vanillawara
นางสาว วราภรณ์ (บุ๋ม) ด่านศิริ

The Tip of the Iceberg ยอดของภูเขาน้ำแข็ง


               กลับมาอีกแล้วค่ะ G2K สำหรับวันนี้ ฉันจะมาแบ่งปันเรื่องราวนิทานในชุดอีกเล่ม ที่มีชื่อว่า The Tip of the Iceberg หรือ ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ค่ะ

 

 

               ในเรื่องนี้ ได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับ "การคิดเชิงระบบ (System Thinking)" ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่มาแรง และเป็นที่กล่าวถึงบ่อยครั้งในวงการวิชาการในปัจจุบัน แต่ฉันเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า "ที่เราพูดกันเท่ห์ๆ ว่าคิดเชิงระบบเนี่ย จริงๆแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันเชิงระบบ จริงหรือไม่ ?"

 

คำว่า "ระบบ (System)" เมื่อนำไปวางหน้าคำใดๆแล้ว ก็จะให้ความรู้สึกมั่นคง เป็นทางการ ดูดีมีมาตรฐาน มากขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น "ระบบการศึกษา" "ระบบการเรียนการสอน" "ระบบความคิด" จนถึง "ระบบสุริยะจักรวาล" (55+)

 

               แต่สิ่งที่น่าตั้งข้อสงสัย คือ เราเข้าใจลึกซึ้งชัดเจน กับสิ่งที่เรียกว่า "ระบบ" แค่ไหน ก่อนที่จะนำคำว่า "ระบบ" ไปใช้

 

               หัวใจของคำว่า "ระบบ" ที่ฉันสามารถสรุปได้จากหนังสือเล่มนี้ คือ ความสัมพันธ์และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ที่เชื่อมโยงร่วมกัน ภายใต้ระบบซึ่งมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง

 

               อย่างที่ฉันเคยเขียนถึงมาแล้ว ในทฤษฎี Mental model ที่ว่า "ความคิด" ของคนแต่ละคนมีความหลากหลาย แตกต่าง และเฉพาะตัว ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆขึ้น ภายใต้ "ความคิด" ที่หลากหลาย ก็จะนำไปสู่ "ความเห็น" ที่หลากหลายกระจัดกระจายตามไปด้วย

 

               สิ่งที่เราจำเป็นต้องจับประเด็นให้ได้ คือ มองหาความเชื่อมโยงที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง"ความคิดที่หลากหลาย" และมองสภาพแวดล้อมภายใน-ภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์นั้นๆให้ทะลุปรุโปร่ง

 

               พูดง่ายๆ คือ เราจำเป็นต้องมองรอบด้าน ทั้งสิ่งของที่เป็นรูปธรรม ผู้คน เหตุการณ์ ตลอดจนสิ่งนามธรรมทั้งหลาย แล้วมองหาความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เรามองเห็นทั้งหมด จากนั้นเราต้องแยกแยะให้ได้ว่า "ความจริงในปัจจุบัน" หรือสถานการณ์ที่เราเป็นอยู่นั้นคืออะไร เพื่อนำไปออกแบบกลยุทธ์ (Design) เพื่อสร้าง "อนาคตที่ปรารถนา (Destiny)" โดยกลยุทธ์ที่ว่านี้ จะต้องมีรากฐานมาจาก "การคิดเชิงระบบ"

 

Credit to; พี่เอริท ที่แสดงไว้ใน Model 4D ว่า การคิดเชิงระบบเป็นการควบรวมระหว่าง Destiny + Design

 

 

               เราสามารถตรวจสอบตัวเองว่าทุกวันนี้คำว่า "ระบบ" ที่เราใช้กัน แท้จริงแล้ว มันใช่ "ระบบที่แท้จริง" หรือไม่ จากส่วนประกอบของระบบที่ฉันจะแสดง โดยใช้ Case ระบบ AI เป็นตัวอย่า่ง ดังต่อไปนี้

 

1. ระบบมีจุดประสงค์ : ระบบ AI มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาค้นหาร่วมกัน เพื่อค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคน ในองค์กร หรือของโลกที่อยู่รอบตัวเขา

 

2. ระบบประกอบด้วยสิ่งต่างๆมารวมกันโดยวิธีเฉพาะ เพื่อให้ระบบดำเนินไปตามจุดประสงค์ : ระบบ AI ประกอบด้วยบุคคลต่างๆที่หลากหลายในสาขาวิชาต่างๆมารวมกัน และใช้เครื่องมือ สุนทรียสาธก เพื่อบรรลุจุดประสงค์ในข้อ 1. คือ "ค้นหาสิ่งที่ดีที่สุด"

 

3. ระบบจะตอบสนองจุดประสงค์ภายใต้ระบบที่ใหญ่กว่า (Synergistic Relationship) : ระบบหนึ่งๆ ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ระบบของเราอาจจะเป็นระบบย่อยของระบบที่ใหญ่กว่า หรือมีระบบย่อยๆที่เล็กกว่าภายใต้ระบบของเรา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของทุกระบบที่เชื่อมโยงกัน คือ จำเป็นต้องมีจุดประสงค์ภายใต้ทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกับ AI ที่มี Imagine Thailand, World Cafe Thailand หรือ Female marketing เป็นระบบย่อยๆที่เชื่อมโยงและตอบสนองจุดประสงค์ร่วมกัน

 

4. ระบบแสวงหาความมีเสถียรภาพ : AI สร้างความมีเสถียรภาพ จากพลังที่อยู่ในตัวความคิดนี้ และจากผลการปฏิบัติที่เห็นผลจริงจากผู้นำไปใช้ สิ่งต่างๆล้วนเป็นสิ่งที่สร้างเสถียรภาพให้ระบบ AI นี้

 

5. ระบบมีการป้อนกลับ (Feedback) : AI มีศูนย์กลางในการแบ่งปันผลป้อนกลับ (Feedback) ของผู้ปฏิบัติ ทั้งทาง Website และ Blog ต่างๆ เพื่อใช้ข้อมูลที่ได้มาเสริมแรงระบบอีกที

 

(Credit to: http://aithailand.org/)

 

เมื่อเราชัดเจนกับคำว่า "ระบบ" แล้ว มาถึงคำว่า "ความคิด" กันบ้าง

 

 

               โดยเฉลี่ยแล้ว คนเรามักจะใช้ความคิดกับสิ่งต่างๆในรูปแบบ "การคิดแบบเชิงเส้น (Linear Thinking)" ซึ่งคล้ายๆกับแนวคิด Single loop ที่อ.โย และพี่เอริทได้กล่าวไว้ การคิดเช่นนี้ ก็เปรียบเสมือนการคิดแบบ เลยตามเลย ยังไงก็อย่างงั้น คือเป็นการคิดที่ไม่สะท้อนความเชื่อมโยงใดๆเลย เช่น ยอดขายของบริษัทตก การคิดแบบเชิงเส้นก็จะบอกเราว่า ถ้างั้นก็ทำ Promotion หรือลดราคาสิ

 

               ซึ่งตรงนี้แตกต่างอย่างมาก กับ"การคิดเชิงระบบ (System thinking)" ที่จะมองแบบ Double loop มากกว่า คือ มองหาปัจจัยรอบด้านที่มีการเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วนำมาร่างหา"ความสัมพันธ์"ที่แท้จริง ที่จะนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ยอดขายของบริษัทตก การคิดเชิงระบบจะกระตุ้นให้เราไปดูปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น พนักงานขาย คู่แข่ง คุณภาพของสินค้า ฯลฯ เพื่อนำมาเชื่อมโยงหาสาเหตุที่แท้จริง และต่อยอดไปสู่กลยุทธ์แก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุด

 

"การคิดเชิงระบบ" จะประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญ 2 ประการ คือ

 

1. กระบวนการเสริมแรง (Reinforce Process) คือ การหาความเชื่อมโยง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไปในทิศทางเดียวกับจุดประสงค์ของระบบ ซึ่งจุดประสงค์ของระบบต้องดี จึงจะถือเป็น วัฏจักรที่เพิ่มพูน (Virtuous cycle) เช่น AI ประกอบด้วย AI practitioner เพื่อเสริมแรงกันไปสู่จุดประสงค์ที่ดีงาม ต่างจาก วัฏจักรที่เสื่อมถอย (Vicious cycle) ที่เป็นการเสริมแรงในแง่ลบ เช่น องค์กรให้พนักงานร่วมกันผลิตสินค้าที่คุณภาพต่ำ เพื่อลดต้นทุน เป็นต้น

 

2. กระบวนการปรับสมดุล (Balancing process) คือ ระบบต้องเน้นการรักษาระบบให้อยู่ในระดับสมรรถนะ หรือ อยู่ในความพอดี เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบเติบโตเกินกว่าระดับที่จำกัดระดับหนึ่ง

 

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะคะ ^^ ฝากแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดกันด้วยนะคะ ^^

คำสำคัญ (Tags): #systems thinking
หมายเลขบันทึก: 363767เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท