10 รูปแบบการใช้ชีวิตครองเรือน ที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิและสรรเสริญ


10 รูปแบบการใช้ชีวิตครองเรือน ที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิและสรรเสริญ

10 รูปแบบการใช้ชีวิตครองเรือน ที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิและสรรเสริญ

         ในการครองเรือนให้มีความสุขดูเหมือนทุกคนมีความต้องการเช่นนั้น  แต่พอเข้าสู่ระบบการครองเรือนของแต่ละคนก็พบว่ามันไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายประการที่เป็นตัวเสียดแทรกเข้ามาในครัวเรือนทำให้เกิดมีปัญหาตามมา  ถ้าท่านได้อ่านบทความนี้ท่านจะเข้าใจอะไรบางอย่างที่ท่านยังไม่เคยรู้ไม่เคยสัมผัสมาก่อน   และชีวิตการครองเรือนของท่านก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ผมหมายถึงครอบครัวที่มีปัญหา  แต่ถ้าครอบครัวที่มีความสุขอยู่แล้วก็จะได้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป และที่สำคัญจะได้ช่วยแบ่งปันความรู้ที่ได้รับนี้แก่บุคลลทั่วไปอันจะทำให้เกิดบุญเกิดกุศลติดตัวได้เพิ่มขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

          การครองเรือนตามหลักฐานคำสอนในพระพุทธศาสนา พบว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติเรียกบุคคลผู้ดำรงชีวิตครองเรือนว่า กามโภคี *(ผู้บริโภค เสพกามเป็นปกติ)บ้าง ฆราวาส(ผู้อยู่ครองเรือน)บ้าง คฤหัสถ์ (ผู้มีเหย้าเรือน)บ้าง โดยที่การดำรงชีวิตครองเรือนของบุคคลดังกล่าวนี้มีทั้งปัญหามากน้อยแตกต่างกัน ไปตามลักษณะการใช้ชีวิต กล่าวคือ พวกที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ พวกที่ดำรงชีวิตในลักษณะทอดทิ้งธรรมะ ส่วนพวกที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมน้อยหรือไม่มีปัญหาเลย ได้แก่ พวกที่นำเอาธรรมะเข้าไปเป็นหลักใจ ในอันที่จะควบคุมความรู้สึกนึกคิด ความคิดเห็น อันเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมในด้านต่างๆ
       
       รูปแบบการใช้ชีวิตของกามโภคีบุคคลนั้น ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงจัดไว้ ๑๐ รูปแบบ ซึ่งมีหลักฐานดังที่ทรงแสดงแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี ในกามโภคีสูตร ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๙๑) ความว่า
       
       “ดูก่อนคฤหบดี กามโภคีบุคคล ๑๐ ประเภทนี้ มีปรากฎอยู่ในโลก กามโภคีบุคคล ๑๐ ประเภทคืออย่างไรบ้าง คือ
       
       ๑) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์ โดยไม่ชอบธรรม โดยกรรมชั่วร้าย ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตัวให้สุขสบายให้อิ่มหนำ ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       ๒) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์ โดยไม่ชอบธรรม โดยกรรมชั่วร้าย ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตัวให้สุขสบายให้อิ่มหนำ แต่ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       ๓) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยกรรมชั่วร้าย ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตัวให้สุขสบายให้อิ่มหนำ แบ่งปันและทำบุญ
       
       ๔) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์ทั้งโดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง โดยกรรมชั่วร้ายบ้าง ไม่ชั่วร้ายบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตัวให้สุขสบายให้อิ่มหนำ ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       ๕) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์ทั้งโดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง โดยกรรมชั่วร้ายบ้าง ไม่ชั่วร้ายบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตัวให้สุขสบายให้อิ่มหนำ แต่ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       ๖) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์ ทั้งโดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง โดยกรรมชั่วร้ายบ้าง ไม่ชั่วร้ายบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตัวให้สุขสบายให้อิ่มหนำ แบ่งปัน และทำบุญ
       
       ๗) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตัวให้สุขสบายให้อิ่มหนำ ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       ๘) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตัวให้สุขสบายให้อิ่มหนำ แต่ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       ๙) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย ครั้นแสวงหาได้แล้วเลี้ยงตัวให้สุขสบายให้อิ่มหนำ แบ่งปันและทำบุญ แต่ยังเป็นคนละโมบ หมกมุ่น พัวพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้นอยู่
       
       ๑๐) กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย ครั้นแสวงหาแล้วเลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ แบ่งปันและทำบุญ ทั้งไม่ละโมบ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้นอยู่ “
       
       ในรูปแบบการใช้ชีวิตครองเรือนของกามโภคีบุคคล ทั้ง ๑๐ ประเภทนี้ พระพุทธองค์ทรงตำหนิและสรรเสริญไว้ ดังนี้
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๑ พึงถูกตำหนิ ๓ สถาน คือ

            (๑) แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยกรรมชั่วร้าย

            (๒) ไม่เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ

            (๓) ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๒ พึงถูกตำหนิ ๒ สถานคือ

             (๑) แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยกรรมชั่วร้าย

             (๒) ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ

        พึงได้รับสรรเสริญ ๑ สถาน คือ เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๓ พึงถูกตำหนิ ๑ สถาน คือ แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยกรรมชั่วร้าย

        พึงได้รับสรรเสริญ ๒ สถาน คือ

             (๑) เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ

             (๒) แบ่งปันและทำบุญ
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๔ พึงได้รับสรรเสริญ ๒ สถาน คือ

              (๑) แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย

              (๒) แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยกรรมชั่วร้าย

        พึงถูกตำหนิ ๒ สถาน เช่นกัน คือ

               (๑) ไม่เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ

               (๒) ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๕ พึงได้รับสรรเสริญ ๒ สถาน คือ

               (๑) แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย

               (๒) เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ

       พึงถูกตำหนิ ๒ สถาน เช่นกัน คือ

               (๑) แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยกรรมชั่วร้าย

               (๒) ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๖ พึงได้รับสรรเสริญ ๓ สถาน คือ

               (๑) แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย

               (๒) เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ

               (๓) แบ่งปันและทำบุญ

         พึงถูกตำหนิ ๑ สถาน คือ แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยกรรมชั่วร้าย
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๗ พึงได้รับสรรเสริญ ๑ สถาน คือ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย พึงถูกตำหนิ ๒ สถาน คือ

              (๑) ไม่เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ

              (๒) ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๘ พึงได้รับสรรเสริญ ๒ สถาน คือ

               (๑) แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย

               (๒) เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ

          พึงถูกตำหนิ ๑ สถาน คือ ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๙ พึงได้รับสรรเสริญ ๓ สถาน คือ

               (๑) แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย

               (๒) เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ

               (๓) แบ่งปันและทำบุญ

       พึงถูกตำหนิ ๑ สถาน คือ เป็นคนละโมบ หมกมุ่น พัวพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาสลัดออกบริโภคโภคทรัพย์
       
       กามโภคีบุคคลประเภทที่ ๑๐ พึงได้รับสรรเสริญ ๔ สถาน คือ

               (๑) แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย

               (๒) เลี้ยงตัวให้สุขสบายอิ่มหนำ

               (๓) แบ่งปันและทำบุญ

                (๔) เป็นคนไม่ละโมบ ไม่หมกหมุ่น ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์
       
       ในตอนท้ายแห่งพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญรูปแบบการใช้ชีวิตของกามโภคีบุคคลประเภท ๑๐ ว่า “เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นใหญ่สูงสุด ดีกว่าบรรดากามโภคบุคคลทั้ง ๙ ประเภท เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากแม่โค นมข้นเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมสด เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใสชาวโลกกล่าวกันว่าเป็นเลิศกว่านมสดเป็นต้นเหล่านั้น ฉันใด บรรดากามโภคีบุคคล ๑๐ ประเภทนี้ กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยกรรมไม่ชั่วร้าย ครั้นแสวงหาแล้วเลี้ยงตัวให้สุขสบาย ให้อิ่มหนำ แบ่งปัน ทำบุญ แลไม่ละโมบ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นี้ก็จัดว่าเป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นใหญ่สูงสุด ดีกว่า ฉันนั้นเหมือนกัน”
       
       จากข้อความในกามโภคีสูตรดังกล่าวมานี้ ได้ชี้ให้เห็น ทรรศนะทางพระพุทธศาสนาว่า คนที่สมบูรณ์พูนสุขด้วยทรัพย์สมบัติแล้ว กลับปล่อยตนเองเป็นทาสของทรัพย์ ต้องรับใช้ รักษา ป้องกัน ห่วงใย เอาใจใส่ หมกมุ่นกังวลอยู่ด้วยทรัพย์ ย่อมได้รับการตำหนิในทางพระพุทธศาสนา เพราะนั่นคือความชะงักงันแห่งพัฒนาการแห่งชีวิต
       
       ส่วนคนที่รู้จักการแสวงหาโภคทรัพย์ในทางที่ชอบธรรม โดยไม่ก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและผู้อื่น ทั้งยังรู้จักการบริโภคใช้สอยโภคทรัพย์ให้เหมาะสมแก่ฐานะของผู้ครองเรือนที่ดี ย่อมได้รับการสรรเสริญในทางพระพุทธศาสนา เพราะบุคคลนี้นอกจากจะได้รับประโยชน์ จากการถือครองทรัพย์สมบัติที่ตนได้มาในทางที่ชอบธรรมแล้ว ยังใช้ทรัพย์ไปในทางที่เหมาะควรตามหลักการใช้จ่ายทรัพย์ หรือหลักการถือเอาประโยชน์จากทรัพย์โดยถูกต้อง (โภคอาทิยะ) ๕ ประการ คือ
       
       (๑) เลี้ยงตนเอง มารดา บิดา บุตรธิดา ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข
       (๒) เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข
       (๓) บำบัดอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่นได้
       (๔) ทำพลีกรรม ๕ อย่าง คือ
       - ญาติพลี สงเคราะห์ญาติพี่น้องที่ขัดข้อง จำเป็น
       - อติถิพลี ต้อนรับ เลี้ยงดูแขกผู้มาเยือน
       - ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้แก่ญาติมิตรที่ตายจากไป
       - ราชพลี เสียภาษีบำรุงประเทศอันเป็นมาตุภูมิแห่งตน
       - เทวตาพลี ทำบุญอุทิศกุศลให้แก่เทพยดาทั้งหลาย
       (๕) บริจาคทาน อันเป็นการบำรุงสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ และสาธารณประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น
       
       ในขณะเดียวกัน กามโภคีบุคคลประเภทนี้ยังเป็นผู้ไม่ประมาท คือ สามารถใช้ทรัพย์ที่อาจเป็นอันตรายให้เป็นประโยชน์ โดยไม่ปล่อยจิตให้สยบ หมกมุ่น กังวล จดจ่ออยู่กับทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ใช้ปัญญาในการดำรงชีวิต พิจารณาเห็นทั้งส่วนที่เป็นโทษและเป็นคุณแห่งทรัพย์นั้น แล้วใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อสลัดตนเองจากการผูกพันทรัพย์ อันเป็นบ่วงที่ผูกมัดคนไว้อย่างสำคัญใน ๓ บ่วง ดังที่ท่านแต่งไว้เป็นคำโคลงไว้ว่า
       
        มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
       ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
       ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ รึงรัด กายเฮย
       สามบ่วงใครพ้นได้ จึงพ้นสงสาร

       
       เมื่อมองในแง่ของข้อเท็จจริงแล้ว การพยายามตอบสนองความต้องการของตนอยู่ร่ำไปนั้น หากว่าเป็นความอยากที่เกินพอดีหรือเกินขอบข่ายของศีลธรรมแล้ว มีแต่จะสร้างเวรภัย บาปกรรม และความเดือดร้อนใจ ตลอดถึงประสบความทุกข์ทรมานในลักษณ์ต่างๆ ทั้งนี้เพราะว่าโดยสภาพของจิตแล้วท่านแสดงว่า
       
       • สัตว์โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา
       • กามทั้งหลายตระการหวานชื่นใจ ย่อมย่ำยีจิตของบุคคลในรูปแบบต่างๆ เสมอ
       • ความโลภอันความอยากผูกไว้ จะหยุดได้เพราะกำจัดความอยาก
       • ความอยากย่อมชักลากนรชนไป ความอยากเป็นสิ่งที่ละได้ยากในโลก
       • กามทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก มีพิษมาก ดังก้อนเหล็กที่ร้อนจัด เป็นต้นเค้าแห่งความคับแค้น
       • โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ มีวิตกเป็น เครื่องนำจิตให้เที่ยวไป
       • คนที่เป็นทาสแห่งตัณหา ย่อมประสบความลำบาก เป็นต้น

       
       จากนัยแห่งพุทธศาสนสุภาษิตดังกล่าวนี้ แสดงถึงความจริงที่ใครๆ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กิจกรรมในการแสวงหา การใช้สอย เป็นต้น เน้นไปเพียงด้านเดียว คือ มุ่งตอบสนองความต้องการของตนที่ไม่จำกัด หากมากไป หรือน้อยไปมีแต่ประสบความเดือดร้อน โดยเฉพาะในกรณีที่แสวงหามากเกินพอดี จิตจะส่ายไปหาสิ่งต่างๆ จนหาข้อยุติไม่ได้ว่า เมื่อไรจะอิ่ม เมื่อไรจะพอ ความสุขใจที่ตนต้องการก็ไม่อาจเกิดขึ้น นอกจากบุคคลจะสร้างความสำนึกในทางที่ชอบ รู้จักอิ่ม รู้จักพอเสียบ้างเท่านั้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอุทานธรรมว่า
       
        ความไม่พอใจจนเป็นคนเข็ญ
       พอแล้วเป็นเศรษฐีมหาศาล
       จนทั้งนอกทั้งในไม่ได้การ
       จงคิดอ่านแก้จนเป็นคนพอ

       
       เศรษฐทรัพย์ทั้งหลายนั้นพระพุทธศาสนาจึงเรียกว่า ปัจจัย เครื่องอาศัยในการดำรงชีวิต เป็นสมบัติของโลกที่คนจะต้องแสวงหา ใช้สอยแลกเปลี่ยนกัน เป็นต้น เพื่อให้อยู่ดีมีสุขตามความจำเป็น ที่จะต้องอาศัยปัจจัยเหล่านั้น เมื่อได้อาศัยปัจจัยเหล่านั้นตามสมควรแล้ว คนเราจะต้องก้าวไปบนขั้นบันไดแห่งชีวิตที่สูงขึ้น นั่นคือการพัฒนาคุณภาพของจิต เพื่อให้จิตที่พัฒนาดีพอสมควรแล้ว เป็นนายบงการชีวิตให้ประกอบด้วยสาระประโยชน์อย่างแท้จริง
       
       หมายเหตุ * กามโภคีบุคคล บุคคลผู้บริโภคกาม หมายถึง บุคคลผู้ร่วมใช้สอยโภคสมบัติพร้อมกับบุตรภรรยาของตนหรือเสพกามครบทั้ง ๒ ประเภท คือ วัตถุกามหรือกามคุณ ๕ และกิเลสกาม (นัยจากคัมภีร์อรรถกถาบาลีพระวินัยปิฎก เล่ม ๑ ข้อ ๒๑๒) โดยปริยาย หมายถึง คฤหัสถ์ผู้มีครอบครัวหรือมีคู่อยู่ครองเรือน ซึ่งต้องยุ่งอยู่กับกามคุณ ๕ ประจำ
       
      
       
       ท่านผู้อ้านที่ต้องการจะอ่านเพิ่มเติมสามารถหาอ้านได้จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 115 มิถุนายน 2553 โดย แก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและเปรียบเทียบกับหลักคำสอนอื่น ๆก็จะทำให้เกิดความรู้ที่สามารถบูรณาการในการให้ความรู้แก่คนรอบข้างท่านให้มีความสุขในการครองเรือนได้เป็นอย่างดี.....อ่านแล้วลองทำดู้จะรู้ผล

หมายเลขบันทึก: 366517เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2010 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 06:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท