FACTS & THEORY : 2


สังเกตข้อเท็จจริง สันนิษฐานสิ่งที่เรามองไม่เห็น สร้างทฤษฎี

      ในเรื่อง Facts & Theory  ที่ผ่านมา  ผมได้กล่าวถึง  ข้อเท็จจริงช่วยจูงใจให้เราคิดสร้างทฤษฎี  คือ  จากข้อเท็จจริงสู่ทฤษฎี  ในบันทึกนี้ผมจะเสนอตัวอย่างง่ายๆสักหนึ่งตัวอย่าง  เกี่ยวกับการสร้างทฤษฎีจาก Facts  หรือจากผลการวิจัย      

       ในช่วงปี 1904   C.Spearman  ได้ศึกษาเกี่ยวกับสหสัมพันธ์(Correlation) ของคะแนนชุดต่างๆจากการสอบ เขาสังเกตเห็นว่า  มีค่าสัมประสิทธิ์ของสหสัมพันธ์กระจัดกระจาย  บางคู่ก็สูง เช่น  r = .80  บางคู่ก็ต่ำ  เช่น r = .10 

        ข้อสอบก็ดี  คะแนนก็ดี  ค่า r ก็ดี  ต่างก็เป็นข้อเท็จจริง 

        เขาจึงสันนิษฐานจากข้อเท็จจริงเหล่านี้  และให้เหตุผลว่า  คะแนนจากการสอบคู่ใดมีค่าสัมประสิทธิ์ของสหสัมพันธ์สูง  ข้อสอบคู่นั้นจะต้องวัดได้ความสามารถอย่างเดียวกันออกมาได้มากๆร่วมกัน   ถ้าค่า  r = .00  ข้อสอบคู่นั้นจะไม่ได้วัดความสามารถเดียวกันออกมาเลย   เขาเรียกความสามารถร่วมอันนี้ว่า  ความสามารถทั่วไป (General Abillities)  หรือ  ปัญญาทั่วไป (General Intelligence)  และย่อว่า  G  หรือปัญญา G  หรือความสามารถ G  นอกจากนี้เขายังสันนิษฐานว่า  แบบทดสอบทุกฉบับจะต้องวัดได้ความสามารถพิเศษออกมาอีกด้วย เรียกว่า  Specific Abillity  ย่อว่า s  ถ้าเป็นแบบทดสอบสองชุดที่คะแนนมีสหสัมพันธ์กัน  ชุดแรกก็เป็น Sa,  ชุดหลังก็เป็น Sb  นั่นก็คือ  แบบทดสอบแต่ละชุดก็จะวัดได้ G + Sa  หรือ G + Sb    G และ S บางทีก็เรียกว่า Factor G,  Factor  Sa, Sb, 

       เขาจึงได้เสนอเป็นทฤษฎีขึ้นมา  ทฤษฎีนี้กล่าวว่า  ปัญญาของคนมีสองประเภทคือ  ปัญญาทั่วไป(General Intelligence - G )  และความสามารถพิเศษเฉพาะอย่าง (Specific Abillity - S)  ปัญญาทั่วไปจะเข้าไปมีบทบาทอยู่ในกิจกรรมทุกประเภทของคน   ส่วนความสามารถเฉพาะอย่างจะมีเฉพาะเป็นด้านๆ   และชื่อทฤษฎีนี้ว่า  Theory of  General  Intelligence   หรือ  Two - Factor Theory 

       ขอให้สังเกตว่า  พื้นฐานที่มาของการคิดสร้างทฤษฎีนี้คือ  ข้อเท็จจริง  ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์   และคำกล่าวของทฤษฎีถึงแม้ว่าชี้ถึงสิ่งที่สังเกตไม่ได้  เช่น  ปัญญา  ความสามารถพิเศษ  แต่ก็สามารถนิรนัยไปสู่สิ่งที่สังเกตได้  หรือประจักษ์ได้  ดังนั้น  ทฤษฎีนี้จึงจัดเป็น ทฤษฎีเชิงประจักษ์  หรือ  Empirical Theory 

        และนี่คือ  จากข้อเท็จจริง หรือการวิจัย สู่ ทฤษฎี

หมายเลขบันทึก: 35980เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2006 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
  • ขอบคุณมากครับที่ทำให้ได้ทบทวนงานวิจัย

อาจารย์ขจิตเก่งอยู่แล้ว  อ้อ - ลืมบอกไปว่า  ถ้าจะเสนอที่รายงานวิจัย  ก็เสนอได้ในบทอภิปรายผล  หรือไม่ก็เสนอเป็นบทความเรื่องหนึ่งต่างหาก

โยม อาจารย์

บันทึกนี้ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

เจริญพร

 

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

นมัสการพระคุณเจ้า

ผมไม่ทราบว่าท่านไม่เข้าใจตรงไหนครับ  แต่คิดว่าน่าจะเป็นดังนี้ครับ

(๑) ผมได้สังเกตเห็นว่า  นักศึกษาเป็นจำนวนมากไม่ค่อยได้สนใจการวิจัยประเภททดลองที่ "นิรนัย"  (Deduction) สมมุติฐาน(Hypothesis : H)มาจากทฤษฎี ประการหนึ่ง และ (๒) ยังสร้างทฤษฎีกันไม่ค่อยเป็น(ผมอาจจะคิดผิดครับ)

ดังนั้น ผมจึงประสงค์จะยั่วยุความคิดนี้ครับ  เพราะผมได้สังเกตเห็นว่า  ผู้ที่เข้ามาอ่านบล็อกนี้ "ส่วนใหญ่" เป็น "นักศึกษา"  และ"ผู้ที่สนใจ" ครับ  โดยเริ่มต้นจาก "วิธีสร้าง" ทฤษฎีเชิงประจักษ์ ครับ  ผมได้บันทึกเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว  แต่เนื่องจาก ทฤษฎีนั้น มีทั้ง ทฤษฎีประเภท "Priori" หรือ "Analytic"  และประเภท "Posteriori"  หรือ "Synthetic"  แต่ผมได้เลือกกล่าวเฉพาะทางฝ่าย Posteriori, หรือ Synthetic (ผมใช้ศัพท์ทางปรัชญามาก็เพราะผมรู้ว่าพระคุณเจ้าเป็นนักปรัชญาครับ  อีกประการหนึ่ง  คำเหล่านี้ถ้าใช้คำภาษาไทยแล้ว  ผมอ่านไม่รู้เรื่องครับ จึงทับศัพท์ไปเลยครับ)

รศ.ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท