รู้สึกว่าละครทีวีเรื่องไทรโศกจะไม่ค่อยส่งเสริมจุดมุ่งหมายการจัดการศึกษาที่ว่า “เก่ง ดี มีสุข” สักเท่าไหร่...


     ขณะที่จุดมุ่งหมายการจัดการศึกษาตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 6 ที่ว่า “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา  ความรู้  และคุณธรรมจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต  สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”  ที่เราเรียกกันคุ้นหูว่า “เก่ง  ดี  มีสุข” นั้น
     ขณะเดียวกันผมก็มีความรู้สึกว่าละครทีวีไทยซึ่งเป็นสื่อสารมวลชนที่คนทุกเพศทุกวัยดูกันมากส่วนใหญ่ กลับผลิต-สร้าง - นำเสนอ ไม่ค่อยสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการจัดการศึกษาดังกล่าว โดยเฉพาะละครที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญมากขณะนี้คือเรื่องไทรโศก
      ปกติผมไม่ค่อยสนใจดูละครไทยทำนองนี้นัก  แต่ชอบดูละครเกาหลีมากกว่า โดยเฉพาะขณะนี้ชอบดู เรื่องซอนต๊อกฯ แต่พอได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องไทรโศกกันหนาหู  ก็เลยเปิดดูเมื่อคืนที่แล้ว ซึ่งเป็นตอนก่อนอวสาน
        เมื่อฟังจากคำบอกเล่าเชื่อมโยงกับการดูตอนก่อนอวสานก็พอจะปะติดปะต่อมาแสดงความเห็นได้บ้าง  ซึ่งที่จริงละครไทยอีกหลายเรื่องก็จะเดินเรื่องไปในทำนองนี้ ที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการจัดการศึกษา  กล่าวคือ
       ตัวละครที่เป็นพระเอก/นางเอก  มักจะสวมบทบาทเป็น  “คนไม่ค่อยฉลาด(โง่)  แต่เป็นคนดีเสียเหลือล้น  และมีชีวิตที่ระทมทุกข์ไม่มีความสุขเกือบตลอดเรื่อง”  จะพบกับความสุขก็เมื่อตอนจบเรื่อง(อวสาน) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎแห่งกรรม(แบบแข็งทื่อ)   ดูเมื่อใดก็รู้สึกขัดใจ(ตรงนี้มั๊งที่เขาเรียกว่าน้ำเน่า)  จะสร้างให้พระเอก นางเอก เป็นคนฉลาด ทันคน  แล้วเป็นคนดี  และประสบผลสำเร็จในชีวิตอย่างมีความสุข ในแต่ละฉากละตอนบ้างไม่ได้หรือ  ทำไมต้องรอให้พบความสุขเมื่อตอนจบด้วย
       ตัวละครที่เป็นตัวโกง/ตัวร้าย  มักจะสวมบทบาทเป็น  “เป็นคนฉลาด  ไม่เป็นคนดี  แต่ก็พบกับความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่”  จะพบกฎแห่งกรรมก็เมื่อตอนอวสาน  ก็ขัดใจอีกเช่นกันว่า  ทำไมคนทำกรรมชั่วต้องรอตอนอวสานจึงจะได้รับผลกรรม  ทำเมื่อไรก็น่าจะได้รับผลทันที
       นอกจากนี้การแสดงบทบาทของตัวละครไม่มีความพอดีเลย  ร้ายก็ร้ายสุดๆ  ดีก็ดีสุดสุด(จนโง่) แล้วแสดงอารมณ์ที่รุนแรงทั้ง  คำพูด(กรีดร้อง) และการกระทำ  จะว่าละครสะท้อนชีวิตจริง ผมว่าในชีวิตจริงก็ไม่ค่อยจะเห็นเว่อร์ๆเหมือนในละคร   จะเกิดก็เพราะการลอกเลียนแบบจากละครที่กรอกหูกรอกตาทุกวันนั่นแหละ เหมือนกับข่าวเมื่อเร็วๆนี้ที่เด็กผูกคอตายซึ่งในข่าวบอกว่าเลียนแบบจากละครเรื่องไทรโศก
          จึงอยากสะท้อนความเห็นส่วนตัวถึงผู้สร้าง  ผู้ผลิตละครทีวีว่า อยากให้เห็นแก่สังคมบ้าง  อย่าเพียงสร้างเร็ตติ้งเพื่อผลทางธุรกิจอย่างเดียว  และที่บอกคำเตือนให้อยู่ในคำแนะนำของผู้ปกครองนั้น ช่างเป็นคำแนะนำที่เป็นนามธรรมเหลือเกิน  เพราะประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเขารับรู้เต็มๆแล้วโดยไม่ต้องรอคำเตือนหรอก
         ผมอาจจะมองเพียงด้านเดียว  และขาดข้อมูลหลายๆด้านก็ได้ (หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ขออภัยด้วย) ซึ่งอาจจะมีจุดดี และมีเหตุผลที่ดีที่ทำเช่นนี้ก็ได้  จึงอยากรับฟังเหตุผล  ข้อเท็จจริง  และทางออกจากท่านที่มีประสบการณ์ด้วยครับ...      

หมายเลขบันทึก: 373092เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2010 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ไม่เคยดูละครมากนัก  นอกจากบางเรื่องที่เคยอ่านนวนิยายมาก่อน และเห็นความสำคัญ

เมื่อคืนนี้ ได้บังเอิญเดินไปที่ห้องเด็กลูกศิษย์ในความอุปการะ  เห็นคนแก่และนางร้ายกำลังจิก ตบ ตีกันพัลวัน โหดร้ายผิดมนุษย์มนา จึงทราบว่าเป็น "เรื่องไทรโศก"

ได้ตำหนิเขาไปบ้างเล็กน้อยว่า "ที่บ้านอุตส่าห์ติดจานเพื่อให้สามารถเลือกชมได้หลายช่อง เพื่อให้โอกาสเลือก น่าจะเลือกชม"

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ

คงห้ามเรื่องเนื้อหาไม่ได้เพราะมีการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์(เรตติ้ง)

แล้วค่ะ แต่สิ่งที่ผู้ผลิต สถานีและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ยอมรับอีกเรื่องคือการกำหนดเวลา

ของเรตติ้งแต่ละช่วงวัย เหตุการณ์น่าสลดนี้จึงเกิดขึ้นเพราะเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับ

prime time ถึงเวลาที่เด็กควรเข้านอน ถามถึงพ่อแม่ควรดูแลแนะนำ แต่เรตติ้งที่ออกมา

ไม่ได้ต่อยอดเรื่องจะให้พ่อแม่แนะนำลูกในการดูอย่างไร ทั้งๆ ที่พ่อแม่บ้างคนยังรู้ไม่เท่าทัน

สื่อเหล่านี้เลยค่ะ

ปล.เพิ่งได้อ่านเพราะต้องหาข้อมูลแต่เชื่อว่าอาจารย์จะช่วยเป็นกระบอกเสียงเพื่อสังคมและ

ครอบครัวได้ค่ะ

ขอบคุณในความเห็น ถึงช้าก็ไม่สายเกินไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท