มหาวีโร
พระมหาสมชาย มหาวีโร มหาวีโร

สังคหวัตถุ 4 หลักธรรมแห่งการแบ่งปัน


สังคหวัตถุ 4 เป็นเหมือนกุญแจนำชีวิต เข็มทิศนำสังคมให้ก้าวไปสู่สันติภาพ ความสงบสุข และลดการย่ำยีบีฑากันและกัน มองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งมีชีวิตที่จะคอยดำรงช่วยเหลือ ไม่มองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันคือเหยื่อที่จะคอยเอารัดเอาเปรียบกัน

 

 

สังคหวัตถุ 4

สังคมไทยทุกวันนี้จำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้หลักธรรมในเรื่องของสังคหวัตถุ 4ให้มากๆ เพราะว่าเป็นหลักธรรมที่ช่วยเหลือเกื้อหนุนกันในสังคม เพราะสังคมต้องการเยียวยาจากบาดแผลแห่งความขัดแย้ง ซึ่งสังคหวัตถุ มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการคือ

1. ทาน หมายถึงการให้ การแบ่งปัน การจุนเจือ สามารถแบ่งออกเป็น 3 อย่างคือ

1.1 อามิสทาน หมายถึง การให้สิ่งของที่เป็นวัตถุ การช่วยเหลือด้วยสรรพกำลังวังชาที่เรามีอยู่ เป็นต้น

1.2 อภัยทาน หมายถึงการให้อภัยกันและกัน ไม่พยาบาทจองเวรกันและกัน แม้แต่การให้อภัยศัตรูที่มามุ่งร้ายหมายขวัญเรา ก็ควรที่จะให้อภัย แต่บางคนกลับไม่เป็นอย่างนั้น กลับมีแนวคิดที่ว่า “บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ” “ทีเอ็งอย่าว่า ที่ข้าเอ็งอย่าโวย” ซึ่งถ้าหากว่าเรามองข้ามตรงนี้ และหันไปสมาทานหลักอภัยทานเราก็จะได้หลักที่ว่า  “บุญคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องให้อภัย”  และปรัชญาจีนกล่าวว่า “วางดาบประหาร สำเร็จเป็นอรหันต์”

1.3 ธรรมทาน หมายถึง การแนะนำในสิ่งที่ดี  ทานข้อนี้ถือว่ามีผลมากกว่าทานอื่นๆ ดั่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรับรองว่า “การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักธรรมในเรื่องของทานมีหลายแห่งเช่น บุญกิริยาวัตถุ 3, บารมี 10, ทศพิธราชธรรม, เป็นต้น และทานก็เป็นหนึ่งในหลักธรรมของสังควัตถุ 4 อีกด้วย

2. ปิยวาจา

ปิย แปลว่า น่ารัก, วาจา แปลว่า การพูด

หมายถึง การพูด การจา ด้วยถ้อยคำสัจ ไม่พูดปด มดเท็จ และกล่าวด้วยคำไพเราะเสนาะหู คือ "ปากหวาน ขานไพเราะ" เจรจาด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ซึ่งเป็นคำที่ฟังแล้วระรื่นหู ไม่แสลงหู อันเป็นการทำลายมิตรและไม่สร้างศัตรู เพราะทุกคนต่างก็ชอบฟังคำหวานและขานไพเราะทั้งนั้น คำพูดนั้นเมื่อเราพูดไปแล้วมันจะเป็นนายของเรา ฉะนั้นเราก่อนพูด ควรคิดไตร่ตรอง ว่าคำพูดนั้นเป็นคำแสลงหูหรือไม่ ทิ่มแทงใจคนอื่นหรือเปล่า และคำพูดนั้นถ้าหากว่าคนอื่นมาพูดกับเรา มันเป็นคมมีด คมดาบมาทำร้ายอันตรายหลังจากได้พูดไปแล้วหรือไม่

 ปิยวาจา มีประโยชน์อย่างไร?

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแล้วกัน ชายหนุ่มหน้าตาดีสองคน คนหนึ่งเป็นคนหยาบคาย ตรงกันข้ามกับชายหนุ่มอีกคน ที่พูดด้วยถ้อยคำไพเราะเสนาะหู ทั้งสองถือพ่ายเท่ากันนั้นก็คือ มีใบหน้าค่าตาหล่อหลาว ถ้าเทียบกับดาราก็เท่ากับโดม ปกรณ์ลัม แต่ต่างกันตรงที่ วาจา ที่ใช้พูดออกมานั้นต่างกัน ทั้งสองคนนั้น อยากจะจีบลูกสาวของคนหัวล้าน แน่นอนเลยว่า คนหัวล้านจะมีอุปนิสัย (Personal Characteristics) ขี้น้อยใจ มิหนำซ้ำยังหวงลูกสาวอีกต่างหาก ศึกทั้งคู่นั้นยิ่งใหญ่นัก เขาทั้งสองก็เลยหากุศโลบาย จีบลูกสาว ได้ยินว่า ตาเฒ่าหัวล้านคนนั้น มีวัวอยู่สองตัว ก็เลยทำทีว่าขอซื้อวัว คนแรกที่พูดไม่ไพเราะ เปิดศึกก่อน ไปถึงบ้าน ตาเฒ่าหัวล้านคนนั้น ก็เปล่งวาจาว่า "นี้ ตาเฒ่าหัวล้าน จะขายวัวเท่าไหร่ว่ะ" ตาเฒ่าหัวล้านได้ยินคำไม่ไพเราะ ไม่พูดไม่จา ทำหน้าขึงขัง ขึ้นไปบนบ้าน หยิบปืนลูกซองไล่ยิงชายหนุ่มคนนั้น วิ่งหนีแทบไม่ทัน ทีนี้ถึงคิวของชายหนุ่มที่พูดไพเราะ ไปถึงบ้านตาเฒ่าหัวล้านคนนั้น พร้อมเอ่ยวาจาสำบัดสำนวนว่า "พ่อเอ๋ย พ่อผมดกปกใน หน้าไล้เฉลิมทอง วัวของพ่อทั้งสอง พ่อจะขายเท่าไหร่" ด้วยวาจาที่หนุ่มคนนี้พูด คนฟังได้ยินแล้ว มันต่างกันมากกับคนแรก ตัวเหมือนกับลอยขึ้น จิตใจฟู ตาเฒ่าหัวล้านยิ้มแก้มปริ พร้อมเอ่ยขึ้นว่า " ลูกเอ๋ย ลูกกู วัวของพ่อทั้งคู่ ลูกจงเอาไปเถิด" เห็นไหม ได้วัวมาฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ด้วยคำพูดอันอ่อนหวาน ภาษาบาลีเขาเรียกว่า สณฺหสุขุมํ คือทั้งละเอียดทั้งสุขุม ทีนี้ ชายหนุ่มที่พูดไม่ไพเราะ เห็นอย่างนั้น เกิดความอิจฉา ก็ไปยุแยงตะแครงรั่ว กับลูกสาวหัวล้านบอกว่า ไอ้หนุ่มคนนั้นอ่ะ ที่เอาวัวไป มันไปนินทา ตาแก่หัวล้าน โง่ งกงัน แก่ก็แก่ เป็นต้น ลูกสาวฟังแล้วก็อาฆาต ไปบอกกับพ่อว่า " พ่อๆ ต้องไปเอาวัวมาคืนน่ะ พ่ออย่ายอมเป็นอันขาด เขามาว่า พ่อหัวล้าน ขี้น้อยใจ" ตาเฒ่าหัวล้าน ฟังยังไม่ทันจบ ก็คว้า ไม้ปฏัก จะไปตีชายหนุ่มพูดไพเราะคนนั้น มือกำลังเงื้อจะตี ชายชายตาเห็น แล้วพูดขึ้นว่า " พ่อเอ๋ย พ่อผมดกปกบ่า พ่อวิ่งละล้า ละหลังจะไปไหน?" ตาเฒ่า เปลี่ยนใจ จากความโกรธเป็นความรักเมตตา แล้วเอ่ยขึ้นว่า " ลูกเอ๋ยลูกรัก พ่อลืมปฏัก เลยนำมาให้" ได้ฟรีอีกแล้ว ทีนี้ได้ทั้งวัว ได้ทักปฏัก ตาเฒ่าหัวล้าน เดินกลับมาบ้านมือเปล่า ลูกสาวเห็น ก็พูดว่า " พ่อ ลูกให้ไปเอาวัวมาคืน ไหนหล่ะ วัวอยู่ไหน แล้วนี้ ปฏักที่พ่อถือเอาไปจะไปเอาวัวมาคืน ลืมไว้ไหนหล่ะ" พ่อของหญิงสาวคนนั้นตอบว่า " พ่อให้เขาไปแล้ว เขาพูดไพเราะ พ่อทำร้ายเขาไม่ลงหรอกและก็ฝืนใจเอาวัวที่ให้ไปกลับมาไม่ได้หรอก" ลูกสาว ไม่ยอม ดึงแขนพ่อให้ไปเอาวัวมาคืนให้ได้ บอกว่า " งั้น พ่อไปกับหนู ต้องไปเอาวัวกับปฏักคืนมาให้ได้" ทั้งคู่เดินไปด้วยใจมุ่งมั่นจะเอาของที่สูญไป มาคืนให้ได้ พอไปถึงที่หนุ่มคนนั้นกำลังผูกวัวอยู่ ทั้งคู่ถือเชือกจะดึงวัวมาคืน ชายหนุ่มที่พูดไพเราะ กล่าวว่า " พ่อเอ๋ย พ่อผมดก ปกเกล้า พ่อจูงลูกสาวจะไปไหน?" ตาหัวล้าน คิดในใจ (คิดในใจแต่กระผมได้ยิน กร๊ากกก.....) เอาอีกแล้วกรู ชมเราอีกแล้ว จิตใจพองขึ้น เหมือนกับมดได้น้ำตาล แล้วพูดขึ้นว่า " ลูกเอ่ย ลูกแก้ว พ่อนั้นแก่แล้ว เลยนำลูกสาวมาให้" เห็นไหม อานิสงส์ของการพูด การจาที่ ไพเราะเสนาะหู นั้นมีคุณประโยชน์ต่อคนพูด และมีคุณค่าต่อคนฟังมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ให้แง่คิดว่า การพูด ถือว่าเป็นบรรไดของการคบค้า สมาคม และเป็นหลักประกันแห่งการผูกมิตร เป็นหลักแห่งการเชื่อมสะพานต่อการปฎิสัมพันธ์ต่อคนใกล้ชิดอีกด้วย

3.อัตถจริยา คือการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ หมายความว่า การทำตนให้มีค่า ไม่ว่าเราจะสูง ต่ำ ดำ ขาว เป็นเพียงแค่คนธรรมดา แต่ว่ามีค่าต่อสังคม ก็ถือว่าเขาผู้นั้นทำคนให้เป็นมนุษย์ ทำคนให้เป็นสัตว์ประเสริฐได้ อัตถจริยามีความหมาย 2 ประการ คือ

1. การประพฤติตนใม่ให้เดือดร้อน

2.การไม่ระรานหรือเบียดประโยชน์ของบุคคลอื่น การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นต้น

อัตถจริยา เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและต่อผู้อื่น ไม่เล็งเห็นประโยชน์ของตนจนก้าวล่วงเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อสนองความต้องการของตน ดั่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์ธรรมบท ขุททกนิกายว่า

อฺตทตฺถํ ปรตฺเถน                 พหุนาปิ น หาปเย

อตฺตทตฺถมภิญฺญาย              สทตฺถปฺปสุโต สิยา

แปลว่า บุคคลไม่ควรทำประโยชน์ตนให้เสียไป (แม้แต่น้อย) เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก  (ต่อเมื่อ) รู้แจ้งประโยชน์ตนก่อนแล้ว จึงควรขวนขวายในประโยชน์ผู้อื่น

 

4.สมานัตตา หมายถึงการวางตัวอย่างเสมอต้นเสมอปลาย วางตัวให้ถูกต้องตามกาลเทศ ไม่ใช่พอตัวเองได้ดิบได้ดี ก็ลืมเพื่อนพ้องน้องพี่ ญาติสนิทมิตรสหาย ที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลเรา มีความหมาย 2 ประการคือ

1. การวางตัวในสถานะ เช่น การวางตัวในครอบครัว การวางตัวในสังคมเป็นต้น

2.การประพฤติตนอยู่ในความเสมอภาค เช่น การไม่เอารัดเอาเปรียบเพื่อนสนิทมิตรสหาย ไม่ฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน เป็นต้น

สังคหวัตถุ 4 เป็นเหมือนกุญแจนำชีวิต เข็มทิศนำสังคมให้ก้าวไปสู่สันติภาพ ความสงบสุข และลดการย่ำยีบีฑากันและกัน มองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งมีชีวิตที่จะคอยดำรงช่วยเหลือ ไม่มองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันคือเหยื่อที่จะคอยเอารัดเอาเปรียบกัน

หมายเลขบันทึก: 371223เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2010 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท