ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

ครอบครัวรั้วป้องกันยาเสพติด


ครอบครัวรั้วป้องกันยาเสพติด

ครอบครัวและชุมชน  รั้วป้องกันยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง    เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์,   

ที่ปรึกษาโครงการ TUCAR  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

E-mail  :  [email protected]

----------------------------------

ปัจจุบัน สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ทำให้บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ในการอบรมลูกก็ลดลง  สังคมในยุคระบบอุตสาหกรรมมีความเร่งรีบมากขึ้นพ่อแม่ย่อมไม่มีเวลาใกล้ชิดกับลูก การอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันก็ยากเย็นเต็มทน เวลาสำหรับการอบรมบ่มนิสัยลูกจึงไม่ต้องพูดถึง ประกอบกับปัจจัยสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร ที่มีส่วนแบ่งของเวลาในครอบครัวมากขึ้นในทุกขณะ ทำให้เด็กมีโอกาส  รับข้อมูล ข่าวสารจากสื่อรอบตัวแทนโดยอาจขาดการไตร่ตรอง  เพราะไม่สามารถรับรู้ข้อมูล ข่าวสารจากพ่อ แม่และผู้ปกครองได้  ผลลัพธ์จึงสะท้อนออกมากลายเป็นปัญหาของเด็กและเยาวชน ที่มีสภาพจิตใจผิดปกติ  เป็นจิตใจของเด็กที่เติบโตขึ้นมาอย่างเปราะบางและอ่อนไหว พร้อมที่จะไหลไปกับกระแสวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อปรับตัวไม่ทันเด็กบางคนตัดสินใจหนีปัญหาหรือหันไปหาที่พึ่งทางใจจากคนนอกครอบครัว  การใช้ยาเสพติด  การมีเพศสัมพันธ์เมื่อยังไม่พร้อม    หรือแม้แต่การฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา  ปัญหาของเด็กและเยาวชนที่มีครอบครัวไม่เข้มแข็ง  ส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหายาเสพติด สาเหตุสำคัญดังกล่าวมาแล้วว่า มาจากผู้ปกครองไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มที่ ประกอบกับขาดการสื่อสารที่ดีกับลูกหลาน  ยิ่งช่วงวัยรุ่น เด็กและเยาวชนจะให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก หากพื้นฐานทางด้านจิตใจอ่อนแอ ขาดการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและความรับผิดชอบ ยาเสพติดจึงเป็นสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่อยู่แวดล้อมรอบตัวเด็กในปัจจุบัน

เมื่อครอบครัวมีปัญหา ผลสะท้อนที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนที่สุด จะปรากฏอยู่ที่เด็ก นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กเป็นผู้มีปัญหาอยู่ฝ่ายเดียว แต่เนื่องจากเด็กมีความอ่อนไหวและแสดงออกมากกว่า  เด็กจึงเป็นภาพสะท้อนถึงสภาพของครอบครัวที่มีปัญหา ดังนั้น การฟื้นฟูสภาพจิตใจ       ของเด็ก โดยอาศัยร่วมมือจากสมาชิกในครอบครัวจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการนำเด็ก และสมาชิกในบ้านให้หันกลับมามองสภาพที่เป็นอยู่อย่างแท้จริง  ช่วยกันปรับเปลี่ยนจุดที่บกพร่องให้สู่สภาพปกติที่ปราศจากปัญหาอีกครั้ง ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับสมาคมจิตแพทย์อเมริกันที่ได้บัญญัติไว้ในแนวทางการทำครอบครัวบำบัดว่า  “การทำจิตบำบัดด้วยวิธีนี้ (ครอบครัวบำบัด) มักให้ผลดี     ในปัญหาจิตเวชในเด็กและวัยรุ่น”  แม้กระบวนการของครอบครัวบำบัดโดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด    จะมีหลากหลายวิธี แต่ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการให้ทุกคนในครอบครัวมีโอกาสรับรู้ถึงมุมมองของสมาชิกคนอื่น ๆ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนมุมมองและปรับวิธีการแสดงออกที่อาจส่งผลกระทบต่อสมาชิกคนอื่นให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุลและยอมรับได้

                การแก้ปัญหายาเสพติดที่ผ่านมา ค้นพบปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือ ผู้ที่ผ่านมาบำบัดรักษา และฟื้นฟูแล้วกลับไปเสพยาเสพติดใหม่  มีสัดส่วนถึงราวร้อยละ ๘๐ ของผู้ผ่านการบำบัด ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อตอบรับกับการเร่งปราบปรามอย่างเสพติดอย่างหนักหน่วงของรัฐและ       การแปรสภาพเป็นผู้ป่วยตามกฎหมายใหม่ที่มีจำนวนมากนั้น  คือ ความต้องการรูปแบบ กระบวนการดำเนินการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยไม่หวนกลับไปเสพหรือใช้ยาอีก อย่างน้อยในระยะ ๖ เดือน ถึง ๑ ปี   สิ่งสำคัญที่สุด  คือ `ใจ' ของผู้ป่วย        ที่ต้องฟื้นและมีพลังพอที่นำตนหลุดพ้นวงจรเดิม และ   ด้วย `ใจ' ของผู้คนในสังคมที่ต้องเอื้ออาทร   ให้โอกาส ให้เขามีที่ยืนในสังคม สร้างแรงจูงใจ กลับตัว กลับใจ ฟื้นชีวิตใหม่ คืนคนดีกลับสู่สังคม

                โครงการศึกษาและพัฒนากระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยพลังชุมชน เกิดขึ้นเพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล โดยเฉพาะการรองรับยุทธศาสตร์การต่อสู้เอาชนะยาเสพติด ภาคการบำบัดผู้เสพและผู้ติด ที่มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนกลางในการดำเนินการโดยสำนักประสานความร่วมมือ (TUCAR) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ภายใต้การสนับสนุนของภาคีความร่วมมือ คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ ประกอบด้วย  ๑) เพื่อพัฒนากระบวนการชุมชน และการจัดบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยา ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบำบัดฟื้นฟูร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ระดับจังหวัดอย่างบูรณาการมีประสิทธิผลและยั่งยืน  ๒)  เพื่อกระตุ้นให้สังคมทั่วไปและชุมชนต้นแบบที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย เกิดการตระหนักในความสำคัญของปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดฟื้นฟูโดยกระบวนการชุมชน เกิดการยอมรับ ทั้งปรับสภาพแวดล้อมทั่ว ๆ ไปของชุมชนให้เอื้อต่อการดำเนินกระบวนการฟื้นฟูชีวิตใหม่ ใจสะอาด ในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ อย่างสมัครใจ ๓) เพื่อสร้างเสริมคุณค่าใหม่ของผู้ผ่านกระบวนการบำบัดฟื้นฟูชีวิตใหม่ ใจสะอาดให้สามารถกลับคืนสู่สังคม สามารถประกอบอาชีพสุจริต มีวิถีชีวิตดำรงอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข โดยเกิดการยอมรับทั้งจากสังคมทั่วไปและชุมชนที่เป็นภูมิลำเนา  และ ๔)  เพื่อยกระดับคุณค่าผู้ผ่านกระบวนการในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ อาสาสมัครทางสังคมและเข้าร่วมขบวนการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่าง          มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า

                การดำเนินการแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ  ส่วนที่ ๑ กระบวนการบำบัดฟื้นฟูในอ้อมกอดของชุมชน ประกอบด้วย  ๑) กระบวนการบำบัดรักษาและพัก สำรวจ วิเคราะห์ แยกแยะกลุ่มเป้าหมาย                ๒) กระบวนการบำบัดฟื้นฟู ซึ่งมี ๓ โปรแกรม ได้แก่ โปรแกรมที่ ๑ โปรแกรมบำบัดฟื้นฟู `คืนชีวิตใหม่ ใจสะอาด' ฟื้นชีวิต ฟื้นใจ ฟื้นความเชื่อมั่น เคารพตนเองและมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตใหม่  โปรแกรมที่  ๒ กระบวนการสู่อ้อมกอดของชุมชน ประกอบด้วย ขั้นที่ ๑ ศึกษา ดูงาน ศูนย์เรียนรู้ชุมชน และ    ขั้นที่ ๒ ครอบครัวพักใจ ชุมชนพักพิง ท้องถิ่นพึ่งพา (Home Stay)  โปรแกรมที่ ๓ บ้านกำลังใจ (House of Spirit)  ส่วนที่ ๒ กระบวนการบูรณาการความร่วมมือในระดับจังหวัด  ๑) ประสานภาคีความร่วมมือในระดับชุมชน ท้องถิ่น ๒) จัดเวทีและสร้างกระบวนการภาคียุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชุมชน ตำบล และอำเภอ อย่างต่อเนื่อง  ๓) จัดเวทีภาคประชาสังคมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระดับจังหวัด อย่างต่อเนื่อง  ๔) ประสาน เชื่อมกระบวนการ  ประชารัฐ ส่วนราชการ ในระดับจังหวัด ๕) จัดเวทีสมัชชาป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับจังหวัดอย่างต่อเนื่อง  ในระยะต่อไป เป็นการขยายผลการดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย ก่อนไปสู่ระยะสุดท้าย คือ การสรุปประเมินผล ทำรายงานสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อนำเสนอต้นแบบเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐ

                โดยสรุป  หากสามารถผนึกกำลังทั้งสองส่วน  คือ พลังครอบครัว และพลังชุมชนได้อย่างจริงจัง โดยการทุกคนในครอบครัวและชุมชน  หันมามองปัญหา หรือสภาพของชุมชนร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่กำลังกลับมาแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็จะสามารถเป็นรั้วป้องกันยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ เลยทีเดียว. 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 373698เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2010 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียนท่านผอ.สุภัชณัฏฐ์

   เป็นบทความที่ดีมากค่ะ ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อนะคะ

ครอบครัวและสังคมต้องช่วยกัน

ถึง...คุณยาย/อนุญาตให้เผยแพร่ต่อครับ..ช่วยกันทำให้สังคมเราดีขึ้นครับ

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของคุณเบดูอินครับ.../สำหรับเรื่องยาเสพติดแน่นอนครับว่าครอบครัวและสังคมต้องช่วยกันให้มาก ๆ ด้วยครับ

เป็นบทความที่ดีมากๆค่ะ ขออนุญาตนำโครงการนี้ไปขยายผลต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ ของ กศน.อำเภอลาดหลุมแก้ว และขอคัดลอกข้อความบางส่่วนไปลงในวารสารของสำนักงาน ปปส. นะคะ ขอบพระคุณท่าน ผอ.ที่เขียนบทความดีดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท