้ผลดีทีเดียวค่ะ ผู้ป่วยรายนึงคอนเฟิร์ม พยาบาลเสริมนิดนึงคือ หลังจากกินไอติมแล้วให้ดื่มน้ำตามเยอะๆ หรือทำความสะอาดช่องปากด้วย เพราะภาวะปากแห้ง น้ำลายแห้ง ภายในช่องปากจะมีภาวะเป็นกรด ค่า pH จะลดลง หากดูแลความสะอาดไม่ดี น้ำตาลในอาหาร หรือไอติมที่กินเข้าไปก็จะเป็นอาหารของเชื้อโรคต่างๆ ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อขึนในช่องปากได้ หรือหากยังมีฟันอยู่ อาจทำให้เกิดฟันผุได้ อีกอย่างคือในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานก็ต้องระวังน้ำตาลด้วยค่ะ)
อาการไม่รู้รสของอาหาร
          "ต้องพยายามกิน ถึงไม่แซ่บก็ต้องกิน จะได้มีแรง" เป็นคำพูดของผู้ป่วยรายนึงในกลุ่ม
อาการไอ
(เกิดจากเยื่อบุในหลอดลม ทางเดินหายใจส่วนที่อยู่ในบริเวณฉายรังสี ระคายเคือง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอได้)
          "จิบน้ำบ่อยๆ" (เป็นวิธีที่แก้ไขอาการไอได้บ้างค่ะ)
อาการคันบริเวณผิวหนังที่ฉายแสง
(อาการนี้เกิดได้ในระยะฉายรังสีค่ะ รังสีจะไประคายเคืองบริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวหนังสีเข้มขึ้น แห้ง และอาจลอกเป็นขุย มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังตามปริมาณรังสีที่ได้รับค่ะ พยายาลรังสีจะแนะนำผู้ป่วยตั้งแต่วันเริ่มแสง เกี่ยวกับการดูแลผิวหนังบริเวณฉายรังสี ว่าดูแลเส้นห้ามลบจนกว่าจะครบแสง ผิวหนังบริเวณฉายแสงดูแลให้แห้งอยู่เสมอ โดยหากเหงื่อออกมาก หรือโดนน้ำให้ซับด้วยผ้าขนหนูนุ่มๆ ซับเบาๆ ห้ามเช็ดถูแรงๆ (ป้องกันการเกิดแผล) ห้ามทาแป้ง ครีม หรือโลชั่นใดๆยกเว้นแพทย์สั่ง(เพราะในแป้งหรือครีมบางชนิดจะมีโลหะหนักโมเลกุลเล็กๆปนอยู่ด้วย หากทาบริเวณฉายแสงจะทำให้เกิดการสะท้อนของรังสี ไม่สามารถควบคุมปริมาณรังสีได้ตามที่วางแผนไว้) ห้ามประคบกระเป๋าน้ำร้อน และห้ามโดนแสงแดดโดยตรง(เพื่อป้องกันการเพิ่มอุณหภูมิที่ผิวหนังบริเวณฉายรังสีโดยไม่จำเป็น) ประมาณนี้ค่ะ)
          "คันตรงไหนก็ใช้นิ้วมือแตะตรงนั้นครับ" ผู้ป่วยรายนึงบอกวิธีแก้ไขอาการคันให้สมาชิกในกลุ่มฟัง
สาเหตุที่ผู้ป่วยไม่เกาบริเวณที่คันเพราะพยาบาลได้แนะนำไว้ตั้งแต่วันแรกที่มาฉายรังสีค่ะ ผู้ป่วยตอบแบบนี้พยาบาลได้ฟังรู้สึกดีใจจัง ^^ และวิธีการที่ผู้ป่วยบอกนั้น สามารถลดอาการคันได้จริงๆด้วยค่ะ มีผู้ป่วยอีกรายบอกว่าใช้วิธีการเดียวกัน แต่จะไม่ใช้ปลายนิ้วแตะบริเวณที่คันค่ะ ผู้ป่วยรายนี้ใช้ข้อนิ้วแตะ มีเหตุผลที่ดีมากๆว่า หากใช้ปลายนิ้วแตะหากเราไม่ได้ตัดเล็บ เล็บอาจไปขูดขีดบริเวณที่ฉายแสงได้ ยอดเยี่ยมไปเลยค่ะ ^^
อาการอ้าปากได้น้อย (trismus)
เลิกงานแล้ว เดี๋ยวถึงบ้านและจะมาเขียนต่อค่ะ ^^
มาแล้วค่ะ ต่อเลยนะคะ
อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งอยู่บริเวณข้อต่อขากรรไกร หรือตัวก้อนมะเร็งขนาดโตมากๆ ก็ทำให้ผู้ป่วยขยับขากรรไกรได้น้อย กรณีนี้จะมีภาวะอ้าปากได้น้อยกว่าปกติตั้งแต่ก่อนฉายรังสีเลยค่ะ (ปกติคนเราจะอ้าปากได้กว้างประมาณ 4-5cm ถ้าน้อยกว่านี้ถือว่าเป็นภาวะ trismus) ส่วนเมื่อมาฉายรังสีก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้เช่นกันค่ะ เกิดจากการเกิดพังผืดยึดดึงรั้งบริเวณข้อต่อ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมาฉายรังสีบริเวณศีรษะและคอ พยาบาลจะแนะนำให้ผู้ป่วยบริหารช่องปาก ตั้งแต่วันที่เริ่มฉายรังสีวันแรกเลยค่ะ เพื่อป้องกันภาวะนี้
          "บริหารช่องปากแบบนี้ค่ะคุณหมอ" ผู้ป่วยทำท่าบริหารช่องปากให้ดู และผู้ป่วยทุกคนลองทำพร้อมๆกันไปด้วยค่ะ ในวันนี้มีผู้ป่วยที่มีการอ้าปากได้น้อย 1 ราย เกิดอาการนี้ตั้งแต่ก่อนรับการฉายรังสีค่ะ ส่วนผู้ป่วยรายอื่นๆสามารถบริหารช่องปากได้ดี และอ้าปากได้กว้างตามเกณฑ์ปกติค่ะ
 2. พยาบาล ทันตแพทย์ และผู้ป่วยได้มีกิจกรรมร่วมกัน สร้างสัมพันธภาพระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย และญาติ ผู้ป่วยบอกว่า ชอบกิจกรรมแบบนี้ เพราะปกติแล้วผู้ป่วยไม่ค่อยกล้าที่จะเดินเข้าไปถาม หรือเมื่อมีอาการก็ไม่ค่อยกล้าที่จะบอก แต่เวาอยู่ในกลุ่ม ผู้ป่วยจะกล้าพูดมากขึ้น และพยาบาลก็กระตุ้นให้ผู้ป่วยทุกคนได้มีโอกาสพูด
3.พยาบาลได้ข้อมูลเพิ่มเติม และสามารถแนะนำผู้ป่วยรายอื่นๆต่อไปได้ เช่น ทำยังไงเมื่อมีอาการคัน แต่ห้ามเกา วันนี้เลยได้คำตอบ ที่ช่วยบรรเทาได้โดยไม่ใช้ยา ^^
ขอจบบันทึกนี้ไว้แค่นี้ก่อนนะคะ
ขอขอบคุณ
          - ผู้ป่วยและญาติทุกท่านที่ร่วมกิจกรรม
          - คุณหมอตุ้ม ที่นำยาสีฟัน(รสผลไม้) มามอบให้ผู้ป่วยที่ร่วมกิจกรรมค่ะ ^^
          - ศูนย์มะเร็งอุดรธานี เจ้าของสถานที่จัดกิจกรรม
          - เจ้าหน้าที่ทุกๆท่านทุก ward ที่ให้ความร่วมมือในการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าร่วมกลุ่ม
          - ทุกๆท่านที่เข้ามาอ่านบันทึก และทุกท่านที่แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ
สุวิญญา 13/07/53
หมายเลขบันทึก: 374719เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2010 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าเห็นใจมากค่ะ...ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ..

สวัสดีหมอฮานะ ไม่ทราบเหมือนกันว่าการฉายแสงเป็นอย่าง รู้จักแต่จตุรณ ฉายแสง อ้าวเอาเข้าไปเนาะ แต่ก็ดีนะได้อ่านวิธีการรักษาและป้องกันตัวเองได้เยอะมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ เลย บางครั้งอ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็เป็นการอ่านเพื่อความสนุกละกัน แต่ส่วนมากก็พอรู้เรื่องบ้่าง เพราะตอนคุณพ่อป่วยก็ได้คลุกคลี กับหมอและพยาบาลอยู่บ้าง (น่ารักเหมือนฮานะไหมหนอ)

นี้รักษาคนนี้หน่อยตามันไม่เหมือนเดิม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท