คนตานี
saifuddeen Abu Ni-nasreen (سيف ألدين) ibn ni-umar ibn ni-kejik An-nuree

การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามทัศนะอิสลาม


การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามทัศนะอิสลาม

โดย ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา

อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา

เนื่องในโอกาสเสวนาในโครงการตลาดวิชาการ มหาวิทยาลัยชาวบ้าน

ชุด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 5

เรื่อง : ปรัชญาการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและชุมชน....อุดมการณ์และขีดจำกัด

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

ณ ห้องประชุมจุมภฏพันธ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปกรำไพพรรณี

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-----------------------------------------------------

 

มวลการสรรเสริญเป็นอภิสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พรอันประเสริฐและความสันติสุขจงมีแด่ท่านนบีมูฮำมัด และบรรดาวงศ์วานตลอดจนเหล่าสาวกและผู้เจริญรอยตามทางนำของท่านจนถึงวันปรโลก(กิยามะฮฺ)

ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านทั้งหลาย

สวัสดีท่านผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมเสวนาทั้งหลาย ผมรู้สึกมีเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสจากคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้ร่วมเสวนาในวันนี้ ขอขอบคุณทุกท่าน และทุกฝ่ายที่มีส่วนในการจัดเสวนาที่มีประโยชน์ยิ่งในวันนี้ผมขออนุญาตเสวนาสมาชิกทุกท่านนำเสนอหัวข้อเรื่อง การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามทัศนะอิสลาม สรุปได้ดังนี้

อิสลาม คือศาสนาของอัลลอฮฺที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้และทางนำของพระองค์ โองการแรกของอัลกุรอานที่อัลลอฮฺประทานมายังท่านนบีมูฮำมัด(พรอันประเสริฐ และความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ก็ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ ดังอัล กุรอานกล่าวไว้ความว่า :

จงอ่านด้วยพระนามของพระผู้อภิบาลของ เจ้า ผู้ทรงสร้าง * ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด * จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงกรุณายิ่ง * ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา * ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ (อัลอะลัก 96/1-5)

และคล้อยหลังด้วยระยะเวลาที่ไม่นานนัก อัลลอฮฺได้ประทานโองการที่สองความว่า :

นูน ขอสาบานด้วยปากกาและสิ่งที่พวกเจ้าขีดเขียน (อัลกอลัม 68/1 )

เพื่อยืนยันว่า การอ่านและการเขียนบันทึกถือเป็นแนวทางของการสะสมและเพิ่มพูนองค์ความรู้และ ปัญญา เป็นแหล่งแห่งทางนำตลอดจนเป็นปัจจัยหลักการพัฒนาของมวลมนุษยชาติโดยแท้จริง

ด้วยเหตุดังกล่าวความรู้ที่มาจากคำวิวรณ์ (วะหฺยู) ของอัลลอฮฺถือเป็นสาระสำคัญแห่งคำสอนในอิสลาม และอิสลามถือเป็นศาสนาที่ต่อต้านความไม่รู้หรืออวิชชา ไม่มีบทบัญญัติ คำสอนและความเชื่อใดๆในอิสลามที่ปราศจากฐานแห่งความรู้ กล่าวได้ว่าไม่มีมุสลิมคนใดที่มีคุณสมบัติของผู้ที่ไม่รู้ (ญาฮิล) เพราะมุสลิมทุกคนถึงแม้ว่ายังไม่สามารถยกระดับขึ้นเทียบฐานะผู้รู้ (อาลิม) แต่เขาก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มของปุถุชน (อะวาม) และเขาไม่อนุญาตให้ลดฐานะถึงระดับผู้ไม่รู้ (ญาฮิล) โดยเด็ดขาด เพราะผู้ที่ไม่รู้คือผู้ที่ไร้ซึ่งศาสนาและขาดคุณสมบัติของมนุษย์ผู้เจริญ เพราะหน้าที่หลักของมนุษย์เรืองปัญญา ควรต้องสามารถตอบคำถามปรัชญาชีวิตที่ชัดเจนในประเด็นต่างๆอาทิ ใครเป็นผู้สร้าง อะไรคือหน้าที่หลักของการมีชีวิตบนโลกนี้ และวาระสุดท้ายอันแท้จริงของมนุษย์จะเป็นเช่นไร อิสลามถือว่าความไม่รู้ในประเด็นดังกล่าวถือเป็น ญาฮิล ที่อิสลามไม่อนุญาตให้เกิดขึ้นในกลุ่มอารยชน

กระผมมีความเชื่อและมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ ไม่มีวิธีการอื่นใดที่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาได้นอกจากวิธีการที่นำเสนอโดยอัล กุรอาน ทั้งนี้เนื่องจากอัลกุรอานได้สอนให้มนุษย์รู้จักรากเหง้าของตนเอง รู้จักนายที่ควรแก่การเคารพภักดีอันแท้จริง พร้อมกับสอนให้มนุษย์รู้จักใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดโดย คำนึงถึงความสอดคล้องกับสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ มีความสมดุล ครอบคลุม ต่อเนื่อง และบูรณาการอย่างครบวงจร

การจัดการศึกษาในอิสลามจึงต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้อัลกุรอานเพื่อใช้ใน การแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติ เพราะการศึกษาในอิสลามเป็นการสร้างคนให้มีความสมบูรณ์และมีความสำเร็จตาม ความประสงค์ของอัลลอฮฺ โดยให้ทุกคนสามารถปฏิบัติตนเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทน(เคาะลีฟะห์)ของ อัลลอฮฺ การศึกษาในอิสลามจึงเป็นการสร้างความงอกงามและความเจริญให้แก่มนุษย์ เพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในทุกๆ ด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา

อัลกุรอานจึงเปรียบเสมือนธรรมนูญแห่งมนุษยชาติที่เพียบพร้อมด้วยทุกมาตราที่ สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติใช้สู่ความสำเร็จสูงสุดทั้งโลกนี้และโลกหน้า โดยนับตั้งแต่เริ่มแรกของการประทานอัลกุรอานจนกระทั่งปัจจุบันจวบจนวันสิ้น โลก อัลกุรอานไม่เคยมีการสังคายนา แก้ไข ตัดตอนหรือเพิ่มเติมส่วนใดส่วนหนึ่งแม้เพียงพยัญชนะเดียว

การศึกษาในอิสลามจึงเป็นการศึกษาที่พยายามสร้างจิตสำนึกของความเป็นคนที่ยอม ศิโรราบภายใต้อำนาจอันไร้ขอบเขตของอัลลอฮฺผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง เกิดจิตวิญญาณในการเรียนรู้ รักที่จะเรียนรู้ มีความใฝ่รู้และใฝ่เรียน มีจริยธรรมอันสูงส่งที่เป็นแบบอย่างในการพัฒนาชีวิต ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม เป็นการศึกษาที่จะต้องรับใช้ชุมชน และฝึกให้ผู้เรียน รู้จักคิดและมุ่งรับใช้การปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อความเป็นปริญญาชนหรือรองรับการขยายตัวของตลาดแรงงานอย่าง เดียว หรืออีกนัยหนึ่ง การศึกษาในอิสลามจะให้ความสำคัญกับผู้เรียนให้มีความซาบซึ้งในวิถีชีวิต (Way of life) ที่มีวัตถุประสงค์สร้างบัณฑิตให้เป็นคนดีมีคุณธรรม ก่อนที่จะเชื่อมโยงให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญ และเพิ่มขีดความสามารถในการสรรหาองค์ความรู้หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยทักษะชีวิต (Skills of life) ที่สามารถใช้ชีวิตบนโลกนี้อย่างคุ้มค่า มีความสุข และสอดคล้องกับความต้องการของสังคมโดยแท้จริง ดังนั้นเกณฑ์การชี้วัดของความสำเร็จในการศึกษาตามทัศนะของอิสลามนั้นขึ้น อยู่กับที่ผู้เรียน(ไม่ว่าจะมีฐานะการศึกษาในระดับใด)สามารถประยุกต์ใช้หลัก คำสอนทางศาสนามาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้มากน้อยเพียงใด สอดคล้องและถูกต้องตามเจตนารมณ์ของศาสนาหรือไม่อย่างไร

ปรัชญาการศึกษาในอิสลาม จึงเป็นความพยายามที่จะให้มนุษย์มีความศรัทธาในปรัชญาชีวิตที่ได้กล่าวมา ข้างต้นโดยอาศัยสติปัญญาและสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์เป็นเครื่องมือใน การตัดสิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ปรัชญาการศึกษาในอิสลามเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สอนให้มนุษย์รู้จักตัวเอง ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งรอบข้าง

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ระบบการศึกษาปัจจุบัน มุ่งเพียงสั่งสอนให้มนุษย์มีความเชี่ยวชาญและเข้าถึงในทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้นตัวมนุษย์เอง

บนพื้นฐานอิสลามเป็นคำสอนที่มีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุม ต่อเนื่องและบูรณาการอย่างครบวงจร ดังนั้น การศึกษาในอิสลาม จึงมีปริมณฑลและอาณาเขตที่ครอบคลุม ต่อเนื่องและบูรณาการเช่นเดียวกัน อิสลามจึงเริ่มให้การศึกษาแก่มนุษย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการปฏิสนธิใน ครรภ์มารดา และมีความต่อเนื่องตั้งแต่วินาทีแรกของการลืมตาดูโลกของทารกน้อย จนถึงช่วงวัยเด็ก เยาวชน วัยทำงาน วัยเจริญพันธุ์ วัยสูงอายุ หรือชีวิตหลังความตาย ล้วนแล้วต้องได้รับการศึกษาในกรอบของอิสลามที่สมดุลและไม่ขาดช่วง

เนื่องจากอิสลามเป็นศาสนาสากลที่ไม่มีเส้นแบ่งตามภูมิศาสตร์และเผ่าพันธุ์ ดังนั้นการศึกษาในอิสลามจึงมีลักษณะของความเป็นนานาชาติโดยปริยาย บนหลักการที่อิสลามกำชับให้มุสลิมทุกคนเสาะแสวงหาความรู้ และมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่า ณ แหล่งใดในโลกนี้ กอปรกับอิสลามได้กำหนดให้ผู้รู้ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องถ่ายทอดความรู้แก่ ผู้ใฝ่รู้ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น เว้นแต่มุ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบ่าวที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺเท่านั้น จึงเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้สถาบันการศึกษาในอิสลามได้กลายเป็นแหล่งการ สร้างเครือข่ายทางปัญญาระดับสากลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาอิสลามในระดับอุดมศึกษาที่ไม่เพียงแต่เป็นสถาบัน ที่เชื่อมโยงกับชุมชนระดับรากหญ้าในท้องถิ่นเท่านั้น หากเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่สามารถดูดซับความรู้และประสบการณ์ที่มี คุณภาพทั่วโลกมาร่วมพัฒนาสร้างสรรค์ และถ่ายทอดความรู้สู่การเพิ่มประสิทธิภาพชุมชนอีกด้วย

การศึกษาระดับอุดมศึกษาในอิสลาม จึงถือเป็นระบบการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ดังจะเห็นได้จาก Qairawan University ที่ประเทศมอร็อกโค Zaitunah University ที่ประเทศตูนีเซีย และ Al-Azhar University ประเทศอียิปต์ ที่ได้รับการสถาปนามาตั้งแต่ 1,200 กว่าปีแล้ว และยังคงปฏิบัติภารกิจการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอิสลามมาจนถึงบัดนี้ โดยที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้ผลิตบัณฑิต และสร้างองค์ความรู้ในรูปแบบของการเขียนตำรา การวิจัย ตลอดจนการบริการชุมชนเพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมอย่างมากมายมหาศาล

และเพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอิสลามได้ส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ ต่อสังคมและการพัฒนาประเทศโดยผ่านกระบวนการทางการศึกษา จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 มหาวิทยาลัยดังกล่าว จึงเป็นผลพวงแห่งวิวัฒนาการของมัสยิดประจำชุมชน ซึ่งในภาษาอาหรับเรียกว่า Jami’ ที่เป็นแหล่งความรู้และการจัดระบบเครือข่ายความรู้ตลอดจนการใช้ทรัพยากรทุก ประเภทร่วมกันจนกลายเป็นมหาวิทยาลัยซึ่งในภาษาอาหรับเรียกว่า Jami’ah ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อันเป็นสิ่งยืนยันว่ามัสยิด นอกจากเป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของสังคมมุสลิมแล้ว มัสยิดยังเป็นเบ้าหลอมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดและถ่ายทอดวิทยปัญญาเพื่อสร้างสังคมให้เป็นสังคมฐานความรู้ (Knowledge based Society) ที่แท้จริง

เพื่อ ให้แนวคิดดังกล่าวข้างต้นสามารถดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งหามาตรการให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจังให้ภาค เอกชนได้มีความอิสระในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐไม่สามารถสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงลำพัง โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

รัฐควรล ดความเป็นระบบราชการ (Debureaucratization) โดยผ่อนคลายกฎหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ และสามารถส่งเสริมให้เกิดความรู้อย่างเต็มศักยภาพ ควรสร้างวัฒนธรรมและทัศนคติใหม่ของสถาบันอุดมศึกษาที่สนับสนุนให้สามารถแสดง ความคิดเห็นทางวิชาการได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา รวมถึงการที่ครูอาจารย์ ควรให้ความเอาใจใส่ต่อลูกศิษย์เสมือนเป็นลูกหลาน และพร้อมให้คำปรึกษา ความเข้าใจ และคำแนะนำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้น ฐานของปรัชญาทางการศึกษาที่ว่า “คุณธรรมนำความรู้”

 

ขอให้กำลังใจทุกท่านที่มีส่วนร่วมพัฒนาสังคม และขอขอบคุณคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราคงมีโอกาสพูดคุยในโอกาสต่อไป ขอขอบคุณ

 

Wassalamu alaikum warahmatullah

 

http://islam.in.th/univ-education

หมายเลขบันทึก: 361530เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2010 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท