รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี เป็นวิธีที่ดีจริงหรือ


รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี เป็นความเชื่อที่ฝังใจอยู่ในวัฒนธรรมของการอบรมสั่งสอน

       ที่ผ่านมา  ทั้งพ่อแม่และครูบาอาจารย์หลายท่าน ยังเชื่อและฝังใจอยู่กับ  "รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี"   จึงยังคงยึดเอาการตีว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการอบรมสั่งสอน

 

      ผมก็เลยไปค้นข้อมูลว่าด้วยการลงโทษด้วยการตีมาประกอบการพิจารณา  ยาวหน่อยครับ   ผมว่าคงต้องค่อยๆทยอยอ่านไป

 

         มาจากคริสต์ธรรม

 

       ในสังคมมนุษย์ตลอดประวัติศาสตร์ได้ใช้หลักการ ๒ วิธีในการอบรมสั่งสอนลูกหลาน วิธีการแรกคือ การเฆี่ยนตี การทรมานทางกาย ทางจิตใจ เพื่อให้หยุดนิสัย หรือพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ หรือสังคมไม่ชอบ และไม่ยอมรับ

 

          วิธีการแบบที่สอง คือ การใช้รางวัลเป็นเครื่องมือ สนับสนุนให้กำลังใจแก่เด็ก ให้ทำสิ่งที่ผู้ใหญ่หรือสังคมชอบและต้องการบ่อย ๆการใช้รางวัล เป็นวิธีการที่ได้ผลดีกว่า เพราะเด็กสมัครใจทำตามด้วยความยินดี

 

          บรรดาครูบาอาจารย์ตลอดประวัติศาสตร์โต้เถียงกันมาตลอดว่าวิธีการแบบที่หนึ่ง หรือแบบที่สอง ดีกว่ากัน แต่ตามคำสั่งสอนของพระคริสตธรรมคัมภีร์แล้ว เราต้องใช้ทั้งสองวิธีการควบคู่กันไปตามโอกาส และความจำเป็น เพราะพระเจ้าก็ใช้ทั้งสองวิธีการควบคู่กันไปในการอบรมสัง่สอนประชากรของพระองค์

 

          การศึกษาวิจัยจำนวนมากในสมัยปัจจุบันพบว่า วิธีแรกคือการเฆี่ยนตี จะได้ผลดีในระยะสั้น และในระยะยาวไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยได้จริง แต่สร้างความขมขืึนและความเกลียดชังและความเคืองแค้นไปตลอดชีวิต

 

          การศึกษาจำนวนมาก พบว่าวิธีการแบบที่สอง ได้ผลดีในระยะยาว บางครั้งตลอดชีวิต การให้รางวัล  การฝึกนิสัยใหม่ที่ดี การให้อยู่ในกลุ่มคนที่ดี และแยกจากคนเลว เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่คงทนอยู่นานจนตลอดชีวิตอย่างแท้จริง

 

         มาทางพุทธธรรมบ้างครับ

 

        เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงใหม่ ๆ บ่ายวันหนึ่ง ณ ถนนสายหนึ่งนอกชานพระนคร ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ข้าพเจ้า (ท. เลียงพิบูลย์) และผู้คนซึ่งกำลังเดินอยู่บนถนนได้วิ่งเข้าไปหลบฝนที่มุมตึกแถวร้านค้าซึ่งอยู่ใกล้ ๆ รอให้ฝนหายจะได้กลับบ้าน

 

             ขณะนั้นได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ดังเป็นห้วง ๆ และมีเสียงไม้เรียวกระทบเนื้อหนังดังคู่กันไปด้วย ข้าพเจ้าหันหลังไปดูในร้านที่ยืนอยู่ ก็เห็นชายอายุประมาณ ๓๐ ปี กำลังหิ้วแขนเด็กชายอายุประมาณ ๗ ขวบ ลากถูลู่ถูกัง ปากด่าว่าสั่งสอนด้วยอารมณ์โกรธจัด เมื่อไม้เรียวฟาดลงกลางหลังเด็ก เด็กก็ร้องดังขึ้นทุกครั้ง พวกที่หลบฝนอยู่ต่างก็สงสารและนึกตำหนิว่าลงโทษเด็กแรงเกินไป

 

             ทันใดนั้นข้าพเจ้าเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้าไปในร้าน ใช้มือแตะแขนชายผู้นั้น ซึ่งก้มหน้าก้มตาใช้ไม้เรียวหวดร่างของเด็ก เมื่อมีผู้มาแตะแขนก็เงยหน้าขึ้นมอง พอเห็นเป็นพระภิกษุ ชายผู้นั้นก็รู้สึกได้สติขึ้นบ้าง วางไม้เรียวแล้วปล่อยแขนเด็ก ยกมือไหว้ แล้วนิมนต์ให้นั่งเก้าอี้

 

             พระองค์นั้นขอบิณฑบาตการเฆี่ยนตีเด็ก และถามว่า เด็กเป็นบุตรของเขาใช่ไหม

 

             ชายผู้นั้นตอบว่า เป็นบุตรของเขาเอง แต่เป็นเด็กซนดื้อด้านมาก เขาเฆี่ยนตีเท่าไหร่ก็ไม่จำ ทำให้เกิดโทสะต้องเฆี่ยนกันเสมอไป

 

             เด็กน้อยเห็นพระมาช่วยให้พ้นจากการถูกเฆี่ยนตี ก็หยุดร้องไห้ นั่งกับพื้นฟังพ่อกับพระพูดกันทั้งน้ำตายังไม่แห้ง

 

             ชายผู้นั้นพูดต่อว่า เขาห้ามไม่ให้เด็กวิ่งเล่นน้ำฝนเวลาฝนตก ห้ามแล้วห้ามอีกเด็กก็ไม่ฟัง เผลอหน่อยเดียวก็ออกไปวิ่งเล่นอีก ร้องเรียกเท่าไรเด็กก็ไม่ยอมกลับมา มันช่างกวนโทสะเหลือเกิน อยากจะตีเด็กให้เนื้อแตกดีกว่าให้ถูกรถชน

 

             พระรูปนั้นยิ้มอย่างอารมณ์เย็นแล้วพูดว่า คนเราเมื่อโกรธขึ้นมาแล้วก็ลืมหมดทุกอย่าง มุ่งแต่จะทำให้สมกับความโกรธ ไม่นึกถึงเหตุผลหรือผิดถูกอย่างไร ความโกรธทำให้คนดีกลายเป็นคนบ้าไประยะหนึ่ง ทำให้เกิดเหตุร้ายแรง และทำให้เกิดฆาตกรรมขึ้นบ่อย ๆ เพราะไม่มีสติเหนี่ยวรั้งอารมณ์ กว่าจะรู้ตัวว่าทำอะไรลงไปก็สายเกินแก้ ควรจะยับยั้งความโกรธไว้ก่อน

 

             แล้วพูดชี้แจงต่อว่า ลูกชายของเขาอายุยังน้อย ความนึกคิดก็น้อยตามไปด้วย จะพูดจาสั่งสอนให้แกรู้อย่างผู้ใหญ่นั้นไม่ได้ การสอนพลางตีพลางเพื่อให้เจ็บให้กลัวนั้นยิ่งไม่ได้ผล เด็กจะเจ็บตัวเปล่า ๆ จะสั่งอะไรแกก็รับปากทุกอย่างเพื่อไม่ให้ถูกเฆี่ยนตี ไม่คิดจดจำทั้งสิ้น การเฆี่ยนตีลูกก็เพื่อสั่งสอน ไม่ใช่เฆี่ยนเพื่อดับความโกรธ

 

             มาจากงานวิจัย

 

             วิจัยมช.แนะรักลูกอย่าตี เสี่ยงพฤติกรรมก้าวร้าว

 

          สุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี คงใช้ไม่ได้ก็คราวนี้ เมื่อนักวิจัยนานาชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาพบว่า การอบรมสั่งสอนลูกด้วยการตีนี้ มีสิทธิทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวและอารมณ์วู่วามมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ถูกตี ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะดำรงชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมไหนก็ตาม

 

          ทีมวิจัยนานาชาติร่วมกันศึกษากลุ่มตัวอย่างใน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อิตาลี เคนยา ฟิลิปปินส์ และไทย จำนวน 336 ครอบครัว ซึ่งมีทั้งที่ใช้วิธีตีและไม่ตีลูกเพื่ออบรมสั่งสอน โดยพบว่า เด็กที่ถูกตีไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหนมักจะมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาทางพฤติกรรมมากกว่าเด็กที่ไม่ถูกตี

 

           ทีมวิจัยสอบถามทั้งแม่และเด็กเกี่ยวกับสถานะทางอารมณ์ และจำนวนครั้งในการขัดขืนของเด็กเมื่อถูกตี โดยบรรดาแม่จากเมืองไทยใช้การเฆี่ยนตีเพื่ออบรมสั่งสอนลูกน้อยที่สุด ขณะที่อินเดียและเคนยาเลือกใช้วิธีการนี้มากที่สุด ผลวิจัยพบว่า เด็กทั้งหมด ซึ่งถูกอบรมสั่งสอนด้วยการตี จะมีระดับความก้าวร้าวและอารมณ์วู่วามที่สูง รวมทั้งปัญหาด้านสภาวะทางอารมณ์มากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน การตีทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรใช้วิธีการรุนแรงในการอบรมสั่งสอนลูก

 

       งานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยดุ๊ค มหาวิทยาลัยโอเรกอน ในสหรัฐ มหาวิทยาลัยฮ่องกง มหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก สวีเดน มหาวิทยาลัยเนเปิลส์ มหาวิทยาลัยแห่งโรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเดลี ในอินเดีย

 

       มาจากคุณครู

      เราเองก็เป็นครูเหมือนกัน ไม่ตีเด็ก ไม่ดุเด็ก คุยกับเค้าดีๆ เค้าก็รู้เรื่องนะ

      เด็กเดี๋ยวนี้ไม่กลัวไม้เรียว แต่ยอมให้ครูตี เพราะครูมีอำนาจเหนือกว่า ครูตีได้ตีไป แต่ใจเด็กคัดค้าน แข็งกร้าวเพราะไม้เรียวครูทุกวัน

        ถ้าอยากให้เด็กเป็นเด็กดี ต้องเข้าไปให้ถึงใจของเขา เข้าไปล้างใจเขา แล้วค่อยเติมสิ่งดีๆให้เขา มันยากนะทำแบบนี้ แต่ก็เป็นการสร้างคนดีค่ะ

        เมตตาเค้าให้มากๆ เข้าใจเค้าให้มากๆ แล้วเค้าก็จะเข้าใจครู รักครู ทีนี้ พูดอะไรเค้าก็จะฟัง

       หักไม้เรียวทิ้งไป เอาน้ำใจเข้ามาแทนนะคะ

 

        มาจากผู้สังเกตุการณ์

      การตีเด็ก ทำร้ายร่างกายเด็ก ให้เจ็บปวด ไม่ว่าวิธีการใดวิธีการหนึ่ง บาปครับ และ ไม่เป็นผลดีต่อผู้กระทำแต่อย่างใด คือ นอกจากเด็กจะเจ็บปวดทางร่างกายแล้ว ยังได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจ เด็กบางคนเขาไม่ได้สำนึกจากการตีนะครับ แต่เป็นการบ่มเพาะความเกลียดชังในใจเด็กคนนั้นด้วย บางครั้งก็ส่งผลให้เขายิ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น หรือ ไม่ก็เกิดควาอับอายจนเป็นอาการซึมเศร้าไปเลยทีเดียว



     ผมอยู่เมืองนอก ได้สัมผัสวิธีการสอนเด็ก ของฝรั่ง ผมว่าหลายๆวิธีน่าสนใจมากครับ เช่น เวลาครูสอนแล้วนักเรียนบางคนคุยกันครูเขาก็จะมีวิธีครับ เช่น บอกให้สองคนนั้น ออกไปยืนหน้าห้องแล้วคุยกันให้เสร็จ เสร็จแล้วก็ให้ขออนุญาตเข้ามา แล้วครูเขาก็จะสอนว่า เวลาคุณคุยกัน คุณรบกวนเพื่อนของคุณ ดังนั้นถ้าคุณอยากคุยก็ให้ไปคุยนอกห้อง คุยเสร็จแล้วค่อยเข้ามา



     กรณีเด็กไม่ส่งการบ้าน ครูเขาจะไม่ดุเลยครับ เพียงแต่บอกว่า เย็นนี้อย่าพึ่งกลับบ้าน ให้โทรไปบอกคุณพ่อคุณแม่ แล้ว ครูเขาจะให้เด็กคนนั้นทำการบ้านให้เสร็จหลังเลิกเรียน หรือ โทรบอกคุณพ่อคุณแม่เขาถ้ามารับลูก ก้ให้รอลูกอยุ่ในห้อง รอให้ลูกทำการบ้านให้เสร็จ เป็นต้น


      หรือ อย่างกรณีการคุยกันในห้องสอบนั้น ครูจะทำโทษด้วยการให้ออกจากห้องสอบ ให้ยืนเสียเวลาสัก 5 - 10 นาที จนเด็กสำนึกก็ให้กลับเข้ามาสอบ



      หรือ มา โรงเรียนสาย ที่นี่เขาจะไม่ค่อยแคร์เลย ตราบใดที่เด็กยังมาเข้าห้องเรียนทันและเด็กคนนั้นไม่ได้มีปัญหาเรื่องผลการเรียน (ถึงแม้จะไม่ได้เข้าแถวหน้าเสาธงก็ตาม) แต่หากมาสายบ่อยๆ หรือ โดดเรียนบ่อย จนทำให้ผลการเรียนไม่ดี เขาจะเรียกผู้ปกครองมาคุย มาสอบถามหาสาเหตุ แต่บ้านเรานี่ไม่ได้นะครับ ต้องมาทันเคารพธงชาติ ไม่ทันนี่โดนเก็บขยะ บางแห่งก็โดนตี คืออันนี่ มันไม่ใช่ โรงเรียนน่ะครับ มันเป็นวินัยของทหารที่ถูกเอามาใช้กับโรงเรียน เพื่อให้เด็กมีระเบียบวินัย



       ส่วนกรณี เกเร ทำร้ายเพื่อนนักเรียนนั้น ส่วนใหญ่ เขาจะเรียกผู้ปกครองมาคุยทันที เขาจะไม่ตัดสินทำโทษเด็กด้วยการตีโดยพละการแบบบ้านเรา เราจะเรียกผู้ปกครองมาคุย หากเป็นการทำร้ายร่างกายถึงขั้นเลือดตกยางออก เขาจะอาจจะเรียกตำรวจมาคุยด้วย ดูว่าพอดำเนินคดีอะไรได้บ้างหรือเปล่า เขาถือว่า ครูไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ เรื่องการทะเลาะถึงขั้นบาดเจ็บกันนั้น เป็นเรื่องของตำรวจแล้ว คือ พ้นเขตอำนาจของครูไปแล้ว แต่บ้านเรานั้นไม่ใช่ ส่วนใหญ่ครูจะเป็นศาลเตี้ยจัดการทำโทษเด็กเสียเอง กระโดนถีบเด็กบ้าง เอาไม้หวายฟาดบ้าง เป็นต้น


        โดยหลักการแล้วที่อังกฤษ ครูจะทำหน้าที่อธิบาย ชี้แจงเหตุผลให้เด็กเข้าใจมากกว่า ส่วนใหญ่จะใช้การพูดคุยกันส่วนตัว หรือ พูดคุยร่วมกับพ่อแม่ ถึงพฤติกรรมที่เด็กทำผิดซ้ำซาก จะไม่มีการตี การทำโทษอะไรรุนแรงเลย ทำได้อย่างมากคือการตำหนิเท่านั้น


       ผมเคยถามว่า ครูอังกฤษคนหนึ่งว่า ถ้าเป็นบ้านผม ครูจะดุมาก แล้วเด็กจะกลัวและเรียบร้อยมาก เชื่อไหมครับ ครูคนนั้นตอบผมว่า หน้าที่ครูไม่ได้ทำให้เด็กเกรงกลัวด้วยการใช้ความรุนแรงนะ หน้าที่ครูคือการทำให้เด็กเขารักเราและเข้าใจสิ่งที่เราพยายามอธิบายเขาต่างหาก :31: ครูมีหน้าที่แสดงตัวอย่างที่ดีให้เด็กเห็น สิ่งที่เด็กควรจะเห็นคือ ความรัก ความเมตตา และความเข้าใจถึงปัญหาของเขามากกว่า ไม่ใช่ความรุนแรง การที่เขาทำผิด ไม่ใช่เพราะเขาอยากทำผิด แต่มันมีสาเหตุที่ทำให้เขาต้องทำผิด ดังนั้นเราในฐานะครูจึงควรทำความเข้าใจว่า เด็กเขาทำผิดเพราะอะไรและจะช่วยแก้ปัญหาของเขาอย่างไรด้วยความรักความเมตตา


       ผมฟังแล้วก็ตื้นตันใจพอสมควร ครับ

 

       มาจากคุณครูอีกท่าน

 

      เด็กก็คือเด็ก ดิฉันไม่ดุด่านักเรียน แต่ถ้าหากไม่เหลือร้ายนานๆตีบ้างเพื่อเตือนสติ เท่านั้นเอง

 

     เด็กโดยธรรมชาติก็คือเด็ก   ตีไปก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเขามีแรงต้านครูทำให้เด็กก้าวร้าว ไปตัดขอบเขตความคิดเด็ก

 

       พูดกับเขาดีๆ ถ้าไม่เชื่อฟังก็ปล่อยเขาเดี๋ยวเขาจะคิดได้เองคะ อย่าตีเลยเจ็บป่าว

 

      ผู้ใหญ่นั้นแหละตัวสำคัญโดยเฉพาะครู เวลาเด็กเข้าแถวเคารพธงชาติห้ามเด็กคุยกันแต่ครูคุยกันดังลั่น ห้ามเด็กคุยกันในห้องเรียนแต่เวลาประชุมครู ครูก็คุยกันแข่งกับท่านผอ. ครูนักเรียนก็เหมือนๆๆกันแม่แบบ แม่พิมพ์ดูครูก็ดูนักเรียนไม่แตกต่างกันเลย

 

       อยากให้เด็กดีครูต้องทำเป็นตัวอย่างก่อนทำอย่างสมำเสมอจนเด็กเกิดความศรัทธาในตัวครู แต่อย่าเสี่ยมสอนเด็กด่าว่าเด็กเช้าเย็นตะคอกเด็ก จนเด็กบางคนทนไม่ได้ลาออกคิดว่าโรงเรียนเป็นโรงฆ่าสัตว์หรือนรกชัดๆๆ เด็กมีพลังต้านปล่อยให้เขาเรียนรู้ตามธรรมชาติของเขาเรียนอย่างมีความสุขเดี๋ยวเขาก็รู้เองคะอย่าตีเลยบาปกรรมป่าว

 

        คุณครูอีกท่านครับ

 

       จริงๆไอเดีย ทำโทษด้วยการเดินจงกรม ให้เขาพิจารณาความผิดที่เขาทำไปก็ดีนะครับ ไม่ต้องให้ไปวิ่ง แต่ให้ไปเดินรอบสนามสักสี่ห้ารอบ ริมๆต้นไม้เจอขยะก็เก็บไป บอกว่าเดินไปแล้วให้ไปคิดว่า ตัวเองทำผิดเพราะอะไร อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาทำผิด เดินเสร็จแล้วเรียกมาถามว่า เป็นไง รู้หรือยังอะไรทำให้ตัวเองทำผิด ถ้าตอบไม่ได้ก็ให้เดินอีกรอบ

 

       ท้ายสุด  ครูใจดี ของเราเองครับ

       สื่อสารอย่างเปิดใจ

 

       การสื่อสารกับวัยรุ่น จะต้องสื่อสาร แบบที่เรียกว่า “พูดจากใจ” หลีกเลี่ยงการตำหนิด้วยคำพูดที่รุนแรง จู้จี้ ขี้บ่น หยุมหยิม แสดงออกให้เขารับรู้ว่า เรารู้สึกจริงใจกับเขา ห่วงเขา อย่าใช้คำพูดประชดประชัน คำพูดต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ อย่าให้เขาคาดเดาเอาเอง...  หลายๆ ท่านที่ได้ติดตามอ่านบันทึกของครูใจดี  คงจะคิดว่า ครูใจดีได้สอนแต่เด็กดี ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่ขี้เกียจ  ไม่เกเร  ไม่โดดเรียน ฯลฯ  กระมัง.....

 

         เปล่าหรอก!!!   เด็กสมัยนี้นิสัยก็เหมือนกันแหละ เด็กประเภทที่กล่าวมานี้  มีอยู่ทุกโรงเรียนนั่นแหละ  เพราะเขามาจากครอบครัวที่แตกต่างกันไป  บางคนมีความพร้อม ครอบครัวสมบูรณ์  ซึ่งก็มีน้อยมาก   เด็กส่วนใหญ่มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น   ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัวแตกแยก  ยากจน ไม่มีพ่อแม่  อยู่กับญาติ ปู่ย่า ตายายที่อายุมากทำมาหากินไม่ไหวแล้วก็มีเยอะเลยทีเดียว  รวมถึงปัญหาชู้สาวด้วย... ลำพังดูแลเด็กที่เป็นประจำชั้น 40 คน นี่ก็ 40 รูปแบบแล้ว  ยังจะเด็กที่เราสอนอีกตั้งหลายระดับ หลายห้อง ตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 

 

          ไม่มีอะไรในโลกที่จะสมบูรณ์แบบหรอก  แม้แต่ตัวเราเองก็ยังไม่สมบูรณ์แบบเลย  เพียงแต่เราฝึกฝนและรู้จักปรับปรุงสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ต่างๆ ให้ดีขึ้นในระดับหนึ่งก็เท่านั้น

 

         ถ้าจะให้สาธยายถึงปัญหาของนักเรียน  และวิธีการแก้ไขคงต้องใช้เวลานานมากๆ  สารพัดปัญหา  มีให้ปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน   สิ่งที่ทำให้ฉันผ่านอุปสรรคและช่วยแก้ไขพฤติกรรมและปัญหาของเด็กได้นั้น  ฉันเริ่มที่   “ความไว้วางใจ”  อันนี้เป็นสไตล์ของฉันที่ปฏิบัติกับลูกศิษย์และทุกๆ คน ใครจะนำไปใช่ไม่สงวนค่ะ 

 

        ธรรมชาติของวัยรุ่นต้องการ “การยอมรับ ความเข้าใจ  แต่ไม่ใช่ ตามใจอย่างไร้เหตุผล”  

 

          เด็กดื้อ เกเร ก้าวร้าว  หรือครูบางท่านอาจ เรียกว่า “ไอ้พวกชอบลองของ หรือพวกท้าทาย กวนโอ๊ยๆๆ...”   พฤติกรรมแบบนี้   คุณครูหลายๆ ท่านไม่ค่อยชอบใจนักหรอก  รับไม่ได้  เลยไม่ใส่ใจ  หมายหัว และตัดสินตราหน้าเด็กไว้ก่อนว่า  “เด็กเลว  ดื้อด้าน”   เอ๊า!.... เด็กก็เลยดื้อ เกเร ก้าวร้าว ให้มันสะใจไปเลย...ฮา

 

             วิธีการรับมือและจัดการกับพฤติกรรมดังกล่าว ของฉันคือ  การเข้าหาและสร้างความเป็นกันเอง อย่างจริงใจ ด้วยใจความมีเมตตา  นี่ลูกศิษย์ของเรานะ... ไม่ใช่โจรหรือผู้ร้ายที่ไหน?   ทุกคนย่อมทราบดีอยู่แล้ว ว่าอารมณ์ของวัยรุ่นเป็นอย่างไร  ฉันจะเปิดใจพูดคุยกับเขา  ใส่ใจถามสาระทุกข์สุขดิบ  ที่บ้านเป็นอยู่อย่างไร?  มีอะไรที่ครูพอจะช่วยได้ไหม?...ฯลฯ   สารพัดที่เราสามารถพูดคุยกับเขาได้ 

 

           การพูดคุยกับเด็กวัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญ   ถ้าเขาเกิดความไว้วางใจ  เชื่อใจ ว่าเราหวังดีกับเขาอย่างแท้จริง แสดงว่าเราได้ลงไปนั่งอยู่ในใจของเขาแล้ว  ทีนี้แหละปัญหาที่เขามีอยู่ ก็จะเผยออกมาที่ละเรื่อง... เราก็จะช่วยแก้ปัญหา  หรือช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้  เมื่อปัญหาของเด็กลดลง  พฤติกรรมก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ              ทั้งนี้  เราต้องพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กด้วย  ปัญหาบางอย่างเราคนเดียวแก้ไม่ได้ทั้งหมด  ต้องประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองด้วย

 

         “ถ้ากำหัวใจของลูกศิษย์ได้  ก็ไม่มีอะไรยากสำหรับครู” ที่จะอบรมสั่งสอน หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนให้ดีขึ้น  และเขาย่อมมีคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีขึ้นต่อไปในภายหน้าอย่างแน่นอน  ฉันมีความเชื่ออย่างนี้

 

             อย่าเลือกปฏิบัติกับเด็ก  หรือพูดคุยสนิทสนมเฉพาะเด็กดีเท่านั้น... ต้องปฏิบัติกับเด็กเท่าเทียมเสมอภาคกัน  เด็กดีเขาดีอยู่แล้ว  บอกอะไรเขาก็เชื่อฟังและทำในสิ่งดีๆ  เขารู้ว่าเขาต้องทำอะไร   เขามักจะเข้ามาหา มาขอคำแนะนำดีจากเราอยู่แล้ว.... แต่  เด็กที่ควรเอาใจใส่ให้มากๆ   คือ เด็กที่มีปัญหา  ครูอย่าปฏิบัติกับเขาด้วยสายตาเย็นชา  หรือเอาแต่ตำหนิเขา... เพราะเขาจะยิ่งต่อต้าน

 

            การที่เราจะปกครองนักเรียนที่อยู่ในวัยรุ่น  ต้องปฏิบัติเหมือนกับเขาเป็นลูกของเรา.... ดีไม่ดี ปฏิบัติกับเขาดีกว่าลูกของเราเสียอีก...ฮา... หลายคนมีข้อโต้แย้ง...ว่า ก็ฉันไม่มีลูกนี่  จะรู้ได้อย่างไรว่าแม่ปฏิบัติกับลูกยังไง?....  ฉันไม่ได้เขียนให้ตลกนะ...   เพราะมีคนคิดแบบนี้จริงๆ  “ช่างมันซิ  ไม่ใช่ลูก ไม่ใช่หลาน  พ่อแม่มัน ยังว่ากันไม่ได้เลย...”  อย่างเอ็ดไปค่ะ...  ฉันได้ยินคำบ่น คำเปรยแบบนี้มาตามสายลม..อยู่บ่อยๆ...

 

         โถ... ไม่มีลูกก็ปฏิบัติได้  อย่างน้อยคุณก็ต้องมีหลานแหละ...เชื่อซิ... รักเขาให้เหมือนที่คุณรักหลานของคุณก็ได้  เอาน่ะ...  แฮ่ะ ๆ  ฉัน ไม่ได้สอนใครนะคะ... ได้ยินบ่อย เลยอยาก กระซิบๆ บอกกันกันบ้างน่ะ...  คนที่คิดแบบนี้ เป็น พวกศรีธนชัยนะ คือประเภทแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ... ฉันนอกเรื่องจนได้   ถึงไหนแล้วล่ะ?

 

       จะปกครองนักเรียนที่อยู่ในวัยรุ่น วัยพายุบุแคม วัยที่สับสนอลม่าน  เราต้อง…  ไม่ข่มขู่ ไม่บังคับ เป็นกัลยาณมิตรกับเขา  เป็นที่พึ่งให้เขาได้  คุยกันด้วยเหตุผล  จริงใจ เชื่อมั่น/เชื่อใจ แคร์ความรู้สึก เมตตาเอื้ออาทร ให้อภัยและให้โอกาส

 

       กฎข้อตกลง  จะต้องเกิดจากความคิดของพวกเขา    เราเป็นผู้ชี้แนะเท่านั้น  ยอมรับในตัวตนของเขา (เปิดใจ) ให้โอกาสเขาแสดงความคิดเห็น และแสดงออก

 

        วัยรุ่นต้องการอิสรภาพมากขึ้นกว่าวัยเด็ก  กฎเกณฑ์อะไรที่ตั้งขึ้น  ควรเปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกมากขึ้น  ในขอบเขตที่เรากำหนด  ซึ่งวิธีการแบบนี้ จะช่วยลดข้อขัดแย้งบางเรื่องได้

 

        ให้โอกาสเขาได้ฝึกความรับผิดชอบ  โดยการมอบหมายงานให้เขา  เขาจะได้เรียนรู้การมีความรับผิดชอบ   เป็นการกระตุ้นให้เขารู้จักการอยู่ร่วมในสังคม   การช่วยเหลือแบ่งปันกัน  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรากฐานการเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต

 

            วัยรุ่นมีความรู้สึกรุนแรงมากในเรื่องความยุติธรรม ความถูกต้อง  การพูดจริงทำจริง   ดังนั้น  สิ่งที่ฉันปฏิบัติกับเด็กเหล่านี้  ความยุติธรรม  ความจริงจังในคำพูดและการกระทำจึงสำคัญมาก   เมื่อมีข้อตกลงกับเด็กไว้อย่างไร หากเขาทำได้  เราต้องรักษาคำมั่น  รักษาสัจจะวาจาที่ให้ไว้...  มิฉะนั้น  เด็กจะหมดศรัทธาในตัวเราทันที  ต่อไปคงพูดคุย อบรมสั่งสอนอะไร  เขาก็จะไม่เชื่อถือ ไม่เคารพ ไม่เชื่อใจเราอีกต่อไป

 

          ก็คงเหมือนกับคนทั่วไปนะคะ เราย่อมคาดหวังกับคำมั่นสัญญาที่เรากับผู้อื่นให้ไว้ต่อกัน... หากไม่เป็นไปตามสิ่งที่คาดหวัง  เราก็ย่อมเสียความรู้สึก หรือหมดศรัทธา...นี่เป็นสัจธรรมที่เป็นความจริง หรือว่า มีใครที่ไม่เคยรู้สึกแบบนี้...     

                    

          การสื่อสารกับวัยรุ่น  จะต้องสื่อสาร  แบบที่เรียกว่า  “พูดจากใจ”   หลีกเลี่ยงการตำหนิด้วยคำพูดที่รุนแรง  จู้จี้ ขี้บ่น   หยุมหยิม    แสดงออกให้เขารับรู้ว่า  เรารู้สึกจริงใจกับเขา  ห่วงเขา  อย่าใช้คำพูดประชดประชัน  คำพูดต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ  อย่าให้เขาคาดเดาเอาเอง...  ซึ่งครูต้องใช้ความอดทนอย่างมาก  จึงจะสามารถทำความเข้าใจ  และสื่อสารกับเขาสำเร็จ  ต้องใช้ความนุ่มนวล จริงใจ  จริงจัง  เราจะสามารถชนะใจเขาได้ในที่สุด

 

          สิ่งสำคัญที่ครูจะลืมไม่ได้อีกอย่างก็คือ  การส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจเมื่อเขาประพฤติดี  ฝึกนิสัยการประนีประนอม  การเคารพผู้ใหญ่  อ่อนน้อมถ่อมตน กตัญญูรู้คุณ มีความรับผิดชอบ 

 

           เมื่อเขาทำสิ่งใดผิดพลาด  อย่าพึ่งตำหนิ  ฟังเขาก่อน.... แล้วถามว่า.... “แล้วเธอคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร?...”  ให้เขาฝึกคิดแก้ปัญหาก่อน….แล้วเราจึงค่อยให้คำแนะนำ  ซึ่งอาจเป็นวิธีผสมผสานกับวิธีการแก้ปัญหาของเราก็ได้

 

         จริงๆ แล้ว ฉันไม่ค่อยพูดกับลูกศิษย์ว่า “เธอ”  หรอก    ส่วนใหญ่ฉันเรียกชื่อเล่นของเขา  ถ้าเป็นเด็กผู้ชายทะโมนๆ ฉันก็คุยแบบห้าวๆ เพราะฉันเป็นคนห้าวๆ โก๊ะๆ  ไม่ได้เป็นคนเรียบร้อย  แต่ฉันอ่อนโยน  เอ๊ะ ยังงัย  งง  มั้ยค่ะ  กับเด็กเรียบร้อยฉันก็อ่อนหวานเป็นนะ...  เด็กเลยเห็นฉันเป็นคุณแม่ใจดีเสมอ....

 

          เราฉลองความสำเร็จ หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากกิจกรรมหรือภาระหน้าที่ เติมกำลังใจซึ่งกันและกัน ความสำเร็จของ“พวกเรา”  ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

 

                                                   ......................................

 

         ยาวหน่อยครับ  ให้เห็นภาพรวมที่มาจากประสบการณ์จริง  เพื่อจะประกอบการพิจารณาสำหรับความเชื่อเรื่อง "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี"

 

 

หมายเลขบันทึก: 364325เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ชอบของครูใจดีค่ะ...อ่านแล้วนำวิธีการไปใช้แล้วค่ะ

Pคุณปริมปรางครับ

    ครูใจดีเขียนได้ดีมากครับ  จริงๆ ต้องบอกว่าทำได้ดีมากครับ

           ขอบคุณมากครับที่มาแลกเปลี่ยน

ถ้ากำหัวใจของลูกศิษย์ได้  ก็ไม่มีอะไรยากสำหรับครู

เห็นด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะท่าน

เรื่องเล่ายาวมีสาระ  เป็นประโยชน์สำหรับคุณครู คุณพ่อ คุณแม่ แหะ ๆ คุณป้าอย่างตัวเองด้วยค่ะ ขอบคุณเรื่องราวดี ๆนะคะ

Pคุณมนัญญาครับ

ถ้ากำหัวใจของลูกศิษย์ได้  ก็ไม่มีอะไรยากสำหรับครู

          ขอบคุณครับ 

Pอ.Phayormครับ

  ขอบคุณมากครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สวัสดีครับท่านรองฯ

ยากหน่อยนะครับ!! เพราะบางครั้งการลงโลกเด็กขอเราผู้ใหญ่บ้างคนก็เป็นเพราะอารมณ์พาไป ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกอย่างเดียว แต่สุดท้ายเมื่อความรู้สึกกลับมา ก็จะควบคุมอารมณ์และสติก็มาเอง

ยากครับ แต่ก็น่าคิดครับ

Pอ.คมสันครับ

       ครับ การเข้าไปในโลกของเด็ก   ยอมรับว่ายากครับ 

                      ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณค่ะ อ.วิชชา กำลังฝึกการสื่อสารด้วยใจ แต่ภาพลักษณ์การเป็นครูปกครองที่เข้มงวดยังติดเขาอยู่

ขอบคุณมากค่ะ อ่านทันเวลาพอดี ได้สติทันท่วงที

ขอบคุณมากครับ อ.เพ็ญศรี  ก็ช่วยๆ กันครับ เพื่อเด็ก และ เพื่อตัวเราครับ

เรียนท่าน small man

- เป็นบทความที่ อ่านแล้วได้ คุณค่ามากคะ

- พ่อ + แม่ + คุณครูควรอ่านะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท