การพัฒนาหลักสูตรและวิธีเป็นครูโรงเรียนอสม : ๑๑.การนำเสนอแผนการสอนและสาธิตกระบวนการเรียนรู้ของครูโรงเรียนอสม.


    การสะท้อนบทเรียนสู่การวางแผนปฏิบัติการเมื่อกลับสู่ชุมชน 

หลังจากเวทีได้ร่วมกันทบทวนประสบการณ์ ได้แนวคิดและวิธีกลับไปค้นหากลุ่มคนทั้งอสม.ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนแหล่งความรู้บุคคลที่จะสามารถเข้าถึงได้ในชุมชนแต่ละท้องถิ่นของภูมิภาคต่างๆแล้ว เพื่อให้มีโอกาสวิเคราะห์และวางแผนทำงานให้คืบหน้าสำหรับกลับไปขับเคลื่อนงานในชุมชนไปด้วยและได้เสริมการเรียนรู้ไปตามความจำเป็นที่เกิดขึ้นจากการทำงานไปด้วย ในขั้นต่อไป ผมจึงจัดกระบวนการให้เวทีได้เรียนรู้จากการทดลองทำงานจริงให้ได้งาน ๓ ชิ้นคือ
      (๑) งานชิ้นที่ ๑  วางแผนค้นหาครูอสม.และผลผลลัพธ์ที่ชุมชนต้องการ  ระบุแนวการค้นหาครูอสม. ๑๐-๒๐ คนที่สามารถสร้างให้เป็นครูโรงเรียนอสม.สำหรับขับเคลื่อนเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในระดับชุมชน ให้กลุ่มตั้งเป้าหมายก้าวเล็กๆแต่ให้ได้ประสบการณ์เชิงกระบวนการครบ  ระบุผลลัพธ์ที่ต้องการในการกลับไปค้นหาครูอสม.และการสร้างเครือข่ายครูอสม.เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน เป็นการระบุผลลัพธ์ในการก้าวเดินก้าวเล็กๆและเน้นการเรียนรู้เชิงกระบวนการเพื่อให้มีประสบการณ์ตรงและได้ความมั่นใจในการกลับไปพัฒนาเครือข่ายดำเนินการโรงเรียนอสม.ในชุมชนของตน
     (๒) งานชิ้นที่ ๒  วางแผนพัฒนาครูอสม.เพื่อนำหลักสูตรไปใช้   วางแผนดำเนินการค้นหาครูอสม.และจัดกิจกรรมพัฒนาครูอสม.เพื่อนำหลักสูตรไปใช้ในชุมชน ให้ครูอสม.ได้เรียนรู้เนื้อหาการทำงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการ เป็นการให้ทุกกลุ่มได้วางแผนบูรณาการประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับ ออกแบบแนวคิด ทำแผนที่การเดินให้สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ สอดคล้องกับศักยภาพและทุนทางสังคมของท้องถิ่น
      (๓) งานชิ้นที่ ๓  วางแผนการสอนเพื่อปฏิบัติการ  การวางแผนการสอนเพื่อจัดเวทีพัฒนาครูอสม.ที่ได้ร่วมกันค้นหาตามกรอบแนวคิดที่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นแนวในการเตรียมคนและเตรียมบริหารจัดการต่างๆของทีม เป็นการให้กลุ่มนำเสนอและสาธิตการปฏิบัติการ ทั้งเพื่อให้เวทีได้งานและได้กระบวนการเรียนรู้ตามที่ต้องการ

   ให้วิธีทำงานเป็นกลุ่มและบริหารจัดการการทำงานให้เป็นกลุ่มเรียนรู้

ผมจัดกระบวนการให้กลุ่มเป็น ๔ ช่วงเพื่อดำเนินการให้เสร็จสิ้ก่อน ๑๑ โมง ของวันอาทิตย์หรือวันที่สามของการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีเวลาสำรองสำหรับยืดหยุ่นเผื่อเหลือเผื่อขาด ๒ ชั่วโมงถึงไม่เกินบ่ายโมง คือ 
       (๑)  บริหารจัดการในกลุ่มตนเองเพือทำงานอย่างเต็มที่  ใช้เวลาทั้งหมดหลัง ๔ โมงเย็นเป็นต้นไปของการอบรมเชิงปฏิบัติการของเราในวันที่สองซึ่งเป็นวันเสาร์กระทั่งถึง ๘ โมงครึ่งในเช้าของวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวัดเสร็จสิ้นการอบรมให้เป็นเวลาทำงานและเตรียมการนำเสนอของกลุ่ม 
       (๒)  ทบทวนบทเรียนและเตรียมการนำเสนอ เชิญพร้อมกันในห้องประชุมและทำกิจกรรมเตรียมความพร้อมประมาณ ๑ ชั่วโมง
       (๓)  นำเสนอและสาธิตการสอน ทุกกลุ่มนำเสนอแผนที่ผลลัพธ์ แผนการสอน และสาธิตกระบวนการ ที่วางแผนสำหรับกลับไปปฏิบัติการในชุมชนของทุกกลุ่ม
       (๔)  สรุปและประชุมหารือแผนงานของโครงการ คณะทำงานของโครงการจากศูนย์สุขภาพภาคประชาชนร่วมกันสรุป ประชุมปรึกษาหารือเพื่อประสานงานและดำเนินการต่างๆต่อไป

   กิจกรรม งาน เงื่อนไข เพื่อได้การเรียนรู้เชิงกระบวนการจากการทำงานจริง 

  • ปรับปรุงหลักสูตรให้เอาไปสอนได้ หรือ....
  • พัฒนาหลักสูตร (วิธีเป็นครู โรงเรียน อสม / ขับเคลื่อน เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค)
  • ระยะเวลา    ชั่วโมง  วัน (ให้ระบุ)
  • ตัวเลือก (เลือกทำอย่างเดียวให้เสร็จ)
    (๑) จัดอบรม บรรยาย สอนถ่ายทอดเนื้อหา
    (๒) สอนผ่านการจัดแหล่งเรียนรู้และฐานการเรียนรู้
    (๓) จัดกระบวนการ และการสอน ผ่านการระดมปราชญ์ชาวบ้านและคนที่มีในชุมชนของเรา
    (๔) จัดการสอนผ่านสื่อ
  • เนื้อหาสำหรับให้เลือกทำในกรณีที่คิดไม่ออกหรือหาข้อยุติในการเลือกทำไม่ได้ ให้กลุ่มเลือกวางแผนการสอนวิธีทำหน้าที่เป็นครูให้แก่อสม.ที่ค้นหาได้ให้มีโอกาสเตรียมทักษะความพร้อมทางด้านต่างๆเพื่อเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีมากยิ่งๆขึ้นดังนี้
    (๑) การพูดและออกความเห็นในเวทีชุมชน
    (๒) การทำสื่อง่ายๆและการใช้
    (๓) วิธีเลือกคน .....ฯลฯ
  • มีเวลาให้กลุ่มผู้เขาอบรมถึงก่อน ๘ โมงครึ่งในเช้าวันอาทิตย์
  • วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างได้จัดเตรียมไว้ให้ในห้องประชุมและสามารถใช้ได้ตลอดเวลาจนถึงตี ๓ และกลุ่มผู้เข้าอบรมสามารถนำกลับไปทำงานต่อได้ในห้องพักตนเองตามความสะดวก

   วิธีจัดกลุ่มให้เหมาะสมเป็น ๕ กลุ่มจาก ๙ จังหวัดของ ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ 

กลุ่มอสม. นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากทั้งหมด ๙ จังหวัด ได้จัดกลุ่มรวมกันเป็น ๕ กลุ่ม โดยกลุ่มจังหวัดจากภาคใต้ นครศรีธรรมราช สตูล และพัทลุง รวมเป็น ๑ กลุ่ม กลุ่มภาคเหนือซึ่งประกอบด้วยลำพูน แพร่ และลำปาง รวมเป็น ๑ กลุ่ม ภาคกลางและภาคตะวันออก ฉะเชิงเทราและชลบุรี รวมเป็น ๑ กลุ่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย ยโสธร อำนาจเจริญ และสุรินทร์ รวมเป็น ๑ กลุ่ม ส่วนจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นภาคเหนือตอนล่างและกลางตอนบนติดภารกิจและเหลือกลุ่มทำงานจากอำเภอท่าตะโกกลุ่มเดียวก็ทำงานเป็นอีก ๑ กลุ่ม หลังจากแลกเปลี่ยนแนวคิด ซักซ้อมความเข้าใจ และชี้แจงรายละเอียดต่างๆให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างดีแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเวทีทั้งหมดใช้เวลาทำงานอย่างเป็นตัวของตัวเองเต็มที่

   ผลงานของกลุ่ม การสาธิต และการนำเสนอวิธีการสอน

ในวันที่สามของการอบรมเชิงปฏิบัติการ ทุกกลุ่มจังหวัดจาก ๔ ภูมิภาคก็พร้อมที่จะนำเสนอผลงาน กลุ่มจังหวัดจากภาคใต้ นำเสนอแนวคิดในการค้นหาคน เป้าหมาย และผลลัพธ์ที่ต้องการโดยการยกระดับการดำเนินงานขึ้นจากศักยภาพและทุนมนุษย์จากหลายภาคส่วนที่มีอยู่ในพื้นที่ พร้อมกับสาธิตการจัดกระบวนการเรียนรู้และนวัตกรรมการสอนเกี่ยวกับการให้การเรียนรู้แก่ประชาชนในชุมชนในโครงการป้องกันและควบคุมการบริโภคของน้ำตาลและอาหารที่ทำให้เกิดโรคอ้วน เป็นทีมที่มีเครือข่ายร่วมมือกันหลายระดับทั้งอสม.หลายสาขาและกลุ่มสนับสนุนทางวิชาการข้ามหน่วยงานจากด้านสุขภาพและพัฒนาชุมชน

กลุ่มภาคเหนือซึ่งประกอบด้วยลำพูน แพร่ และลำปาง นำเสนอโดยทีมนักวิชาการสาธารณสุขในการค้นหาเครือข่ายครูอสม.และการระดมการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายปฏิบัติการเชื่อมโยงกันอย่างมียุทธศาสตร์ ให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายในชุมชนระดับอำเภอและระดับจังหวัด กลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออก ฉะเชิงเทราและชลบุรี สาธิตกระบวนการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมโดยใช้สื่อจากของจริงเรื่องการบริโภคผัก สมุนไพร และอาหารที่ปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคนทำงานอยู่ในทีมหลากหลายและต่างๆมีทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน

กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย ยโสธร อำนาจเจริญ และสุรินทร์ นำเสนอการจัดกระบวนการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นเครือข่ายที่อสม.มีบทบาทเป็นอย่างสูงและมีฐานการเรียนรู้จากของจริงในชุมชนอย่างเป็นธรรมชาติ  กลุ่มทำงานจากอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ นำเสนอเครือข่ายขยายผลการทำงานในพื้นที่ชุมชนร่วมกันของกลุ่มอสม. โรงเรียน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งทั้งอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของทีมมีทักษะในการนำเสนอในที่ประชุมเป็นอย่างสูง

   ได้กระบวนการแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์เพื่อสร้างผลลัพธ์เวทีด้านวิธีการเป็นครูและแผนการสอนเพื่อนำหลักสูตรไปใช้

จากการวางแผนและทดลองนำเสนอวิธีดำเนินการ ก็พอจะเห็นได้ว่าทุกกลุ่มได้แนวคิดและมีแนวทางกลับไปปฏิบัติการขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ในชุมชน โดยบูรณาการประสบการณ์เดิมของอสม.และชุมชน เข้ากับแนวคิดในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในระดับชุมชนที่ชัดเจนดีขึ้น ใช้แผนที่ผลลัพธ์มาระบุปฏิบัติการด้านการพัฒนาความเป็นครูโรงเรียนอสม.ซึ่งจะเป็นการยกระดับภูมิปัญญาการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของอสม.และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ต่างๆของประเทศ พร้อมกับสร้างสรรค์แผนที่ยุทธศาสตร์การเดินที่เหมาะสมโดยสังเคราะห์บทเรียนจากประสบการณ์ที่มีและเสริมแนวคิดทฤษฎีตามความจำเป็นเพื่อก้าวเดินไปบนฐานประสบการณ์ที่ชุมชนแต่ละแห่งมีอย่างแตกต่างหลากหลายให้เข้มแข็งยั่งยืนมากยิ่งๆขึ้นตามแนวคิดที่ผมขอให้เวทีร่วมกันปรับแต่งเสียใหม่เมื่อเริ่มต้นเวที

                          ภาพที่ ๑ ผลงานของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แผนที่ผลลัพธ์ แผนที่ยุทธศาสตร์พัฒนาวิธีเป็นครูขับเคลื่อนโรงเรียนอสม. และแผนการสอนเพื่อสร้างครูอสม.ให้สามารถนำหลักสูตรพัฒนาเครือข่ายผู้บริโภคไปใช้ในชุมชนได้

                          ภาพที่ ๒ ผลงานของกลุ่มจังหวัดภาคใต้แนวคิดและแผนการค้นหาครูอสม.เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.พัฒนาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน

                          ภาพที่ ๓ ผลงานของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ผลลัพธ์และแผนที่ยุทธศาสตร์การเดินเพื่อค้นหาและพัฒนาหล่อหลอมครูอสม.ตามแนวคิดของเครือข่าย

                           ภาพที่ ๔ ผลงานของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ แผนการสอนเพื่อจัดกระบวนการพัฒนาเครือข่ายครูอสม.ให้สามารถนำเอาหลักสูตรด้านการพัฒนาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนไปใช้

                         ภาพที่ ๕ : การสาธิตการจัดกระบวนการสอนและกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการของกลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออก แสดงการใช้สื่อของจริงจากกิจกรรมที่ชุมชนดำเนินการและใช้ฐานปฏิบัติการในชุมชนเป็นแหล่งจัดกระบวนการเรียนรู้

                         เครือข่าย อสม.สามารถวางแผนปฏิบัติการให้สะท้อนการต่อยอดทุนประสบการณ์ทุกด้านที่มีและมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนอสม.เพื่อพัฒนาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในระดับชุมชน พร้อมกับได้แนวคิดเกี่ยวกับการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้บนฐานศักยภาพของตนเอง

   ต่างก็ได้งานและเป็นกัลยาณมิตรสร้างความงอกงามทางปัญญาให้กัน

ศักยภาพและทุนทางปัญญาปฏิบัติของกลุ่มอสม. รวมทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักวิชาการสาธารณสุข ตลอดจนทีมทำงานของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนทั้งนักวิจัย วิทยากร และเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ทว่า แต่ละคนล้วนเป็นผู้มีทักษะการทำงานอย่างบูรณาการและสปิริตการทำงานด้วยจิตสาธารณะสูง มีความรอบด้านทั้งทักษะการปฏิบัติ ความเป็นวิชาการ ความเป็นทั้งครูและผู้เรียนรู้ และอีกหลายประการ ทำให้ผมรู้สึกและตระหนักได้เป็นอย่างดีว่าเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเวทีที่เราได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นจริงจังและผมเองก็ได้เรียนรู้จากกลุ่มอสม.จากพื้นที่หลากหลายทั่วประเทศกลุ่มเล็กๆกลุ่มนี้ มากจริงๆ

ด้วยความที่กลุ่มมีศักยภาพและทุนประสบการณ์สูงและเป็นกลุ่มที่จริงจังต่อการทำงานหนัก ใช้เวลาและการมีส่วนร่วมต่างๆของตนเองอย่างคุ้มค่า ผมจึงมีวิธีพัฒนาเครื่องมือและวิธีเรียนรู้ประสบการณ์ของทั้งเวทีอย่างเป็นระบบมากขึ้นจากทฤษฎีที่อิงการปฏิบัติของกลุ่มให้เป็นของแถม เพื่อนั่งฟังการนำเสนอผลงานของกลุ่มและเรียนรู้ไปด้วยกันให้ได้ประเด็นวิธีคิด พร้อมกับสะท้อนผลการเรียนรู้ให้ผู้นำเสนอได้ทราบผลการปฏิบัติและเรียนรู้ตนเอง ต่างได้พัฒนาตนเองไปด้วยกันมากยิ่งๆขึ้นไปด้วย.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 คลิ๊กลงไปบนชื่อเรื่อง  เพื่ออ่านเนื้อหาทั้งหมด ๑๒ ตอน  ท่านกำลังอ่าน ตอนที่ ๑๑  

ตอนที่ ๑    ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียน อสม.               ตอนที่ ๒   จิตวิญญาณความเป็นครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๓    ความเป็นครูโรงเรียน อสม.                        ตอนที่ ๔   ร่วมกันสร้างกรอบตัวแบบค้นหาครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๕    มิติทักษะความเป็นครูของอสม                   ตอนที่ ๖   วิธีค้นหาครูขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ของชุมชน
ตอนที่ ๗    ฐานชีวิตของครูโรงเรียนอสม.                     ตอนที่ ๘   เงื่อนไขสังคมของครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๙    การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ครูโรงเรียนอสม.   ตอนที่ ๑๐ เครื่องมือ สื่อ เทคโนโลยี สิ่งสนับสนุนครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๑๑  การนำเสนอแผนการสอนและสาธิตกระบวนการเรียนรู้ของครูโรงเรียนอสม. 
ตอนที่ ๑๒  เพิ่มลูกเล่นและใส่ศิลปะเพื่อเรียนรู้การนำเสนอให้สร้างสรรค์.

หมายเลขบันทึก: 370858เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2010 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท