ยึดมั่นถือมั่น ?


ขึ้นชื่อว่าสิ่งร้อยรัดแล้วนั้น จะเป็นสีขาวหรือสีดำก็เป็นสิ่งร้อยรัดด้วยกันทั้งนั้น

 

  • ยึดมั่นถือมั่น คือ อะไรกันแน่ ?
  • อะไรยึดมั่นถือมั่นในอะไร ?
  • ยึดมั่นถือมั่นในความดี ดีหรือไม่ ?

       

       ผมเข้าใจว่า บนเส้นทางแห่งการฝึกฝนพัฒนาตนจากด้านในนั้น เป็นการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นจากสิ่งร้อยรัดทางโลก หรือประหารกิเลสทั้งหลายนั่นเอง

       ผมเข้าใจว่า สิ่งเดียวกันนั้น สามารถเป็นได้ทั้งกิเลสและไม่ใช่กิเลส ยกตัวอย่างเช่น ความดี ถ้าเราทำดีและยึดมั่นถือมั่นในความดี ทำดีอยากได้ดีแล้วไม่ได้ดี ก็นำไปสู่ทุกข์ นั่นหมายความว่า การทำดีอย่างอิสระจากดี ดีกว่า การทำดีแล้วหลงในดีทำนองนั้นขอรับ

      ขึ้นชื่อว่าสิ่งร้อยรัดแล้วนั้น จะเป็นสีขาวหรือสีดำก็เป็นสิ่งร้อยรัดด้วยกันทั้งนั้น

      

 

 

     

คำสำคัญ (Tags): #อุปทาน
หมายเลขบันทึก: 370744เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2010 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

การเข้าไปเห็น  คือตัวรู้เห็นสังขาร  ...ความสงสัยก็เป็นสังขารกองหนึ่ง  หากเห็นมันชัดเจน  จะไม่สงสัยอีกต่อไป   ถ้ายังอยู่ในสังขารก็มองไม่เห็น  เพราะเป็นตัวมันซะเอง  มันจะบังความจริงทุกสิ่งทุกอย่าง   มันสั่งอย่างไรก็ทำตามแหละ  เพราะนึกว่าเป็นเรา 
.....เมื่อเชือกขาด  ไม่ใช่ไม่มีสังขารอีกนะท่าน  ไม่ใช่สังขารดับไป  ขันธ์ทั้งห้าก็มีของเขาอย่างนั้น  เป็นหน้าที่ของเขา   แต่ความยึดต่างหาก  ที่มันยึดว่าเป็นเรานี่แหละ  มันมีอาการเหมือนคนดึงเชือกว่าวที่ติดลมน่ะมันขาด  สังขารก็ปรุงของมันไป  เราเห็นตลอด  แต่ไม่เข้าไปอาศัยอยู่  เราใช้มัน  มันสั่งเราไม่ได้อีกเท่านั้น
.....การหลุดพ้น  กำหนดไม่ได้  ไม่รู้ด้วยว่าเมื่อไร  หากมีเจตนาก็คือลงไปอยู่กับกองสังขารซะแล้ว  ต่ำลงไปอีก ..   หากใช้สติที่ฝึกดีแล้ว  มองดูมันตลอด  ทุกขณะจิต  ติดต่อกัน...ก็จะเข้าไปเห็นความจริงแล้วพ้นทุกข์เดี๋ยวนั้นเลย  ตามขั้นของปัญญา    ...เมื่อสติปัญญาพอตัวแล้ว   หากไร้ซึ่งเจตนาเมื่อไร  ก็จะขาดออกจากกัน 

 

พระอรหันต์ไม่มีอารมณ์ที่ปรุงแต่งหรอกครับ  ไม่มีการปรุงแต่งแน่นอนถึงเรียกว่าอรหันต์  
            ขันธ์5หมายถึงร่างกายนี้ และนามธรรม ถ้ากล่าวเชิงปริยัติก็ใช่อยู่ว่าขันธ์5ยังอยู่ แต่ถ้าตามความเป็นจริง จิตเป็นวิสังขารไปแล้วละ มีแต่ร่างกายกับสุดยอดปัญญาเท่านั้นแหละที่เหลืออยู่ทำหน้าที่  จิตบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย  (เป็นอะไรที่พูดไม่ได้)

เหมือนคำกล่าวที่ว่า อวิชชาทำให้เกิดสังขาร  ถ้าเป็นไปตามปัจจัยเมื่ออวิชชาดับสังขารก็ย่อมดับ   ก็กลายเป็นวิสังขาร

หรือถ้ากล่าวว่าการถึงซึ่งเป็นผู้มีอารมณ์เดียว คงไม่เกิดขึ้นถ้าสังขารยังอยู่  

 

พระอรหันต์ท่านทำลายอาการของจิตที่ไม่ดีทั้งหมดหรืออกุศลเจตสิกทั้งหมดให้หายไปพร้อมทั้งรากของมัน  แต่เจตสิกที่ดีอื่นๆและที่เป็นกลางๆยังคงทำงานอยู่ตามหน้าที่ การปรุงแต่งก็ยังมีอยู่ตามปกติแต่ไม่เป็นผลกุศลหรืออกุศลต่อไปอีกแล้ว,   (เพราะจิตและเจตสิกก็ยังเป็นสังขารอันหนึ่ง แต่นิพพานไม่ใช่จิตและเจตสิก  ไม่ใช่สังขาร  อย่าคิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน หลายคนเข้าใจว่าจิตที่บริสุทธิ์คือนิพพาน ก็คือเข้าใจว่าสังขารเปลี่ยนเป็นวิสังขาร จะเป็นไปได้ยังไงกัน นิพพานคืออะไรอย่างหนึ่งซ้อนอยู่ในนั้นอีกที),  ไม่งั้นท่านจะมาเดินเหินพูดจากทำหน้าที่ต่างๆในสังคมมนุษย์เราได้อย่างไรกันเล่า   รอจนจริมกจิตดวงสุดท้ายดับในขณะที่เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานแล้วเท่านั้นการปรุงแต่งทั้งหมดจึงจะหยุดกันเสียที

 

ไปใหญ่แล้ว  เอาการปรุงแต่งเข้าไปในจิตเพราะอรหันต์  อย่างนี้ซิถึงไม่พยายามก้าวไปสู่จิตที่เป็นอัปปนาซักที  วนเวียนอยู่ในสังขารความคิด เป็นมิจฉาทิฏฐิในระดับที่ทำให้ไม่ก้าว ไม่พัฒนาไปสู่อารมณ์เดียวด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา แค่พระอนาคามีนี่จิตก็มีแต่สมาธิแล้ว  จะไปกล่าวอะไรถึงพระอรหันต์ละ
        เอาเป็นว่าหมดการปรุงแต่งละกัน  เหลือแต่ก้อนเนื้อกับปัญญาเท่านั้นแหละ  ที่ทำหน้าที่อยู่  ท่านหลุดพ้นตั้งแต่ยังไม่ทันตายนั่นดอก 
        ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเมื่อจิตบริสุทธิ์ถึงขนาดนั้นแล้ว ทำไมต้องอาศัยสังขาร ทั้งๆที่สังขารนั่นแหละปิดบังความจริง  เมื่อเข้าสุ่ความจริงแล้วทำไมต้องมีสังขาร จริงแล้วแค่ข้อความในปริยัติเท่านั้นแหละ ว่าขันธ์ยังอยู่ แต่ถ้ากล่าวโดยอรรถและการเข้าถึงของท่านย่อมไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย  แค่การพิจารณาถึงอายตนะแค่นั้น ก็มองเห็นแล้วว่าแม้แต่อายตนะยังดับไปในความรู้สึกแต่ก็ยังทำอะไรได้ไม่เห็นต้องอาศัยสังขารอะไรๆในจิต  ขนาดว่ายังไม่หลุดพ้นแต่ถ้าเราวิปัสสนามาถึงจุดหนึ่ง เราจะเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องมีสังขารปรุงแต่งในจิตเลย จิตบริสุทธิ์เป็นสมาธิเท่านั้นแหละ ที่สามารถทำอะไรๆได้มากกว่าการปรุงแต่งอีก
ถ้ารู้จักแต่วิปัสสนาสังขาร แต่ไม่รู้จักรักษาจิตด้วยสมถและวิปัสสนาจะไปเข้าใจได้อย่างไร

ขออภัยที่แทรกเข้ามาครับ  กรณีสังขารนี้ ผมเห็นด้วยกับคุณศิษย์พระป่าและคุณคนป่าครับ ว่าถึงสุดท้ายแล้วยังมีสังขารอยู่ แต่ตัวที่หมดไปคือตัวยางเหนียว ที่แต่ก่อนเราคลุกอยู่กับมัน ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

หลักฐานที่พอจะนำมาอ้างได้ก็คือ
ก. นิพพานมี ๒ อย่างคือ ๑.อุปาทิเสสนิพพาน และ ๒.อนุปาทาทิเสสนิพพาน
ข. มีผู้ถามหลวงปู่ดูลย์ว่า "หลวงปู่ยังมีโกรธไหม?" ท่านตอบว่า "มี แต่ไม่เอามัน"

ผมจึงเชื่อว่า ด้วยเหตุนี้เองที่พระอรหันต์ท่านจึงเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ในการพลิกจิตหรือปรับจิตอยู่ตลอดเวลา

ลองคิดง่ายๆ ว่า สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ดังนั้นเราจึงไม่สามารถไปบังคับมันไม่ให้เกิดได้  แต่เราสามารถทำลายอุปาทานความยึดมั่น ที่มีต่อสังขารได้ครับ  อุปาทานที่ถูกทำลายไปแล้วก็คือตัว "ไม่เอามัน" ของหลวงปู่นั่นแหละครับ

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวครับ อาจผิดก็ได้ครับ

คุณปิติดูท่ายังงงอยู่ดีนะแหละ,  อย่าลืมว่าอาการของจิต(เจตสิก)ทั้งหมดก็คือสังขาร  ตัวจิตเองก็คือสังการ  กิริยาอาการพูดคิดเดินกิน..ฯลฯ  อะไรทั้งหมดก็คือสังขาร   พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่สังขารพวกนี้ก็ทำงานต่อไปจนถึงวันสุดท้ายหรือขณะจิตสุดท้ายของชีวิตท่าน,  ทำไมถึงไปเข้าใจว่าพระอรหันต์พอบรรลุแล้วจะกลายเป็นหุ่นนิ่งไปเลยกระนั้นหรือ  ,  สติก็คือสังขารอันหนึ่ง ปัญญา วิตก  วิจาร และตัวอื่นๆสารพัดที่ยังปรุงแต่งจิตอยู่ก็คือสังขารทั้งนั้น(เป็นเจตสิกทั้งนั้น)  พระอรหันต์ยังต้องอาศัยสังขารพวกนี้  และขันธ์ซึ่งเป็นก้อนรวมของสังขารทำงานอยู่  ที่ทำลายไปคือกิเลสซึ่งเป็นสังขารบางกลุ่มเท่านั้นเอง  รอจนสิ้นชีวิตจึงดับขันธ์  ตอนนั้นสังขารจึงดับหมดไป.

 

ผมคิดว่า มีการสับสน ระหว่าง สังขารขันธ์ กับ สังขารธรรม (ธรรมอันเกิดขึ้นรด้วยปัจจัยปรุงแต่ง) และระหว่าง ทุกข์ ลักษณะ กับ ทุกข์ สัจจะ


สังขารขันธ์ ยังมีอยู่ จนกว่า ท่านจะ"ดับขันธ์" ปรินิพพาน
ขันธ์ 5 ก็เป็นสังขตธรรม และตกอยู่ใต้ ทุกข์ ในไตรลักษณ์ อยู่

อย่างไรก็ตาม จิตท่านไม่ถูกปรุงแต่ง ด้วย อวิชชา ตัณหา มานะ ทิฐิ อุปาทานใด แล้ว  จิตท่านมี วิสังขาร เป้นวิหารธรรม
แม้ จะตกอยู่ใต ทุกข์ ในไตรลักษณ์ แต่ ก็ ไปพ้นทุกข์ ใน อริยสัจ นะครับ

งานของใครงานของมัน เมื่อถึงจุดหนึ่งมุมมองก็จะเปลี่ยนไปด้วยปัญญา
ปัญญินทรีย์แต่ละคนต่างกัน ไม่มีใครเชื่อใครง่ายๆหรอก ถ้าไม่ใช่การเข้าใจด้วยตนเอง  ถ้าผมเชื่อ ผมคงเลิกประพฤติปฏิบัติไปเลย เพราะเมื่อสังขารยังต้องมีการปรุงแต่งอยู่ ผมจะปฏิบัติไปเพื่ออะไร  แต่ความเชื่อมันเกิดอย่างนี้ เป็นการเห็นด้วยปัญญาอันชอบว่าเราสามารถเข้าถึงธรรมอันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ด้วยปัญญาอันยิ่ง นั่นหมายถึงจิตที่เป็นนิโรธ หรือจิตว่างอย่างยิ่ง
สาธุในธรรมครับ  งั้นผมมีธรรมมาฝากครับ
ว่าด้วยวิเวก ๓ อย่าง
      [๗๐๑] ชื่อว่า วิเวก ในคำว่า ผู้สงัด มีสันติบท แสวงหาคุณใหญ่ดังนี้ วิเวกมี
๓ อย่าง คือ กายวิเวก ๑ จิตวิเวก ๑ อุปธิวิเวก ๑.
      กายวิเวกเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง และเป็นผู้สงัดด้วยกายอยู่
เธอเดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว
นั่งในที่หลีกเร้นผู้เดียว อธิษฐาน จงกรมผู้เดียว ผู้เดียวเที่ยวไป ยับยั้งอยู่ ผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถ เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา นี้ชื่อว่า กายวิเวก.
      จิตวิเวกเป็นไฉน? ภิกษุบรรลุปฐมฌาน มีจิตสงัดจากนิวรณ์ บรรลุทุติยฌาน มี
จิตสงัดจากวิตกวิจาร บรรลุตติยฌาน มีจิตสงัดจากปีติ บรรลุจตุตถฌาน มีจิตสงัดจากสุข
และทุกข์ บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา และนานัตต-
สัญญา บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา บรรลุอากิญ-
จัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มี
จิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา (เมื่อภิกษุนั้น) เป็นพระโสดาบัน มีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกัน
กับสักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น เป็นพระสกทาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์
กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราค-
สังโยชน์เป็นต้นนั้น เป็นพระอนาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กาม-
ราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างละเอียดๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์
เป็นต้นนั้น เป็นพระอรหันต์ มีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย กิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้นนั้น
และจากสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่า จิตวิเวก.
      อุปธิวิเวกเป็นไฉน? กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี เรียกว่า อุปธิ. อมตนิพพาน
เรียกว่าอุปธิวิเวก. ได้แก่ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้น
ตัณหา เป็นที่สำรอกตัณหา เป็นที่ดับตัณหา เป็นที่ออกไปจากตัณหาเครื่องร้อยรัด นี้ชื่อว่า
อุปธิวิเวก.
      ก็กายวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ จิตวิเวก ย่อมมีแก่
บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง อุปธิวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้หมด
อุปธิ ถึงซึ่งนิพพานอันเป็นวิสังขาร.
      คำว่า สันติ ได้แก่สันตบ้าง สันติบทบ้าง โดยอาการอย่างเดียวกัน ก็สันติบทนั้น
นั่นแล คือ อมตนิพพาน ได้แก่ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง .... เป็นที่ออกจากตัณหาเครื่อง
ร้อยรัด. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บทใด คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ....
เป็นที่ออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด บทนั้น เป็นความสงบ เป็นธรรมชาติประณีต. อีกอย่างหนึ่ง
โดยอาการอื่น ธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ เพื่อถูกต้องความสงบ เพื่อ
ทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านี้ เรียกว่าสันติบท บทสงบ ตาณบท บทที่
ต้านทาน เลณบท บทที่ซ่อนเร้น สรณบท บทที่พึ่ง อภยบท บทไม่มีภัย อัจจุตบท บท
ไม่เคลื่อน อมตบท บทไม่ตาย นิพพานบท บทดับตัณหา.
      คำว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหาคุณใหญ่ คือ ทรง
แสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งศีลขันธ์ใหญ่ สมาธิขันธ์ใหญ่ ปัญญาขันธ์ใหญ่ วิมุตติขันธ์ใหญ่
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
      พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งความทำลายกองมืดใหญ่ ความ
ทำลายวิปลาสใหญ่ ความถอนลูกศร คือ ตัณหาใหญ่ ความปลดเปลื้องโครงทิฏฐิใหญ่ ความ
กำจัดธงคือมานะใหญ่ ความระงับอภิสังขารใหญ่ ความปิดกั้นโอฆะใหญ่ ความปลงภาระใหญ่
ความตัดสังสารวัฏใหญ่ ความดับความเดือดร้อนใหญ่ ความระงับความเร่าร้อนใหญ่ ความยก
ขึ้นซึ่งธงคือธรรมใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
      พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อมตนิพพานเป็นปรมัตถ์
ใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
      อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้อันสัตว์ทั้งหลายที่มีศักดิ์มาก แสวงหา เสาะหา
ค้นหาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าเป็นเทวดา
ยิ่งกว่าเทวดาประทับอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าผู้องอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ผู้สงัด มีสันติบท แสวงหาคุณใหญ่.
      [๗๐๒] คำว่า ภิกษุเห็นแล้วอย่างไร .... ย่อมดับ ความว่า ภิกษุเห็น พบ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้แจ่มแจ้ง ทำให้เป็นแจ้งอย่างไร จึงดับ สงบ เข้าไปสงบ เข้าไป
สงบวิเศษ ระงับ ซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตี
เสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความ
ถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวาย
ทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวงของตน. คำว่า
ภิกษุ คือ ภิกษุที่เป็นกัลยาณปุถุชนหรือภิกษุที่เป็นเสขบุคคล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุเห็น
อย่างไรแล้ว .... ย่อมดับ.
      [๗๐๓] คำว่า ไม่ถือมั่นซึ่งสังขารอะไรในโลก ความว่า ไม่ถือมั่น ไม่ยึด ไม่จับ
ต้องด้วยอุปาทาน ๔. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุ
โลก อายตนโลก. คำว่า สังขารอะไร คือ สังขารอะไร ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ถือมั่นซึ่งสังขารอะไรในโลก. เพราะฉะนั้น พระพุทธนิมิต
นั้นจึงตรัสถามว่า
           ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ผู้สงัด มีสันติบท
           แสวงหาคุณใหญ่ว่า ภิกษุเห็นอย่างไรแล้วจึงไม่ถือมั่นซึ่งสังขารอะไรใน
           โลก ย่อมดับ.
      [๗๐๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุพึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง คือ กิเลส
            ที่เป็นรากเง่าแห่งส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้า และอัสมิมานะด้วยปัญญา
            ก็ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่มี ณ ภายใน ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อ
            กำจัดซึ่งตัณหาเหล่านั้นในกาลทุกเมื่อ.

ว่าด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า
      [๗๐๕] คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุพึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง คือ กิเลส
ที่เป็นรากเง่าแห่งส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้า และอัสมิมานะ ด้วยปัญญา ความว่า ธรรมเครื่องเนิ่น
ช้านั่นแหละ ชื่อว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า ได้แก่ ส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ
ตัณหา และส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ ทิฏฐิ.
      รากเง่าของธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหาเป็นไฉน? อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิ
มานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ นี้เป็นรากเง่าแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา.
      รากเง่าแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิเป็นไฉน? อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิ-
มานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ นี้เป็นรากเง่าแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ.
      คำว่า ภควา เป็นพระนามเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ภควา
ความว่า ชื่อว่า ภควา เพราะอรรถว่า ผู้ทำลายราคะ ทำลายโทสะ ทำลายโมหะ ทำลายมานะ
ทำลายทิฏฐิ ทำลายเสี้ยนหนาม ทำลายกิเลส และเพราะอรรถว่า ทรงจำแนก ทรงจำแนก
พิเศษ ทรงจำแนกเฉพาะซึ่งธรรมรตนะ เพราะอรรถว่า ทรงทำซึ่งที่สุดแห่งภพทั้งหลาย เพราะ
อรรถว่า มีพระกายอันอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะ ป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย
ปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่
วิเวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาค
ทรงมีส่วนแห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อันมีอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส เพราะฉะนั้น จึง
ชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายนะ ๘
(ฌานเป็นที่ตั้งแห่งความครอบงำอารมณ์) อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔
สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑) เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่ง
สัญญาภาวนา ๑๐ กสิณสมาบัติ ๑๐ อานาปาณสติสมาธิ อสุภสมาบัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์
๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มี
พระภาคทรงมีส่วนแห่งตถาคตพละ ๑๐ เวสารัชชธรรม ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. พระนามว่า ภควา นี้ พระมารดา พระบิดา พระภาดา
พระภคินี มิตร อำมาตย์ พระญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา มิได้เฉลิมให้ พระนาม
ว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามมีในอรหัตผลในลำดับแห่งอรหัตมรรค) เป็น
สัจฉิกาบัญญัติ พร้อมด้วยการทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงแห่งโพธิพฤกษ์ ของพระผู้มี
พระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว.
      คำว่า พึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง .... อัสมิมานะ ด้วยปัญญา ความว่า ปัญญา เรียกว่า
มันตา ได้แก่ความรู้ ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ.
คำว่า อัสมิมานะ คือ อัสมิมานะ อัสมิฉันทะ อัสมิอนุสัย ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ. คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุพึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง คือกิเลสที่เป็นราก
เง่าแห่งส่วนธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า และอัสมิมานะ ด้วยปัญญา ความว่า ภิกษุพึงกำจัด สะกัด
ดับ สงบ ปราบปราม ระงับ ซึ่งบาปธรรมทั้งปวง คือ กิเลสที่เป็นรากเง่าแห่งส่วนธรรม
เครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะ ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ภิกษุพึงกำจัดบาปธรรมทั้งปวง คือ กิเลสที่เป็นรากเง่าแห่งส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะ
ด้วยปัญญา.
      [๗๐๖] คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในคำว่า ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่มี ณ ภายใน
ความว่า ทั้งปวงโดยกำหนดโดยทั้งปวง ทั้งปวงโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้ ไม่มีส่วน
เหลือ. คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เป็นเครื่องกล่าวรวมหมด. คำว่า ตัณหา คือ รูปตัณหา ฯลฯ
ธรรมตัณหา. คำว่า ที่มี ณ ภายใน คือ ตัณหานั้นตั้งขึ้นภายใน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มี
ณ ภายใน. อีกอย่างหนึ่ง จิต เรียกว่า ภายใน ได้แก่ จิต มนะ มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ
มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุอันเกิดแต่วิญญาณขันธ์นั้น.
ตัณหานั้น สหรคต เกิดร่วม เกี่ยวข้อง สัมปยุต มีความเกิดร่วมกัน มีความดับร่วมกัน
มีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกันกับด้วยจิตคือใจ แม้เพราะฉะนี้ จึงชื่อว่า ที่มี ณ ภายใน
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่มี ณ ภายใน.

โดยมีสัญญาเก่า  ๆ ที่เราได้อ่านได้ฟังมาแล้วยืนอยู่เบื้องหลังล่ะก็  อย่าหวังเลยว่าการปฏิบัติของคุณจะก้าวหน้าได้ผลอย่างที่คุณคิดไว้นะครับ

ทำไม...ผมจึงกล่าวว่าการปฏิบัติแบบนั้นไม่ก้าวหน้าล่ะครับ...ตอบได้สั้น ๆ ว่า...ไม่ถูกทาง..ครับ

การปฏิบัตินั้นต้องนอกจากเท่าทันความคิดนึกแล้ว  ...ต้องหยุดความคิดนึกได้ด้วยนะครับ
แต่ไม่ใช่ให้คุณไปบังคับให้หยุดคิดนะครับ...แต่ให้คุณปฏิบัติจนความคิดหยุดเองนะครับ....การหยุดคิดนี้ยังไกลมากสำหรับนักปฏิบัติแบบลุ่มๆ ดอน ๆ แบบเราทั้งหลายนะครับ
ผมขอย้อนมากล่าวถึงปฏิบัติที่จะให้หยุดความคิดได้ดีกว่าครับ
สิ่งแรกที่จะแนะนำนั่นคือ  เมื่อคุณดูจิต....คุณไม่ควรตามความคิด...แม้ว่าความคิดนั้นจะดีเลิศวิเศษขนาดไหน  คุณก็ไม่ควรปล่อยให้จิตใหลไปกับความคิดเหล่านั้นนะครับ
แต่เมื่อคุณมีสติรู้ว่าตัวเองกำลังคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ในเวลานั่น...คุณก็ไม่ควรไปบังคับให้ความคิดนั่นหยุดเสีย  ควรตั้งสติให้ดี...ไม่ควรใช้ความคิดนึกใดแทรกขึ้น..
สักพักหนึ่งหรือแค่อึดใจเดียว...ความคิดนั้นก็หยุดไปเองโดยธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  แล้วดับไป  ตามหลักแห่งกฏของธรรมชาติ   เมื่อเราปฏิบัติได้แบบนี้การปฏิบัติก็จะเป็นการปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติจริง  ๆ  ไม่มีสิ่งที่แปลกปลอม  คืออัตตา/ตัณหา/อุปทาน  เข้ามาแทรกให้ผิดธรรมชาติไป
เมื่อมีสติแล้ว  ไม่ควรปล่อยให้ความคิดให้ใหลจากเรื่องหนึ่งไปสู่เรื่องหนึ่ง นะครับ
ถ้าทำแบบนั้น..มีแต่หลงกับหลง นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท