กาละ-เทศะ-นิวซีแลนด์ ๔๙: ธารน้ำแข็ง


ธารน้ำแข็ง

ตามตำนาน นี่คือ น้ำตาของหญิงสาว

ยามสูญเสียชายหนุ่มอันเป็นที่รัก

เรื่องราวของ.. ความรัก

..การพลัดพราก..

และ..ความทุกข์

  แม่น้ำวาอีฮอ
  ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑

๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑  ๑๗.๒๐ น.
ก้อนน้ำแข็งในแม่น้ำวาอีฮอ จากธารน้ำแข็งฟรานซ์โจเซฟ เกาะใต้ นิวซีแลนด์


   เหตุผลที่ทำให้ผมอยากมานิวซีแลนด์มาก คือ ธรรมชาติ และธรรมชาติอันดับต้นๆที่ดึงดูดผู้คนให้มาที่นี่ ก็คือสิ่งที่ผมกำลังจะไปสัมผัสในวันนี้ ..ธารน้ำแข็ง

   ธารน้ำแข็งในนิวซีแลนด์อาจจะไม่ใหญ่โตอลังการเหมือนที่อื่น แต่มีจุดเด่นตรงที่การเข้าถึงง่าย เป็นที่ๆเดียวที่เราสามารถเข้าถึงธารน้ำแข็งได้จากพื้นราบ ไม่ต้องเหนื่อยปีนเขาขึ้นไป ไม่ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องชุดใหญ่ สามารถเข้าถึงโดยสองเท้าของเราเองไม่ต้องพึ่งพาใครนำทาง

   ธารน้ำแข็งที่ชายฝั่งตะวันตกของเกาะใต้นี้ เป็นธารน้ำแข็งสั้นๆ แต่ส่วนหน้าสุดของมันที่ยังเคลื่อนตัวอย่างช้าๆนั้น เคลื่อนลงมาถึงเขตแนวป่าฝนชื้นใกล้ชายฝั่งมหาสมุทรมากที่สุด ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวโด่งดังไปทั่วโลก คือ ธารน้ำแข็งฟอกซ์ ( Fox Glacier)* กับ ธารน้ำแข็งฟรานซ์โจเซฟ (Franz Josef Glacier)*

   ผมเลือกไปธารน้ำแข็งอันหลังด้วยเหตุผลเดียว ..ตำนานเมารีน่าสนใจกว่า ลองอ่านดูตามข้อความสีแดงข้างล่างนะครับ

   จากเมืองฟอกซ์เกลเซียร์ ผมขับรถตามทางหลวงหมายเลข ๖ ต่ออีกไม่นานก็ถึงเมืองฟรานซ์โจเซฟ เมืองคู่แฝดที่มีที่มาเหมือนกันแต่ใหญ่กว่า ผมเลี้ยวขวาก่อนขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำวาอีฮอ (Waiho River)* แม่น้ำที่เกิดการการละลายของธารน้ำแข็ง แล้วเลียบฝั่งแม่น้ำไปจนถึงจุดจอดรถ

   จากจุดจอดรถ มีทางเดินเท้าให้เลือกเดิน ๒ เส้นทางหลัก คือ ช่วงสั้นเรียกว่า ทางเดินเท้าเซนทิเนลร็อค (Sentinel Rock Walk) ใช้เวลาไปกลับเพียง ๒๐ นาที เพื่อชมวิวห่างๆเท่านั้น กับช่วงยาว คือ ทางเดินเท้าฟรานซ์โจเซฟเกลเซียร์ (Franz Josef Glacier Walk) อันนี้ไปกลับประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง ตามข้อมูลที่ผมอ่านมาก่อน เส้นทางนี้อาจต้องลุยน้ำบ้าง แต่ช่วงนี้เป็นหน้าแล้ง และความที่อยากจะเข้าไปให้ใกล้ธารน้ำแข็งให้มากที่สุด เวลาก็มีเหลือเฟือ ผมจึงเลือกเส้นทางหลัง

   เดินผ่านป่าเตี้ยๆเพียงอึดใจเดียว ก็มาถึงจุดชมวิวแรกริมแม่น้ำวาอีฮอที่ขุ่นขาวราวน้ำนม ภาพแรกที่ทุกคนจะได้เห็นคือ ภาพข้างล่างนี้

๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑  ๑๖.๑๑ น.
ธารน้ำแข็งฟรานซ์โจเซฟ เกาะใต้ นิวซีแลนด์

   ชมวิว อ่านข้อมูลรายละเอียดความเป็นมาและการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งขนาดมหึมาตรงหน้าแล้ว ก็ได้เวลาเดินลงตลิ่งเลียบฝั่งแม่น้ำย้อนขึ้นไปหาตัวธารน้ำแข็งด้านบนกัน

   สักพักก็เห็นน้ำตกสายเล็กๆไหลลงมาจากทิวเขาด้านข้างตามภาพข้างล่าง น้ำช่วงนี้จึงใสขึ้น ก้อนกรวดเกลี้ยงๆตามลำน้ำมองเห็นลวดลายชัดเจนขึ้น ปะปนกับเศษก้อนน้ำแข็งที่ลอยมากับสายน้ำ งดงามนัก

๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑  ๑๖.๔๑ น.
น้ำตกใกล้ธารน้ำแข็งฟรานซ์โจเซฟ เกาะใต้ นิวซีแลนด์

   ความที่เป็นหน้าแล้งน้ำน้อย การเดินเท้าตามลำน้ำจึงง่ายมาก สามารถลงไปเดินอยู่กึ่งกลางแม่น้ำได้เลย อาจต้องระวังก้อนกรวดเกลี้ยงๆที่ลื่นหน่อยเท่านั้น อากาศก็เย็นสบายออกจะร้อนนิดๆ เหมาะกับการเดินออกกำลังเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าน้ำ นักท่องเที่ยวคงไม่สามารถลงมาเดินอ้อยอิ่งกันกลางลำน้ำแบบนี้ สังเกตได้จากแนวระดับน้ำบนโขดหินด้านข้างตามรูปข้างล่างนี้ ซึ่งนับว่าสูงเอาการ

๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑  ๑๗.๑๔ น.
ธารน้ำแข็งฟรานซ์โจเซฟ เกาะใต้ นิวซีแลนด์

   เดินต่อไปสักพักก็ถึงจุดที่เขากั้นเชือกไว้ไม่สามารถผ่านเข้าไป มองเห็นกำแพงน้ำแข็งเป็นพืดอยู่ตรงหน้า ถ้าอยากรู้ว่าผมเห็นอะไรอีกบ้าง ก็ลองดูวิดิโอที่อยู่ข้างล่างนี้นะครับ


* ธารน้ำแข็งฟอกซ์ (Fox Glacier) และ ธารน้ำแข็งฟรานซ์โจเซฟ (Franz Josef Glacier) ตั้งชื่อแห้งแล้งๆตามนายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ เซอร์ วิลเลียม ฟอกซ์ (Sir William Fox) กับ จักรพรรดิ์ฟรานซ์โจเซฟที่หนึ่งแห่งออสเตรีย (Emperor Franz Joseph I) มีความยาว ๑๓ กับ ๑๒ กิโลเมตร ตามลำดับ

   ชื่อในภาษาเมารีของธารน้ำแข็งทั้งสอง ตามตำนานเล่าว่า มีสาวน้อยชื่อ ฮีเนฮูคาเตเร (Hinehukatere) hine=สาวน้อย huka=หิมะ อาจจะเรียกว่าเป็นเทพีหิมะก็ได้ เธอชื่นชอบกับการปืนป่ายภูเขามาก วันหนึ่งจึงชวนคนรักหนุ่มชื่อ ตูอาเว (Tuawe) หรือ วาเว (Wawe) ไปปีนเขาด้วยกัน โชคร้ายฝ่ายชายถูกหิมะถล่มใส่ตกเขาลงมาเสียชีวิต จุดที่ตกลงมาจึงเรียกว่า เต มอเอกา โอ ตูอาเว (Te Moeka o Tuawe) มาจาก moeka=ที่พักสุดท้าย คือ ที่พักสุดท้ายของตูอาเว กลายเป็นธารน้ำแข็งฟอกซ์ ส่วนหญิงสาวก็ร้องไห้ราวจะขาดใจตายตาม น้ำตาของเธอกลั่นออกมาเป็น คา รออีมาตา โอ ฮีเนฮูคาเตเร​ (Ka Roimata o Hinehukatere) มาจาก roimata=น้ำตา คือ น้ำตาของเทพีหิมะ ฮีเนฮูคาเตเร กลายเป็นธารน้ำแข็งฟรานซ์โจเซฟ

 * แม่น้ำวาอีฮอ (Waiho River) คือแม่น้ำที่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งฟรานซ์โจเซฟ ซึ่งลดระดับอย่างรวดเร็วจากความสูงกว่า ๒๗๐๐ เมตรลงมาอยู่ที่ ๒๔๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในช่วงระยะทางเพียง ๑๑ กิโลเมตรเท่านั้น ในภาษาเมารีที่ถูกต้องเขียนว่า Waiau มาจาก wai=น้ำ au=เชี่ยวกราก คือ สายน้ำอันเชี่ยวกราก

หมายเลขบันทึก: 372052เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2010 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ้าว! อาจารย์เต็มจะไปเที่ยวนิวซีเเลนด์ เหรอคะ อยากไปด้วยจัง ไม่เป็นไรเที่ยวในบล็อกก้ได้ค่ะ ตอนนี้มาถึงสิงคโปร์ด้วยความปลอดภัยเเล้วค่ะ

พรุ่งนี้เริ่มงานเเล้ว พวกกุ้งมาพักที่ Singapore International Campus เเถวๆถนน Luturland นั่งรถเมล์ไปโรงพยาบาล 20 นาที

P

  • สวัสดีครับน้องกุ้ง
  • ถึงสิงคโปร์ปลอดภัยนะครับ
  • ผมเขียนอดีตครับ
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • อยากไปเที่ยวเกาะใต้มานาน จนตอนนี้ไม่อยากไปแล้ว อิอิอิ
  • ภาพน่าสนใจค่ะ

เป็นเส้นทางเดินที่เข้าถึงง่าย เห็นผู้คนที่เดินทอดน่อง ก้มๆ เงยๆ เดินสบายๆ ดีจังค่ะ

ขนาดน้ำน้อยยังได้ยินเสียงชัดเจน ป้ายเตือนตรงจุดอันตรายมาก หากแต่ยังสามารถเข้าไปได้ถ้ามีไกด์นำ รึคะ  ภาพสุดท้ายเห็นอ.หมอจับก้อนหินใสๆ ดูเหมือนมีเหลี่ยมมุมคมกริบ ไหมคะ

อ่านตำนานรักร้างธารน้ำแข็ง ฮีเนฮูคา คงไม่กล้าเสี่ยงชวนหนุ่มใดไต่เขาเป็นแน่แท้แล้ว

P

  • สวัสดีครับพี่แดง
  • ถ้ามีโอกาส ผมก็ยังคิดว่าน่าไปนะครับ
  • เมืองเขามีอะไรหลายๆอย่างที่เราไม่มีทั้งธรรมชาติและระบบจัดการท่องเที่ยว

P

  • ถ้าจะขึ้นไปปีนป่ายบนธารน้ำแข็งเลย ต้องไปกับทัวร์ซึ่งมีมัคคุเทศน์นำครับ เนื่องจากมันอันตราย ยังมีข่าวนักท่องเที่ยวเสียชีวิตที่ธารน้ำแข็งอยู่เรื่อยๆ เพราะมันไม่เสถียรครับ
  • ไอ้ก้อนๆนั้น คือ น้ำตาของเทพีหิมะ  .. น้ำแข็ง เลยแหละ เหมือนในรูปข้างบนสุดนะครับ

KJ

  • ด้วยความยินดีครับ
  • ตอนแรกนึกว่า อ.​ขจิต มาแซวเป็นภาษาอังกฤษที่แกถนัด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท