จากกินด่วนถึงเกิดด่วน


คอลัมน์นี้เขียนลงใน Happening ตั้งแต่ปีที่แล้วครับ แต่มีเหตุให้ต้องกลับมาคิดอีกครั้ง ก็เลยอยากเอามาลงเผื่อใครมีความคิดเห็นหรือประสบการณ์จะได้แลกเปลี่ยนกัน จริงๆ ด้วยความที่ผมเป็นผู้ชาย และไม่ได้จบแพทย์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องก็ค่อนข้างจะลำบากใจ มีความรู้สึกเหมือนเสนอหน้ามาพูดเรื่องที่ตัวเองไม่เคยมีประสบการณ์และไม่มีสิทธิจะมีประสบการณ์ แต่ก็อดไม่ได้ครับจริงครับ ...

-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-

จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สังคมที่แข่งขันในปัจจุบันเข้ามามีบทบาทกำหนดจังหวะชีวิตเรามากขึ้น อาหารจานด่วนที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงส่งเสริมนิสัยให้เราหาอาหารทานได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในโทรทัศน์ตั้งแต่ยาแก้แพ้ถึงยาลดความอ้วนนั้นนอกจากจะประกาศสรรพคุณของตัวยายังต้องแข่งขันกันเรื่องความเร็ว ยาแก้แพ้ออกฤทธิ์ทันทีไม่ต้องรอ ลดความอ้วนเห็นผลภายในหนึ่งสัปดาห์ จังหวะชีวิตเร่งด่วนที่บ้านเราเริ่มจะได้เห็นกันนั้นเป็นจังหวะที่คนอเมริกันส่วนใหญ่คุ้นเคยกันมานานแล้วครับ ว่ากันว่าวัฒนธรรมความรีบเร่งนั้นเข้ามากำหนดชีวิตของเด็กอเมริกันตั้งแต่ยังไม่เกิดเลยทีเดียว ผมกำลังพูดถึงการทำคลอดด่วนแบบซีเซคชั่น (Cesarean section หรือ c-section) ซึ่งหมายถึงการคลอดผ่าท้องที่เคยเป็นเพียงการคลอดทางเลือกที่ปัจจุบันคุณแม่หลายคนเลือกก่อนการคลอดธรรมชาติด้วยอัตราส่วนร้อยละสามสิบเอ็ด สูงเป็นสองเท่าของอัตราส่วนที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

การเลือกผ่าคลอดนั้นดูจะเหมาะกับจังหวะชีวิตที่รีบเร่งในปัจจุบันเพราะการคลอดแบบนี้สามารถกำหนดเวลาได้ สะดวกรวดเร็วกว่าการคลอดแบบธรรมชาติทั้งกับคุณแม่และคุณหมอ ในอเมริกานั้นสัดส่วนของหญิงผิวขาวที่เลือกการคลอดซีเซคชั่นนั้นมีสูงกว่าหญิงผิวดำ ทั้งที่อัตราความเสี่ยงของการคลอดธรรมชาติของหญิงผิวขาวนั้นมีต่ำกว่า ด้วยระดับทางสังคมที่สูงกว่าซึ่งหมายถึงโอกาสการมีสุขภาพที่ดีกว่าและโอกาสเสี่ยงจากการคลอดธรรมชาติที่น้อยกว่า นักวิชาการบางคนสรุปว่าระดับความอดทนต่อความเจ็บปวดของผู้หญิงในปัจจุบันนั้นลดต่ำลง ดังนั้นถ้าสามารถเลือกได้ผู้หญิงก็จะเลือกวิธีที่ไม่เจ็บปวด แต่มีสถิติที่น่าสนใจจากภาพยนตร์สารคดี The Business of Being Born ที่อ้างว่าอัตราการทำคลอดผ่านั้นพุ่งสูงในช่วงเวลาสี่โมงเย็นซึ่งเป็นเวลาก่อนเลิกงานทานข้าวเย็นและสี่ทุ่มซึ่งเป็นเวลาก่อนกลับบ้านไปพักผ่อนนั้นน่าจะเป็นคำตอบหนึ่งว่าคุณหมอมีส่วนอย่างมากในการตัดสินใจว่าคุณแม่ควรจะคลอดแบบไหน

เหตุผลอีกประการที่ทำให้การตัดสินใจผ่าคลอดตกอยู่ในมือหมอเป็นเพราะอเมริกานั้นขึ้นชื่อในเรื่องการใช้ยาช่วยในการคลอด (medical interventions) การวางยาเพื่อลดความเจ็บปวดและเร่งการคลอดโดยไม่จำเป็นนั้นสามารถส่งผลข้างเคียงซึ่งนำไปสู่ความซับซ้อนต่างๆ และถึงที่สุดแล้วเหตุผลเหล่านี้กลายเป็นความชอบธรรมให้คุณหมอเลือกการผ่าคลอดเพื่อช่วยเหลือทั้งคุณแม่และลูกให้ปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงนั้นสถิติการเสียชีวิตของเด็กเกิดใหม่ในอเมริการนั้นสูงเป็นอันดับสองของประเทศที่พัฒนาแล้ว และอัตราการเสียชีวิตของการเสียชีวิตจากการคลอดนั้นสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม

สารคดี The Business of Being Born ที่พูดถึงอันตรายจากการคลอดผ่าโดยไม่จำเป็นและทางเลือกที่คุณแม่สามารถกำหนดได้นั้นกำลังสร้างกระแสให้การคลอดแบบธรรมชาติกลับมาฮือฮาอีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าการผ่าคลอดนั้นเป็นการยอมจำนนต่อประสบการณ์ความเจ็บปวดที่ควรค่า แสดงถึงความอ่อนแอและขาดความมั่นใจในตัวเองโดยโยนความรับผิดชอบสำคัญนี้ไปอยู่ในมือหมอ (ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและไม่มีทางจะรับรู้ประสบการณ์พิเศษในการให้กำเนิดบุตร) การคลอดแบบธรรมชาติที่พูดถึงในสารคดีนั้นคือการทำคลอดโดยกลุ่มมิดไวฟ (midwife หรือ หมอตำแย) ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่กว้างขวางในยุโรปและญี่ปุ่น แต่เมื่อพูดถึงหมอตำแยแล้วหลายคนยังติดภาพหญิงแก่ที่คอยทำคลอดตามชนบท ฝึกหัดวิชาที่ตกทอดกันมาในครอบครัวโดยไม่ได้เรียนอะไรเป็นหลักเป็นฐาน แต่หมอตำแยอเมริกันนั้นเป็นหลักสูตรการศึกษามาตรฐานผ่านต้องการรับรองจากรัฐบาล หลักการสำคัญของกลุ่มมิดไวฟคือการมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการคลอด ให้คำปรึกษาและความรู้เกี่ยวกับสนับสนุนการทำคลอดด้วยวิธีธรรมชาติเมื่อคุณแม่มีสุขภาพสมบูรณ์ ในสถานที่ที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือศูนย์การคลอด (birth center) และส่งคุณแม่ให้ถึงมือผู้เชี่ยวชาญในกรณีฉุกเฉินและจำเป็นต้องผ่าคลอด อีกนัยหนึ่งก็คือกลุ่มมิดไวฟไม่ต้องการจะเป็นศัตรูกับคุณหมอทำคลอดนั่นเอง

ธุรกิจมิดไวฟและศูนย์การคลอดนั้นยังเป็นประเด็นปัญหาในอเมริกาและไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มแพทย์ ในปัจจุบันมีเพียงยี่สิบสี่มลรัฐที่อนุญาติให้มิดไวฟดำเนินก”ารได้อย่างถูกกฎหมาย แน่นอนว่าประเด็นใหญ่คือเม็ดเงินที่โรงพยาบาลเคยได้รับจะถูกแจกจ่ายไปตามกลุ่มมิดไวฟที่ทำงานแบบกองโจรออกประกบคุณแม่ตามบ้านและให้บริการแบบถึงตัว ต่างกับบรรยากาศที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรในโรงพยาบาล แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้นมันเป็นเรื่องของการแก่งแย่งอำนาจการตัดสินใจที่ผู้หญิงควรได้รับ และกลุ่มมิดไวฟก็เป็นหัวหอกสำคัญในการยึดอำนาจ (empowering) นี้กลับมาอยู่ในมือผู้ที่ควรมีสิทธินั้น พูดให้ชัดกว่านั้นคือคุณแม่ควรมีสิทธิได้ชื่นชมลูกเป็นคนแรก ไม่ใช่ถูกแย่งชิงไปด้วยมือหมอ

บ้านเรานั้นกำลังเร่งความเร็วตามมาติดๆ ด้วยอัตราสูงเกินร้อยละสามสิบ แปลกกว่าตรงที่เหตุผลในการผ่าคลอดนั้นนอกจากเป็นเรื่องของคุณแม่กลัวเจ็บในช่วงคลอดและเรื่องของความสะดวกแล้วยังมีเรื่องของดวงและเวลาเกิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยครับ

-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-

ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามนี้เลยครับ

  • หมอบ่นท้อ: หญิงไทยนิยมผ่าคลอด (บันทึกประสบการณ์ของอาจารย์ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ link)
  • เผยไทย "ผ่าคลอด" สูง ทำลูกป่วยง่าย (link)
  • ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก (link)
  • ข้อเท็จจริงการแพทย์: การตั้งครรภ์ ข้อเท็จจริงที่ควรทราบ คลอดเอง-ผ่าออก? อะไรคือความเสี่ยง (link)
หมายเลขบันทึก: 362348เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2010 02:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท