ธรรมาภิบาลกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์


การบริหารทรัพยากรมนุษย์

ธรรมาภิบาลกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์

ชลลดา พึงรำพรรณ

            การบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยหลักการบริหารจัดการที่ดี   ในที่นี้จะกล่าวถึงการบริหารจัดการที่มาจากแนวคิดและหลักการบริหารที่ผสมผสานหลักปรัชญา ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมของการบริหารจัดการที่ดีงาม ซึ่งเรียกว่า หลักธรรมาภิบาล (good governance)โดยผู้เขียนจะได้นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ดังนี้

                      1.    การรับผิดชอบต่อผล (accountability) หมายถึง การบริหารที่มุ่งเน้นถึงผลงานเป็นสำคัญ การคิดการตัดสินใจดำเนินการใด ๆ จะต้องนำไปสู่การได้รับผลสูงสุดเสมอ ดังนั้นการบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงต้องมุ่งเน้นถึงการพิจารณาคัดเลือกคนที่มีคุณภาพมีความรู้ความสามารถและการวางแผนจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน นอกจากนั้นการรับผิดชอบต่อผลยังหมายถึงการที่ผู้บริหารแสดงความรับผิดชอบต่อการไม่ได้รับผลลัพธ์ตามเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นที่มาของการแสวงหาแนวทางปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ได้ดีขึ้น

                      2.  การให้มีส่วนร่วม (participation) หมายถึง การสร้างบรรยากาศและโอกาสให้ทุกฝ่ายในองค์การมีส่วนร่วมในการรับรู้สถานภาพขององค์การตามความเป็นจริง มีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ การวางแผน การจัดกระบวนการดำเนินงาน การประเมินผลงาน ปัญหา และมีส่วนร่วมในการแก้ไข ซึ่งการบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยอาศัยหลักการให้มีส่วนร่วมนี้ถือเป็นการจูงใจให้บุคคลทุ่มเทในงานเพราะรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้บุคคลมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อองค์การซึ่งถือเป็นการธำรงรักษาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างหนึ่ง

                      3.    การมีความโปร่งใส (transparency) หมายถึง การยึดหลักของความซื่อสัตย์สุจริต การปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม มีข้อมูลหลักฐานที่แสดงถึงความถูกต้องเหมาะสมดีงาม  พอใจที่จะกระทำการใด ๆ อย่างเปิดเผย ไม่ปกปิดซ่อนเร้น สามารถเปิดเผยแสดงหลักฐานข้อมูลได้ตลอดเวลา   ซึ่งการบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยอาศัยหลักความโปร่งใสนี้ทำได้โดยการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อพิจารณาการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งผู้บริหารต้องใช้กระบวนการที่โปร่งใส    มีหลักฐานข้อมูลที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความสามารถและผลการปฏิบัติงานอย่างแท้จริงกระทำการใด ๆ ด้วยความสุจริตจริงใจ เพื่อขวัญกำลังใจของบุคลากร

                      4.    การยึดหลักความคุ้มค่า (cost effectiveness) หมายถึง การคิดตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ที่จะนำไปสู่ผลที่ต้องการโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ต้องมีการศึกษา วิเคราะห์หาแนวทางในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดคุ้มค่าแต่สามารถก่อให้เกิดผลสูงสุด การบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยใช้หลักความคุ้มค่านี้เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำได้โดยการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ พิจารณาอุปสงค์และอุปทานกำลังคนโดยกำหนดปริมาณงานและปริมาณคนให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้แทนแรงงานคนซึ่งเป็นการประหยัดในด้านต้นทุนแรงงาน ทำให้สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้

                      5.    การยึดหลักนิติธรรม (legality) หมายถึง    การคิดหรือการตัดสินใจใด ๆ โดยเคารพกฎ กติกา ข้อตกลง สัญญา และระเบียบที่ถูกต้องดีงามอยู่เสมอ มีความเคารพในความเป็นมนุษย์  คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ยึดหลักความเสมอภาคและยุติธรรม การบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยอาศัยหลักข้อนี้ทำได้โดยการใช้กระบวนการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องของการเคารพในสิทธิเสรีภาพของแต่ละฝ่าย สนับสนุนให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างได้รับการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์

                       6.    การยึดหลักคุณธรรม (ethics) หมายถึง การคิดหรือการตัดสินใจ  ใด ๆ โดยเฉพาะ การปฏิบัติต่อบุคคลควรอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา ความจริงใจและหลักคุณธรรมอื่น ๆ ผู้บริหารเองควรแสดงตนเป็นแบบอย่างของการมีเกียรติ มีคุณธรรม สร้างศรัทธาให้คนเคารพ    ยกย่องอย่างจริงใจ การบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยใช้หลักคุณธรรมนี้ทำได้ตั้งแต่การคัดเลือกคน เข้าทำงานโดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนขั้น     เลื่อนตำแหน่ง การจัดสวัสดิการ การดูแลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน หากผู้บริหารยึดหลักคุณธรรมในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในทุกเรื่องดังกล่าวแล้วจะทำให้องค์การมีแต่         ความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านบุคคลและผลงาน

                      7.    การให้ตรวจสอบได้และรายงานผล (audit and evaluation) หมายถึง การเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติงานและผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารได้ตลอดเวลา     ซึ่งเป็นที่มาของการมีวินัยในตนเองในการคิดและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่เสมอ และพร้อมที่จะเปิดเผยให้สังคมรับรู้ การบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยอาศัยหลักการตรวจสอบได้และรายงานผลนี้เป็นการฝึกให้บุคลากรทุกคนไม่เพียงแต่ผู้บริหารเท่านั้น ที่จะต้องปฏิบัติงานด้วยความถูกต้อง ดีงามแสดงออกถึงการมีคุณธรรมจริยธรรมในการทำงาน สามารถนำผลงานมาเปิดเผยได้โดยไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ไว้

                      การบริหารทรัพยากรมนุษย์ตามหลักธรรมาภิบาลสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน เพราะเป็นแนวคิดที่นำความสงบสุขและความดีงามมาสู่การปฏิบัติงานในองค์การ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันโดยมุ่งเน้นประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว ไม่เพียงองค์การจะประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้ามั่นคงอย่างยั่งยืนของประเทศ

 

หมายเลขบันทึก: 363128เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2010 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จากประสบการณ์ของผมนะครับ  ธรรมาภิบาลในองค์กรที่เห็นได้ง่าย และ เห็นได้ชัด คือ เรื่อง  "เงิน"  ครับ   เรื่องรองลงมา คือ ความยุติธรรมเรื่อง คน(ความดีความชอบ)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท