เวลาในขวดแก้ว..กับ..Grief


ความทรงจำมันไม่ได้หดหายไปไหน แต่เราโตขึ้นจึงมีที่ว่างสำหรับคนอื่นๆ สิ่งอื่นๆ ที่เข้ามาใหม่ต่างหาก

หลังจากรับเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่เคยเห็น..แต่กลายเป็นเสียงที่ครั้งหนึ่งเคยคุ้นเคย  ทำให้สองสามวันมานี้ฉันรู้สึกแปลกๆ
น้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัว..เมื่อได้ยินเพลงนี้..

"..เปิดออกมาดูโดยไม่ตั้งใจ ว่าจะได้เจอรูปเก่า
อยู่ในวันเวลาที่สดใส วันที่มีเราข้างกัน
ภาพเดิมๆก็หวนมา เปลี่ยนเวลากลับไปวันนั้น
ใจก็เหมือนสั่นๆ เกือบลืมกันแล้ว

ต่างเดินกันไปตามทางของใคร แยกไปค่อยๆไกลห่าง
อยู่ดีๆวันนึงก็จางหาย คลาดกันโดยไม่รู้ตัว
แต่เรื่องราวที่สวยงาม อยู่อย่างเดิมไม่เคยหมองมัว
ในหนังสือเก่าๆ หนังสือรุ่นเราเล่มนี้

รูปเธอยังยิ้ม ข้างเธอคือฉัน เพ่งมองดูนานๆ น้ำตาก็มาคลอๆ
กี่ปีมาแล้ว เธอเป็นยังไงบ้างหนอ ค่อยๆลืมเลือนกันไป
ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน เรื่องราวเหล่านั้นจึงจบลง

เปิดไปดูเบอร์โทรไม่เห็นมี ที่ลงไว้คือที่อยู่
หยิบปากกาบรรยายในจดหมาย ว่าจำกันได้ไหมเธอ
ที่อยู่เดิมที่เขียนไป หากเปลี่ยนแปลงก็คงไม่รู้
ได้แต่หวังกันไป ความหลังคงไม่ตายจากเรา..."

สิ่งที่ต่างไปจากเพลงนี้คือ
ความห่างนั้น ไม่ใช่ด้วยระยะทาง
เรื่องราวในชีวิต ทำให้พบกับความจริงที่ว่า
ในบางครั้ง
..อยู่แค่เพียงเอื้อมมือ แต่มันคือแสนไกล..
แต่บางครั้ง
..อยู่ห่างไกลกันเกินครึ่งฟ้า กลับมาเติมใจให้กัน

เหตุการณ์นี้
ทำให้เกิดความเข้าใจบางอย่างว่า...
ความทรงจำมันไม่ได้หดหายไปไหน แต่เราโตขึ้นจึงมีที่ว่างสำหรับคนอื่นๆ สิ่งอื่นๆ ที่เข้ามาใหม่ต่างหาก 
ทำให้นึกไปถึง สิ่งที่ติดตาตรึงใจจาก foundation workshop ในมาเลเซีย
ที่วิทยากร Dr.Rebecca Coles-Gale กล่าวถึง Theory "Growing around grief" ของ Tonkin  โดยประยุกต์ทำเป็นภาพขวดโหลใส่ลูกบอล
ระยะแรก ลูกบอลอัดแน่นเต็มโหลพอดี
ต่อมา  ลูกบอล ไม่ได้เล็กลงหรือหายไป..หากแต่ขวดโหลต่างหากที่ขยายขึ้น

เราจึงไม่สามารถไปบีบอัดหรือพยายามให้ลืมความทรงจำในสิ่งที่สูญเสียไป
อย่างไรมันก็จะอยู่กับเรา..
แต่สิ่งที่ธรรมชาติให้มากับมนุษย์ (ส่วนใหญ่)
คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และสามารถขยายจิตใจ เปิดรับสิ่งใหม่เข้ามา..

ดังนั้นเวลาเห็นใครสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รักไป
การหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง  เพื่อหวังให้เขาลืม..ก็ไม่ช่วยอะไร
อย่างไรความทรงจำนั้นก็จะอยู่กับเขาตลอดไป
ตัวเขาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน
สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ..อยู่เป็นเพื่อน อยู่ข้างๆ  ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้น..ก็พอ

หมายเลขบันทึก: 369674เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2010 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ทำผมอึ้งเลยครับ!!!

"เราจึงไม่สามารถไปบีบอัดหรือพยายามให้ลืมความทรงจำในสิ่งที่สูญเสียไป

อย่างไรมันก็จะอยู่กับเรา..

แต่สิ่งที่ธรรมชาติให้มากับมนุษย์ (ส่วนใหญ่)

คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และสามารถขยายจิตใจ เปิดรับสิ่งใหม่เข้ามา.."

เห็นด้วยมากๆค่ะอาจารย์หมอปัท กับประโยคข้างต้น วันก่อนพี่กุ้งจัดกิจกรรม memorial service ครอบครัวที่สูญเสียบุตรค่ะ

ฟังครอบครัวเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ทำให้เขาอยู่ได้ คือการหาอะไรทำ อยู่เฉยไม่ได้จะคิดถึงเเต่ลูกที่จากไป บางทีขับรถไปก็คิดว่าลูกนั่งอยู่ด้วย เขายังไปด้วยทุกที่ บางครั้งนึกอยากปั้นหุ่นลูกเพื่อไปไหนจะอุ้มไปด้วย ลูกยังอยู่ในใจเขาเสมอ อาจารย์มาถึงยังคะคืนนี้พักที่ไหน พรุ่งนี้เจอกันนะคะ

  • สถานที่ สิ่งของ บทเพลง สามารถพรวนความทรงจำเก่าๆที่เราไม่คิดว่าจะจำได้ขึ้นมาได้นะครับ
  • เวลาคุยเรื่องนี้กับญาติของคนไข้ที่จากไปแล้ว ผมต้องระวังมากเลย ผมเคยเจอเหตุการณ์เชิญญาติมาพูดบนเวที แล้วไม่สามารถพูดได้เลย ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นเขาเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งมาก และเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี แต่พอเขาต้องทบทวนเรื่องในอดีตซึ่งผ่านไปเป็นปีๆแล้่ว พอจะเริ่มเล่า ก็เริ่มสะดุด
  • ถ้ามีคำแนะนำดีๆว่า เราในฐานะผู้ที่จะต้องประคองเขาและประคองรายการ จะดำเนินการอย่างไร ผมดูพิธีกรอาชีพในรายการโทรทัศน์ ส่วนหนึ่งก็ตัดไปช่วงอื่นหรือคนอื่นก่อน แต่บางรายการก็เอากล้องมาซูมจนน่าเกลียด
  • ช่วงนี้ อยู่ไกลจากเมืองไทย คงมีเรื่องแห่งความทรงจำเยอะนะครับ

ความทรงจำมันไม่ได้หดหายไปไหน แต่เราโตขึ้นจึงมีที่ว่างสำหรับคนอื่นๆ สิ่งอื่นๆ ที่เข้ามาใหม่ต่างหาก

...ชอบมากครับอาจารย์...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท