เหนียวหลามชักพรุด


เหนียวหลามชักพรุด..เป็นเหนียวหลาม หรือข้าวหลามที่ทำกันในช่วงประเพณีวันว่าง(เดือน ๕)ของชุมชนชาวบ้านควนเสม็ด ต.ปริก อ.สะเดา สงขลา จากการค้นพบขณะนี้มีแหล่งเดียวในประเทศไทย

เหนียวหลามชักพรุด

 

 

เหนียวหลาม เป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึง ข้าวหลาม ที่ปรุงแบบเดียวกับทางภาคอื่นๆของประเทศไทย แต่ความนิยมบางอย่างต่างกันบ้าง เช่น ชาวภาคใต้ไม่นิยมใช้น้ำตาลผสม ไม่นิยมใส่ถั่วดำเหมือนอย่างข้าวหลาม นครปฐม หรือข้าวหลามหนองมน ชลบุรี

   วัสดุสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ในการทำข้าวหลาม คือ ข้าวเหนียว กะทิมะพร้าว น้ำตาล และไม้ไผ่ โดยเฉพาะกระบอกไม้ไผ่ ในแต่ละถิ่นนิยมใช้กระบอกจากไม้ไผ่ต่างชนิดกัน ใช้ไผ่สีสุกก็มี ใช้ไผ่ป่าก็มี แล้วแต่ถิ่นไหนจะมีไผ่ชนิดไหนมาก จะเลือกใช้ไผ่ที่ลำยังไม่แตกใบครบกิ่ง สีของผิวเขียวอ่อนซึ่งเรียกว่า "ทรามหลามเหนียว" หรือ “ไผ่ขนาดใบขิง” เพราะไผ่ดังกล่าวกำลังมีเยื่ออ่อน และหนา (ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า “เจียะ”) เมื่อหลามเสร็จเหลาเปลือกนอกออกให้บาง เมือรับประทานก็สามารถดีงปอกเปลือกที่เหลือได้ด้วยมือ เยื่อไผ่ก็จะยังคงหุ้มติดอยู่กับข้าวหลามโดยรอบ คล้ายบรรจุอยู่ในกระบอกกระดาษ นอกจากช่วยไม่ให้ข้าวหลามเหนียวเหนอะติดมือแล้ว ยังทำให้รสชาติแปลกชวนรับประทานด้วย

วิธีทำข้าวหลามของแต่ละถิ่น

     การทำข้าวหลามในแต่ละท้องถิ่น จะมีกรรมวิธีที่คล้ายๆกัน คือนำกระบอกไม้ไผ่ที่มีความแก่ขนาด "ทรามหลามเหนียว" หรือ ที่ชาวบ้านเรียก "ไม้ไผ่ใบขิง" มาตัดเป็นท่อน

เอาใบยี่เล็ดที่หามาได้กรีดแบ่งเป็น ๒ ซีกนำมาพันกับไม้กลมๆเพื่อใส่ในกระบอกไม้ไผ่ก่อนที่จะทำการกรอกข้าวเหนียวที่แช่เตรียมไว้

 

ใช้ข้าวเหนียวแช่น้ำจนอ่อนตัวดีแล้ว กรอกใส่กระบอกไม้ไผ่ที่ตัดไว้ จนเกือบเต็ม แล้วกรอกน้ำกะทิที่ผสมกับเกลือพอรู้ว่ามีรสเค็มนิดๆ กรอกใส่ให้ท่วมข้าวเหนียวพอประมาณ แล้วจึงอุดปากกระบอกให้แน่นด้วยใบตองห่อกาบมะพร้าว

  

ก่อไฟสำหรับจะหลามข้าวเหนียวที่ใต้พลันให้เป็นถ่าน นำไปวางหลามบนพลันเป็นราวสามเหลี่ยมสำหรับวางพิงกระบอกข้าวหลาม ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่สด ปัจจุบันนิยมทำด้วยเหล็ก เนื่องจากสามารถเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไปได้อีก เฝ้าคอยหมุนกระบอกข้าวหลามให้รับความร้อนทั่วถึงกันจนกระบอกไม้ไผ่มีสีเหลือง 

 

ข้าวหลามนั้นแรกเริ่มนั้นจะทำกันเฉพาะในงานประเพณี หรืองานประจำปีของหมู่บ้านในแต่ละถิ่น ข้าวหลามชักพรุดทำสืบทอดเป็นประเพณีกันมาหลายรุ่นตั้งแต่ครั้งรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ จนมาถึงรุ่นลูก แรกเริ่มนั้นจะทำกันเฉพาะในงานประเพณี หรืองานประจำปี ปัจจุบันเริ่มทำออกไปแสดงเผยแพร่และจำหน่ายนอกสถานที่บ้างแล้ว 

เหนียวหลามชักพรุด

    ที่บ้านควนเสม็ด หมู่ที่ ๑๐ ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในช่วงเดือน ๕ มีประเพณีทำบุญวันว่างกลางบ้าน หรือ ทำบุญเดือน ๕ มีการทำเหนียวหลามชักพลุด”กันทุกบ้านๆละ ๑๐ - ๒๐ กิโลข้าวเหนียว (ข้าวเหนียว ๑ กก.ทำได้ ๓ กระบอก) เพื่อแจกญาติพี่น้องในหมู่บ้าน และใช้ทำบุญกลางบ้านตามประเพณี โดยใช้สูตรแบบสูตรใครสูตรมันตามความชอบในรสชาติ นับเป็นสูตรเฉพาะตัวเฉพาะครอบครัวเฉพาะตระกูลก็ว่าได้ นับเป็นขนมพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักและนิยมรับประทานกันเฉพาะถิ่นเฉพาะชุมชน

   วิธีการทำเหนียวหลามชักพรุดไม่ยุ่งยาก จากคำบอกเล่าของชาวบ้านหลายๆคนในหมู่บ้านที่ทำข้าวหลาม ในวันก่อนวันทำบุญ ๑-๒ วัน ผู้ชายจะขึ้นควนเข้าป่า ไปหาไม้ไผ่โปะ และใบยี่เล็ด มาเลื่อยหั่นเป็นท่อนๆเตรียมไว้ โดยใช้ส่วนล่างหรือโคนของไม้ไผ่เป็นส่วนก้นกระบอก รุ่งขึ้นเช้า(วันที่ ๑๒ เมษา) ทั่วทั้งหมู่บ้านเริ่มได้ยินเสียงทุบมะพร้าว เสียงขูดมะพร้าว เพื่อปั้น(คั้น)เอาน้ำกะทิเพื่อทำเหนียวหลามชักพรุด บ้านไหนทำมากต้องขูดมากเพราะสัดส่วนสูตรของการทำข้าวหลามที่นี่หากใช้ข้าวเหนียว ๑ กก.ใช้น้ำกะทิ ๑ ลิตร จึงจะอร่อยขณะพ่อบ้านเตรียมกระบอกไม้ไผ่ ขูดมะพร้าว ปั้นมะพร้าวทำน้ำกะทิ เตรียมหลุมถ่าน วางพลัน(ที่สำหรับวางกระบอกข้าวหลามในการย่าง-หลาม) แม่บ้านก็เตรียมล้างข้าวเหนียว เตรียมพด(เปลือก)มะพร้าว ใบตองสำหรับทำอุด(จุก)ปากกระบอกข้าวหลาม เตรียมกรีดใบยี่เล็ดออกเป็นสองซีก ม้วนใบยี่เล็ดกับต้นคลุ้มหรือท่อพีวีซี แยง(สอด)ใบยี่เล็ดใส่ในกระบอกไม้ไผ่ (การม้วนใบยี่เล็ดให้เริ่มต้นม้วนจากเส้นกลางใบด้วยต้นคล้า/คลุ้ม หรือท่อพีวีซี หากเริ่มม้วนจากขอบใบเมื่อแยงใบยี่เล็ดลงในกระบอกไม้ไผ่ ใบยี่เล็ดจะไม่คลี่ขยายวง ทำให้กรอกข้าวเหนียวไม่ได้) และกรอกข้าวเหนียวเตรียมรอถ้าน้ำกะทิต่อไป การกรอกข้าวเหนียวที่ล้างสะอาดตั้งทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำด้วยมือลงในกระบอกไม้ไผ่ ๒-๓ ฝ่ามือแล้วทอก(กระแทก)ก้นกระบอกกับพื้นเบาๆเพื่อให้เมล็ดข้าวเหนียวอัดเรียงตัวกันหลวมๆ ทำอย่างนี้จนกรอกข้าวเหนียวเกือบเต็มปากกระบอก เว้นไว้ประมาณ ๒ ข้อนิ้วมือ สำหรับอุดจุกปิดปากกระบอกหลังการกรอกน้ำกะทิ

     เมื่อเตรียมข้าวหลามเสร็จ นำข้าวหลามไปวางพิงเอียงๆบนพลันที่เตรียมไว้ คอยหมุนกระบอกข้าวหลามอยู่เรื่อยๆเพื่อให้ได้รับความร้อนโดยทั่วเท่าๆกัน และคอยเปิดอุดดูน้ำกะทิและข้าวเหนียวอยู่บ่อยๆ หากน้ำกะทิแห้งแสดงว่าข้าวหลามสุกสามารถรับประทานได้ ข้าวหลามที่นี่เป็นข้าวหลามจริงๆเพราะหลาม หรือย่างจนสุกกระบอกไม้ไผ่ยังเป็นสีเขียว คำว่าข้าวหลามจึงน่าจะมาจากการย่างแบบหลามๆอันไม่น่าจะสุก

          หลังจากได้เหนียวหลามชักพรุด ชาวบ้านนำไปให้ญาติผู้ใหญ่ และแจกพี่-น้องภายในหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งถูกเก็บไว้เพื่อใช้ในการทำบุญกลางบ้านในวันรุ่งขึ้น(๑๓ เมษา)และบางครอบครัวนำส่วนหนึ่งส่งเข้าประกวดรสชาติเหนียวหลามในงานทำบุญสวดเท-ดา ในตอนกลางคืนการสวดเท-ดา ของที่นี่เป็นความเชื่อของชาวบ้านชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ตามควน(ภูเขา) หรือที่อื่นๆที่เรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือว่า เทียมดาบ้าง เท-ดาบ้าง ทวดบ้าง หรือเทวดาบ้าง ตามความเชื่อว่าเป็นเทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน จะเปลี่ยนองค์ใหม่ลงมาดูแลคุ้มครองปกป้องรักษาหมู่บ้านในวันเถลิงศก หรือวันปีใหม่ไทย หลังวันสงกรานต์

 วัสดุ-อุปกรณ์ที่สำคัญในการทำเหนียวหลามชักพรุด

 ๑.ไม้ไผ่โปะ  ๒.ใบยี่เล็ด  ๓.มะพร้าว  ๔.ข้าวเหนียว ๕.พดพร้าว                    

๖. น้ำตาลทราย   ๗. ต้นคล้าหรือท่อพีวีซี  ๘. เกลือ    ๙. ฟืน/ถ่าน                   ๑๐. เครื่องขูดมะพร้าว   ๑๑. เครื่องคั้นกะทิ      ๑๒. กะบะ   ๑๓. พลัน(เครื่องมือสำหรับวางกระบอกเหนียวสำหรับหลาม ไฟ)      

 

ต้นยี่เล็ด                                        ใบยี่เล็ด

บุคคลผู้ให้ข้อมูล

๑.     ครูเคล้า  พรหมมณี  บ้านควนเสม็ด ม.๑๐ ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา

๒.     ดต.นิพนธ์  พรหมมณี  บ้านควนเสม็ด ม.๑๐ ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา

๓.     ผญ.ประวิตร  แก้วโสภา  บ้านควนเสม็ด ม.๑๐ ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา 

หมายเลขบันทึก: 370471เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2010 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เหนียวหลามหนึ่งเดียวของเมืองไทย และหนึ่งเดียวของสงขลาคือเหนียวหลามชักพรุดที่บ้านควนเสม็ดตำบลปริก อำเภอสะเดา ช่วง วันที่ ๑๑ - ๑๒ เดือนเมษายน ของทุกปีหากมีโครงการล่องใ และมาเที่ยงชายแดนที่อำเภอสะเดาเชิญแวะเข้าเที่ยวท่องวิถีชุมชนชาวบ้านควนเสม็ดท่านจะพบกับบรรยากาศอันแสนอบอุ่นในการต้อนรับของชาวบ้านทุกครัวเรือน อย่างน้อยๆได้กินเหนียวหลามชักพรุดฝีมือชาวบ้านที่ / ปีมีหนเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท