กามสุข ทุกข์ วิมุตติสุข เรื่องโดย อาจารย์ศุภวรรณ พิพัฒนพรรณวงศ์


“ไม่มีสุขใดจะยิ่งใหญ่กว่าความสงบ” และท่านเรียกสุขที่ยิ่งใหญ่นี้ว่า “วิมุตติสุข”

กามสุข ทุกข์ วิมุตติสุข เรื่องโดย อาจารย์ศุภวรรณ พิพัฒนพรรณวงศ์

     คำว่า “สุข” กับ “ทุกข์” ในพระพุทธศาสนาเป็นสองคำที่เข้าใจกันสับสนมาก ฆราวาสที่ยังรักสนุกสงสัยว่า ทำไมพระจึงชอบเทศน์ว่าความสุขของคนทั่วไปเป็นทุกข์ เช่น สุขจากการได้กินของอร่อยๆ ได้ฟังเพลงไพเราะ เห็นของสวยงาม สุขจากการได้ดูหนัง ดูละคร สุขเพราะประสบความสำเร็จในการศึกษา สุขเพราะได้เลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะสุขจากความสัมพันธ์ทางเพศ ฯลฯ

     ในสายตาของคนทั้งโลก ล้วนเห็นเหมือนกันว่าความรู้สึกเหล่านั้นเป็นความสุขจริงๆ มิเช่นนั้นคนจะไขว่คว้าหากันอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือโดยเฉพาะความสุขทางเพศ มันต้องสุขจริงสิ จึงเกิดอาชีพโสเภณีมากว่าพันปีแล้ว จนพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมขายบริการทางเพศและขายมนุษย์เช่นทุกวันนี้ ฆราวาสจึงไม่เข้าใจว่าทำไมพระจึงชอบพูด ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นทุกข์ ไม่ใช่สุขจริง

     การเข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจนต้องดูภาพลูกตุ้มของจิตใจ สมมุติว่าถ้าลูกตุ้มจิตใจนี้เหวี่ยงไปทางซ้าย เราเรียกกามสุข หรือความรู้สึกทนง่าย หากเหวี่ยงไปทางขวา เรียกว่าทุกข์ หรือความรู้สึกทนยากแต่เมื่อมันหยุดเหวี่ยงตามกฎแห่งธรรมชาติแล้ว ลูกตุ้มอยู่นิ่งๆ ตรงนี้เรียกวิมุตติสุข

     คุณจะเห็นว่ามีความสุขสองชนิด ความสุขที่คนส่วนมากพูดถึง คือ กามสุข ซึ่งโดยความรู้สึกแล้วมันเป็นสุขจริง พระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่สุข ท่านจึงเรียกกามสุข คือ สุขจากการได้เสพภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ขอเรียกแทนด้วยคำเดียวว่าเจอรี่) ที่น่าพอใจ เป็นความรู้สึกที่ทนง่าย ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกที่ทนยากเมื่อไปเสพ “เจอรี่” ที่ไม่น่าพอใจ ทำให้เครียด วิตก กังวล กลุ้มใจ เรียกรวมๆ ว่า “ทุกข์”

     มาเกี่ยวข้องกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือ ในคืนนั้นท่านเข้าไปพบความสุขอีกชนิดหนึ่ง เป็นผลจากลูกตุ้มจิตใจหยุดเหวี่ยงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นสุขมากกว่าความสุขที่ท่านได้รับในขณะที่ยังอยู่ในวัง จึงตรัสว่า “ไม่มีสุขใดจะยิ่งใหญ่กว่าความสงบ” และท่านเรียกสุขที่ยิ่งใหญ่นี้ว่า “วิมุตติสุข” หรือจะเรียก “สภาวะปกติ” ก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากกามสุขในแง่ที่จิตใจไม่เหวี่ยงอีกแล้ว ฉะนั้นในสายตาของพระพุทธเจ้าแล้ว คราใดที่จิตใจของเราเหวี่ยงออกจาก “สภาวะปกติ” แล้วละก็ ท่านจะเรียกว่าทุกข์ ซึ่งแปลว่า “ไม่ปกติ” หรือ “ผิดปกติ” นั่นเอง ความไม่ปกตินี้ ครอบคลุมสองสภาวะ คือกามสุขเป็นสภาวะผิดปกติที่ทนง่าย กับความทุกข์ คือสภาวะผิดปกติที่ทนยาก โดยตัดสินจากอาการเหวี่ยงของลูกตุ้มของจิตใจนั่นเอง

     ทำไมพระจึงชอบพูดว่า “ความสุขของโยมเป็นทุกข์” แต่โยมทั้งหลายก็มองไม่ออกว่ามันจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร ที่จริงคำว่า “ทุกข์” ที่พระพูดถึงนี้แปลว่า การเคลื่อนจากเส้นปกติ ซึ่งไปคล้องจองกับ “ทุกข์” อันเป็นความรู้สึกที่ยาก กามสุขจึงตกอยู่ในกฎอนิจจัง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง ไม่ถาวร ไม่นาน เพราะลูกตุ้มจิตใจนี้ไม่สามารถเหวี่ยงค้างคาอยู่ด้านซ้ายตลอดเวลา ผิดกฎธรรมชาติฝ่ายนาม อะไรที่มีขึ้นก็ต้องมีลง Whatever goes up must comes down! กามสุขมีรสชาติที่อร่อยเหมือนได้กินขนมหวาน กินแล้วติดความอร่อย พอมันหายไปก็ต้องหาทางเสพอีก ใครที่มีวิธีการเสพโดยปีนขึ้นไปสู่เส้นกราฟของความรู้สึกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกามสุขหายไปตามกฎอนิจจังแล้วละก็ ใครที่ยิ่งปีนสูงก็ยิ่งตกลงต่ำมากเท่านั้น ทำให้เจ็บปวด เป็นทุกข์มากกว่าคนที่ไม่ได้ปีนสูงเกินไปพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” คำว่า “รัก” ก็สามารถมองครอบคลุมเรื่องรักคน รักเงิน รักสมบัติพัสถาน รักเกียรติยศ ชื่อเสียง ยิ่งรักมาก เมื่อมันหายไป ก็ยิ่งทุกข์มาก ถึงขั้นฆ่าตัวตาย

     ความหิวโหยในกามสุขนี้ เป็นต้นตอของระบบเศรษฐีกิจทุนนิยมหรือบริโภคนิยม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสรรหากามสุขใหม่ๆ ให้สมาชิกของสังคมได้เสพอย่างต่อเนื่อง เหมือนหาขนมหวานให้กินตลอดเวลา ดิฉันได้วิเคราะห์เรื่องนี้ ในหนังสือเรื่อง “เส้นปกติของชีวิต”

     ฉะนั้นความสุขที่แท้จริงในสายตาของพระพุทธเจ้า คือ วิมุตติสุข เป็นความสุขธรรมดาๆที่ลูกตุ้มของใจหยุดแกว่งแล้ว เส้นกราฟไม่เคลื่อนขึ้นหรือลงแล้ว เพราะจิตกับใจหลุดออกจากกัน อันเป็นผลจากการฝึกฝนสติปัฏฐาน 4 (เอาสติมาตรึงไว้ที่ฐานหรือพาตัวใจกลับบ้าน) เป็นความสุขที่ไม่ต้องทน ถ้าเปรียบเทียบกามสุขเป็นสุขอันเนื่องจากการกินขนมหวานที่อร่อยแล้ว วิมุตติสุขก็ต้องเป็นสุขอันเป็นผลจากการได้ขับถ่ายของเสียและเน่าเหม็นออกจากร่างกาย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นความสุขคนละรสชาติ อันหนึ่งสุขจากการเอาเข้า อีกอันสุขจากการเอาออก ซึ่งสุขจากการเอาออก จะสำคัญมากกว่าการกินขนมหวานอย่างแน่นอน หากใครไม่มีวิมุตติสุขนี้ก็ตายได้ เหมือนคนที่ปัสสาวะและอุจจาระไม่ออก ถ้าไม่รีบรักษาเพื่อเอาของเสียออกจากร่างกายก็ตายได้เช่นกัน การเสพกามสุขจึงไม่ต่างจากการหมักหมมของอาหารหวานที่สะสมอยู่ในร่างกาย มีมากก็อันตราย จำเป็นต้องถ่ายมันออกมา ด้วยวิธีการฝึกฝนสติปัฏฐาน 4 หรือวิปัสสนา

     ใครที่สามารถเอาสติมาตรึงไว้ที่ฐานของลมหายใจและการเคลื่อนไหว (พาตัวใจกลับบ้านที่ 1) แล้ว ก็เหมือนกับใจของเรากำลัง “เข้าห้องน้ำทางธรรม” เพื่อขับถ่ายเอา “สภาวะผิดปกติ” อันคือกามสุขและทุกข์ออกจากใจของเรา ทำให้เกิดความสงบ โล่ง โปร่ง เบา สบาย เป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นผลของการได้อยู่กับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” The Power of Here and Now

     “วิมุตติสุข” เป็นความสุขที่แท้จริงในสายตาของพระพุทธเจ้า เป็นความสุขที่สร้างรากแก้วให้แก่ชีวิต ใครที่สามารถฝึกการเอาสติมาตรึงไว้ที่ฐานได้ดี จะช่วยให้ไม่สะดุดล้มทางอารมณ์ มีความมั่นคง สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ตนเองและคนใกล้ชิดเสมอ จึงควรฝึกอย่างยิ่ง

 

หมายเลขบันทึก: 360721เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2010 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หนทางแห่งสุข ปราศทุกข์ภัย

คือคนที่มีสมบัติแห่งจิคดีงาม

...ขอบคุณเช่นกัน ที่แวะมาเยี่ยมบันทึก

อยากเผยแผ่บันทึกของอ.ศุภวรรณ หนึ่งในแรงบันดาลใจในธรรม

ขอบคุณครับ บัง วอญ่า ที่แวะมาให้กำลังเสมอ

พิจารณาความทุกข์ เพื่อหมด ทุกข์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท