เรื่องเล่าจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพ็กใหญ่ ; ความประทับใจของนักรบแถวหน้าแห่ง รพสต.เพ็กใหญ่


เห็นเขามีความสุข เฮากะมีความสุขแล้ว นี่คือ ความสุขของ อสม.ที่แท้จริงค่ะ

ต่อเนื่องจากบันทึกนี้ค่ะ

เรื่องเล่าจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพ็กใหญ่ ; ความอบอุ่นใจกับการต้อนรับ

 

ณ ช่วงเวลาแห่งการรับฟัง 

                เมื่อแนะนำตัวกันเสร็จเรียบร้อย คุณปัญณพร ได้เล่าให้ฟังถึงภารกิจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพ็กใหญ่ และความเชื่อมโยงกับงานสาธารณสุขในด้านอื่น ๆ พอได้รับรู้แทบจะร้องว่า

        “โอ้โห อย่างนี้นี่เอง ครูถึงเคยพูดว่า อนามัย หรือ รพสต. คือ กระทรวงสาธารณสุขย่อส่วน”

 

ภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ที่นี่ขับเคลื่อนได้อย่างลื่นไหลและงดงาม ด้วยทีมที่คุณปัญณพรเรียกว่า “นักรบแถวหน้า”

ก็คือเหล่าประธานและรองประธาน อสม.ในพื้นที่รับผิดชอบ ที่สำคัญแต่ละคนก็มีลูกทีมที่เข็มแข็งคือ อสม.ในหมู่บ้านเป็นพลังมวลชนที่แทรกซึมโดยธรรมชาติ

ด้วยเรื่องราวที่เราสื่อสารกันคือ นำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น ชุดทดสอบอย่างง่าย เข้าไปตรวจเฝ้าระวังอาหาร เครื่องสำอางค์ และยาสมุนไพรในพื้นที่

 โดยมีการแบ่งสายเป็นสาย A สาย B นำร่องโดยชุดทดสอบอาหาร ๔ ชุดคือ ฟอร์มาลีน สารฟอกขาว สารกันราและบอร์แรก

โดยชุมชนแบ่งงานกันเอง แบ่งสายกันเอง ไปตรวจทุกร้านชำ ร้านก๋วยเตี๋ยว แบบปูพรมทุกพื้นที่ ตรวจกันถึงที่ รายงานผลกันจะ จะ โดยที่แม่ค้า พ่อค้า ไม่ต้องเสียเวลา ผลบวก ผลลบก็คุยกันและแนะนำเพิ่มเติม จากการได้ฟังประสบการณ์ที่ตัวแทน อสม. เล่าถึงความประทับใจในภารกิจ จึงขอนำมาให้อ่านกัน

 

คุณประดิษฐ์ เล่าว่า

“การที่ทีม อสม.ของเราได้ออกพื้นที่นะครับ ถามว่ามีความสุขไหม ก็มีความสุขนะครับ เพราะว่าหนึ่ง ผู้บริโภคก็เป็นคนในชุมชนของเรา พี่น้องของเรา พ่อแม่ของเรา จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายจากสารปนเปื้อนทั้งหลาย อีกความสุขอย่างหนึ่งก็คือ คนค้าขาย ก็มีความสุข ที่ว่าอาหารของเขาได้รับการรับรอง เราก็จะโปรโมทไปด้วย ถ้าของใครมีสารปนเปื้อนก็จะแนะนำเขา ไม่ให้ซื้ออาหารประเภทนี้จากร้านไหน ผู้บริโภคก็มั่นใจ ความสุขก็มีในจิตใจของเรา ก็ภูมิใจครับ” น้ำเสียงหนักแน่นเบิกบาน

 

คนที่สองคือ คุณวสันต์ เป็นหัวหน้าทีม เป็นคนแรกที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ชุดทดสอบ แล้วท่านก็เป็นผู้นำมาถ่ายทอดต่อให้กับลูกทีม เล่าว่า

“ครั้งแรกก็มีความรู้สึกกังวล กลัวเขาเองจะมีความผิด กลัวเขาจะคิดว่า เขามีความผิด แล้วจะอาย อาจจะทำให้เขาเลิกกิจการไปเลย ภาวนาว่า

“ยังไงก็อย่า ให้เจอนะ อย่าให้เจอเด้อ”

พอไปตรวจทำจริง ๆ ออกมาร้านแรกก็ผ่าน สบายไปนิดหนึ่ง ร้านที่สอง ร้านสาม ไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้จิตใจเราเพลินไปด้วย ไม่วิตกแล้วทีนี้ ผ่านไปครึ่งวันก็ประมาณสามถึงสี่หมู่บ้านนะครับ ก็สบายใจบอกพรรคพวกว่า

“ไม่มีปัญหาหรอก เพราะว่า สังเกตดูแล เมืองพลเรานี่ ร้านก๋วยเตี๋ยวก็คงจะแนะนำกันไปซื้อของร้านเดียว หรืออาจจะเป็นร้านของพี่น้องกัน ญาติ ๆ กันอย่างนี้นะ เราไม่ต้องไปซีเรียสอะไร  ถ้ามีอะไรเราเป็นหัวหน้าชุดถ้าตรวจเจอเราจะพูดเองหรือจะพยายามพูดกล่อมเขาไม่ต้องให้เขาวิตก”

 แต่พอผ่านมาวันนี้ไม่มีอะไรเลย บางทีก็นั่งห่าง ๆ พรรคพวกก็จะทำไป อันไหนที่เขาไม่เข้าใจก็จะเหลือบตามา” ทุกคนหัวเราะลั่น มีอารมณ์ร่วมกับการเล่าเรื่อง แล้วท่านก็พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและภาคภูมิใจว่า

“ผมสามารถที่จะพาพรรคพวกผมไปเป็นครูให้ตำบลอื่นได้ การันตีว่ากลุ่มพวกผมเข้มแข็งครับ” เสียงปรบมือดังขึ้นอย่างชื่นชม

 

คุณอุบล ฉายาผู้ชำนาญการ ที่สวมถุงมือประจำ จากเสียงเสริมของทีม เพราะท่านเป็นตัวแทนในการทดสอบโดยส่วนใหญ่ เอ่ยว่า

“ออกไปแล้วก็มีความสบายใจ เพราะว่าหมู่บ้านของเรา ในชุมชนเขตของเรานี่จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับอันตราย จากสารต่าง ๆที่มาปนเปื้อนกับอาหาร ก็เลยมีความสุข เพื่อน ๆ ไปด้วยกันก็ยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศรัยดีด้วยกันทุกคน ”

 

พี่อีกท่านหนึ่งพูดไปยิ้มไปว่า

แม่ค้าก็บอกว่า “ดีใจ คือดีแท้ ทุกปี คือบ่เห็นมี บัดปีนี่คือมี” ก็พอใจให้เราตรวจ “เอ้า เข้ามา เข้ามา กินน้ำเย็นบ่” เราก็บอก “กิน ๆ” ฮ่า ๆ  ๆ

ตรวจเสร็จแล้วก็บอกว่า “มาอีกแน้เด้อ”  อันได๋ผ่าน อันได๋บ่ผ่านกะบอกเพิ่น

 

ถ้อยคำเด็ด ๆจากพี่ตุ๋ย อสม. สั้น ๆ แต่โดนใจ

เห็นเขามีความสุขเฮากะมีความสุขแล้ว นี่คือความสุขของอสม.ที่แท้จริงค่ะ

 

อันนี้เป็นเพียงบางตอนของเรื่องเล่าแห่งความประทับใจที่ชาว อสม. ในความดูแลของคุณปัญณพรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเพ็กใหญ่ได้เล่าให้ฟัง นอกจากการการตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร

          ทีมนี้ยังนำ เครื่องสำอางค์ และยาลูกกลอน ที่ใช้ในหมู่บ้าน มาตรวจเฝ้าระวังปรอท แอมโมเนียม ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอในเครื่องสำอางค์ และสารสเตรียรอยด์ โดยการตรวจของคุณปัญณพร แล้วก็แจ้งผล แจ้งเตือนไปที่แต่ละชุมชน

คุณวิชัย เล่าถึงนโยบายในการนำสมุนไพรเข้ามาส่งเสริมการใช้ใน รพ.สต. ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นแหล่งในการกระจายพันธุ์ของสมุนไพร ตามการตอบรับของพื้นที่ ซึ่งคุณปัญณพร ตอบรับและยินดีในการดำเนินการ เพราะมีทีมงานที่เข้มแข็งพร้อมที่จะดำเนินการ

ในตอนท้ายมีคำถามจากคุณประดิษฐ์ว่า

“อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับ เห็ดพิษ พืชพิษ เพื่อจะได้นำมาเฝ้าระวังในชุมชน”

 เหมือนได้คำถามนำอย่างไม่ได้นัดหมาย คุณวิชัยจึงชี้แจงเล่าคร่าว ๆ เกี่ยวกับเห็ดพิษและให้หนูเล่าเกี่ยวกับพืชพิษและสมุนไพร ข้อมูลที่เล่าคร่าว ๆ คือ

                  พืชพิษที่เป็นปัญหาในเขตนี้ที่ผ่านมา คือ สบู่ดำ ที่เด็กโรงเรียนหนองสองห้องเก็บมาทานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการท้องเสียรุนแรงพร้อม ๆ กันเกือบยี่สิบคน โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต

                เป็นต้นไม้ที่ปลูกกันจำนวนมากในช่วงนี้เพราะว่าเป็นวัตถุดิบในการทำ ไบโอดีเซล ต้นก็ไม่สูงมากเด็กเก็บถึง เราต้องช่วยกันแจ้งเตือนหน่อย ต้นนี้แถว ๆ อีสานเรียก หมากเหยา  

              และอีกชนิดหนึ่งคือ มันสำปะหลังหลายคนอาจจะแย้งว่า “เคยกิน”

นั่นแหละค่ะ สมุนไพร สำคัญที่ว่า ต้องใช้ถูกต้น ถูกส่วน และถูกวิธี

 มันสำปะหลังมีสารกลุ่มไซยาไนด์กลัยโคไซด์ เป็นสารพิษที่สามารถละลายน้ำได้ ถ้าล้างน้ำเยอะ ๆ ต้ม เผา นึ่ง ให้สุก หรือ ดอง สารชนิดนี้จะหายไป ทานได้อิ่มอร่อยปลอดภัย

แต่ถ้าทานดิบ ๆ จะทำให้เกิดพิษจากสารไซยาไนด์ อย่างที่มีเด็กได้เสียชีวิตมาแล้วที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามข่าวเมื่อไม่นานมานี้

 

จากการได้ไปเยี่ยมรับฟังเรื่องเล่าในวันนี้ เหมือนได้คำตอบของคุณภาพและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าช่วยแก้ไขปัญหาสาธารณาสุขได้จริง ใช้ได้ง่าย เพิ่มความมั่นใจ ที่สำคัญเสริมสร้างความสุขและความเข้มแข็งให้ชุมชนได้ ชาวอสม. ที่ได้ใช้ชุดทดสอบ เชื่อมั่น เชื่อถือ เชื่อใจ และมีความสุขที่มีชุดทดสอบเป็นเครื่องมือนำทางในการการรุกคืบเข้าไปแก้ไขปัญหาและเฝ้าระวังผลิตภัณ์ที่ใช้ในชุมชน

                                                               ภาวดี  น้อยอาษา

                                                                    ผู้บันทึก

หมายเลขบันทึก: 373727เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 05:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ตอนนี้รพสต.มาแรง จะลดความแออัดในรพ. และสะดวกกับประชาชนมากเลย แต่ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าเค้าได้รับการบริการที่ดีกว่า สะดวกกว่า ไปรพ.เดิม

 

 

สวัสดีครับท่านเภสัช

เข้ามาบันทึกนี้ ได้ความรู้เกี่ยวกบ สมุนไพรมากมาย

จริงด้วยครับสมุนไพร

ต้องเก็บเอามาใช้ให้ถูกเวลาถูกคนถูกวิธี เพราะการรักษาด้วยสมุนไพร "ลางเนื้อชอบลางยา"

ฟ้าทลายโจร ใบที่เจ็ดสรรพคุณรวมอยู่พร้อมสรรพในใบเดียว เราถูกเล่ามาอย่างนั้น

รบกวนท่านเภสัชช่วย วิจัยยืนยันครับ

เคยร่วมทำประชาคม การจัดอันดับโรคให้กับ อนามัยที่จะเปิดเป็น รพสต. (โรงพยาบาลสู้ตาย)เพราะเป็นด่านหน้า ถ้าทำไม่ดีก็ตาย ฮาๆๆๆๆ

ใช่แล้วค่ะ คุณ kaikiku 

ที่สำคัญที่นี่ เขาเข้มแข็งกันจริง ๆ

เปี่ยมไปด้วยพลังงานแห่งความสุข

ดีใจที่ได้ออกพื้นที่ ดีใจที่ได้มีโอกาสเสียสละ

เห็นเเล้วประทับใจ

ทราบว่าที่นี่จะมีการขยายงานด้านการนวดแผนไทยด้วย

อ้อเรื่องที่ยังไม่ได้เล่าคือ ที่นี่มีการเก็บข้อมูล หมอพื้นบ้าน หมอตำแย หมอนวด หมอลำผีฟ้า ขึ้นทะเบียนไว้ ความสัมพันธ์กับพื้นที่เหนียวแน่นปึ๊กเลยค่ะ สุดยอด

สวัสดีค่ะท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ดีใจค่ะที่ท่านแวะมา

รพสต. = โรงพยาบาลสู้ตาย (^_^)

ขอบพระคุณที่ช่วยเสริมเรื่องสมุนไพรค่ะ

มันต้อง "ถูกต้น ถูกส่วน ถูกวิธี ถูกโรค และถูกคนด้วยใช่ไหมค่ะ"

ขอบพระคุณค่ะ

หวัดดีด้วยคนค่ะ กำลังร่วมด้วยช่วยกันกับการพัฒนา อสม.หลายพื้นที่ค่ะ รวมทั้ง อสบ.ที่ลาว (อาสาสมัคร บ้าน) ขอแชร์ด้วยคนนะคะ

สวัสดีค่ะ..แวะมาชื่นชมกับผลงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพ็กใหญ่

ชอบคำนี้จังเลยค่ะ

รพ.สต.= โรงพยาบาลสู้ตาย (^_^)

 

ดีใจจังเลยค่ะคุณ ครูชุมชน คนธรรมดา

เดี๋ยวนี้ เราได้มาช่วยเหลือกันและกัน

เราพร้อมจะก้าวไปด้วยกันนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณหมออนามัย

ที่นี่ เข้มแข็ง ส่งกำลังใจ

และมาช่วยยิ้มรับแทนคนทำงานทีเดียวเชียวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท