กินจุกจิก.....กินจุบจิบ สนใจไหมใช้คำไหนจึงจะถูกต้อง น่าสนใจไหม


กินจุกจิก.....กินจุบจิบ สนใจไหมใช้คำไหนจึงจะถูกต้อง ถ้าจะโต้แย้งว่า กินจุกจิก ถูกต้องท่านจำนำอะไรมายืนยัน

กินจุกจิก.....กินจุบจิบ    สนใจไหมใช้คำไหนจึงจะถูกต้อง

           วันหนึ่งในวงสนทนาประสาคนร่วมอุดมการณ์บริการสาธารณะหลังจากร่วมจิบน้ำจืดไม่ใส่น้ำแข็งเพื่อสุขภาพของผู้ที่ต้องการจะมีอายุยืนยาว     ปรากฏว่ามีลูกหลานของท่านผู้อาวุโสท่านหนึ่งเข้ามาขัดจังหวะคือเข้ามาขอสตางค์จะไปซื้อขนม    ในฐานะที่เป็นปู่ของหลานก็จัดแจงให้ไป จำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัดแจ้ง   แต่ในฐานะที่เป็นปู่  ก่อนให้สตางค์ทุกกครั้งก็มีคำสอนแถมไปทุกครั้ง

             ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน   ปู่มอบสตางค์ให้หลานแล้วบอกว่า  "อย่าซื้อของกินจุบจิบซิหลานเอ้ย   กินมันให้เป็นเวลาหน่อย..."แล้วมอบสตางค์ให้หลานวิ่งหายไปในร้านฝั่งตรงข้ามที่กลุ่มของเรานั่งเสวนากันอยู่

             สมาชิกในกลุ่มท่านหนึ่งก็แย้งขึ้นมาว่าคุณปู่น่าจะพูดผิด  คำว่า "กินจุบจิบ" ที่ถูกมันน่าจะใช้คำว่า"กินจุกจิก" ถึงจะถูก

             วงสนทนาก็เลยมีประเด็นร้อนขึ้นมาโดยที่ไม่ใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมาคุยเสวนากันในเรื่องนี้   ผู้มากด้วยประสบการณ์ทั้งหลายก็แสดงความเห็นเป็นส่วนใหญ่ว่าคุณปู่ของหลานพูด"กินจุบจิบ"ผิดจริง

              แต่คุณปู่ก็ยืนยันว่าพูดไม่ผิด  ตอนเรียนหนังสือก็เคยถูกทำโทษไปหลายครั้งที่ใช้คำนี้ผิด  ถูกตีมีหรือจะไม่จำ  แต่คนจำนวนที่มากกว่าก็บอกว่า ความเห็นส่วนใหญ่ และที่ใช้กันอยู่ทุกวัน คือ"กินจุกจิก"น่าจะถูก แต่คุณปู่ก็ยืนกรานว่าแกใช้ของแกถูกต้องแน่นอน

              ขณะที่ยืนยันว่าใช้ถูกต้อง  ก็หันไปเห็นหลานเดินถือขนมออกจากร้านฝั่งตรงข้ามที่นั่งอยู่  จึงกวักมือเรียกหลานให้เข้ามาหาแล้วบอกว่า  เอ็งวิ่งไปที่บ้านปู่ หน่อยไปบอกคุณย่าให้เอาพจนานุกรมภาษาไทยที่วางอยู่ที่หัวเตียงให้ปู่หน่อย  เจ้าหลานก็วิ่งกลับไปบ้านปู่ซึ่งอยู่ห่งไปแค่สามช่วงตึก   ไม่นานเจ้าหลานก็หอบหนังสือเล่มโตมาส่งให้คุณปู่

               คุณปู่ก็เปรยว่า  การที่เราจะเชื่อว่าใครพูดถูกหรือผิด เราต้องมีข้อพิสูจน์จากคัมภีร์ทางภาษาเป็นบรรทัดฐาน   คือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542   หลายคนก็เห็นด้วย ก็เพราะยังยืนยันว่าต่างฝ่ายต่างถูกต้อง

                คุณปู่ก็เปิดพจนานุกรมแล้วก็อ่านให้วงสนทนาฟัง

                "หน้า 318  คำ จุบจิบ   ความหมายคือ อาการที่กินพร่ำเพรื่อทีละเล็กทีละน้อย  บางทีใช้คู่กับคำกิน  เป็น กินจุบ กินจิบ  โบราณใช้คำว่า กระจุบกระจิบ   ก็มี"

              แล้วเงยหน้ามองมายังทุกคน  พร้อมถามว่าท่านผู้ใดจะโต้แย้งก็ให้นำหลักฐานมาโต้แย้งได้  วันนี้หาไม่ทันพรุ่งนี้มะรืนนี้ก็ได้ 

               ทุกคนยอมรับในความเคยชินโดยไม่เคยรู้มาก่อนว่าใช้คำนี้ผิดมาเกินค่อนชีวิต  แต่ก็อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่าคำ"จุกจิก"  ความหมายมันหมายความว่าอย่างไร

                คุณปู่ก็เลยเปิดพจนานุกรมอีกครั้ง พร้อมกับอ่านให้ทุกคนฟัง

                "หน้า 316  คำ จุกจิก ความหมายคือ รบกวน   กวนใจ  เช่นอย่าจุกจิกนักเลย   จู้จี้ เช่นเขาเป็นคนจุกจิกเล็กๆน้อยๆ  เบ็ดเตล็ดคละกัน เช่นในกระเป๋ามีแต่ของจุกจิก  กระจุกกระจิกก็ว่า"

               เล่ามาแค่นี้ก็น่าจะพอจับเอาสาระได้แล้วว่าเราใช้ถูกหรือผิดกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะถึงแม้จะเคยมีการถกเถียงถึงการใช้คำพูดที่ใช้กันผิด ๆ  และมักยึดเอา ความนิยมมาเป็นข้ออ้าง  คำว่า ความนิยมหมายถึงคำที่มักใช้กันมากในแถบนั้นๆ  โดยที่ไม่มีใครมาบอกกล่าวว่ามันถูกผิดอย่างไรและเอาอะไรมาอ้างอิงพิสูจน์

               แต่วันนี้ก็ได้พิสูจน์ให้ท่านเห็นแล้วว่าการใช้คำ 2 คำนี้แตกต่างกันอย่างไร   ท่านใดได้อ่านแล้วถ้าจะโต้แย้งผู้เขียนบันทึกนี้   ก็สามารถโต้แย้งได้แต่ต้องนำเอกสารอ้างอิงมาโต้แย้งด้วย   แต่ผู้บันทึกก็ขอยกเอาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542  มาอ้างอิง และโอกาสผิดพลาดไม่มีแน่นอน

                                  ธนา    นนทพุทธ 

หมายเลขบันทึก: 372875เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2010 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท