เรื่องดีที่ มวล. : แลกเปลี่ยนเรียนรู้การนิเทศสหกิจศึกษา (๑)


สหกิจศึกษากลายเป็นหัวใจที่มหาวิทยาลัยยุคใหม่ให้ความสำคัญ เป็นการยกระดับคุณภาพบัณฑิต

เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ โครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนิเทศสหกิจศึกษา ณ ห้องประชุม ๑ อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีอาจารย์จากสำนักวิชาต่างๆ ทั้งที่เคยมีและไม่มีประสบการณ์นิเทศฯ แจ้งชื่อว่าจะเข้าประชุมประมาณ ๔๐ กว่าคน ดิฉันไปช่วยทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการด้วยบางส่วน

เวลา ๐๙ น. รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เปิดการประชุมและเล่าว่าสหกิจศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ คนที่เรียนด้านการศึกษามาคงรู้จัก เพราะต้องไปฝึกสอน พวกเราก็คงเคยเจอครูฝึกสอน ครูฝึกสอนทำหน้าที่ครูจริงๆ มีครูที่โรงเรียนเป็นผู้นิเทศ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยไปนิเทศ มีการให้คะแนน ...ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการจัดระบบใหม่… เคยไปดูงานที่แคนาดา เขาทำหนักกว่าเรา มากกว่าเรา ยุโรปทำสหกิจศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาด้วย มีการตั้งบริษัทของมหาวิทยาลัยรับคนมาทำงาน

เรื่องสหกิจศึกษากลายเป็นหัวใจที่มหาวิทยาลัยยุคใหม่ให้ความสำคัญ เป็นการยกระดับคุณภาพบัณฑิต เชื่อว่าจะเข้าไปมีส่วนช่วยให้ระดับคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ CP ไปตั้งสถาบันปัญญาภิวัฒน์และจะยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยในไม่ช้า...ปัจจุบันที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีเยอะกว่าจำนวนนักศึกษา มหาวิทยาลัยจะแข่งขันกันได้ที่คุณภาพ ความน่าสนใจของหลักสูตร และโอกาสการมีงานทำ ต่อไปการปรับตัวของมหาวิทยาลัยต้องเข้มข้น กระบวนการของสหกิจศึกษาก็ต้องเข้มข้น ที่ไม่เข้าใจคืออาจารย์ที่มีประสบการณ์ทำไมไม่ยอมเป็นอาจารย์นิเทศสหกิจศึกษา ปล่อยให้เป็นภาระของอาจารย์ใหม่ๆ ประสบการณ์มากน้อยนั้นส่วนหนึ่ง แต่ความเข้าใจความตั้งใจสำคัญ

สหกิจศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมช่วยยกคุณภาพของบัณฑิต ต่อไปจะให้ความสำคัญต่อคุณภาพการสอนของอาจารย์ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น จะไม่ปล่อยตามยถากรรม

มาตรฐานที่ สกอ.กำหนดไว้ เฉพาะอาจารย์นิเทศมี ๑๓ ข้อ ความหมายการนิเทศงานคืออะไร มีนิยามไว้ในหลายที่หลายส่วน...กระบวนการติดตามผลงาน ชี้แนะกระบวนการปฏิบัติ...ให้มีความสนใจในงานที่รับผิดชอบ... ปฏิบัติงานนั้นได้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยมิใช่เป็นการสั่งการ

ต้องนิเทศ ๓ ส่วนด้วยกันคือด้านวิชาการ ...ระดับ ป.ตรี ตอนจบแล้วไม่ได้เข้าไปเป็นแรงงาน จึงต้องนิเทศการทำงาน กระบวนการบริหารจัดการทำงานในสถานประกอบการ... การปฏิบัติตนกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับ แนะนำการพักอาศัย ชีวิตความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตกับเพื่อนร่วมงาน การนิเทศสหกิจศึกษาแตกต่างการนิเทศทั่วๆ ไป

หลักการนิเทศ
- เคารพในความแตกต่างของแต่ละบุคคล อย่าพยายามเปรียบเทียบเป็นดีที่สุด
- เวลามีปัญหา ให้เขานำตนเอง อย่าตัดสิน อย่าเอาตัวเองเป็นมาตรฐาน
- กระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดแรงจูงใจที่จะปฏิบัติงานไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย พยายามค้นหาความสามารถพิเศษของลูกศิษย์เราว่าคืออะไร
- ระหว่างไปนิเทศงาน ต้องสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองให้เกิดขึ้น

หลักของการทำงานสหกิจศึกษามี ๓ ฝ่าย อาจารย์นิเทศ ผู้นิเทศงานในสถานประกอบการ ผู้ประสานงานสหกิจศึกษาของสถานประกอบการ เวลาที่ไปเราแบกชื่อมหาวิทยาลัย ชื่อหลักสูตร อนาคตของลูกศิษย์ไปด้วย ความร่วมมือที่ดีระหว่างกันกันจึงเป็นเรื่องจำเป็น (อย่าไปทำตัวเหนือกว่า โดยเฉพาะอาจารย์อาวุโส) บางครั้งลูกศิษย์อาจไปอยู่ในงานที่ไม่ตรงกันเป๊ะ อาจคาบเกี่ยว...ต้องฟังความเห็นเขา

เมื่อเราไปนิเทศ เป็นโอกาสให้รู้สภาพจริงในสถานประกอบการ สิ่งที่จะตามมา ความร่วมมือกับสถานประกอบการ ซึ่งอาจเป็นงานวิจัยหรืองานบริการวิชาการ

กระบวนการนิเทศ
- ผู้นิเทศเป็นอาจารย์ประจำในสาขาวิชาการ
- อาจารย์นิเทศมีประสบการณ์การสอน อย่างน้อย ๑ ภาค
- จัดระบบพี่เลี้ยงให้อาจารย์ที่ไม่มีประสบการณ์
- เวลาจะไปต้องมีแผนการนิเทศ
- เอกสารประกอบการนิเทศต้องได้รับไม่น้อยกว่า ๗ วันก่อนไป
- ต้องมีการนัดหมาย ไม่ต้องไป surprise
- ต้องไปพบนักศึกษาที่สถานประกอบการอย่างน้อย ๑ ครั้ง/ภาคการศึกษา พบกับทุกฝ่าย
- ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๑ ชม.
- ต้องตรวจดูรายงานของเด็ก
ฯลฯ

การไปสหกิจศึกษาที่มีคุณภาพ ส่วนหนึ่งอยู่ที่การนิเทศ กำลังสำคัญอยู่ที่อาจารย์ ฝากความหวังความสำเร็จไว้กับอาจารย์ทุกท่าน...ขอเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ....

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 360099เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2010 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ท่านอาจารย์วัลลา บันทึกละเอียด เห็นภาพ ได้ประเด็นมากจริง ๆ อาจารย์นิเทศสามารถนำไปปรับใช้ได้เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท