ความเหมือนในหลักคำสอน อวตาร และ ภาพยนต์มหากาพย์ Avatar


Incarnation or Avatar

   

 

 คำว่า  อวตาร เป็นภาษาสันสกฤต  แปลว่า การก้าวลงมา  ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Incarnation  คำสอนเรื่องการอวตาร  จะมีแต่ในเฉพาะศาสนาที่มีความเชื่อเรื่อง พระเจ้าอย่างศาสนาคริสต์  หรือพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูมีความเชื่อในเรื่องการอวตารของพระวิษณุเจ้าในนิกายไวษณพ พระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นหนึ่งในสามเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นอกจาก พระพรหม  และพระศิวะ โดยพระพรหมเป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างโลกและจักรวาล พระวิษณุเป็นเทพเจ้าแห่งการรักษา ส่วนพระศิวะเป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย  รวมเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง๓ เป็น ตรีมูรติ   

 แต่อย่างไรก็ตามการอวตารนั้นเป็นปรัชญาฮินดูของนิกายไวษณพโดยเฉพาะ ชาวฮินดูเชื่อว่าพระวิษณุนั้นทรงอวตารเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์และการอวตารของพระองค์จะเป็นไปตาม การอัญเชิญขอร้องของหมู่เทวดาการอวตารของพระวิษณุบ้างก็ว่ามีมากจนนับได้ยากแต่ปางที่มีจุดประสงค์เพื่อมาช่วยเทวดา และมนุษย์โลกนี้มีทั้งหมด 25ปาง แต่ปางที่ถือเป็นปางที่สำคัญที่สุดมี 10 ปาง ดังนี้

  • ปางที่ 1 มัตสยาวตาร (อวตารเป็นปลา)เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์และสัตว์ให้พ้นจากน้ำท่วมโลก
  • ปางที่ 2 กูรมาวตาร (อวตารเป็นเต่า)เพื่อช่วยเหล่าเทพและอสูรกวนเกษียรสมุทร
  • ปางที่ 3 วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูป่า) มีสองตำนานหลักๆคือ 1)เพื่อปราบอสูรนาม"หิรัณยากษะ"ซึ่งลักเอาแผ่นธรณีไปโดยการม้วนแล้วเหน็บไว้ที่ข้างกายและ 2) เพื่อยุติการประลองพลังอำนาจกันระหว่าง พระศิวะ และพระพรหม
  • ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นครึ่งสิงห์) เพื่อปราบอสูรนาม"หิรัณยกศิปุ" ผู้เป็นน้องชายของ "หิรัณยากษะ"
  • ปางที่ 5 วามนาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย) เพื่อปราบอสูรนาม"พาลี" ผู้เป็นเหลนของ "หิรัณยกศิปุ"
  • ปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร (อวตารเป็นพราหม์ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ)เพื่อปราบกษัตริย์ (ผู้เป็นมนุษย์) นาม "พระเจ้าอรชุน" หรือ"พระเจ้าสหัสอรชุน" ผู้มีใบหน้า 1พันหน้าผู้ก่อยุคเข็ญและทำลายล้างศาสนา
  • ปางที่ 7 รามาวตาร หรือ รามจันทราวตาร (อวตารเป็นพระรามกษัตริย์แห่งอโยธยา) เพื่อปราบอสูรนาม "ราวณะ" หรือ "ราพณ์"หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "ทศกัณฐ์" กษํตริย์ แห่งกรุงลงกา -ปางนี้เป็นหลักในการจัด จารีต และ ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมอินเดีย
  • ปางที่ 8 กฤษณาวตาร (อวตารเป็นพระกฤษณะ) เพื่อขับรถม้าให้"พระอรชุน" และสอนวิถี และวิธีการดำเนินชีวิต ให้แก่พระอรชุน
  • ปางที่ 9 พลรามาวตาร (อวตารเป็นพลราม)หรือพระพลรามซึ่งเป็นพี่ชายของพระกฤษณะเป็นการอวตารคู่กับพระกฤษณะ
  • ปางที่ 10 กัลกยาวตาร หรือ กัลกิยาวตาร(อวตารเป็นมนุษย์ผู้ขี่ม้าขาว หรือ กัลกี) เป็นอวตารที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่เป็นการทำนายอนาคตไว้ว่า ในยามที่เป็นปลายแห่งกลียุคที่ที่เมื่อผู้คนไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีอีกต่อไปโลกทั้งโลกต้องเผชิญกับยุคเข็ญไปทุกหย่อมหญ้าจะมีบุรุษขี่ม้าปรากฏตัวขึ้นเพื่อปัดเป่าความทุกข์ยากและนำธรรมะกลับมาสู่มวลมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง

     สำหรับในภาพยนต์มหากาพย์ของเจมส์ คาเมรอนเรื่อง Avatar โดยพูดถึงการเข้ามาล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ซึ่งนำโดยบรรษัทข้ามชาติและกองกำลังทางทหารที่เพรียบพร้อมไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์  เพื่อครอบครองดาวแพนดอร่าหรือทวีปเอเชียที่มีทรัพยากรมหาศาล ในการวางแผนเพื่อทำลายและครองครองกองทัพจึงต้องส่งสายลับเพื่อมาสืบข้อมูลความเป็นอยู่ของชาวนาวีหรือชาวเอเชีย และ เจคได้รับการคัดเลือกมาเป็นสายลับ แต่เมื่อเจคมาอยู่กับชาวนาวี เขากลับล้มเลิกความตั้งใจ สุดท้ายเจคกลายมาเป็นวีรบุรุษมานำชาวนาวีต่อสู้กับศัตรูที่มีพลานุภาพมากกว่าซึ่งศาสนาฮินดูเชื่อเรื่องการอวตารของพระวิษณุ ในหนังเรื่องนี้องค์อวตารของพระวิษณุ คือ เจค  นั่นเอง พลังความรักที่เจคมีต่อธิดาเผ่านาวีและความสำนึกผิดที่เขาเป็นสายลับให้พวกมนุษย์ กลายมาเป็นพลังที่ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษ หรือ  อวตาร นำชาวนาวีขับไล่ศัตรูออกไปจากดาวแพนดอร่า

   ความเชื่อเรื่องการอวตารของศาสนาฮินดู คือความเชื่อเรื่องวีรบุรุษผู้กล้าที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นผู้นำในการต่อสู้กับอธรรม กษัตริย์โบราณผู้เก่งกล้าสามารถของชาวภารตะที่ถูกยกขึ้นมาเป็นอวตารของพระนารายณ์คือ พระรามและพระกฤษณะ ซึ่งนักปราชญ์บางท่านบอกว่ากษัตริย์ทั้งสองเคยมีตัวตนอยู่จริงในอินเดียยุคโบราณ ต่อมาได้ถูกยกย่องบูชาให้เป็นองค์อวตารของพระนารายณ์

  ความเหมือนที่น่าสังเกตุในคำสอนเรื่องอวตารและภาพยนต์เรื่องAvatar  คือพาหนะของพระนารายณ์คือพญาครุฑ ขณะเดียวกันพาหนะของเจคก็เป็นพญานก    ดังที่ปรากฎในรูปข้างบน   

  ความเชื่อในเรื่องนี้เป็นความเชื่อทางศาสนาที่ต้องการสร้างความหวังให้กับมนุษย์ เพราะโดยปกติแล้วสังคมมนุษย์เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ไม่ว่าจะเป็นสงคราม  หรือภัยพิบัติ มนุษย์ก็จะมองหาวีรบุรุษที่จะเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ ความคาดหวังนี้เป็นเครื่องล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์ที่ขาดที่พึ่งทางจิตใจอย่างรุนแรง จึงไม่แปลกเลยที่ภาพยนต์เรื่อง Avatarจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่วิกฤติของโลกปัจจุบัน อย่างน้อยก็ช่วยให้บางคนมีความหวังขึ้นมาบ้าง  แต่ในทัศนะของพุทธศาสนาทุกคนต้องเป็นที่พึ่งของตนเอง สังคมจะเข้มแข็งเมื่อสมาชิกภายในสังคมส่วนใหญ่มีความเข้มแข็งนั่นเอง วีรบุรุษไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆแต่เป็นผลผลิตที่ดีที่สุดของสังคมที่แกร่งที่สุด

หมายเลขบันทึก: 374640เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2010 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีมากเลยครับ....ชอบจังเรื่องแบบนี้

เป็นสิ่งที่เข้าใจได้อยากเช่นกัน.....แต่ก็รู้ไว้ใช่ว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท