จิตติ์ ดวงบุปผาวงค์
พระครูปลัด จิตติชัย จิตติชโย มาตย์วงค์

วิจัย


การออกแบบวิจัย

การวางแผนการวิจัย 

 โดย พระครูปลัด จิตติชัย จิตฺติชโย[1] 

 การวางแผนการวิจัยเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่ผู้วิจัยจะต้องวางแผนล่วงหน้า ขั้นตอนที่สำคัญในการวางแผนการวิจัยจะประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญอยู่ 7 ขั้นตอน โดยมีสาระสำคัญของแต่ละขั้นตอนพอสรุปได้ดังนี้ (พิตร ทองชั้น, 2536 : 194)

 1. การกำหนดและเลือกหัวข้อในการวิจัย ขั้นนี้เป็นขั้นการวิจัย โดยปกติการวิจัยจะเกิดขึ้นเมื่อผู้วิจัยมีความสนใจในสิ่งนั้นและสิ่งดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่ยังต้องการคำตอบหรือคำอธิบายที่ชัดเจน เมื่อกำหนดหัวข้อในการที่จะทำวิจัยได้แล้ว สิ่งที่นักวิจัยต้องกระทำต่อเนื่อง คือ กิจกรรมต่อไปนี้

      1.1 ทำความเข้าใจกับปัญหานั้นให้กระจ่าง โดยการศึกษาค้นคว้าหรือถกเถียงปัญหาเหล่านั้นกับผู้รู้ ค้นคว้าวรรณกรรมเพิ่มเติม ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเหล่านั้น

      1.2 กำหนดขอบเขตและข้อตกลง (Limitation and Assumption) เป็นการกำหนดขอบเขตของการศึกษาวิจัยว่าจะมีขอบเขตมากน้อยเพียงใด กรอบการศึกษาวิจัยขนาดไหน นอกจากนั้นในการศึกษาวิจัยจะต้องกำหนดข้อตกลงเบื้องต้น ข้อตกลงเกี่ยวกับธรรมชาติของพฤติกรรมที่จะค้นคว้า จะต้องเขียนไว้ เพราะพฤติกรรมบางอย่างจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขบางอย่างเท่านั้น

       1.3 กำหนดตัวแปร (Variables) ที่จะศึกษาว่าประกอบด้วยตัวแปรใดบ้าง โดยระบุประเภทของตัวแปรอย่างชัดเจน ตัวแปรใดเป็นตัวแปรต้น ตัวแปรตาม เป็นต้น

        1.4 กำหนดจุดมุ่งหมายและความสำคัญของการวิจัย เพื่อให้รู้ว่าเรากำลังศึกษาค้นคว้าอะไร เป้าหมายหลักของการศึกษาค้นคว้าอยู่ตรงไหน เป็นการนิยามปัญหาในการวิจัยไปในตัว เพื่อให้เห็นแนวทางของการดำเนินกิจกรรมการวิจัยต่อเนื่อง

 2. การศึกษาค้นคว้าเอกสารและผลงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อกำหนดเรื่องที่จะทำวิจัยได้แล้ว ขั้นต่อไปต้องวางแผนที่จะศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่จะวิจัย เพื่อให้กระจ่างถึงหัวข้อที่จะวิจัย เพื่อให้เป็นความกระจ่างในปัญหาที่กำลังค้นคว้าอยู่ สิ่งที่ผู้วิจัยควรปฏิบัติในขั้นนี้ คือ

    2.1 ศึกษาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังดำเนินการวิจัยอยู่

    2.2 ค้นคว้าตำรา เอกสารเพิ่มเติม รวมทั้งสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

    2.3 จดบันทึกรายละเอียดของข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากการศึกษาค้นคว้า เพื่อจะนำมาสรุปใช้ในการเขียนรายงานการวิจัย ในบทที่ว่าด้วยวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องในการศึกษาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยควรจะบันทึกลงในบัตรแข็งขนาด 3” X 5” โดยบันทึกรายละเอียดที่สำคัญในประเด็นต่อไปนี้

              (1) ที่มาของกาวิจัยชิ้นนั้น ได้แก่ ชื่อ นามสกุล ของผู้วิจัย ชื่อหนังสือหรือชื่อบทความ ชื่อโรงพิมพ์ ชื่อสถานที่พิมพ์

             (2) วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนั้น

            (3) วิธีดำเนินการวิจัย (บันทึกในประเด็นที่สำคัญ)

             (4) ผลการวิจัย การอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

 3. การกำหนดแบบแผนการวิจัย ขั้นนี้ผู้วิจัยจะต้องวางแผนไว้ว่า หัวข้อการวิจัยที่เลือกแล้ว นั้นจะดำเนินการศึกษาค้นคว้าในแบบแผนการวิจัยใด เพื่อให้สามารถตอบคำถามการวิจัยได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ในการกำหนดแบบแผนการวิจัย ผู้วิจัยจะต้องค้นคว้าแบบแผนการวิจัย ให้มีความเข้าใจอย่างชัดเจน และเลือกรูปแบบการวิจัยที่เหมาะสมกับปัญหาในการวิจัยมากที่สุด ปัจจุบันการกำหนดแบบแผนในการวิจัยสามารถจำแนกแบบแผนการวิจัยเป็น 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ แบบแผนวิจัยที่ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และรูปแบบการวิจัยเชิงประมาณ (Quantitative Research)

             การที่ผู้วิจัยจะตัดสินใจเลือกรูปแบบใด จะต้องคำนึงถึงปัญหาและวัตถุประสงค์ของการวิจัย สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผู้วิจัยควรใช้ในการวิจัยในสภาพการณ์ ต่อไปนี้ (สุภางค์ จันทวานิช, 2531 : 21)

              1. เมื่อต้องการสร้างสมมุติฐานหรือทฤษฎีใหม่ ตลอดจนข้อเท็จจริงใหม่จากที่เคยรู้กันมาแต่เดิม และเมื่อต้องการสร้างทฤษฎี หรือกฎเกณฑ์ของศาสตร์สำหรับสภาพที่ยังขาดทฤษฎีของตนเอง เพราะทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม (Context) เป็นสำคัญ ในแต่ละสังคมซึ่งมีสภาพแตกต่างกันจึงไม่อาจใช้กฎเกณฑ์เดียวกันมาอธิบายได้ ในกรณีนี้เราจะใช้วิธีการเชิงคุณภาพก่อนเพื่อสร้างสมมุติฐาน แล้วใช้วิธีการเชิงปริมาณมาช่วยทดสอบและย้ำความเชื่อถือได้ของสมมุติฐานข้างต้น

            2. เมื่อต้องการศึกษากระบวนการของปรากฏการณ์สังคมว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรจากระยะเวลาหนึ่งไปยังอีกระยะเวลาหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขอะไรเกิดขึ้นในกระบวนการนั้น

             3. เมื่อต้องการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในระดับลึกซึ้งถึงความหมายของปรากฏการณ์นั้น ๆ สำหรับสมาชิกสังคมหรือกลุ่มสังคม

             4. เมื่อทำวิจัยในสังคมที่มีผู้ไม่รู้หนังสือและผู้มีการศึกษาต่ำมาก เช่น ในท้องถิ่นห่างไกล เนื่องจากการทำวิจัยเชิงคุณภาพใช้คนสัมผัสโดยตรงไม่ใช้เครื่องมือวิจัยอื่น ๆ เป็นสื่อกลาง โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการตีความหมายของทั้งฝ่ายผู้วิจัยและผู้ถูกวิจัยจึงมีน้อยกว่าในขณะที่การใช้เครื่องมือวิจัยเชิงปริมาณ เช่น แบบสอบถามหรือแบบสำรวจที่ส่งมาทางไปรษณีย์จะได้ผลต่างกัน

             5. เมื่อต้องการทำวิจัยในเรื่องที่มีลักษณะเป็นนามธรรม เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยม โลกทัศน์ ความเชื่อถือ ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ

             6. เมื่อต้องการข้อมูลระดับลึกมาประกอบการตัดสินใจในการวางแผนปฏิบัติงาน เพราะในบางครั้งตัวเลขที่รวบรวมได้และผลงานวิจัยเชิงปริมาณไม่ช่วยผู้บริหารในการตัดสินใจวางแผน

             7. เมื่อทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งปัจจุบันใช้กันมากในกิจกรรมพัฒนาทั้งของภาครัฐและเอกชน จำเป็นต้องใช้วิธีการเชิงคุณภาพในการทำความเข้าใจปัญหา ในการสร้างการมีส่วนร่วม และในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการพัฒนา

             หากผู้วิจัยเลือกแบบแผนการวิจัยในลักษณะที่เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ ก็จะมีแบบการวิจัยย่อยตามที่มิลเลอร์ (Miller,1998 : 13) ได้เสนอแบบการวิจัยย่อยสำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ ดังรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

                ก. การวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) การวิจัยด้วยรูปแบบการวิจัยเชิงบรรยายนี้ มุ่งสนองตอบจุดมุ่งหมายของการวิจัยในลักษณะต่อไปนี้

               (1) เพื่อสำรวจ (To Explore)

              - เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องที่ศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นเหตุการณ์ เรื่องราว ความรู้ ความคิด พฤติกรรม

              - อาจเพื่อใช้ข้อมูลเบื้องต้นที่ศึกษานั้นเป็นพื้นฐานในการกำหนดสมมุติฐานการวิจัยเพื่อศึกษาให้ลึกซึ้งมากขึ้นต่อไปในเรื่องนั้น ๆ

               ตัวอย่างงานวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายการวิจัยในระดับนี้ เช่น การสำรวจประชามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้วิจัยกำหนดขึ้น ผลจากการศึกษาวิจัยจะทำให้ได้ภาพรวมของเรื่องที่ศึกษาอย่างกว้าง ๆ จากกลุ่มตัวแทนประชากรในระยะเวลาอันสั้น

               (2) เพื่อบรรยาย / พรรณนา (To Describe)

               - เพื่ออธิบายลักษณะที่เป็นอยู่ของเรื่องที่ศึกษา เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยการบรรยาย / หรือพรรณนาตามตัวแปรที่ศึกษา อาจใช้วิธีการเปรียบเทียบข้อมูลตามกลุ่มตัวอย่าง

             ตัวอย่างงานวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายในระดับนี้ เช่น งานวิจัยในหัวข้อ การเปรียบเทียบความถนัดทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันราชภัฏสวนดุสิตในแต่ละโปรแกรมวิชา

               (3) เพื่ออธิบายหรือทำนายความสัมพันธ์ (To Explain – Predict)

           - เพื่ออธิบายลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวแปรที่ศึกษา (x และ y) โดยแสดงให้เห็นขนาดและทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร เช่น งานวิจัยในหัวข้อ ความสัมพันธ์ระหว่างความถนัดทางการเรียนกับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักศึกษาสถาบันราชภัฏสวนดุสิต

          - เพื่อทำนายหรือคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มที่จะเป็นสำหรับตัวแปรหนึ่ง (y) โดยอาศัยตัวแปรหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง (x) เป็นตัวทำนาย การทำนายต้องใช้ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร (x,y) เป็นพื้นฐาน งานวิจัยประเภทนี้เป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในหัวข้อ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการแก้ปัญหาทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันราชภัฏสวนดุสิต หรือ ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรในสถาบันราชภัฏสวนดุสิต จากงานวิจัยที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น แบบการวิจัยจะทำนายตัวแปร y คือ ความสามารถในการแก้ปัญหาในการเรียนของนักศึกษาสถาบันราชภัฏสวนดุสิต และการปฏิบัติงานของบุคลากรในสถาบันราชภัฏสวนดุสิต โดยอาศัยกลุ่มตัวแปร ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

          ข. การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) การวิจัยด้วยรูปแบบการวิจัยเชิงทดลอง เป็นรูปแบบการวิจัยที่มุ่งสนองตอบจุดมุ่งหมายของการวิจัยที่แตกต่างไปจากรูปแบบการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) กล่าวคือ การวิจัยเชิงทดลองมุ่งสนองตอบจุดมุ่งหมายของการวิจัย (End Sought of Research) ระหว่างตัวแปรต้น (x) และตัวแปรตาม (y) โดยพยายาม “ควบคุม” ตัวแปรแทรกด้วยวิธีการต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในหัวข้อเปรียบเทียบผลการสอนในวิชาความรู้พื้นฐานเพื่อการวิจัย ด้วยวิธีการสอนที่ใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง และวิธีสอนปกติ หรือ ผลของวิธีการสอนแบบสืบเสาะในวิชาวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดของนักศึกษาสถาบันราชภัฏสวนดุสิต

 4. การสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการรวบรวมข้อมูล ขั้นตอนนี้เป็นการวางแผนว่าจะใช้เครื่องมืออะไร วิธีการใดในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อจะตอบปัญหาการวิจัยครั้งนี้ การวางแผนในเรื่องนี้จะครอบคลุมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

          4.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยจะต้องกำหนดประชากรของการวิจัยว่ามีขอบเขตมากน้อยเพียงใด ใช้วิธีการใดในการสุ่มตัวอย่าง เพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งที่ทำการวิจัย

        4.2 การสร้างและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ งานวิจัยมีคุณค่า ในประเด็นดังกล่าวนี้ผู้วิจัยจะต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ตลอดจนกระบวนการของการสร้าง และการตรวจสอบเครื่องมือให้เป็นที่เชื่อถือได้ก่อนนำมาใช้ในการเก็บข้อมูลในงานวิจัย

        4.3 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ในประเด็นนี้การวางแผนจะต้องกำหนดวิธีการอย่างชัดเจน พร้อมทั้งระบุเวลา สถานที่ หรือการนัดหมายบุคคลเพื่อให้ข้อมูล รวมทั้งวิธีการตรวจสอบข้อมูลว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด

 5. การวิเคราะห์ข้อมูล การวางแผนในขั้นตอนนี้ ผู้วิจัยจะต้องวางแผนให้ครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้

          5.1 การเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ตามหลักการทำวิจัย ผู้วิจัยจะกำหนดสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยยึดวัตถุประสงค์ของการวิจัย และปัญหาในการวิจัยเป็นหลัก ผู้วิจัยจะต้องเลือกสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลให้เหมาะสมกับงานวิจัย กล่าวคือ หลังการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติที่ผู้วิจัยเลือกแล้วนั้น จะต้องตอบปัญหาการวิจัยได้ งานวิจัยเชิงปริมาณที่เป็นรูปแบบของการวิจัยเชิงทดลอง การทดสอบสมมุติฐาน เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยจะต้องระมัดระวังในการเลือกใช้สถิติให้ถูกต้อง และสามารถทดสอบสมมุติฐานที่ตั้งไว้ องค์ประกอบที่ผู้วิจัยจะต้องคำนึงถึงในเรื่องการเลือกใช้สถิติ ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ระดับการวัดของข้อมูล ข้อจำกัดของค่าสถิติบางตัว ข้อตกลงเบื้องต้นของสถิติในแต่ละตัว ฯลฯ

           5.2 การจัดนำเสนอตาราง กราฟ ภาพ ฯลฯ ผู้วิจัยจะต้องกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะนำเสนอข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ในลักษณะอย่างไร รูปแบบใด เพื่อให้การวิเคราะห์สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ

            5.3 การแปลผลและการสรุป ขั้นนี้จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายของการวิจัยว่าเพื่ออะไร การแปลผลและการสรุปจะได้ไปตามแนวทางที่ได้ตั้งไว้ ถ้าหากมีการตั้งสมมุติฐานจะต้องหาคำตอบตามสมมุติฐานนั้นให้ได้เช่นกัน

 6. งบประมาณการใช้จ่ายและผู้ร่วมงาน ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก ผู้วิจัยต้องวางแผนด้านงบประมาณในการทำวิจัย โดยคิดค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้เป็นงบประมาณในการทำวิจัย เพื่อจะได้ทราบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานการวิจัย รวมทั้งการกำหนดตัวบุคคลที่จะดำเนินการทำวิจัยไว้ล่วงหน้าด้วย

 7. กำหนดตารางปฏิบัติงาน การกำหนดขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ผู้วิจัยศึกษาขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินการวิจัยมาอย่างชัดเจน กิจกรรมในขั้นตอนนี้เป็นการวางขั้นตอนต่าง ๆ ด้วยการกำหนดวัน เวลาในการปฏิบัติงานตั้งแต่ขั้นเตรียมงาน ดำเนินงาน จนกระทั่งจบการวิจัย พิมพ์เอกสารเพื่อใช้ในการเผยแพร่ การกำหนดตารางปฏิบัติงานจะช่วยให้ผู้วิจัยดำเนินการวิจัยได้บรรลุตามเป้าหมายของการดำเนินการวิจัยตามที่วางไว้ รายละเอียดของตารางปฏิบัติงาน อาจเป็นดังนี้

ตารางที่ 1 แสดงกิจกรรมและระยะเวลาในการปฏิบัติงานวิจัย

กิจกรรม

เดือน

1

2

3

4

5

6

7

8

9

10

11

12

ขั้นเตรียมงาน

 กำหนดกลุ่มตัวอย่าง

 สร้างและพัฒนาเครื่องมือ

 ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ

 ฝึกผู้เก็บข้อมูล (ถ้ามี)

ขั้นดำเนินงาน

 การออกเก็บข้อมูลภาคสนาม

 การลงรหัส

 การวิเคราะห์ข้อมูล

 การแปลผลและการนำเสนอ

ขั้นเขียนรายงาน

 การเขียนยกร่างรายงาน

 การพิมพ์รายงานวิจัย

 การเสนอและเผยแพร่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ผู้วิจัยจะใช้ตารางดังกล่าวกำหนดเป็นแผนในการปฏิบัติงานวิจัยในแต่ละกิจกรรม จะใช้เวลามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้วิจัยที่จะกำหนดให้เหมาะสม แผนดังกล่าวจะเป็นแนวทางให้ผู้วิจัยได้ตระหนักอยู่เสมอว่าขณะนี้ดำเนินการมาถึงกิจกรรมใดแล้ว  เพื่อให้เห็นภาพของการวางแผนการวิจัยชัดขึ้น ขอนำเสนอเป็นตาราง ดังนี้

ตารางที่ 2  แสดงประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการวิจัย

ประเด็นปัญหาสำหรับการวางแผน

แนวทางในการวางแผนการวิจัย

1. ศึกษาอะไร  ?

1. ระบุตัวแปรที่จะศึกษาอย่างชัดเจนว่าประกอบด้วยตัวแปรใดบ้างในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ และกำหนดปัญหาของการวิจัยอย่างชัดเจน  

2. ทำไมต้องศึกษา ?

2. ระบุสภาพปัญหาความจำเป็นของการวิจัยในเรื่องที่กำลังศึกษา วางแผนการวิจัยนั้นต้องการคำตอบและเป็นปัญหาจริง ๆ

3. ศึกษากับใคร  ?

3. ระบุประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยอย่างชัดเจนว่า จะใช้กลุ่มตัวอย่างใดในการศึกษาวิจัยและมีเทคนิควิธีการในการสุ่มตัวอย่างอย่างไร มีขนาดของกลุ่มตัวอย่างเท่าใด

4. ศึกษาแบบใด ?

4. กำหนดรูปแบบการวิจัยโดยเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยรูปแบบของการวิจัยที่เลือก ต้องสามารถให้คำตอบได้ตรงตามปัญหาของการวิจัยที่ตั้งไว้ เป็นรูปแบบที่สนองตอบต่อความเที่ยงตรงในการวิจัย

5. คาดว่าผลของการวิจัยจะเป็นอย่างไร ?

5. ในงานวิจัยบางประเภทต้องมีการตั้งสมมติฐานในการวิจัย ฉะนั้นก่อนการตั้งสมมติฐาน ผู้วิจัยต้องศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ผลงานวิจัยที่ผ่านมา ตั้งสมมติฐานเพื่อนำไปสู่การทดสอบ

6. ใช้เครื่องมืออะไร ?

 

 

6. กำหนดเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างชัดเจน ใช้เครื่องมืออะไรกับกลุ่มตัวอย่างใด แนวทางการพัฒนาเครื่องมือ และการทดสอบคุณภาพของเครื่องมือ ดำเนินการอย่างไร

7. วางแผนในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไร ?

7. กำหนดแผนในการเก็บรวบรวมข้อมูล ระบุระยะเวลา วิธีการดำเนินการในการเก็บรวบรวมข้อมูล ระบุบุคคล ผู้เกี่ยวข้องในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีแผนการปฏิบัติการเก็บข้อมูลอย่างชัดเจน

8. จะวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอข้อมูลในลักษณะใด  ?

8. ระบุสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย วางแผนการนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ จะนำเสนอในลักษณะใด เพื่อให้ตอบคำถามของการวิจัย และมีรูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ เป็นต้น

สรุปแล้วการวางแผนการวิจัยก็คือ การกำหนดโครงร่างในการจะทำวิจัย เริ่มตั้งแต่เลือกปัญหาการวิจัย จนกระทั่งการเขียนรายงานการวิจัย และเผยแพร่ผลงานวิจัยในที่สุด การวางแผนที่รัดกุมจะทำให้ผู้วิจัยสามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

บรรณานุกรม

ประพนธ์ เจียรกูล.”ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย” ในเอกสารชุดฝึกอบรมการเรียนรู้การทำวิจัยด้วยตนเอง. หน้า1-24.นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2542.

ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล และสุภาพ ฉัตราภรณ์.การออกแบบการวิจัย.พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2543.

ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ.เทคนิคการวิจัยทางการศึกษา.กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ 2536.

                    .สถิติวิทยาทางการวิจัย. กรุงเทพฯ : สุวีริยสาส์น, 2540.

พิศิษฐ ตัณฑวณิช. เอกสารคำสอนรายวิชาการวิจัยเบื้องต้น. ภาควิชาทดสอบและวิจัยการศึกษา.วิทยาลัยครูสุรินทร์ 2531.

พิตร ทองชั้น, การวิจัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ  2536

ไพศาล หวังพานิช. วิธีวิจัย. กรุงเทพฯ : สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร, 2531.

วรรณรัตน์ อึ้งสุประเสริฐ.การวิจัยทางการศึกษา. กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม, 2540.

วิเชียร เกตุสิงห์. คู่มือการวิจัย:การวิจัยเชิงปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร : ลาดพร้าว, 2534.

                    . หลักการสร้างและวิเคราะห์เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์และทำปก   เจิรญผล, 2530.

สุภางค์ จันทวานิช. วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531

อุทุมพร จามรมาน. การเขียนโครงการวิจัย. กรุงเทพฯ : ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, 2533.

 


[1]อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา  
  น.ธ.เอก, ศน.บ.(ปรัชญา), ศศ.ม.(การวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น)

หมายเลขบันทึก: 368401เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2010 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท