มาตรฐานคุณธรรมคุณว่าสำคัญหรือไม่


มาตรฐานคุณธรรมคุณว่าสำคัญหรือไม่

จริยธรรม กับการทำงาน คุณว่าสำคัญหรือไม่

ความหมาย
 “จริยธรรม” =  จริย + ธรรมะ  คือ ความประพฤติที่เป็นธรรมชาติ เกิดจากคุณธรรมในตัวเอง  ก่อให้เกิดความ  สงบเรียบร้อยในสังคม รวมสรุปว่าคือ ข้อควรประพฤติปฏิบัติ
 จริยธรรม   หมายถึง  ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติศีลธรรม ดังนั้นจริยธรรมจึงเป็นข้อควรปฏิบัติหรือกริยาที่ควรประพฤติที่สอดคลองกับหลักธรรมชาติ  หรือสอดคลองกับความถูกต้องดีงาม  จริยธรรม (Morality) หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติในการบริหารงานราชการ           เช่น บริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต บริสุทธิ์ใจ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีเมตตา เป็นต้น
 จริยธรรม(Ethics) ความเป็นผู้มีจิตใจสะอาด บริสุทธิ์ เสียสละหรือประพฤติดีงาม
 จริยธรรม หมายถึง หลักคำสอน ว่าด้วย ความประพฤติเป็นหลักสำหรับให้บุคคลยึดถือในการปฏิบัติตน (วิทย์ วิศทเวทย์ และเสฐียรพงษ์ วรรณปก, ๒๕๓๐:๒)
 สรุปแล้วจริยธรรมมาจาก คำว่า จริยะ + ธรรมะ หมายถึง  ข้อปฏิบัติ  กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักความจริงที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติ  ปฏิบัติตนเป็นคนดีเพื่อประโยชน์สุข ของตนเอง และส่วนรวม ข้อปฏิบัติเหล่านั้นมาจากขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา และปรัชญา
 
ความสำคัญของจริยธรรม
 เนื่องจากสังคมมีความต้องการความสันติ  ความปลอดภัย ความมั่นคง สุขอนามัยสิ่งแวดล้อม    การพัฒนา เป็นต้น  การอยูร่วมกันในสังคมต้องอาศัยความอุปถัมภ์ค้ำจุน  เกื้อกุล  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน         มีความโอบออมอารีต่อกัน  แลกเปลี่ยนประสบการณความคิดเพื่อให้เกิดการพัฒนา  ร่วมกันในสังคมให้ทุกคนอยู่รอดได แต่ปัจจุบันสังคมไดเปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นสังคมใหม่ที่ดี    กระแสความรุนแรงเห็นแกตัว      เห็นแกได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมธุรกิจที่ต้องการความอยู่รอดอย่างเป็นรูปธรรม  จึงมีส่วนของสังคมแสดงความเห็นแกตัวและทำลายสังคมทางธุรกิจ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงไปยังผู้บริโภคและสังคมโดยส่วนรวม   ดังนั้น  เพื่อให้สังคมเป็นสังคมที่มีคุณความดี  ความยุติธรรม  และมีความถูกต้องสังคมจึงต้องกำหนดมาตรการสำหรับปกป้องและรักษาให้คงเป็นสังคมที่ดีหรือเปลี่ยนแปลงไปสูสังคมที่ดี  โดยปลูกฝังจริยธรรม  คือ  ความประพฤติหรือปฏิบัติที่ถูกต้องชอบธรรม

 

จริยธรรมของข้าราชการ

จริยธรรมในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา
  จริยธรรมต่อตนเอง
   ๑. เป็นผู้มีศีลธรรม  และประพฤติตนเหมาะสม
   ๒. ซื่อสัตย์
   ๓. มีทัศนคติที่ดีและพัฒนาตนเอง
  จริยธรรมต่อหน่วยงาน
   ๑. สุจริต  เสมอภาค  ปราศจากอคติ
   ๒. ทำงานเต็มความสามารถ  รวดเร็ว  ขยัน  ถูกต้อง
   ๓. ตรงต่อเวลา
   ๔. ดูแล  รักษา  และใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด
  จริยธรรมต่อผู้บังคับบัญชา  ผู้ใต้บังคับบัญชา  และผู้ร่วมงาน
   ๑. ร่วมมือ  ช่วยเหลือ  แนะนำ  ทำงานเป็นทีม
   ๒. เอาใจใส่ดูแลลูกน้อง
   ๓. สร้างความสามัคคีในการปฏิบัติหน้าที่
   ๔. สุภาพ  มีน้ำใจ  มีมนุษยสัมพันธ์
   ๕. ละเว้นการนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
  จริยธรรมต่อประชาชนและสังคม
   ๑. ให้ความเป็นธรรมเอื้อเฟื้อ  มีน้ำใจ  สุภาพอ่อนโยน
   ๒. ประพฤติตนให้เป็นที่เชื่อถือแก่บุคคลทั่วไป
   ๓. ละเว้นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  ซึ่งมีมูลค่าเกินปกติวิสัยจากผู้มาติดต่อ

จริยธรรมในฐานะหัวหน้างาน
  จริยธรรมพื้นฐานของหัวหน้างาน  มีดังนี้ คือ
  ๑.  ความซื่อสัตย์ต่อหน่วยงานแม่
  ๒.  ความซื่อสัตย์ต่อหน่วยงานของตน
  ๓.  ความรับผิดชอบต่อหน้าที่
  ๔.  ความเสียสละ
  ๕.  รับผิดชอบในความสำเร็จและความล้มเหลวของหน่วย
  ๖.  ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
             ๗.  สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในหน่วย
             ๘.  สั่งงานไม่เกินขีดความสามารถของหน่วยรอง
  ๙.  ตรงไปตรงมา
  ๑๐. ยุติธรรม
  ๑๑. ไม่เห็นแก่ตัว

จริยธรรมในฐานะฝ่ายบริการ และสนับสนุน
  ๑. พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
  ๒. ปฏิบัติงานด้วยความละเอียดรอบคอบ
  ๓. มีความรับผิดชอบ
  ๔. พัฒนาความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ
  ๕. ประหยัดทรัพยากรของหน่วยงาน
  ๖. ดำรงชีพให้เหมาะสมกับฐานะ  ไม่ฟุ่มเฟือย  ไม่สุรุ่ยสุร่าย
  ๗. รักษาจรรยาวิชาชีพที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
  ๘. มีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับทุกคน
การพัฒนาจริยธรรม
การพัฒนาจริยธรรมในทางปฏิบัติ
        การพัฒนาจริยธรรม  ควรพัฒนาคุณสมบัติต่าง ๆ  ๖  ด้าน  คือ
  ๑.๑ ความมีวินัย
   เป็นจริยธรรมที่ต้องปลูกฝังและสร้างสรรค์เป็นลำดับแรก  เพราะวินัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นอย่างยิ่ง  วินัยเป็นมาตรการควบคุมการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ  เป็นเครื่องชี้ความถูกต้องทั้งส่วนบุคคลและหมู่คณะ  การงานทั้งหลายถ้าเริ่มต้นที่วินัย  จะมีโอกาสดำเนินไปด้วยดี  ถ้าไม่มีวินัยอาจประสบความล้มเหลวในที่สุด  ความมีวินัยจะแสดงออกโดยการยึดถือ  ระบบ  กฎ  ข้อบังคับ ระเบียบ  แบบแผน  ขนบธรรมเนียมประเพณี  และค่านิยมที่ถูกต้อง
   การปลูกฝังวินัย  ต้องปลูกฝังที่นิสัย  ๓  ประการ  คือ  การรู้จักระวังตัว  (ศีล)  การรู้จักควบคุมตัว (ธรรม) และการรู้จักเชื่อฟัง (ศรัทธา)
   การฝึกนิสัยที่ดี ต้องฝึกในเรื่องการตรงต่อเวลา การปฏิบัติตามระเบียบ และการมีสัมมาคารวะ
  ๑.๒ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่
   คือ  ความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องเรียบร้อย  และให้เสร็จสิ้นด้วยดีไม่ให้เกิดความผิดพลาดบกพร่อง  เป็นความดีที่ประเสริฐที่สุดเหนือความดีทั้งหลาย  เพราะเป็นการช่วยเหลือตนเอง  ช่วยเหลือผู้อื่น  และช่วยเหลือส่วนรวม
  ๑.๓ การใช้หลักมนุษยธรรม
   หลักมนุษยธรรม  มี  ๓  ประการ  คือ
   ๑.๓.๑ ความซื่อสัตย์ ประกอบด้วย ความซื่อตรง ความจริงใจ ความตรงไปตรงมา นำไปสู่ความราบรื่นทั้งส่วนตัวและส่วนรวม
   ๑.๓.๒ ความเมตตา ประกอบด้วย ความรัก ความปรารถนาดี ความนับถือ การช่วยเหลือ การให้อภัย การเอาใจเขามาใส่ใจเรา มุ่งสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและมั่นคง
   ๑.๓.๓ ความสามัคคี ประกอบด้วย การรวมกำลังทั้งในทางป้องกันและการสร้างสรรค์ที่ชอบธรรมทุกกรณี โดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ถือเอาความขัดแย้งแพ้ชนะเป็นเรื่องสำคัญ
  ๑.๔ การเคารพอาวุโส
   การรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่  รู้จักผู้น้อยอาวุโส  เป็นความรู้ที่มีคุณค่าสูงยิ่ง  เพราะเป็นความรู้สภาพที่แท้จริงของตนและสังคม  ทำให้อยู่ด้วยกันได้อย่างสบาย  ไม่มีปัญหาระหว่างกัน  จะช่วยในการปกครองบังคับบัญชาได้มาก  ผู้อาวุโสจะเห็นใจผู้น้อยก็เพราะรู้จักตัวเองว่าเราเป็นผู้ใหญ่และเขาเป็นเด็ก การรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนไทยมาแต่โบราณ  จึงควรอนุรักษ์ไว้  อย่าสอนหรือทำตัวอย่างให้เด็กก้าวร้าวผู้ใหญ่  ความมั่นคงของสังคมอยู่ที่การรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่  เสรีภาพที่ถูกต้องมาจากการรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่
  ๑.๕ การกำหนดค่านิยมที่ถูกต้องของตนเอง
   ค่านิยม  เป็นแนวทางความประพฤติ  ความเชื่อถือ  และการกระทำ  เช่น  การรักษาเกียรติ  ความซื่อสัตย์  ความอ่อนน้อมถ่อมตน  ความกล้าหาญ  ความรับผิดชอบ  เป็นค่านิยมวิถีปฏิบัติ  ทรัพย์สินมีค่า  เพียงให้เกิดความสะดวกสบายบางประการ  มิใช่ก่อให้เกิดความสะดวกในทุกประการ  แต่คนที่มีค่านิยมที่ถูกต้อง  จะรู้จักความเป็นคน  ย่อมก่อให้เกิดความสะดวกสบายในทุกประการ

   “มีทรัพย์สิน ไม่มีคน อยู่ยาก แต่ถ้ามีคน ไม่มีทรัพย์สิน อยู่ง่าย”
   “การเสียคน เป็นการเสียมาก แต่การเสียทรัพย์ เป็นการเสียน้อย”

   ค่านิยมจริยธรรม  มีจุดรวมอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  มีความสำนึกในความถูกผิด      ดีชั่วและมีจุดรวมอยู่ที่ตนเอง  ถ้าตัวเองละเมิดจริยธรรมและไม่ละอายใจ  คือ  ผู้ที่ไม่มีค่านิยมจริยธรรม  ดังนั้น  การมีค่านิยมจริยธรรมที่ถูกต้อง  ต้องไม่หลงในค่านิยมที่ผิด ๆ  เช่น  ค่านิยมของคนรวยต้องใช้ของราคาแพง  คนจนจะไปใช้ค่านิยมของคนรวยไม่ได้  ถ้าขืนไปใช้จะนำไปสู่การช่อราษฎร์บังหลวง
  ๑.๖ การยึดมั่นในหลักศาสนา
   ศาสนา  เป็นเครื่องคุ้มครองชีวิตจิตใจ  ให้เกิดความสงบเรียบร้อย  ความดีงาม  และการมีสถานภาพที่น่าเชื่อถือไว้วางใจในสังคม  พุทธศาสนา  มุ่งให้คนช่วยตนเองด้วยสติปัญญา  มุ่งประพฤติแต่ความดี  ละเว้นการทำชั่ว  และพัฒนาจิตใจให้มีความสะอาด  บริสุทธิ์  โปร่งใส

สรุป
 - การทำงานให้ประสบความสำเร็จได้อย่างโปร่งใส บุคลากรทุกระดับในหน่วยงานต้องมีจริยธรรม
 - จริยธรรมต้องเริ่มต้นที่ความมีวินัย 
 - พัฒนาจริยธรรมด้วยการลงมือทำ ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ด้วยการพูด การสอนอย่างเดียว 
 - จริยธรรมต้องเริ่มที่ “จิตใจ”
 - พื้นฐานของจริยธรรม คือ “ศีล” ผู้รักษาศีลด้วยความตั้งใจจริง จะเป็นผู้มีวินัยในตัวเองทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น และจะก่อให้เกิดจริยธรรมโดยอัตโนมัติ

แนวคิดด้านมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมของนักบริหาร
  ในการประกอบอาชีพทางการศึกษา ผู้ประกอบอาชีพจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง มีจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการพัฒนาประชาชนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการดำรงชีวิตและประกอบสัมมาอาชีพเพื่อการเป็นพลเมืองที่ดีของ ประเทศชาติ ผู้ประกอบอาชีพทางการศึกษาจึงต้องเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง ที่ดีต่อสังคมด้วยการเป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งความมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลัก ในการครองตน ครองคนและครองงาน
  พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ให้แนวคิดด้านมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมโดยกล่าวถึงการเป็นนักบริหารว่า ความเก่ง ความฉลาดเป็นเรื่องที่ดี แต่ความเก่ง ความฉลาดที่ไม่คุณธรรม ไม่มีจริยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี และในการแสดงปาฐกถา เรื่อง แนวทางพระราชดำริสู่การบริหารจัดการภาครัฐ โดยหยิบยกพระราชดำริ ๑๔ ประการ เป็นแนวทางเพื่อให้ผู้นำได้นำไปปฏิบัติ ผู้รับไปปฏิบัติย่อมเป็นมงคลต่อชีวิต เป็นเกราะป้องกันความเสื่อมเสีย ผู้ที่ปฏิบัติตามย่อมเป็นคนดี เป็นคนมีประโยชน์ เป็นคนที่ชาติต้องการ พระราชดำริ  ๑๔ ประการ (มติชน วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ หน้า ๑๑) ได้แก่
ประการที่หนึ่ง   การบริหารต้องเป็นการบริหารเพื่อความมั่นคงของชาติ   เพื่อความเจริญ      ของประเทศและเพื่อความผาสุกของประชาชน การบริหารจะต้องไม่เอาประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์            ของญาติพี่น้อง ประโยชน์ของบริวารเข้ามาเกี่ยวข้อง
ประการที่สอง  การบริหารต้องบริหารด้วยความสามัคคี  เพราะจะนำไปสู่ความร่วมมือและความเข้มแข็งทำให้งานบรรลุผลสำเร็จ
ประการที่สาม   การบริหารจะต้องบริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต   พระองค์รับสั่งว่าจะต้องซื่อสัตย์สุจริตทั้งในความคิดการพูดและการกระทำ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสริมความว่า ผู้บริหารนอกจากซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ต้องดูแลคนรอบข้างตัวเราให้ซื่อสัตย์สุจริตด้วยยิ่งกว่านั้นผู้บริหารจำต้องเพิ่มเติม                  คำว่าเสียสละและจงรักภักดีเข้าไปด้วย
ประการที่สี่ การบริหารจะต้องเป็นการบริหารที่ถูกต้อง คือถูกต้องตามกฎหมาย ตามกฎเกณฑ์ เที่ยงธรรม เที่ยงตรง มีประสิทธิภาพ และให้ประสิทธิผลสูง  พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสริมความว่าผู้บริหารจะต้องมีมาตรฐานเดียวกันเสมอหน้า ทั่วถึงกัน ต้องไม่มีหลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลย หรือใช้มาตรฐานตามอารมณ์มาตรฐานตามกิเลส
ประการที่ห้า การบริหารต้องเป็นการบริหารที่เป็นเอกภาพ คือการประสานงาน ประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงาน พระราชดำรินี้ชัดเจนและเข้าใจง่าย แต่โดยข้อเท็จจริง หน่วยงานงานภาครัฐค่อนข้างละเลยจนเป็นอุปสรรคที่ไม่มีในตำรา บางทีก็กลายเป็นการแข่งขัน หรือกลายเป็นการแก่งแย่งกันเองระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
ประการที่หก การบริหารต้องบริหารด้วยความเฉียบอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น พระมหาชนก ผู้บริหารจะต้องไม่กลัวลำบาก กลัวเหนื่อย ดำรงความมุ่งหมายอย่างกล้าหาญ กล้าเผชิญอุปสรรค และอดทนต่อความยากลำบาก
ประการที่เจ็ด ผู้บริหารต้องไม่หวาดกลัวอิทธิพลใด ๆ  และต้องอยู่กันคนละฝ่ายกับความไม่ถูกต้อง
ประการที่แปด ผู้บริหารต้องศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง อย่างลึกซึ้ง อย่างกว้างขวาง ทั้งทางลึกและทางกว้าง
ประการที่เก้า ผู้บริหารจะต้องมีความสำนึกในความรับผิดชอบ และเห็นความสำคัญของงานในความรับผิดชอบหมายรวมถึงความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามกฎที่กำหนด พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า     การเห็นความสำคัญของงาน ความสำนึกในความรับผิดชอบ และความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องทำพร้อมและควบคู่กันไป
ประการที่สิบ ผู้บริหารจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและฉลาด มีความถูกต้องเหมาะสม การที่พระเจ้าอยู่หัวประทานทฤษฎีใหม่ที่ได้ยินจนชินหูว่าเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการชี้แนวทาง         ในการดำรงชีวิตใหม่ให้พวกเราพออยู่พอกิน ทำให้เกิดความสมดุลในการดำรงชีพอย่างประหยัดและฉลาด
ประการที่สิบเอ็ด ผู้บริหารจะต้องมีสติปัญญา สามารถพิจารณาปัญหาได้กว้างไกล รอบคอบทุกแง่มุม ส่วนตัวเห็นว่าผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ทั่วโลก โดยเฉพาะในสาขาอาชีพของตน
ประการที่สิบสอง ผู้บริหารต้องแน่วแน่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิด   ผู้บริหารจะต้องกล้าที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ผิด และมีความแน่วแน่ที่จะแก้ไข การบริหารย่อมผิดพลาดได้ แม้จะรอบคอบระมัดระวังแล้ว ดังนั้นการแก้ไขสิ่งที่ผิดจึง ไม่ใช่เรื่องน่าละอาย การทำชั่ว ประพฤติชั่วต่างหากที่น่าละอาย
ประการที่สิบสาม ผู้บริหารจะต้องบริหารแบบปิดทองหลังพระปฏิมา ข้อนี้ทรงหมายถึงการไม่โอ้อวด มุ่งแต่ผลงาน ไม่หวังคำชมเชย ภูมิใจแต่ความสำเร็จ
ประการที่สิบสี่ ผู้บริหารทุกระดับที่มีผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารต้องประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
พระราชดำริทั้ง ๑๔ ประการนี้เป็นคุณสมบัติที่เป็นมาตรฐานด้านคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับนักบริหารโดยแท้จริง ทั้งยังเป็นพระราชดำริชี้แนะแนวทางที่ครอบคลุมและกำหนดพฤติกรรมคุณธรรม จริยธรรมนักบริหารด้วยหลักการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยผสมผสานกับ หลักของความเป็นสากล

คำสำคัญ (Tags): #เมืองพล4
หมายเลขบันทึก: 362061เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2010 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีมากเลยครับ ผมอ่านแล้วทราบซึ้ง ขอบคุณครับสำหรับสิ่งดีๆ ที่สรรหามาฝาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท