เกษตรยั่งยืน


          เกษตรยั่งยืนหรือวัฒนเกษตร หมายถึง แนวคิดหรือหลักการในการทำการเกษตรที่เน้นถึงความเหมาะสม ความพอดี ประหยัดทรัพยากร ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยวัฒนเกษตรมีหลายระบบที่เหมาะแก่แต่ละระบบเกษตรนิเวศ และนอกจากนิยามในเชิงกายภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร รายได้และสภาพแวดล้อมแล้ว ความยั่งยืน ยังหมายถึง ความสามารถที่จะรักษาระบบสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของระบบเกษตรกรรมที่คนไทยพึงปรารถนาและต้องการรักษาไว้ ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้ความสำคัญต่อระบบคุณค่า วิถีชีวิต วัฒนธรรม เป็นแบบแผนแห่งการจัดการทรัพยากร และเป็นความรู้ที่เป็นองค์รวม มีมิติซับซ้อน เป็นความรู้เฉพาะที่ เฉพาะสถานการณ์ ต้องอาศัยการเรียนรู้ โดยกระบวนการเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนมีรูปแบบเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบและหลายวิธีการ เช่น ประสบการณ์พัฒนาการเกษตรของเกษตรกร การศึกษาดูงาน การทำวิจัยท้องถิ่น หรือการจัดเวทีเรียนรู้ร่วมกัน และอาจไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนที่คนในชุมชนต้องร่วมกันหาทางออกจนมาสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตทางการเกษตรมาสู่เกษตรกรรมยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ทุกรูปแบบจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่นักวิชาการหรือนักพัฒนาต้องให้การสนับสนุนหรือร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการทำงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานในชุมชนต้องให้ความสำคัญและช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้วย เนื่องจากเกษตรกรจะเป็นผู้ที่รู้ปัญหาของตนเองมากที่สุด และเกษตรกรไม่ได้โง่ จน เจ็บ ตามที่โดนกล่าวหา แต่เกษตรกรหลายรายเป็นผู้มีความรู้และความสามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมได้

          ระบบเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีปริมาณมาก ได้ก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมายไม่เฉพาะแต่ในด้านอาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงปัญหาในครอบครัวและปัญหาสังคม และจากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรม ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ การเปลี่ยนไปในแนวทางใหม่อย่างแท้จริง สู่รูปแบบเกษตรกรรมที่เน้นรักษาระบบนิเวศ และการปรับปรุงแนวทางเดิมให้มีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีแผนใหม่

อ้างอิงข้อมูลจาก

จรัญ  จันทลักขณา. 2536. วัฒนเกษตร การเกษตรยั่งยืน. เอกสารประกอบการบรรยายในการประชุมหัวหน้าภาควิชาสัตวบาล/สัตวศาสตร์ทั่วประเทศ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี.

ฉัตรทิพย์  นาคสุภา. 2549. “เศรษฐกิจชุมชนบนฐานเกษตรกรรมยั่งยืน”. ในอัจฉรา  รักยุติธรรม (เรียบเรียง). เกษตรกรรมยั่งยืน: หลากหลายมุมมองส่องทางเกษตรกรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิมพ์ดี.

ชลิตา  บัณฑุวงศ์ ณรงค์  อ่วมรัมย์ ภาสกร  อินทุมาร ภัทรพร  กีรติวิทโยฬส วิภา  สุขพรสวรรค์ บุญสุข  เตือนชวัลย์ อรุณี  เวียงแสง และอนุสรณ์  อุณโณ. 2547. ความรู้และกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน. กรุงเทพฯ: เจ แอนด์ เจ กราฟฟิค ดีไซน์.

เดชา  ศิริภัทร. 2551. “ปัจจุบันและอนาคตของระบบเกษตรกรรมทางเลือกในประเทศไทย”. ในวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ (บรรณาธิการ). เส้นทางเกษตรกรรมยั่งยืน. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดีการพิมพ์.

คำสำคัญ (Tags): #เกษตรยั่งยืน
หมายเลขบันทึก: 372074เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2010 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 01:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I like this words "แต่เกษตรกรหลายรายเป็นผู้มีความรู้และความสามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมได้" 555.

But most persons in Th did not beleive it and think TH farmers are simply poor and stupid persons.

zxc555

เรายังขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการเกษตรยั่งยืนกันมากเพราะคิดกันเองว่าจะเป็นการถอยหลังถ้าใช้ระบบแบบนั้น และเราก็จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่เราควรจะหยุดสักนิดที่จะเรียนรู้เพื่อจะเข้าจริงๆ และลองปฏิบัติดูว่าจะก่อเกิดอะไรบ้าง เพราะเราก็เปลี่ยนแปลงมาในเรื่องของการปฏิวัติเขียวแล้วแต่ทุกวันนี้เกษตรกรเราก็ยังเป็นเช่นเดิม หรืออาจหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ ก็น่าจะเปลี่ยนวิธีคิดกันบ้างแล้วนะ เพื่อสังคมเราอาจจะเปลี่ยนแปลงกันบ้าง

Kratan 2010

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท