Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ทางออกในการทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นจริงในสังคมไทย : อะไรคือปัญหา ? เราพบทางออกบ้างแล้วยัง ? และเราออกจากปัญหาได้แล้วแค่ไหน ?


บันทึกที่เขียนเพื่อประกอบการอภิปรายเรื่องทางออกในการทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นจริงในสังคมไทย ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ ห้องราชเทวีแกรนด์บอลรูม ชั้น ๓ โรงแรมเอเซีย ถนนราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวันสังคมสงเคราะห์โลก ประจำปี ๒๕๕๓ และการประชุมวิชาการนักสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๓ เรื่อง “วาระสังคมสงเคราะห์และพัฒนาสังคม : มาร่วมกันสร้างสิทธิมนุษยชนที่เป็นจริงในสังคม” จัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ของรัฐและเอกชน สมาคมวิชาชีพ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง

          ผู้เขียนตั้งประเด็นให้ตนเองตอบ ๒ ประเด็น กล่าวคือ (๑) อะไรคือปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ? และ (๒) เราพบทางออกของปัญหาดังกล่าวบ้างแล้วยัง ? หรือเราออกจากปัญหาดังกล่าวได้แล้วแค่ไหน ?

-----------------------------------------------

(๑) อะไรคือปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ?

-----------------------------------------------

ในวันนี้ที่เรามีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราก็น่าจะมีองค์ความรู้ด้านข้อเท็จจริง (Factual Knowledge) เกี่ยวกับความมีอยู่และความเป็นอยู่ของปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  ในเบื้องต้น เราจึงอาจนำเอาข้อมูลจากรายงานประจำปีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปี พ.ศ.๒๕๕๑ มาเป็นโจทย์ของสังคมในปี พ.ศ.๒๕๕๓ ได้ว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่จะต้องจัดการให้ได้จริงมีอยู่ ๑๖ เรื่องด้วยกัน กล่าวคือ

1.    

สิทธิในกระบวนการยุติธรรม

ร้อยละ ๒๔.๓๖

2.    

สิทธิในทรัพย์สิน/การจัดการที่ดิน

ร้อยละ ๑๖.๑๕

3.    

สิทธิในชีวิตและร่างกาย

ร้อยละ ๑๒.๑๘

4.    

สิทธิในชุมชนฐานทรัพยากร

ร้อยละ ๑๑.๑๙

5.    

การปฏิบัติไม่เป็นธรรม

ร้อยละ ๙.๗๗

6.    

สิทธิแรงงาน

ร้อยละ ๖.๙๔

7.    

สิทธิผู้บริโภค

ร้อยละ ๓.๖๘

8.    

สิทธิที่อยู่อาศัย

ร้อยละ ๓.๒๖

9.    

สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข

ร้อยละ ๓.๑๒

10.  

สิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว

ร้อยละ ๒.๕๕

11.  

สิทธิอื่นๆ

ร้อยละ ๒.๑๒

12.  

สิทธิในกระบวนการปกครอง

ร้อยละ ๑.๔๒

13.  

สิทธิในการสื่อสาร

ร้อยละ ๑.๒๗

14.  

สิทธิในการศึกษา

ร้อยละ ๐.๙๙

15.

สิทธิทางการเมือง

ร้อยละ ๐.๘๕

16. 

เสรีภาพในการถือศาสนา

ร้อยละ ๐.๑๔

 จากรายงานนี้ มีข้อสังเกตหลายประการที่เราอาจดึงมาถอดบทเรียน กล่าวคือ

ในประการแรก รายงานประจำปีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับนี้ ระบุว่า การตรวจสอบปัญหาสิทธิมนุษยชนมีเพียง ๗๐๖ เรื่อง คำถามก็คือ ปัญหาสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริงใน พ.ศ.๒๕๕๑ เพียง ๗๐๖ เรื่อง หรือในความเป็นจริงมีมากกว่านั้น เพียงความเป็นไปได้ที่จะจัดการมีเพียง ๗๐๖ เรื่อง หากเป็นประเด็นแรก ก็จะเป็นการตีความที่น่าพึงพอใจ จะเห็นว่า จากคนที่อาศัยในประเทศไทยอย่างน้อย ๖๐ ล้านกว่าคน มีประเด็นที่ต้องตรวจสอบไม่ถึง ๑๐๐๐ เรื่อง แต่หากเป็นการตีความในลักษณะที่สอง นั่นก็คือ ปัญหาสิทธิมนุษยชนในความเป็นจริงมีมากกว่านั้น แต่ไม่มีการร้องเรียนของเจ้าของปัญหา หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในช่วงเวลานั้นไม่ได้พิจารณาหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบ ในสถานการณ์ที่สองนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใน พ.ศ.๒๕๕๓ ก็จะต้องคิดวิธีการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในลักษณะที่ครอบคลุมและเป็นจริงมากขึ้น หากเราไม่เห็นปัญหา เราก็คงไม่มีโอกาสศึกษาถึงทางออกของปัญหา ปัญหาก็จะค้างอยู่ในสังคมไทยต่อไปอีก

ในประการที่สอง รายงานฉบับนี้ยังพบว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่มีจำนวนมากที่สุด ก็คือ เรื่องที่กระทบสิทธิในความมั่นคงแห่งมนุษย์ กล่าวคือ (๑) ปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีจำนวนร้อยละ ๒๔.๓๖ (๒) ปัญหาสิทธิในทรัพย์สินและการจัดการที่ดิน ซึ่งมีจำนวนร้อยละ ๑๖.๑๕ (๓) ปัญหาสิทธิในชีวิตและร่างกาย ซึ่งมีจำนวนร้อยละ ๑๒.๑๘ และ (๔) ปัญหาสิทธิในชุมชนฐานทรัพยากร ซึ่งมีจำนวนร้อยละ ๑๑.๑๙ โดยสถิติรวมก็คือ ร้อยละ ๖๓.๘๗

ในประการที่สาม ข้อสรุปในตัวเลขที่เราพบเกี่ยวกับสิทธิในความมั่นคงแห่งมนุษย์ที่พบนี้ย่อมเป็นโจทย์สำคัญสำหรับคนที่ทำงานด้านความมั่นคงของมนุษย์ เราสังเกตได้ว่า ปัญหาความไม่มั่นคงของมนุษย์ได้เกิดขึ้นจากสาเหตุที่หลากหลาย ไม่เฉพาะแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อตัวตนของมนุษย์ แต่ยังเป็นปัญหาที่เกิดแก่โอกาสในการพัฒนาความเป็นมนุษย์อีกด้วย กล่าวคือ สิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในชุมชนฐานทรัพยากร  ดังนั้น การสังคมสงเคราะห์หรือการสวัสดิการสังคมในรูปแบบของการให้สิ่งของที่ขาดแคลน โดยไม่สร้างความเข้มแข็งให้เจ้าของปัญหาจึงมิใช่ทางออกที่ยั่งยืน และการเข้าสร้างศักยภาพของมนุษย์โดยไม่เข้าใจ “สาเหตุของปัญหา” ก็จะไม่ใช่ทางออกที่ตรงประเด็น ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ

สำหรับผู้เขียน ทางออกของปัญหาใดก็ตาม ย่อมต้องเริ่มต้นดังที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงแนะนำเสมอ นั่นก็คือ “ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจปัญหาที่สาเหตุและอาการ” จะมองเห็นปัญหาแค่ส่วนเดียวเท่าที่ผู้แก้ปัญหาอยากจะมองและสะดวกที่จะทำ ย่อมไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งตัวปัญหาและทางออกของปัญหาเป็นเรื่องที่ต้องมองทั้งในแบบภาวะวิสัย (Objective) และอัตวิสัย (Subjective) กล่าวคือ รอบด้าน

ผู้จัดงานเสวนาประสงค์จะให้ผู้เขียนกล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นตัวอย่างของข้อเสนอ สำหรับผู้เขียน การจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ย่อมต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้ได้ ปัญหาลักษณะไหนที่เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ตกเป็นคนไร้รัฐ ? ปัญหาในลักษณะไหนที่ทำให้มนุษย์ตกเป็นคนไร้สัญชาติ ?

งานวิจัยในช่วงหลังก็ชัดเจนว่า ความไร้รัฐของมนุษย์เป็นผลของการที่มนุษย์ไม่ถูกยอมรับโดยรัฐใดเลยบนโลกในทะเบียนราษฎรของรัฐ ในขณะที่ความไร้สัญชาติของมนุษย์เป็นผลมาจากการที่มนุษย์ไม่ถูกยอมรับในสถานะคนสัญชาติโดยรัฐใดเลยบนโลก สถานการณ์ทั้งสองอาจเกิดขึ้นพร้อมกัน หรือแยกกันก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติ สภาวะดังกล่าวก็จะนำมาซึ่งสถานะของคนที่ไร้สิทธิตามกฎหมายตามมา นั่นก็คือ ความด้อยโอกาสทางกฎหมายอันก่อให้เกิดความด้อยโอกาสทางแพ่ง (พลเมือง) หรือทางการเมือง หรือเศรษฐกิจ หรือสังคม หรือวัฒนธรรม

ในการทำรายงานประเทศไทยว่าด้วยการปฏิบัติตามกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง (พลเมือง) และการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖ เพื่อเสนอต่อสหประชาชาติ ผู้เขียนได้รับฟังว่า มีผู้แทนของบางส่วนราชการที่มีหน้าที่พิจารณารายงานประเทศฉบับนี้ ไม่รู้จัก “สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to recognition of legal personality) ” ภายใต้ข้อ ๑๖ แห่งกติกานี้ และปฏิเสธที่จะให้พูดถึงเรื่องของคนไร้รัฐในรายงานประเทศฉบับนี้ ทั้งที่ประเทศไทยมีภูมิปัญญาที่ดีมากในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐในประเทศไทย ดังจะเห็นว่า มีการปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องของน้องหม่อง ทองดีในรายงานฉบับนี้ ทั้งที่เรื่องนี้ได้สะท้อนภูมิปัญญาที่งดงามของรัฐไทยในเรื่องการจัดการคนไร้รัฐในประเทศไทย

เด็กชายหม่อง ทองดี ก็คือนักเรียนน้อยแห่งโรงเรียนบ้านห้วยทรายที่ร้องขอตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๒ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะใช้สิทธิที่จะเดินทางไปแข่งขันการพับเครื่องบินกระดาษในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในชั้นแรกของสถานการณ์ สังคมไทยไม่เข้าใจว่า น้องหม่องคือใคร ? และอะไรคือปัญหาของน้องหม่อง ? มีความสับสนว่า น้องหม่องเป็นคนสัญชาติพม่าทั้งที่เขาเกิดในประเทศไทยและมีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐใดเลยบนโลกว่า เป็นคนสัญชาติ เขาตกอยู่ในปัญหาความไร้สัญชาติ แต่เขาเป็น “คนมีรัฐ” หรือกล่าวให้ชัดเจนว่า เขาเป็นคนที่มีรัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) แม้เขาจะไม่มีสัญชาติไทย แต่รัฐไทยโดยกฎหมายทะเบียนราษฎรก็ยอมรับเขาในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รัฐไทยได้ขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่เขาใน พ.ศ.๒๕๔๗

หากเราศึกษาเรื่องการจัดการคนไร้รัฐตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน เราจะพบว่า พวกเขาอาจมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎร ซึ่งทำให้พวกได้รับเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐไทย มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักดังเช่นประชาชนไทยที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย และมีสิทธิร้องขอเอกสารเดินทางไปต่างประเทศได้ กรณีของอาจารย์อายุ นามเทพ ซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติซึ่งทำงานเป็นอาจารย์สอนดนตรีที่มหาวิทยาลัยพายัพ หรือกรณีนางสาวศรีนวล เสาร์คำนวล ซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล เป็นกรณียืนยันในความเข้าใจในปัญหาคนไร้สัญชาติของหน่วยงานที่รักษาการตามกฎหมายเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติในประเทศไทยก่อนเรื่องราวของน้องหม่องใน พ.ศ.๒๕๕๒

แต่ทำไมสังคมไทยบางส่วนหรือส่วนราชการบางส่วนในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ จึงไม่เข้าใจในปัญหาความไร้สัญชาติของครอบครัวทองดี ?

เราเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดแก่น้องหม่อง ทองดีว่า คนไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรไทยซึ่งโดยปกติจะไม่พบ “ทางตัน” ของการใช้สิทธิมนุษยชน แต่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ น้องหม่องก็เผชิญกับ “ทางตัน” เอาดื้อๆ ด้วยว่าผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ “ในวินาทีนั้น” ไม่เข้าใจในปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติและปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลพวงของความไร้รัฐไร้สัญชาติ กล่าวคือ เข้าใจว่า น้องหม่องเป็นคนสัญชาติพม่า และเข้าใจว่า รัฐไทยไม่มีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้คนไร้สัญชาติที่ต้องเดินทางออกไปในต่างประเทศ ซึ่งกว่าจะพิสูจน์ว่า ความเข้าใจดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องนี้ก็ต้องใช้ social pressure อย่างมาก

หากเราหยิบยกเรื่องขององค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐของครอบครัวทองดีมาเป็นตัวอย่างของการคิด “ทางออก” ของปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เราก็จะต้องสรุปว่า น้องหม่องตกอยู่ในปัญหาความไร้รัฐเพียง ๗ ปี กล่าวคือ ตั้งแต่เกิดในประเทศไทยจนถึงพ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งรัฐบาลไทยยอมรับให้คนไร้รัฐที่มาจากประเทศพม่าลาวกัมพูชาไปแสดงตนเพื่อขึ้นทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่เรียกว่า “ท.ร.๓๘/๑” จากปรากฏการณ์ทางปกครองไทยนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยได้เริ่มต้นงานขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่มนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐ ความสำเร็จของประเทศไทยครั้งนี้ก็เกิดขึ้นโดยความมีอยู่ของระบบกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยที่เริ่มต้นอย่างถูกต้องและงดงามตั้งแต่ปลายสมัยในหลวงรัชกาลที่ ๕ และความสำเร็จในการรักษาสิทธิมนุษยชนของน้องหม่องใน พ.ศ.๒๕๔๗ ก็ไม่ได้รับการยอมรับให้รายงานไปยังสหประชาชาติ “ทำไม ?” 

นับแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ปัญหาของครอบครัวทองดีจึงเหลือเพียงแค่ปัญหาความไร้สัญชาติ พวกเขาได้กลายเป็น “ราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราว” ซึ่งรอเวลาที่จะพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของประเทศที่เกี่ยวข้อง อาจจะเป็นกฎหมายของประเทศไทยเอง หรืออาจจะเป็นกฎหมายของประเทศพม่า หรืออาจจะเป็นกฎหมายของประเทศที่สาม ซึ่งประสงค์จะได้รับตัวอัจริยะน้อยทางกลศาสตร์ไปพัฒนาเป็นประชากรของตนต่อไป

เรื่องของน้องหม่องเริ่มมีปัญหาเมื่อเขาจำเป็นต้องมี “เอกสารรับรองตัวบุคคลเพื่อเดินทางออกไปจากประเทศไทยไปสู่ประเทศญี่ปุ่น” เพื่อแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับซึ่งเขาเป็นผู้ชนะเลิศ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสิทธิในเสรีภาพที่จะเคลื่อนไหวเพื่อการศึกษาตามอัธยาสัย และเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้เผยแพร่ความสำเร็จในการสอนเด็กวันเยาว์ในมีความสามารถทางวิทยาศาสตร์กายภาพ

เราเรียนรู้ว่า การปฏิเสธน้องหม่องมิให้เข้าสู่สิทธิในเอกสารเดินทางไปต่างประเทศสำหรับคนไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรไทย เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ในกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องนี้ของบางคนในส่วนราชการที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และความสำเร็จของน้องหม่องที่ได้รับเอกสารเดินทางเข้าออกประเทศไทยในที่สุดก็เป็นผลมาจาก “ความเข้าใจในปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ” ของคนหลายคนในส่วนราชการ และโดยเฉพาะสื่อมวลชนจำนวนมากมายที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายความรู้ด้านกฎหมายและนโยบายในเรื่องนี้     

เราคงสรุปได้อย่างเป็นรูปธรรมล่ะมังว่า ทางออกของปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เป็นจริง ย่อมต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจในปัญหาสิทธิมนุษยชนนั้นๆ หากยังมีผู้เข้าใจเอาเองว่า น้องหม่องมีสถานะเป็นคนสัญชาติพม่า ทั้งที่เขาไม่เคยถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรพม่า  เรื่องของน้องหม่องก็คงไม่มีทางออก การแก้ไขปัญหาน้องหม่องจึงต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจอย่างเป็นภาวะวิสัยในปัญหาของน้องหม่อง ผู้เกือบถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒

---------------------------------------------------

(๒) เราพบทางออกของปัญหาดังกล่าวบ้างแล้วยัง ?

หรือเราออกจากปัญหาดังกล่าวได้แล้วแค่ไหน ?

---------------------------------------------------

หากย้อนไปคิดต่อจาก ๑๖ ปัญหาสิทธิมนุษยชนตามรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ผู้เขียนก็มีคำถามต่อมาว่า เราพบทางออกของปัญหาดังกล่าวบ้างแล้วยัง ? หรือเราออกจากปัญหาดังกล่าวได้แล้วแค่ไหน ?

ผู้เขียนมีคำถามต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่สองว่า ท่านจะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ? หรือท่านนับต่อจากคณะกรรมการชุดที่แล้ว ?

การศึกษาทางออกของปัญหาสิทธิมนุษยชน “ที่เป็นจริงได้และที่รอไม่ได้” สำหรับสังคมไทย ดูจะเป็นคำถามที่ควรจะต้องมีคำตอบในวันนี้  ด้วยการปรากฏตัวของวิชาสิทธิมนุษยชนและสถาบันการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เราก็น่าจะมีองค์ความรู้ด้านการจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชน (Solution Knowledge) อย่างเพียงพอที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทยมิใช่หรือ ?

คำถามที่ผู้เขียนและนักวิชาการในสังคมไทยต้องถามตัวเองในวันนี้ ก็คือ สังคมวิชาการไทยมีภูมิปัญญาในการจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชนทั้ง ๑๖ ปัญหาได้จริงหรือไม่ ?

คำตอบอาจจะเป็นว่า มีหรือไม่มีก็ได้

ถ้าเราตอบว่า เราไม่มีความรู้ สิ่งที่เรานักวิชาการต้องทำต่อไป ก็คือ การลงมือศึกษาเรื่องจริงและทดสอบจนความรู้ที่ค้นพบใช้ได้จริงและยั่งยืน

ถ้าเราตอบว่า เรามีความรู้แล้ว สิ่งที่เรานักวิชาการต้องทำต่อไป ก็คือ การเผยแพร่ความรู้นั้นให้สังคมได้ใช้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องมีการสอนคนในสังคมไทยโดยเฉพาะเจ้าของปัญหาให้มีภูมิปัญญาในการจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชนของตน 

หากมาลงปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย การสอนคนในสังคมไทยให้เข้าใจปัญหาของน้องหม่อง ทองดี ก็จะเป็นการลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงจะเกิดขึ้นต่อเด็กไร้สัญชาติในสถานการณ์เดียวกับน้องหม่อง

เราพบว่า ความรู้ในปัญหาของตนเองของน้องหม่องและครอบครัว ตลอดจนโรงเรียน ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันมิให้คนไร้สัญชาติต้องขาดไปซึ่งสิทธิมนุษยชนที่พวกเขามีสิทธิ

เราสังเกตว่า เรื่องของน้องหม่องที่ถูกสอนออกไปในสังคมไทยในช่วงหกเดือนหลังของปี พ.ศ.๒๕๕๒ จึงเป็นโอกาสที่ภาควิชาการได้สร้าง “ห้องเรียนกฎหมายสิทธิมนุษยชน” สำหรับสังคมไทย และผลของเรื่อง ก็คือ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งมุ่งให้นโยบายที่ชัดเจนแก่ส่วนราชการในส่วนที่เกี่ยวกับการรับรองสถานะและสิทธิของคนไร้สัญชาติซึ่งเป็นบุตรแรงงานต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย เพื่อมิให้มีเด็กไร้สัญชาติดังกล่าวต้องเผชิญกับปัญหาที่น้องหม่องต้องเผชิญ

สาระสำคัญในนโยบายของรัฐบาลที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากบทเรียนที่สร้างจากประสบการณ์การจัดการปัญหาสิทธิเดินทางของน้องหม่อง ก็คือ

ในประการแรก เมื่อเราพบคนไร้รัฐ เราก็ต้องรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้เบื้องต้นในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ซึ่งอาจจะเป็น ท.ร.๓๘/๑ หากเป็นคนที่มีต้นทางในประเทศพม่าลาวกัมพูชา หรืออาจจะเป็น ท.ร.๓๘ ก. หากเป็นคนที่ไม่มีประเทศต้นทาง หรือไม่อาจกลับไปประเทศต้นทางด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในประการที่สอง เมื่อเราบันทึกคนไร้รัฐในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ปัญหาของพวกเขาก็เหลือเพียงปัญหาความไร้สัญชาติ ซึ่งอาจจะแก้ไขโดยการทำให้เป็นคนที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างน้อยโดยการให้สิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมือง หรืออาจจะให้สิทธิเข้าเมืองด้วยก็เป็นได้ และนอกจากนั้น การขจัดปัญหาความไร้สัญชาติก็อาจเกิดขึ้นได้ใน ๓ ทิศทาง กล่าวคือ  (๑) การผลักดันให้ประเทศต้นทางยอมรับพวกเขาในสถานะคนสัญชาติดังที่เกิดโดย MOU ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่าหรือลาวหรือกัมพูชา (๒) การผลักดันให้ประเทศที่สามยอมรับพวกเขาในสถานะคนสัญชาติ และ (๓) การยอมรับให้สัญชาติไทย ซึ่งประการหลังนี้ ก็มีความชัดเจนในรูปของยุทธศาสตร์มาตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล

ขอให้สังเกตว่า ในเรื่องการจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในปัจจุบัน  จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยรู้จัก “ทางออก” แต่ปัญหาอยู่ที่  “ออกจากปัญหาไม่ได้” ด้วยปัญหาอื่นที่แทรกซ้อนเข้ามา เช่น ความไม่เข้าใจของคนที่เกี่ยวข้อง ความไม่เอาใจใส่ของคนที่เกี่ยวข้อง อคติของคนที่เกี่ยวข้อง การแทรกตัวของปัญหาทุจริต จึงต้องหมุนกลับมาศึกษากันอีกถึงสาเหตุและทางออกของ “ปัญหาแทรก” ที่เข้ามาสร้างทางตันต่อการจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

การจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติก็ต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาทางออกของปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่หากเรากล่าวถึงการจัดการปัญหาอุปสรรคของการทำงานเพื่อขจัดปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ เราก็ต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาเหล่าคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่เอาใจใส่ หรืออคติหรือทุจริต การจัดการปัญหาไม่ตรงสาเหตุก็คือการไม่แก้ปัญหาและปล่อยให้ปัญหาแทรกเติบโต อาทิ เราแก้ไขปัญหาทุจริตโดยการไม่จัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเลย ก็เท่ากับการขยายตลาดมืดสำหรับการขายเอกสารปลอมให้เติบโตมากขึ้นนั่นเอง

 

โดยสรุป การเข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชน คงไม่เกิดถ้าเราไม่เข้าถึงเจ้าของปัญหาและปัญหา และแม้จะมีทางออกแล้ว ปัญหาก็ยังคงอยู่ ถ้าเราก็ยังยืนอยู่ห่างจากเจ้าของปัญหาและปัญหา ดังนั้น เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ก็ยังเป็นสูตรสำเร็จในการจัดการสิทธิมนุษยชนให้มีผลในสังคมไทยได้จริงเช่นกัน

สิ่งที่เกิดเป็น “ทางออกหรือทางตัน” ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติบนแผ่นดินทาง ก็ดูจะไม่แตกต่างไปจากคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนประเภทอื่นๆ

ทางออก = เข้าใจ+เข้าถึง+พัฒนา >> เจ้าของปัญหาและปัญหา

 

หมายเลขบันทึก: 366939เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2010 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท