ICT กับวิถีเกษตรไทย


ระบบ ICT กับวิถีของเกษตรไทยนั้นนับวันยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะช่วยอำนวยความสะดวกสบายในด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับอาชีพเกษตรอยู่ค่อนข้างมาก

ICT   กับวิถีเกษตรไทย

                         “เป่าปี่ใส่หูควาย  ความหมายที่คอยที่ตำ มากมายคิดมองมืดดำ ตอกย้ำว่าโง่เหมือนควาย” เป็นเนื้อหาท่อนหนึ่งของชื่อเพลง “ไทคม” ทิ่แต่งโดยน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ยังจำกันได้อยู่ไหมเอ่ย ก็ไม่ได้คิดที่จะระลึกนึกถึงความหลังเมื่อครั้งที่เพลงเพื่อชีวิตในบ้านเรายังคงได้รับความนิยมสูงในยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาหรอกครับ เพียงแต่อยากจะสื่อสารให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ในเรื่องของ ICT (Information and Communication Technology) กับวิถีของเกษตรของไทยนั้นแท้จริงก็มีมาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่ในปัจจุบันอาจมีรูปแบบที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ที่ดูสวยหรูและทันสมัยมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเท่านั้น  ด้วยความก้าวล้ำนำสมัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้ สาร (message) สื่อ (Channel) มีรูปร่างหน้าตาผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมาก ส่วนผู้ส่งสาร (Sender) และผู้รับสาร (Receiver) นั้นผู้เขียนคิดว่ายังคงเหมือนเดิม (หรืออาจจะมีบางคนคิดว่าผู้รับสารในยุคนี้อาจจะมีความแตกต่างกว่าในอดีตก็เป็นได้นะครับ)

                         ระบบ ICT กับวิถีของเกษตรไทยนั้นนับวันยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะช่วยอำนวยความสะดวกสบายในด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับอาชีพเกษตรอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น การพยากรณ์ฝน ฟ้า อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลชุดดินของกรมพัฒนาที่ดิน ที่สามารถให้ข้อมูลแก่เกษตรกรได้ว่าดินแต่ละภูมิภาคนั้นมีลักษณะที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร จะพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ปลูกพืชได้  หรือจะเป็น GIS (Geographic Information System) บางคนอาจจะงงว่ามันคืออะไร ก็ขออนุญาตอธิบายพอสังเขปนะครับว่า GIS นั้นก็คือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่สามารถจะบ่งบอกลักษณะทางภูมิศาสตร์ทางกายภาพของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลก เช่น ถนน แม่น้ำ ภูเขา อาคาร สถานที่ สิ่งก่อสร้างต่างๆ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม ระดับความสูงความลึก เป็นต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือรัฐบาลใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและบริหารงานรวมทั้งด้านเกษตรก็ใช้ได้ด้วยเหมือนกัน ถ้าสามารถบริหารจัดการข้อมูลให้เข้าถึงตัวเกษตรกรในช่องทางที่ง่าย

                         แต่ปัญหาด้านการสื่อสารการเกษตรของไทยก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ตั้งแต่ปี 2539 ที่ภาครัฐมีนโยบาย IT 2000 (ศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2545) ที่มีพันธกิจ 3 ด้านคือ 1. การลงทุนในโครงสร้างสารสนเทศพื้นฐานแห่งชาติที่เสมอภาค 2. การลงทุนในด้านการศึกษาที่ดีของพลเมืองและบุคลากรด้านสาสนเทศ และ 3. การพัฒนาสารสนเทศและปรับปรุงบทบาทภาครัฐ เพื่อบริการที่ดีขึ้นและสร้างรากฐานอุตสาหกรรมสารสนเทศแข็งแกร่ง  ก็ทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาความสามารถและศักยภาพ ในด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ผลอยู่เพียงในระดับหนึ่ง จนต่อมา 2545-2549 รัฐบาลยังคงให้ศูนย์อิเล็กทรอนิคและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยต่อจาก นโยบาย IT 2000 และนโยบายเทคโนโลยีสาสนเทศและการสื่อสาร 2544-2553  ขึ้นเพื่อพัฒนางานด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นนโยบายระยะยาวเป็นเวลา 10 ปี โดยมีเป้าหมายและพันธกิจในการดำเนินการที่ชัดเจนโดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาครอบคุลมใน 5 ด้านคือ

-                   เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาครัฐ (e-Government)

-                   เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านพาณิชย์ (e-Commerce)

-                   เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม (e-Industry)

-                   เทคโนโลยีสารสนเทศเพือการพัฒนาด้านการศึกษา (e-Education)

-                   เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านสังคม (e-Society)

                         (เอกสารประกอบการสอนวิชา 01001551การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร  รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ)

                         ถึงแม้ว่าการพัฒนาทั้ง 5 ด้านที่ใช้เวลาถึง 10 ปี เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทยเราก็ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลในด้านต่างๆ ที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้ได้ เพราะตัวเกษตรกรเองนั้นยังไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ว่ามีความจำเป็นต่อตนเองมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือรับสารอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ โน้ตบุค เน็ตบุคฯลฯ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีราคาถูกกว่าแต่ก่อนค่อนข้างมาก แต่เกษตรกรก็ยังไม่ซื้อหามาเก็บไว้ใช้สอยเพราะอาจจะคิดว่าอย่างไรเสียโทรทัศน์ก็น่าจะมีความจำเป็นมากว่า รับข้อมูลข่าวสารจากช่องของฟรีทีวีต่างๆหรือจากจานดาวเทียม สามารถดูช่องที่ตนเองต้องได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งระบบของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet) ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

                         แม้แต่การจัดสรรคัดเลือกระบบเครือข่ายที่ทันสมัยที่สุดในตอนนี้อย่างเช่นระบบ 3 G ที่มีแผนการนำไปใช้แบบใกล้คลอดเต็มที รัฐก็ยังไม่สามารถที่จะนำออกมาใช้ได้เพราะติดปัญหาการตกลงผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้ใช้จนประเทศเพื่อนบ้านของเราได้แซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของภาครัฐในด้านการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้คอมพิวเตอร์เพื่อรองรับกับนโยบาย ICT โดยเฉพาะยิ่งการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเกษตรด้วยแล้วคงยังห่างไกลความจริงอยู่มาก เพราะถึงแม้ว่าจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องรับสารแล้ว แต่โครงสร้าง (Profile)  เครือข่าย (Network) รวมทั้งเนื้อหา (Content) ก็ยังไม่สามารถที่จะส่งผ่านมายังตัวของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ยังคงใช้งานเป็นระบบปิด (Offline) อยู่ ซึ่งข้อมูลก็แทบจะไม่มีการอัพเดท หรือมีก็มีอย่างจำกัด ทำให้ไม่เกิดความกระตือรือร้นสนใจในกลุ่มของเกษตรกรให้เกิดความสนใจในเรื่องของ ICT

                         ในความเป็นจริงแล้วถ้าภาครัฐสามารถที่จะสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานในด้าน ICT ให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่มก็นับว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อประเทืองปัญญานำมาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขในอาชีพการงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเมื่อเจอกับปัญหาด้านการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ก็สามารถที่จะเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนได้โดยมีแนวทาง มิใช่ต้องลองผิดลองถูกอยู่เรื่อยไปสิ้นเปลืองทั้งเงินและเวลาปัญหาก็ยังแก้ไม่ได้

                         เมื่อเกิดปัญหาเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ ก็อาจจะมีบางคนบางกลุ่มบอกให้ไปใช้ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) หรือศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร โดยไม่ได้ดูความเป็นจริงเลยว่าเครื่องคอมพิวเตอร์สองสามเครื่องนั้นกับเกษตรกรทั้งตำบลมันมีความเพียงพอพอดีกันหรือไม่ หรืออาจจะแย้งว่าให้ดูคนเดียวแล้วนำไปบอกต่อๆ กัน ในความจริงมันก็เป็นไปไม่ได้เพราะปัญหาของพี่น้องเกษตรกรนั้นมีความหลากหลายในสายอาชีพเกษตรของเขา ทั้งปลูกมะเขือ, ฟักแฟง, แตงกวา,อ้อย, ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง ฯลฯ แล้วจะให้เขาเหล่านั้นมัวแต่รอหาข้อมูลทั้งหมดจากเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่องเทียบกับจำนวนผู้ใช้ทั้งตำบลนั้นมันไม่สอดคล้องกัน จึงยิ่งทำให้ประชาชนหรือเกษตรกรไทยยิ่งมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากเข้าใกล้คอมพิวเตอร์ ไม่อยากเข้าใกล้ ICT มากไปใหญ่ เพียงเพราะภาครัฐไม่ใส่ใจดูแลอย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในด้านเครือข่ายที่ครอบคลุม และอุปกรณ์การรับสารให้มีราคาที่ซื้อหาได้ง่ายราคาย่อมเยาว์ ก่อนที่จะพัฒนาผู้รับสารต่อไปในอนาคต

                         สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะพัฒนาระบบ ICT ของไทยมีความก้าวหน้ามีความสัมพันธ์กันทั้งระบบก็คือการพัฒนาตัวของเกษตรกรผู้รับสารหรือผู้ที่จะใช้เทคโนโลยีให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มจากเดิมให้มากยิ่งขึ้น อาจจะต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาให้ความรู้ความเข้าใจอย่างจริงจัง อาจจะมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้คอมพิวเตอร์ประจำตำบลทุกๆ ตำบล จัดการฝึกอบรมเป็นรุ่นๆ รุ่นละหลายๆรอบจนกว่าเกษตรกรในแต่ละตำบลทั่วประเทศจะมีความสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ได้ อีกทั้งก็พัฒนาหลักสูตรการศึกษาภาคปกติให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อพัฒนาลูกหลานของพี่น้องเกษตรซึ่งอยู่ในวัยที่แคล่วคล่องว่องไว สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ได้ดีกว่าผู้ใหญ่เพื่อเมื่อเติบโตขึ้นก็สามารถที่จะเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพสามารถรองรับระบบ ICT ที่ภาครัฐพยายามพัฒนาให้เป็นหน้าเป็นตาแก่ประเทศอวดชาวโลกอยู่ในขณะนี้ มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะทำให้ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสามารถกระจายไปยังผู้รับสารทั่วประเทศได้ ทำให้การพัฒนาของภาครัฐก็จะล่าช้าขาดทั้งประสิทฺธิภาพและประสิทธิผลเพราะมัวแต่พัฒนาแต่ ICT เพียงด้านเดียวโดยไม่พัฒนาอีกฟากหนึ่งไปพร้อมกันด้วย

                         ดังนั้นไม่ว่าภาครัฐจะมีมาตรการ เครื่องมือ เทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสารที่มากมายเพียงใด แต่ถ้าการบริหารจัดการที่ส่งลงไปนั้น ประชาชนยังคงมีความรู้สึกว่าเครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้รับสารหรือใช้รองรับเทคโนโลยีที่ถูกป้อนมานั้น ยังไม่สามารถที่จะซื้อง่ายใช้สะดวก (เพราะจะรอของฟรีจากภาครัฐมาใช้ รัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณมากพอที่จะซื้อหรือจัดหาให้ประชาชนได้ทุกครัวเรือน) ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรจะส่งเสริมได้ดีที่สุดก็คือ การวางสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นโทรศัพท์บ้าน เพื่อให้เกษตรกรในชนบทห่างไกลสามารถจะเข้าถึงอินเตอร์เนตได้ และจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาย่อมเยาว์และมีคุณสมบัติที่รองรับเทคโนโลยีจากภาครัฐได้ ไม่ใช่นำคอมพิวเตอร์ราคาถูกมาแต่ใช้ได้แค่เปิดเครื่องเล่นเกมส์ พิมพ์รายงานได้เพียงอย่างเดียว อย่างอื่นทำไม่ได้เพราะคุณสมบัติไม่ถึงก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ยิ่งทำให้ระบบ ICT ของประเทศไทยคงจะไปไม่ถึงไหนล้าหลังอยู่เช่นนี้เรื่อยไป เปรียบได้ดังกับการพยายามส่งสารไปยังผู้รับที่ไม่มีมีประสิทธิภาพขาดแคลนเครื่องมือ หรือตัวผู้รับสารเองก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อย่างนั้นก็จะต่างอะไรเล่ากับการได้แค่เพียง “เป่าปีให้ควายฟัง” ล่ะเน้อ...

 

 

นายมนตรี  บุญจรัส   

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 367357เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2010 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อวาน..นั่งติดอยู่ในรถบนทางด่วน ค่อย ๆ ขยับ 2 ชั่วโมง

นั่งถึง..งระบบICT ไทย..นึกถึง จส.100...(เกี่ยวกันใหมเนี่ย)

ขอบคุณ..สำหรับข้อมูลความรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท