เคล็ดลับการเตรียมบทความวิจัยเพื่อส่งตีพิมพ์ (เผยแพร่ลงในวารสาร)


จากเวที K- Sharing Day (การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้) ครั้งที่ 4 / 2553 วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

           การเขียนบทความวิจัยเพื่อส่งตีพิมพ์ลงในวารสารนั้น หลายคนคงคิดว่าเป็นยาขมหม้อใหญ่ทีเดียว มีทั้งเรื่องราวและปัญหาที่จะต้องแก้ไขมากมายจนบางคนเริ่มท้อกับงาน ดังนั้น K- Sharing Day จึงได้เรียนเชิญ ดร.สุนันทา จริยาเลิศศักดิ์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านการวิจัย มีประสบการณ์ทำงานด้านการทำวารสารมานานกว่า 20 ปี โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารโรคมะเร็ง ซึ่งท่านได้พบเห็นปัญหาและมีเคล็ดลับมากมายเกี่ยวกับการเตรียมบทความวิจัยเพื่อส่งตีพิมพ์ เผยแพร่ในวารสารมาแนะนำถึงสิ่งที่ควรรู้และการทำงานด้านวิจัย มาเล่าสู่กันฟังเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

       

 

สรุปเนื้อหาการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้

1. เนื้อหาของบทความวิจัยที่ส่งตีพิมพ์

      1) ต้องเป็นข้อมูลใหม่

      2) มีความจริง(อย่าmake up) 

     3) มีนัยสาระสำคัญ (เรื่องสำคัญ)

    4) สามารถทำความเข้าใจง่าย (ต้องเขียนให้คนอ่านรู้เรื่องด้วย)

 

2. ขั้นตอนการเตรียมบทความวิจัย

    1) ต้องคิดก่อนว่าจะลงวารสารอะไร ของไทยหรือต่างประเทศ ถ้าลงในวารสารต่างประเทศให้พิจารณาที่ impact factor Journal ก่อน โดยหาจาก Google (เช่นโดยพิมพ์คำว่า JCR impact factor 2009  แล้วดูว่าเป็นเรื่องอะไร เช่น cancer แล้วกด Search )

   2) ตั้งชื่อเรื่อง (title) คร่าวๆเพื่อจะบอกว่าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับอะไร

   3) ตัดสินและกำหนดชื่อผู้นิพน์ (authors) โดยตัดสินว่าจะเรียงลำดับชื่อก่อนหลังเช่นไร รวมทั้งcorresponding author ด้วย (ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากเกี่ยวกับงานวิจัย) ซึ่งคนไทยจะเป็นชื่อแรก สำหรับต่างประเทศจะเป็นชื่อสุดท้าย

   4) เขียนร่างเนื้อหาของบทความวิจัย โดยเริ่มจากวัสดุและวิธีการ(Materials and methods) ตามด้วยผลการทดลอง(Results) สรุปผลและวิจารณ์ (Discussion)แล้วจึงมาเขียนบทนำ(Introduction)

   5) ทบทวนชื่อเรื่องว่าตรงกับเนื้อหาหรือไม่ กำหนดชื่อเรื่องที่แน่นอนให้ได้ชื่อเรื่องที่กะทัดรัดและเหมาะสมที่สุดกับเรื่อง

   6) เขียนและเรียบเรียงบทคัดย่อ

   7) ออกแบบและเตรียมตาราง(Table)และภาพประกอบรวมทั้งหัวข้อและคำบรรยายประกอบ โดยตารางให้เขียนชื่อเรื่องไว้ข้างบน ส่วนถ้าเป็นรูปจะเขียนไว้ด้านล่าง

   8) เรียบเรียงเอกสารให้เป็นไปตามลำดับดังนี้ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่งและสถานที่(ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) บทคัดย่อ(Abstract) บทนำ วัสดุและวิธีการ ผลการศึกษาวิจารณ์(เขียนด้วยว่าใช้สถิติอะไร) เอกสารอ้างอิง กิตติกรรมประกาศ(ถ้ามี) ตารางและรูป

   9) จัดและเรียบเรียงเอกสารอ้างอิง ตรวจสอบความถูกต้องให้ตรงกับที่อ้างอิงในเนื้อหา 

   10)  ตรวจสอบเอกสารทั้งหมดในรายละเอียดอีกครั้ง แก้ไขหากพบข้อผิดพลาด

 

 

3. เคล็ดลับการเขียนบทความวิจัย

     1) เลี่ยงประโยคที่เริ่มต้นด้วยตัวเลขและศัพท์ภาษาอังกฤษ

     2) คำศัพท์ภาษาอังกฤษถ้าไม่แปลก็ไม่แปล แต่ถ้าแปลก็แปลให้หมด ห้ามแทรกภาษาไทยคำภาษาอังกฤษคำ

    3) ภาษาอังกฤษควรมีให้น้อยที่สุด ถ้าแปลได้ก็ให้แปล

    4) วิธีเขียนผลการศึกษา ควรเขียนให้สั้นไม่ต้องยาว บอกแต่ว่าผลที่ได้สุดท้ายคืออะไร

    5) ผลวิจารณ์ถ้าสอดคล้องไม่ต้องเขียนเหตุผล แต่ถ้าไม่สอดคล้องต้องเขียนเหตุผล(มีคำว่าแต่)

    6) บทสรุป อย่าเขียนว่าที่ศึกษามามากมายไม่มีประโยชน์เด็ดขาด ถ้าส่งไปที่ไหนก็ไม่มีใครรับเด็ดขาด ให้ปรับเป็นเขียนในแนวที่ให้มีการศึกษาต่อยอดได้จะดีกว่า

 

4. ลักษณะบทนำที่ดี

   1) เสนอลักษณะและความเป็นมารวมทั้งขอบเขตของปัญหาที่นำมาศึกษาให้ชัดเจน

   2) มีการทบทวนเอกสารในเรื่องที่เกี่ยวข้องจริงๆกับเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่แล้ว บอกด้วยว่ามีความก้าวหน้าไปแล้วเพียงไร ยังมีคำถามอะไรบ้างที่ยังไม่ได้รับคำตอบ ส่วนนี้จะเป็นวัตถุประสงค์ของการวิจัยในหัวข้อที่กำหนดไว้

  3) บอกวิธีการที่จะทำการศึกษาวิจัย

  4) มีความยาวประมาณ 2-3 ย่อหน้า ข้อความควรมีความรัดกุม ชัดเจน ไม่สร้างความเบื่อหน่ายในรายละเอียดที่ไม่จำเป็นหรือยาวเกินความต้องการ

 

 

5. ลักษณะบทวิจารณ์ที่ดี

   1) เสนอหลักการ ความสัมพันธ์ ความเห็นที่เกี่ยวข้องกับผล ไม่ใช่รายงานผลซ้ำ

  2) แสดงให้ทราบว่าการตีความหรือแปลผลสอดคล้องหรือขัดแย้งกัลผลการทดลองอื่นๆที่ได้รายงานไว้ในอดีต

  3) ชี้หรือบอกให้ทราบถึงข้อยกเว้นบางประการหรือการขาดการเกี่ยวพันของผล ควรอธิบายด้วยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

  4) อธิบายความเกี่ยวข้องเชิงทฤษฏีของผลงานวิจัยนั้นและความเป็นไปได้ของการนำผลนั้นไปประยุกต์กับงานหรือวิชาการที่เกี่ยวข้อง

   5) บอกข้อสรุปให้ชัดเจน พร้อมทั้งหลักฐานการสนับสนุนข้อสรุปแต่ละอันไว้พอสังเขป

 

 

ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในห้องประชุม

 

ดร.สุนันทา  - ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยของพยาบาลมาเป็นกรณีศึกษาว่า ช่วงหลังนี้มีพยาบาลจากภายนอกสถาบันมะเร็งฯ นิยมส่งบทความวิจัยเกี่ยวกับ content analysis โดยการนำเอาคำพูดของคนไข้มาวิเคราะห์(โดยลอกมาทั้งคำพูด) ซึ่งไม่ถูกต้องและไม่ควรทำ

  - เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ตัวผู้วิจัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก (ไม่ต้องเขียน)แต่ต้องบอกว่าแบบสอบถามที่ใช้สัมภาษณ์ 5 ด้านนั้นปรับปรุงมาจากแบบสอบถามอะไร? ที่ไหน? มีอ้างอิง เป็นต้น

 - ผลยาวมาก เอาคำพูดคนไข้มาเป็นผล(ไม่ควรทำ) ในผลนั้นไม่ต้องมีเอกสารอ้างอิง เนื่องจากเป็นการสรุปเองผลการศึกษาของเขา

 - ส่วนการวิจารณ์ต้องมีเอกสารอ้างอิงด้วยเพราะเป็นการเปรียบเทียบของตนเองกับผู้อื่น

 

พญ.เพียงใจ  - แนะนำแหล่งส่งผลงานวิจัย ( www.asianbiomed.org )

 

ดร.สุนันทา    - บอกว่าสถาบันมะเร็งฯได้สนับสนุนให้บุคลากรส่งผลงานเพื่อตีพิมพ์ เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดของสถาบันมะเร็งฯโดย บทความวิชาการทุกเรื่องที่ส่งตีพิมพ์จะได้ค่าตอบแทน เรื่องละ 3000 บาท ถ้าเป็นงานวิจัยต่างประเทศได้ค่าตอบแทนเป็นหมื่นบาท ขอดูรายละเอียดได้ที่กลุ่มงานสนับสนุนวิชาการ

 

ดร.ดนัย  -  ขอแนะนำให้ผู้เริ่มเขียนบทความตีพิมพ์ให้หัดเขียนในรูปแบบบทความฟื้นวิชาก่อนเพราะจะเป็นการฝึกอ่านบทความแล้วนำมาสรุปผล

 

คุณวารีพร -  ถามว่าถ้าฝ่ายอื่นๆเช่น วิชาการ บริการ คอมพิวเตอร์ สารสนเทศหรืองานอื่นๆ จะเขียนบทความมาลงในวารสารโรคมะเร็งบ้างได้หรือไม่

 

ดร.สุนันทา   - กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของวารสารนั้นจะเน้นเผยแพร่บทความทางวิชาการด้านโรคมะเร็งและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเคยมีงานอื่นๆเช่นธนาคารเลือดใช้เทคนิคในการนำมาพัฒนางานแต่ไม่เกี่ยวกับมะเร็งโดยตรงเพียงแต่นำเทคนิคมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งและคุณผ่องพรรณ งานอิมมูโนวิทยาที่เขียนบทความวิจัยเกี่ยวกับKM ของกลุ่มงานซึ่งไม่ตรงกับโรคมะเร็ง ก็ได้แนะนำให้ส่งไปลงวารสารกรมการแพทย์ที่เป็นวิชาการที่เหมาะสมแทน

 

สิ่งที่ได้จากการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. ทำให้ได้รับความรู้เคล็ดลับเกี่ยวกับการเตรียมบทความวิจัยเพื่อส่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารว่า สิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำบ้าง จากตัวอย่างที่นำมาเป็นกรณีศึกษา

  2. ทำให้เกิดการกระตุ้นการตื่นตัวในการทำการวิจัยหรือเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศ

  3. ทำให้บุคลากรในสายงานอื่นที่อยากเขียนบทความเพื่อลงตีพิมพ์ได้รู้สึกอุ่นใจและมั่นใจในการเขียนบทความเนื่องจากมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัย คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาและสนับสนุนการเขียน

  4. กิจกรรมนี้ส่งเสริมให้เกิดผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการใหม่ๆที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งส่งผลถึงผลงานที่จะเกิดขึ้นนั้นตอบสนองวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร อีกทั้งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง นำมาซึ่งชื่อเสียงขององค์กร

 

           การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการวิจัยนี้ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากมายสำหรับผู้ที่กำลังทำการวิจัยอยู่ และผู้ที่กำลังจะเริ่มทำในอนาคต บทความการวิจัยนั้นถ้าได้ลงตีพิมพ์ในวารสารจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้เกิดประโยชน์และคุณค่า รวมทั้งผู้ที่จะได้นำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 361166เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2010 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านผู้เกี่ยวข้อง

การเขียนบทความฟื้นวิชา เป็นเรื่อน่าสนใจมาก ดิฉันสนใจที่จะเขียนบทความประเภทนี้ เนื่องจากตนเองต้องการพัฒนาตัวเองให้เป็นนักเขียนแนววิชาการ แต่ต้องเรียนว่าเพิ่งเริ่มกล้าที่จะก้าวเท้าออกจากกรอบสี่เหลืยม จึงต้องการทราบรายละเอียด และเทคนิคการเขียนบทความฟื้นวิชาคะ

ขอบพระคุณคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท