เรื่องราวเก้าห้องสงขลา


เก้าห้อง เป็นชื่อดั้งเดิมของถนนนางงามซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๓๘๕ ครั้งตั้งหลักเมืองสงขลาใหม่ๆ หลังย้ายเมืองสงขลาจากฝั่งแหลมสนมายังฝั่งตะวันออก(บ่อยาง)ที่ได้ชื่อ เก้าห้องเนื่องจากถนนสายนี้มีบ้านอยู่ ๙ คูหา และได้เปลี่ยนชื่อจาก ถนนเก้าห้อง มาเป็นถนนนางงาม สาเหตุเพราะ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ ได้มีการเฉลิมฉลองและมีการประกวดนางงามสงขลาขึ้นเป็นครั้งแรก

เรื่องราว เก้าห้อง       

 

 

  

ถนนนางงาม สงขลา หรือเก้าห้องย่านวัฒนธรรมจีน-ไทย สงขลายุคบ่อยาง

    เก้าห้อง เป็นชื่อดั้งเดิมของถนนนางงามซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๓๘๕ ครั้งตั้งหลักเมืองสงขลาใหม่ๆ หลังย้ายเมืองสงขลาจากฝั่งแหลมสนมายังฝั่งตะวันออก(บ่อยาง)ที่ได้ชื่อ เก้าห้องเนื่องจากถนนสายนี้มีบ้านอยู่ ๙ คูหา และได้เปลี่ยนชื่อจาก ถนนเก้าห้อง มาเป็นถนนนางงาม สาเหตุเพราะ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ ได้มีการเฉลิมฉลองและมีการประกวดนางงามสงขลาขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี ๒๔๗๘ ปรากฏว่าสาวงามจากถนนนางงาม ชื่อ นงเยาว์ (แดง) โพธิสาร สกุลเดิม บุญยศิวะ ลูกนายฮ่อง นางหั้ว บุญยศิวะ ได้รับคัดเลือกให้เป็นนางงามสงขลาคนแรก สมรสกับครูถ้อง หรือครูสหัส  โพธิสาร และต่อมาคนสงขลา เรียก ถนนเก้าห้อง ว่า ถนนนางงาม ติดปากมากกว่าเก้าห้อง มาจนบัดนี้ และ คุณหญิงกมลทิพย์  สุดลาภา ภริยา คุณเชาวัศน์  สุดลาภา ก็เป็นอดีตนางงามสงขลาอีกคนหนึ่งที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ถนนนางงาม หรือ ย่านเก้าห้อง

บ้านเดิมของนางงามสงขลาคนแรก คุณนงเยาว์ (แดง) โพธิสาร สกุลเดิม บุญยศิวะ  และที่มาของชื่อถนนนางงาม  ปัจจุบันขายเปลี่ยนมือไปแล้ว เป็นร้าน ต้นรักฟอลิสท์ รับจัด และจำหน่ายดอกไม้ตกแต่งในงานพิธีต่างๆ

    ถนนนางงาม เป็นที่ตั้งของศาลหลักเมืองสงขลา ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) เป็นผู้สำเร็จราชการเมือง ถนนสายนี้เป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนจีนเก่าแก่นานเกือบ ๓๐๐ ปี ควบคู่กับถนนนครนอก นครใน จึงมี สถาปัตยกรรม อารยธรรม และวัฒนธรรม อาหารการกินของชาวจีนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง รสชาติดี หลากหลายอย่าง อาทิ

 สิ่งก่อสร้าง

  • ศาลหลักเมืองสงขลา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) เป็นผู้สำเร็จราชการเมือง

 

ศาลหลักเมืองสงขลาตั้งอยู่บรเวณเก้าห้อง ถนนนางงาม

กลุ่มประชาคมสงขลาจัดเสวนาเล่าเรื่อง "สงขลาแต่แรก" บริเวณย่านงานถนนคนเดินของเทศบาลนครสงขลา ริมกำแพงเมืองเก่า บนถนนจะนะ  

  •  วัดยางทอง เป็นวัดที่ตั้งของบ่อน้ำมีต้นยางต้นใหญ่อยู่ข้างบ่อในอดีตซึ่งเป็นที่มาของชื่อตำบล บ่อยาง ที่อยู่ในตัวเมืองสงขลา
  • โรงแรมนางงาม เป็นโรงแรมไม้สองชั้นที่มีลวดลายฉลุที่วิจิตรงดงาม อดีตเป็นโรงแรมหรูรองรับแขกที่เดินทางมาค้าขายและทำธุรกิจ ปัจจุบันเลิกกิจการเจ้าของยังคงเก็บไว้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์เมืองสงขลา

 

โรงแรมนางงาม

  • วิก(โรงหนัง)หลักเมือง (ศรีเพชร) ปัจจุบันถูกรื้อ เพราะเลิกกิจการเนื่องจากไม่มีคนดู สู้หนังละครทางทีวีช่องต่างๆไม่ได้
  • บ้านเรือนตึกเก่าสถาปัตยกรรม รูปแบบไชนีส โปรตุกีส

 ขนมและอาหารการกินไทย-จีน เก่าแก่ดั้งเดิมที่มีชื่อเสียงของสงขลา

ขนมกะรอจี๊ หรือขนมม่อชี่จีน

ขนมไทยโบราณร้านสอง-แสน

  • แป้งแดง ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองสงขลาอย่างหนึ่งน่าจะเป็นอาหารหมัก ที่มาจากจีน แต่ที่นี่แปลกมีทั้งแป้งแดงปลากะพง แป้งแดงหมู ราคาค่อนข้างแพง เพราะจะต้องใช้เนื้อหมู และปลาคุณภาพดี หมักปลา หรือหมู กับเกลือระยะหนึ่งจนได้ที่(๓ วัน)แล้วนำมาหมักกับข้าวเจ้า แป้งข้าวหมากอีกประมาณ ๑๐ วัน แป้งแดง เป็นอาหารหมักชนิดหนึ่ง ของอำเภอเมือง อำเภอระโนด จังหวัด สงขลา มีสีชมพูแก่ รสเค็ม เปรี้ยว การปรุง จะซอย หอมและ พริกชี้ฟ้า โรยหน้าแล้วนึ่งให้สุก รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆหร่อยจังฮู้นำเอาไปนึ่งกับไข่ โรยหอมแดงซอย ดีปลีสด ใช้รับประทานด้วยข้าวร้อนๆ โดยซาวหรือคลุก มีผักเหนาะ เช่น ถั่ว แตงกวา มะเขือ สะตอ  แล ลูกเนียง
  • เต้าหู้ยี้เสวย เป็นที่รู้จักกันดี เก่าแก่ทำขายมานานกว่า ๑๐๐ ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นของฝากที่ระลึกที่ขึ้นชื่อของสงขลา เนื่องจากมีหนึ่งเดียว
  • ข้าวสตู ร้านเกียดฟั่ง ซึ่งสืบทอดต่อกันมา ๓ ชั่วคน เป็นอาหารจีนชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะแต่ในสงขลา นิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า มีลักษณะคล้ายซุปข้นๆ มีกลิ่นหอมเครื่องเทศและกะทิ ใส่เครื่องในหมู เนื้อหมู ไก่ ประกอบด้วยน้ำจิ้ม ดีปลี(พริกขี้หนู) กระเทียมสับในน้ำส้มสายชูหมัก
  • ขนมบอก  เป็นขนมพื้นบ้านที่นับวันหากินได้ยาก มีเหลือให้เห็นไม่เกิน ๒ เจ้า ทำด้วยแป้งข้าวเหนียวนึ่งในกระบอกไม้ไผ่ หรือกระบอกโลหะผ่านความร้อนด้วยไอน้ำจนสุก คลุกมะพร้าวขูด และถั่วเขียวผ่าซีกคั่ว
    • ร้านแต้ ร้านอาหารจีนเก่าแก่มีชื่อเสียงมีเพียงคูหาเดียวแขกต้องจองคิวล่วงหน้า
    • ขนมค้างคาว เป็นขนมไทยโบราณที่สืบทอดกันมาจากรุ่นปู่รุ่นย่านานกว่า ๑๐๐ ปีมีเฉพาะในสงขลาเท่านั้น ปัจจุบันหากินยากไม่ค่อยทำขายต้องสั่งทำ(ของป้าสว่างศรี พรหมศาสตร์)เนื่องจากขั้นตอนการทำยุ่งยาก ต้องใช้ความประณีตและความชำนาญ ทายาทรุ่นลูกรุ่นหลานไม่ยอมสืบทอด เป็นขนมที่มีรูปร่างคล้ายค้างคาว ไส้ทำจากกุ้งสดลวก หุ้มด้วยแป้งข้าวเหนียวนวดด้วยกะทิ นำไปทอดจนเหลืองแบบกรอบนอกอ่อนใน 
    • ขนมหวัก เป็นขนมพื้นเมืองภาคใต้โบราณ จะใช้วิธีการ
    • หยอดแป้งที่ผสมด้วยข้าวสวย ถั่งเขียวบดลงในจวัก โรยด้วยถั่วงอก กุยช่าย วางกุ้งสด นำทอดในกระทะจนกรอบ ให้กินกับน้ำจิ้ม ที่รสชาติออกหวานนำเผ็ด และเปรี้ยว
    • ข้าวฟ่างกวน  ก็เป็นขนมที่หากินยาก ต้องรอสั่งแบบกินขนมอร่อยต้องทำใจ มีอยู่เจ้าเดียว ยังไม่มีการสืบทอด  
    • ขนมทองเอก / ขนมปั้นสิบ อันนี้มีจำหน่ายที่ร้านสองแสนทุกวัน 
    • กล้วยปิ้ง เป็นการนำกล้วยน้ำว้ามาปิ้งย่างจนสุกกรอบ บีบผลกล้วยให้แตกแบนๆ แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมรสชาติออกหวานนำเค็ม 
    • ขนมม่อชิ (การอจี๊) เป็นขนมแป้งทอดจนสุกแบบกรอบนอกอ่อนใน เวลารับประทานตัดเป็นชิ้นเล็กๆโรยคลุกด้วยน้ำตาลทรายผสมงา 
    • ไอศกรีมใส่ไข่ นายยิว  เป็นไอศครีมกะทิโบราณรสชาติดีหวานมันอร่อยทำขายมานานในย่านนี้เป็นที่นิยมของเด็กและผู้ใหญ่บางครอบครัวรู้จักกินมาตั้งแต่ครั้งรุ่นพ่อยังเรียนหนังสือต่อมาถึงยังรุ่นลูก
    • ขนมไทยร้านสองแสน
  • โจ๊ก ร้านเกาะไทยเป็นอาหารมื้อเช้าที่มีรสชาติชึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของย่านนี้ขนมและอาหารการกินไทย-จีน เก่าแก่ดั้งเดิมที่มีชื่อเสียงของสงขลา
  • หมี่ผัดโบราณ หมี่ฮุ้นผัดเปียก  ผัดโส้ย-คล่อง จะมีขายช่วงเย็น ถึงค่ำ ทำขายมานาน ใช้เส้นหมี่ฮุ้นผัดใส่เต้าหู้ หมู โดยผัดในกะทะใหญ่ครั้งละจำนวนมากจานตามจำนวนคนสั่ง เวลาตักแบ่งใส่จานใครคล่องหรือเฮง(โชคดี)ก็ได้ส่วนแบ่ง หมู เต้าหู้ มาก ใครโส้ยหรือซวย(โชคไม่ดี) ก็ได้หมู เต้าหู้เพียงไม่กี่ชิ้น หรือไม่ได้เลย
  • ก๋วยเตี๋ยวใต้โรงงิ้วหรือก๊วยเตี๋ยวห้อยขาของป้านี ขายอยู่ใต้โรงงิ้วบริเวณศาลหลักเมืองสงขลาทุกวันขายมานานตั้งแต่ตั้งโรงงิ้วใหม่ หรือตั้งแต่ป้าณียังสาว ทุกวันนี้(๒๕๕๓)ป้าณีอายุ ๘๐ กว่าปี ก็ยังคงขายอยู่โดยมีลูกมือป้าณีคุมสูตรการปรุงเพียงอย่างเดียว แต่เวลากินต้องก้มมุดเข้าไปนั่งกินใต้โรงงิ้ว เป็นก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเอ็นหมูทำเอง สด-ใหม่ รสชาติอร่อย หากสั่งพิเศษจะมีไก่ตุ๋นจนเปื่อยตักแถมให้

 

นับตั้งแต่หัวถนนยะหริ่งไปทางทิศใต้ คือบริเวณย่านเก้าห้องบนถนนนางงาม

ถนนนางงาม หรือเก้าห้อง ยังเป็นย่านที่อยู่ของร้านตัดเย็บเสื้อผ้าเก่าแก่ ช่างชาวจีนฝีมือดีของสงขลา หลายร้าน  อาทิ

  • ร้านวิทยาภูษา
  • ร้านมิตรชาย
  • ร้านมิตรภูษา
  • ร้านเฟิร์สแฮนด์
  • ร้านฉอย

 และเนื่องจากถนนนางงามอยู่ในย่านกลางใจเมืองใกล้ตลาด ยังคงมีสามล้อถีบพ่วงข้าง หรือล่อหลี เก่าๆกับคนถีบแก่ๆยังมีถีบรับส่งผู้โดยสารให้เห็นอยู่บ้างแบบบางตา น่าเสียดาย ว่าสามล้อถีบพ่วงข้างหรือล่อหลี กำลังจะสูญพันธุ์ไปจากสงขลา ตามคำว่า “ล่อหลี” ที่ใช้เรียกสามล้อในยุคก่อนที่เด็กยุคนี้ไม่รู้จักความหมาย คล้ายๆกับ คำว่า “เขก” ที่เป็นหน่วยนับเงินตราซึ่งมีค่าเท่ากับ ห้าสิบสตางค์ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

 

ล่อหลี หรือสามล้อถีบพ่วงข้าง ยังคงมีถีบรับ-ส่งผู้โดยสารให้เห็นอยู่บ้างแบบบางตา

 

 

หมายเลขบันทึก: 373118เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2010 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ชิมแล้วเกือบทุกอย่างตัวแม่ไปเองหายห่วงร่อนไปทีละร้านอุอหนุนทั่วหน้าไม่ทำให้เจ้าไหนเสียใจเลยเร็วๆนี้จะมีโครงการ1วันยำมันทุกร้านตั้งต้นแต่เช้าเลยกินครบทุกร้านยาวไปถึงเย็นพอดี สุขใดหาไหนปาน

ขอบคุณที่แวะเข้ามาทักทายเยี่ยมชม

ถ้าไปสงขลาตรงกับวันศุกร์และเสาร์ มีถนนคนเดินชื่อ"สงขลาแต่แรก"(หมายฟามว่าสงขลาแต่เก่าก่อน)เริ่ม4โมงเย็นจนถึง3ทุ่ม มีของกินโบราณด้วย นายกฯเทศมนตรีกำลังลุ้นให้คนที่รู้สูตรอาหารเก่าๆช่วยเอาออกมาโชว์เยอะๆ

สงขลานอกจากวันศุกร์-เสาร์ที่มีบรรยากาศของถนนคนเดินที่มีวิถีเมืองแบบเดิมๆผสมใหม่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ หากมาเที่ยวสงขลาเช้าวันอาทิตย์มีตลาดวิถีบ้านๆที่มาจากโซนบก และโซนเหนือมีสินค้าและวิถีที่น่าสนใจมาก เทียบได้กับตลาดจตุจักรของกรุงเทพ แต่ที่สำคัญคือตลาดรถไฟแห่งนี้เป็นที่ระบาย แลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้าน กับชาวเมือง มายาวนานเกือบ ๓๐ ปี น่าสนใจมาก

สวัสดีครับ ถือเป็นความโชคดีอย่างมากของผมที่ค้นคว้าเจอของมูลเว็บไซต์นี้ครับ พอดีผมและกลุ่มกำลังศึกษาเรื่อง "รถสามล้อพ่วง" ของจังหวัดสงขลาครับ เผอิญ ได้เจอคำศัพท์ใหม่ว่า "ล่อหลี" ซึ่งเกิดเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งครับว่ามีที่มาที่ไปของคำนี้อย่างไร โดยเบื้องต้นได้ข้้อมูลเพิ่มเติบของศัพท์จากสารานุกรมภาคใต้ครับ ซึ่งอธิบายว่า "ลอหลี้" "ล่อหลี" นั้นจากภาษาอังกฤษ คำว่า "Lorry" ซึ่งมีความหมายว่า "รถบรรทุก" เป็นภาษาอังกฤษที่ใช้โดยชาวจีนครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระผมก็ใครที่จะได้เรียนรู้เพิ่มเติมอีก จึงเรียนมาถามข้อมูลดังกล่าวมาครับ จักขอบพระคุณอย่างสูงครับ (นิสิต ม.ทษ)

รู้แต่ว่าคุณกมลทิพย์ สุดลาภา เป็นธิดาในขุนระบินประกาศ ผู้ที่มีชื่อเสียงย่านถนนเก้าห้อง สงขลา

ร้านก๋วยเตี๋ยวผัดอยู่ตรงไหนเหรอค่ะจะลองไปทานดู คือทุกร้านที่ว่ามาทานหมกเล้ว ยกเว้นเเค่ร้านนี้ อยากไปลองทานดู

เบี้ย ๕๐ ตังค์ บ้านครู

ขอปรับเรื่องเหรียญ ๕๐ สต.คนบ้านผม อ.หาดใหญ่ จะเยียกว่า “โขก” ๑ โขก = ๕๐ ตางค์…….

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท