เมื่อถูกถามว่า “ต้องทำ KM บ่อยแค่ไหน? ต้องทำ KM ถึงเมื่อไหร่?”


KM ของแท้นั้น ไม่ใช่ทำกันเพียงเพื่อตอบสนอง “ตัวชี้วัด”
         ผมตอบเขาไปว่า “ไม่ใช่ 3 เวลาหลังอาหารเหมือนการทานยานะครับ” เพราะสำหรับ KM แล้ว ต้องทำ (ใช้) ไปเรื่อยๆ ใช้ไปจนกว่า “ชีวิตจะหาไม่” ใช้ไปจนกว่า “จะสิ้นลมหายใจ” ผมไม่ได้ตั้งใจพูดให้ “เว่อร์”  จนเกินไปนะครับ
         บางท่านเข้าใจผิด คิดว่าเรื่อง KM เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องงาน เป็นการทำ KM ไปตาม “หัวปลา (ประเด็นความรู้)” ที่ตั้งไว้ ซึ่งผูกไว้กับเรื่องงาน ทั้งที่จริงๆ แล้วการใช้ชีวิตจำเป็นต้องมีการจัดการความรู้หรือทำ KM เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น บางท่านเกษียณจากงานไปอยู่ที่บ้าน ท่านนึกว่าคงไม่ต้องจัดการความรู้ ไม่ต้องทำ KM แล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ การใช้ชีวิตที่บ้านกลับกลายเป็นว่า เริ่มทะเลาะกับภรรยามากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผมแนะนำท่านให้ทำ KM คือหาว่ามีเทคนิคอะไรบ้างที่จะทำให้ท่านทะเลาะกับภรรยาน้อยลง ประเด็นนี้กลายเป็น “หัวปลา” ใหม่ ที่ไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นเรื่องการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
         ด้วยเหตุนี้ผมจึงพูดว่า KM เป็นเรื่องที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่ทำเฉพาะช่วงทำงานเท่านั้น การเรียนรู้ถือเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต เวลาพูดคำว่า KM ผมมักจะมองเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ ระดับที่ 1 เป็นการจัดการความรู้แบบที่พูดๆ กัน คือมองไปที่องค์ความรู้ มองไปที่เทคนิคหรือ “How-to” สำหรับระดับที่ 2 เป็นการจัดการความรู้ที่มองไปที่เรื่องความสัมพันธ์ เป็นการจัดการกับ “ความรู้สึก” ของกลุ่มคนเพื่อสร้างชุมชนที่เรียกว่า CoP ส่วนระดับที่ 3 เป็นสิ่งที่ลงลึกเข้าไปอีก เป็นการจัดการ “ความรู้สึกตัว” เพื่อฝึกการตื่นรู้หรือฝึกสตินั่นเอง
         สรุปว่า KM ของแท้นั้น ไม่ใช่ทำกันเพียงเพื่อตอบสนอง “ตัวชี้วัด” หรือทำไปจนกว่าจะ “จบโครงการ” เพราะโครงการ KM เป็นโครงการที่มีอายุยาวนานเท่ากับชีวิตของท่านเลยทีเดียว !!
หมายเลขบันทึก: 366128เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2010 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท