9 วิธีป้องกันหวัดและไข้หวัดใหญ่


เว็บไซต์ 'Virtualmedicalcentre' ซึ่งทำโดยทีมอาจารย์ออสเตรเลีย ตีพิมพ์เรื่อง 'Tips for Preventing Colds and Flus' = "เคล็ดบับในการป้องกันหวัดและไข้หวัดใหญ่", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ [ VMC ]
 
----//----

คนเรามีความ เสี่ยงต่อหวัดและไข้หวัดใหญ่ไม่เท่ากัน... คนที่เสี่ยงมากที่สุดได้แก่ เด็กอ่อน คนสูงอายุ (มากๆ), และคนที่สูบบุหรี่

เด็กๆ เป็นหวัดประมาณ 7-10 ครั้ง/ปี, ผู้ใหญ่เป็นหวัด 2-5 ครั้ง/ปี, สาเหตุที่เด็กเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ คือ ภูมิต้านทานโรคต่ำกว่า และนิสัยทางด้านอนามัย เช่น ล้างมือ ฯลฯ น้อยกว่า, เด็กอ่อน 2-3 เดือนแรกมีโอกาสติดโรคสูงมากกว่าวัยอื่นๆ

...

คนในเขตอบอุ่น (ประเภทยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ฯลฯ) เป็นหวัดเพิ่มขึ้นในฤดูหนาว... กลไกที่เป็นไปได้ คือ คนส่วนใหญ่อยู่ในร่มมากขึ้น ระยะห่างระหว่างคนส่วนใหญ่น้อยลง ทำให้การแพร่โรคง่ายขึ้น

ไวรัสกลุ่มโรคหวัดมีชีวิต หรืออยู่รอดได้นานขึ้นในสภาพอากาศที่มีความชื้นต่ำ เช่น ฤดูหนาว การใช้เครื่องทำความร้อนแบบรวม ฯลฯ

...

นอกจากนั้น อากาศหนาวยังทำให้เยื่อบุด้านในจมูกแห้ง เกิดรอยแตกขนาดเล็กง่ายขึ้น เชื้อแทรกผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้น

ภาวะที่คนเราเหนื่อยล้า เครียด หรือป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ มีส่วนทำให้ติดหวัดได้ง่ายขึ้น

...

วิธีป้องกัน หวัด-ไข้หวัดใหญ่ได้แก่

(1). ล้างมือ ด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ไวรัสกลุ่มหวัด-ไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายได้ 2 ทางใหญ่ๆ คือ ทางอากาศและทางบก

...

มือที่ปนเปื้อนเสมหะ-น้ำมูก-น้ำลายจากการไอ-จาม-ใช้มือแตะจมูก-ปาก ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทางบก โดยผ่านการจับโน่นจับนี่ เช่น ลูกบิดประตู (ห้องน้ำแบบซิกแซ็ก-มีแผงบังตาป้องกันโรคได้ดีกว่าห้องน้ำแบบใช้ประตู)

วิธีหยุดยั้งการแพร่โรคทางบก คือ การล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% ก่อนกินอาหาร-ดื่มน้ำ-ใช้มือสัมผัสใบหน้า-เข้าบ้าน, หลังใช้ห้องน้ำ-ใช้ของร่วมกับคนอื่น ให้ถูกวิธีและนานพอ

...

(2). หลีกเลี่ยง คนป่วยและสถานที่แออัด

การไอ-จามทำให้ละอองฝอยที่มี เชื้อแพร่กระจายไปทางอากาศ ซึ่งป้องกันได้ด้วยการอยู่ให้ห่างคนที่ไอ-จาม (2 เมตรขึ้นไป หรือไกลกว่านั้นในที่อากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น ห้องแอร์ ไนท์คลับ ผับ บาร์ ฯลฯ)

...

(3). ทำความ สะอาด

ไวรัสหวัด-ไข้หวัดใหญ่มีชีวิตอยู่บนสิ่งของเครื่องใช้ เช่น สวิทช์ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ฯลฯ ได้หลายชั่้วโมง, การทำความสะอาด เช่น เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ฯลฯ ช่วยลดโอกาสติดเชื้อไ้ด้

และถ้ามีการออกแบบให้มีการสัมผัสน้อยลงจะยิ่งดีขึ้น เช่น ใช้ห้องน้ำซิกแซ็ก-มีบังตาแทนลูกบิดประตู ฯลฯ 

...

(4). กินอาหาร สุขภาพ

การกินอาหารสุขภาพให้ครบทุกหมู่ พอประมาณ มีผักผลไม้หลายสี และกินโยเกิร์ต ช่วยลดโอกาสติดหวัดได้ประมาณ 25%

...

(5). นอนให้พอ 

การนอนให้พอและไม่ดึกเกินช่วยให้ภูิมิต้านทานโรคดี

...

(6). ลดความ เครียด

การลดความเครียด เช่น ออกแรง-ออกกำลัง ฯลฯ หรือฝึกคลายเครียด เช่น เกร็งกล้ามเนื้อทีละส่วนแล้วผ่อนคลาย ฯลฯ ช่วยให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น

...

(7). ไม่สูบ บุหรี่

คนที่่สูบบุหรี่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยกว่า เป็นหวัด-ไข้หวัดใหญ่บ่อยกว่า และอาการหนักกว่าคนที่ไม่สูบุบหรี่, คนที่ไม่สูบจำเป็นต้องระวังควันบุหรี่มือสอง หรือควันจากคนอื่นสูบ

กลไกที่เป็นไปได้ คือ ควันบุหรี่มีฤทธิ์ระคายเคือง ทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง เซลล์ขนบนเยื่อบุจมูกเป็นอัมพาต พัดโบก (กวาด) ขยะจากจมูกด้านในไปด้านนอกได้น้อยลง

...

(8). ออกกำลัง

การไม่ออกกำลัง ออกกำลังน้อยเกินหรือมากเกิน ทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง... ทางที่ดี คือ ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ ไม่หักโหมจนเกินไป

...

(9). ระวังความ แห้ง

ข้อนี้มีผลมากสำหรับคนในเขตอบอุ่นหรือหนาวที่ใช้เครื่องทำความร้อน ทำให้เยื่อบุจมูกด้านในแห้ง ภูมิต้านทานโรคต่ำลง

คนในเขตร้อนที่ใช้แอร์เป่าตรงเข้าสู่หัว หรือตั้งแอร์เย็นมากๆ ก็ทำให้เยื่อบุจมูกด้านในแห้งได้คล้ายๆ กัน, ทางที่ดี คือ ไม่เป่าแอร์ตรงตำแหน่งหัวคน และไม่ตั้งแอร์เย็นเกินไป

...

ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 ติดตามบล็อกของเราได้ทางทวิตเตอร์ > [ Twitter ]

ที่ มา                                                         

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 9 มิถุนายน 2553.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 365377เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับ คุณหมอ

ถ้าเรามีอาการเจ็บขึ้นมาอย่างกระทันหันที่สะเอวเจ็บสดุ้งสุดตัว แล้วหายไปเป็นประมาณ 3 ครังใน 7 วัน เป็นอาการเกิดจากอะไรครับ แต่หลังจากนั้นหายไปนานหลายเดือนไม่เป็นอีกเลย

บล็อกนี้มีนโยบายไม่ตอบปัญหาสุขภาพครับ... // อาการปวดที่เอว (ถ้าไม่ใช่นิ่ว) พบบ่อยจากการใช้ท่าทางไม่ดี โดยเฉพาะนั่งนานเกิน คนเราไม่ควรนั่งเกินครั้งละ 2 ชั่วโมง // และถ้าเป็นไปได้... อย่าเอี้ยวตัวไปทางข้าง หรือก้มตัวแรงๅ เร็วๆ เนื่องจากกระดูกสันหลัง-หมอนกระดูกสันหลังจะปรับตัวไม่ทัน ทำให้ปวดรุนแรงได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท