Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณชวิดาเรื่องปัญหาการเสียสัญชาติไทยของคุณทักษิณ


คำถาม

คุณชวิดาได้เขียนบนกระดานข้อความใน facebook เพื่อถาม อ.แหวว ว่า "อาจารย์คะกรณีสัญชาติไทยคุณทักษิณ รัฐไทยหรือเจ้าตัวมีสิทธิขอคืนหรือไม่ แล้วคุณทักษิณเลือกไม่เป็นคนไทยแล้วเป็นคนอีกชาติได้หรือคะ กรณีนี้ถือว่าคุณทักษิณมี ๒ สัญชาติหรือไม่ แล้วรัฐไทยยังสามารถดำเนินคดีต่อไปได้อีกหรือไม่ได้เพราะอะไรคะ ถ้าว่างแล้วรบกวนตอบด้วยค่ะ / ด๋อย"

คำตอบ

          อ.แหววอ่านคำถามคุณด๋อยแล้ว คิดว่า มีหลายประเด็นซ้อนๆ กันค่ะ ต้องคลี่มาทำความเข้าใจทีละประเด็นค่ะ กล่าวคือ

          ในประการแรก คุณชวิดาถามว่า "แล้วคุณทักษิณเลือกไม่เป็นคนไทยแล้วเป็นคนอีกชาติได้หรือคะ" ซึ่งอันนี้ ตอบได้ว่า ในเรื่องนี้ กฎหมายไทยเรียกว่า “การเสียสัญชาติไทยโดยเจตนาของเอกชน” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “การสละสัญชาติไทย)  ซึ่งจำแนกได้เป็น ๓ ประเด็นย่อย กล่าวคือ (๒) การการสละสัญชาติเพราะสมรสตามกฎหมายกับคนต่างประเทศ[1] (๑) การสละสัญชาติไทยเพื่อไปถือสัญชาติของรัฐต่างประเทศตามบุพการี[2] และ (๓) การสละสัญชาติไทยของคนสัญชาติไทยซึ่งมีสิทธิในสัญชาติของรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย[3]

ดังนั้น หากฟังข้อเท็จจริงได้ว่า คุณทักษิณมีข้อเท็จจริงเข้าตามมาตรา ๑๓ หรือ ๑๕ ก็จะร้องขอสละสัญชาติไทยได้ แต่ถ้ายังฟังไม่ได้ว่า มีสิทธิในสัญชาติอื่นอยู่ด้วย กฎหมายก็ไม่รับรองสิทธิที่จะสละสัญชาติค่ะ เพราะกฎหมายตระหนักในภาวะเสี่ยงต่อความไร้สัญชาติของบุคคลที่มีสิทธิในสัญชาติเดียว

          ในประการที่สอง รัฐไทยมีสิทธิขอคืนสัญชาติไทยจากคุณทักษิณหรือไม่ ? ซึ่งอันนี้ ตอบได้ว่า ในเรื่องนี้ กฎหมายไทยเรียกว่า “การเสียสัญชาติไทยโดยเจตนาของรัฐ” ซึ่งจำแนกได้เป็น ๓ ประเด็นย่อย กล่าวคือ (๑) การถอนสัญชาติไทยโดยเจตนาของฝ่ายตุลาการของรัฐ[4] (๒) การถอนสัญชาติไทยโดยเจตนาของฝ่ายบริหารของรัฐ ซึ่งทำการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[5] และ (๓) การถอนสัญชาติไทยโดยเจตนาของฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ[6] ดังนั้น คุณทักษิณจะเสียสัญชาติโดยเจตนาของรัฐได้ ก็ต้องมีข้อเท็จจริงต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องมา

เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า คุณทักษิณมีสัญชาติไทยทั้งโดยหลักสืบสายโลหิตและหลักดินแดน จึงไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยโดยโดยฝ่ายตุลาการของรัฐซึ่งทำการโดยศาลหรือโดยเจตนาของฝ่ายบริหารของรัฐซึ่งทำการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เลย แต่คุณทักษิณอาจเสียสัญชาติไทยโดยเจตนาของฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ หากมีข้อเท็จจริง ๔ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ (๑) เป็น “ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาหรือมารดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือมารดา” [7] ซึ่งไปแสดงตนเป็นคนต่างด้าวสำหรับประเทศไทยโดยการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว (๒) เป็น “ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและได้แปลงสัญชาติเป็นคนต่างด้าว หรือสละสัญชาติไทย หรือถูกถอนสัญชาติไทย” [8]  (๔) เป็น “คนที่เกิดในประเทศไทยในระหว่างวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ จนถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕” ซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยโดยข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ พ.ศ.๒๕๑๕[9] และ (๕) เป็น “คนที่เกิดในประเทศไทยในระหว่างวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ จนถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ หากมีบิดาละมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองแบบไม่ถาวร” ซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยมาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕[10]

จะเห็นว่า คุณทักษิณย่อมมิใช่ “ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาหรือมารดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือมารดา” และมิใช่บุคคลที่เสียสัญชาติไทยโดยข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ หรือบุคคลที่เสียสัญชาติไทยโดยมาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

แต่ประเด็นที่ว่า คุณทักษิณไปแปลงสัญชาติเป็นคนสัญชาติมอนเตเนโกรนั้น หากเป็นจริง ก็มีผลทำให้เสียสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ อันตกเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ที่จะประกาศการเสียสัญชาติไทยในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการเสียสัญชาตินี้มีผลเฉพาะตัวไม่รวมไปถึงบุตรแต่อย่างใด

แต่หากสัญชาติมอนเตเนโกรที่คุณทักษิณได้มา มิใช่สัญชาติโดยการแปลงสัญชาติ การได้สัญชาตินี้ของคุณทักษิณก็ไม่อาจทำให้คุณทักษิณเสียสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ในประเด็นนี้จึงต้องไปพิจารณากฎหมายสัญชาติของประเทศมอนเตเนโกร

เพียงแค่ข้อเท็จจริงที่ว่า คุณทักษิณถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยประเทศมอนเตเนโกรอาจเกิดจากความเป็น “ราษฎรต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของมอนเตเนโกร” ในประเด็นนี้จึงต้องไปพิจารณากฎหมายการทะเบียนราษฎรและกฎหมายคนเข้าเมืองของประเทศมอนเตเนโกร ข้อเท็จจริงที่ว่า คุณทักษิณเป็นราษฎรต่างด้าวในทะเบียนราษฎรมอนเตเนโกรไม่อาจทำให้คุณทักษิณเสียสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา  ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

ความชัดเจนในเรื่องการเสียสัญชาติไทยของคุณทักษิณจึงขึ้นอยู่กับหลายข้อเท็จจริง

ในประการที่สาม คุณชวิดาถามว่า “กรณีนี้ถือว่าคุณทักษิณมี ๒ สัญชาติหรือไม่” ในประเด็นก็ตอบได้ว่า ถ้าคุณทักษิณได้สัญชาติมอนเนเตโกรตามกฎหมายสัญชาติของประเทศดังกล่าว และยังไม่มีการประกาศการเสียสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ คุณทักษิณก็ยังมีสถานะเป็น “คนสองสัญชาติในสองทะเบียนราษฎร” กล่าวคือ ใช้สิทธิในสัญชาติทั้งสอง ขอให้สังเกตว่า มีคนสองสัญชาติหลายคนที่มีสัญชาติไทยอยู่ด้วยไม่ได้แสดงตนเป็นคนสัญชาติไทย กล่าวคือ ไม่ได้ร้องขอออกเอกสารพิสูจน์ความเป็นคนสัญชาติไทยต่อรัฐไทย จึงไม่มีทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนซึ่งแสดงถึงความเป็นคนสัญชาติไทย

ในประการที่สี่ คุณชวิดาถามว่า “แล้วรัฐไทยยังสามารถดำเนินคดีต่อไปได้อีกหรือไม่ได้เพราะอะไรคะ ในประเด็นก็ตอบได้ว่า ความผิดที่คุณทักษิณถูกกล่าวหามิได้ขึ้นอยู่กับว่า คุณทักษิณมีสัญชาติไทยหรือไม่ ? หรือมีสัญชาติมอนเนเตโกรหรือไม่ ? ดังนั้น จึงยังสามารถดำเนินคดีต่อไปได้ หากมีส่วนในการก่อการร้ายตามกฎหมายไทยที่เกิดขึ้น จะมีสัญชาติอะไร ก็ผิดได้ทั้งสิ้น แต่ความมีสัญชาติมอนเนเตโกรของคุณทักษิณ อาจมีผลให้มอนเนเตโกรปฏิเสธที่จะส่งคุณทักษิณเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนสมัยใหม่ก็มักไม่ปฏิเสธการส่งคนสัญชาติเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ในเรื่องนี้ จึงต้องไปศึกษากฎหมายนี้ของประเทศมอนเนเตโกรอีกเช่นกัน

หวังว่า คุณชวิดาคงได้คำตอบตามที่ต้องการแล้วนะคะ หากมีอะไรสงสัย ก็ขอเชิญถามได้ต่อไปค่ะ


[1] ในปัจจุบัน เป็นไปตามมาตรา ๑๓  แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

[2] ในปัจจุบัน เป็นไปตามมาตรา ๑๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

[3] ในปัจจุบัน เป็นไปตามมาตรา ๑๕ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

[4] ในปัจจุบัน เป็นไปตามมาตรา ๑๗ (๓) และ (๔) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

[5] ในปัจจุบัน เป็นไปตามมาตรา ๑๖, ๑๗ (๑) และ (๒), ๑๘ และ ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

[6] ในปัจจุบัน เป็นไปตาม (๑) มาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ (๒) มาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ (๓) ข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ พ.ศ.๒๕๑๕ และ (๔) มาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง มาตรา ๑๑ แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

[7] ในปัจจุบัน เป็นไปตามมาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

[8] ในปัจจุบัน เป็นไปตามมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

[9]  แต่กฎหมายไทยก็คืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดให้แล้วโดยมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

[10]  แต่กฎหมายไทยก็คืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดให้แล้วโดยมาตรา ๒๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ หากบิดาหรือมารดาเป็นคน

หมายเลขบันทึก: 362509เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2010 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท